บทบาทสื่อกับการเมือง สื่อมีหน้าที่ย้ำ "สมรรถนะ" ของประชาชน

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 50 ในการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ประจำปี 2550 เรื่อง วัฒนธรรมการเมือง จริยธรรม และการปกครอง มีวงเสวนาเรื่อง "สื่อกับการเมือง : การสวนทางระหว่างทุนกับความเป็นวิชาชีพ"

 

 

สื่อ "สาธารณะ" ควรหมายถึงคนนอกขอบเขตตลาด

ศ.ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สื่อกับสังคมมีความสัมพันธ์กัน 3 ทาง คือ หนึ่ง จากที่มักจะพูดกันว่าคนไทยควรเท่าทันสื่อ "สื่อ" ในฐานะตัวนำของสังคมต้องรู้เท่าทันสังคมเพื่อที่คนไทยจะรู้เท่าทันสังคมตามไปด้วย

 

เขายกตัวอย่าง ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นการปกครองแบบ Technocracy ของชนชั้นผู้ชำนาญการ มีการตั้งองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เป็นฝ่ายบริหารที่ทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบ ถือเป็นฟันเฟืองในการผลักดันสังคม แต่นานไปกลับคิดว่าตัวเองเป็นผู้แทนประชาชน องค์กรอิสระทั้งหลายเป็นผู้ร่างระเบียบและอ้างว่าคนอื่นจะต้องเชื่อฟัง และสื่อมวลชนก็นำเสนอโดยไม่ได้ปลุกให้ประชาชนคิดว่า เจ้าของอำนาจที่แท้จริงคือพวกเขา ไม่ใช่ผู้กระทำการแทน

 

ศ.ดร.สุรพงษ์ กล่าวว่า การเป็นตัวแทนของสื่อที่จะติดตามการทำงานขององค์กรอิสระอย่างรู้เท่าทัน ในสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐธรรมนูญซับซ้อนเกินกว่าความเข้าใจของประชาชน เมื่อไม่เข้าใจการดำเนินการทางการเมืองทำให้คนไทยไม่อยากมีส่วนร่วม  การเมืองไทยจึงตกอยู่กับคนชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งให้ดำเนินการแทน ซึ่งสื่อต้องเท่าทันองค์กรเหล่านี้ที่แฝงตัวเขามาบริหารประเทศ

 

สอง สื่อกับสังคมในแง่มุมการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อจรรยาบรรณและการทำงานของสื่อ โดยกล่าวถึงพัฒนาการของสื่อมวลชนที่เริ่มต้นจากการพึ่งตัวเองไม่ได้เลย เพราะมีเจ้าของคือรัฐ และการดำเนินงานมีการช่วยเหลือโดยรัฐ  ต่อมา มีสื่อเอกชนที่พึ่งพิงเงินจากรัฐ มีให้เห็นในอเมริกากลาง อเมริกาใต้  นอกจากนี้ ยังมี สื่อของรัฐที่ดำเนินการโดยอิงตลาด เช่น สื่อวิทยุโทรทัศน์ในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีอิสระแต่หาเงินให้ตัวเองได้ และยังมีสื่อที่เอกชนเป็นเจ้าของและหาเงินจากผู้บริโภค ส่วนสุดท้าย คือสื่อที่มีเจ้าของคือสาธารณะ และรายได้ก็มาจากสาธารณะโดยตรง

 

ขณะที่ประเทศไทยกำลังเดินสู่อนาคตข้างหน้าเรื่อยๆ แต่ในกรณี ITV ที่เปลี่ยนชื่อเป็น TITV กลับเปลี่ยนไปสู่ภาวะที่ตื้นเขินที่สุด ด้วยการเป็นสื่อสาธารณะที่แม้จะพูดว่าเงินอุดหนุนมาจากเงินภาษี แต่ก็เป็นเงินภาษีที่มาจากการจัดสรรโดยรัฐ

 

"ผมคิดว่าคำว่าสาธารณะเป็นมนต์ขลังที่เรามักคิดว่าคือคนส่วนใหญ่ แต่เป็นการเข้าใจผิด ความจริงแล้วคำว่าสาธารณะหมายถึงส่วนที่ไม่ได้ขึ้นกับตลาด เป็นคนที่อยู่นอกขอบเขตตลาด" ศ.ดร.สุรพงษ์ กล่าวพร้อมย้ำว่า คำว่าสาธารณะที่หมายถึงทุกๆ คนนั้น มีในฟรีทีวีทั่วไปอยู่แล้ว

 

สาม การขยายเครือข่ายของสื่อมวลชน เขากล่าวว่า การขยายเครือข่ายของสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่อันตรายมากอย่างหนึ่งในฐานะผู้ครอบครองผู้รับสารจำนวนมาก โดยเฉพาะในสื่อวิทยุโทรทัศน์ การที่ประเทศไทยยกทั้งประเทศให้สถานีใดสถานีหนึ่งและให้สร้างเครือข่ายได้อย่างอิสระ แม้แต่สื่อด้วยกันที่บอกว่ารักอิสระแต่กลับครอบครองสื่ออื่นอย่างน่าเกลียด มีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์อยู่ในครอบครอง ซึ่งเป็นการผูกขาดของการครอบครองผู้รับสาร

 

ศ.ดร.สุรพงษ์ กล่าวแนะนำการทำงานของมวลชนว่า ในสภาวการณ์ที่ผู้บริหารประเทศมีศิลปะที่จะทำให้คนงงงวย และรู้สึกสูญเสียความเป็นพลเมือง สื่อมีหน้าที่จะขจัดความงงงวยจากทุกกระแส ให้คนไทยรู้จักชนชั้นและสมรรถนะของตนเอง ไม่ใช่เพิ่มความงงงวยให้มากขึ้นในสังคม

 

2. สื่อควรติดตามระบบประชาสัมพันธ์ในสังคมเพื่อสนองต่อจุดประสงค์ตามตามข้อที่หนึ่ง เพราะการประชาสัมพันธ์คือการใช้เงินควบคุมความเบี่ยงเบนของข้อเท็จจริง 3. ระบบสัมปทานที่เป็นการให้ทรัพย์สินชั่วคราว ควรแปรให้เป็นสิทธิแทน ซึ่งสิทธินี้ไม่ใช่ความเป็นเจ้าของ และสามารถยึดคืนหรือบอกเลิกได้

 

4. สื่อควรส่งเสริมความคิดอิสระในหมู่ประชาชนโดยคิดถึงผู้รับสารเป็นหลัก เมื่อสื่อมีจำนวนประชาชนที่จะส่งสื่อสารเพื่อล้างสมองได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการผูกขาดมันสมองของประชาชน 5. แนวโน้มในอนาคตที่ content provider จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเอื้อต่อการเอาเปรียบในสื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์โดยการกินสองต่อของเจ้าของคลื่น ดังนั้นแต่ละช่องแต่ละคลื่นควรมีกรรมการที่มีอิสระจัดผังรายการที่เป็นประโยชน์ ซึ่งตามความคิดศ.ดร.สุรพงษ์ แล้ว รายการที่ดีควรให้มีการผ่านประชาพิจารณ์

 

 

เสรีภาพสื่อสาธารณะ ความท้าทายร่วมกันของคนไทย

ผศ.รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในเรื่อง "เสรีภาพสื่อสาธารณะ: ความท้าทายร่วมกันของคนไทย" โดยเปรียบเทียบเสรีภาพของสื่อในสภาวะการเมืองที่ปกครองโดยรัฐบาล 2 รัฐบาล คือรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งในปี 2544-2549 ประเทศไทยถูกจัดลำดับการมีเสรีภาพของสื่อลดลงเรื่อยๆ โดย Reporters without Border องค์กรเอกชนสาธารณะประโยชน์ที่มุ่งส่งเสริมเสรีภาพด้านการสื่อสาร ได้ลดอันดับความมีเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย จากอันดับที่ 65 ในปี 2544 มาเป็นอันดับที่ 82 ในปี 2545 จนสู่ลำดับที่ 135 (จาก 169 ประเทศ) ในปี 2549

 

ผศ.รุจน์ กล่าวถึงเสรีภาพสื่อภายใต้การปกครองในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยยกตัวอย่างคำพูดของพ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 เมื่อปี 2548 ที่แสดงความประสงค์ในการในการเปิดโอกาสให้สื่อมีการตรวจสอบและเผยแพร่การทำงานของรัฐได้มากขึ้น แต่จากการศึกษาเนื้อหาของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เดลินิวส์ และโพสต์ทูเดย์ ในช่วงปี 2548 กลับพบว่าสื่อเหล่านี้ได้สื่อสารให้สาธารณะรู้ว่าสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพ และไม่ต้องการให้มีการแทรกแซงสื่อ

 

รูปแบบการแทรกแซงสื่อในสมัยนายกฯทักษิณนั้น ผศ.รุจน์ กล่าวถึง 24 วิธี ได้แก่ 1.ขอร้อง เตือน ขู่ ท้าสื่อ 2.ประชด เสียดสี เปรียบเปรย 3.พูดสั่งสื่อ 4.อ้างชาติ 5.ลดความน่าเชื่อถือ 6.ไม่ตอบคำถาม หรือตอบไม่ตรงคำถามในเรื่องนั้นอย่างต่อเนื่อง 7.ปั่นข่าว สร้างข่าวมากลบ 8.ใช้ร่างทรง 9.ใช้ข้อมูลเท็จ 10.ใช้กระบวนการศาล 11.แทรกแซงการพูดของแหล่งข่าว 12.แทรกแซงทางการบริหารงานของสื่อ 13.เข้าช่วงชิงความเป็นเจ้าของในระยะยาว 14.แทรกแซงการเงิน การโฆษณาของสื่อ 15.แทรกแซงหน่วยงานอิสระ 16.ละเว้น หลีกเลี่ยงที่จะใช้อำนาจเพื่อส่งเสริมเสรีภาพ 17.สั่งตรวจสอบ สั่งค้นองค์กรสื่อ 18.สั่งปิดองค์กรสื่อ 19.ห้ามจำหน่ายจ่ายแจก 20.ใช้กฎหมาย ระเบียบ มติ ครม.ที่สร้างขึ้นใหม่ 21.การปิดล้อม 22.ปาระเปิดใส่องค์กรสื่อ 23.ขู่ฆ่าบุคลากรด้านสื่อ และ 24.จัดตั้งผู้อ่านเพื่อตอบโต้สื่อ

 

ส่วนในรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พบการแทรกแซงสื่อ ได้แก่ 1.การสั่งปิดสถานีวิทยุชุมชนกว่า 300 แห่ง ที่คิดน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเดิม 2.ควบคุมด้านโทรทัศน์ โดยการเปลี่ยนสถานี ITV เป็น TITV โดยให้กรมประชาสัมพันธ์เข้าไปดูแลและการสั่งปิด PTV ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียวที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ 3.คุมสื่อออนไลน์ โดยการสั่งปิดเว็บไซต์ที่วิจารณ์รัฐบาลทหารและต่อต้านรัฐประหาร รวมถึงการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

 

4.การบล็อคสำนักข่าวต่างประเทศ เช่นการที่สถานีโทรทัศน์ CNN และ BBC ถูกบล็อคการออกอากาศในประเทศไทยในวันรัฐประหาร และเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 50 มีการสั่งบล็อคสถานีโทรทัศน์ CNN เฉพาะที่จะสัมภาษณ์พ.ต.ท.ทักษิณ 5.ควบคุมโดยให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเองภายใต้บรรยากาศที่คลุมเครือ

 

ผศ.รุจน์ กล่าวถึงบริบทของการแทรกแซงสื่อที่มีทั้งในช่วงรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่า การแทรกแซงสื่อทำโดยใช้อำนาจรัฐและอำนาจทุน ซึ่งอำนาจทุนเข้ามาผ่านการเป็นสปอนเซอร์สื่อโฆษณา และการแทรกแซงสื่อที่ถือเป็นเรื่องผิดรัฐธรรมนูญยังมีการละเมิดกันอยู่จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งมีการประกอบสร้างความจริงที่ผู้ใช้สื่อพยายามบอกถึงเรื่องที่จริงมากกว่า จนสร้างความสับสนไม่รู้ว่าเรื่องไหนกันแน่คือเรื่องจริง ส่วนเรื่องการฟ้องหมิ่นประมาท ในปัจจุบันได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการปิดปากสื่อที่ได้ผลมาก และที่น่าสังเกตคือภาคประชาชนเข้ามามีส่วนรวมน้อยมากในการคัดค้านการแทรกแซงสื่อ

 

ข้อเสนอที่เป็นความท้าทายร่วมกันของคนไทยซึ่งผศ.รุจน์ให้ไว้ คือ ในส่วนสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ ควรมีการจัดการศึกษาเรื่องเท่าทันสื่อ ปลูกฝังจรรยาบรรณที่ทันต่อเหตุการณ์ จัดทำรายงานประจำปีด้านเสรีภาพ ในส่วนสื่อมวลชนควรพัฒนาระบบการตรวจสอบภายใน และควรแสดงจุดยืนด้านนโยบายทางการเมืองที่ชัดเจน นอกจากนี้ภาคประชาชนไม่ควรอุดหนุนสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ โดยสร้างเงื่อนไขให้กลุ่มทุนเจ้าของสื่อไม่มุ่งผลกำไรจากธุรกิจสื่อ และการเท่าทันสื่อโดยแสวงหาข่าวสารให้รอบด้าน

 

ตามความคิด ผศ.รุจน์ ในโลกความเป็นจริงทุกวันนี้ผู้บริโภคไม่ได้มีอิทธิพลโดยตรงต่อกองบรรณาธิการ หรือผู้ผลิตเนื้อหาของสื่อ แม้จะดูเหมือนว่าสื่อมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะสื่อต้องขึ้นอยู่กับสปอนเซอร์ที่ต้องดึงมาเป็นผู้สนับสนุนรายการหรือหนังสือนั้นๆ โดยยกตัวอย่างของการวัดเรตติ้งว่า รายการที่มีคนดูเป็นจำนวนมากไม่ได้แสดงว่าเป็นรายการที่ดีหรือเลวกว่ารายการที่มีคนดูน้อย และคนดูที่ต้องการดูรายการที่มีคนดูน้อยก็ควรมีสิทธิได้ดู แต่ปัจจุบันเขาไม่มีสิทธินั้น

 

"เป็นพลังของผู้บริโภคจริงๆ ที่จะต้องเข้ามาทำอะไรบางอย่าง" ผศ.รุจน์ กล่าวถึงการแสดงพลังของภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภคสื่อ พร้อมย้ำว่าจะต้องเชื่อมั่นและเริ่มทำจริงๆ

 

 

ตัวแทนคนข่าวโทรทัศน์ กับสิทธิเสรีภาพสื่อกรณีไอทีวี

นายจอม เพชรเพชรประดับ ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี กล่าวถึงสังคมในปัจจุบันว่า มีความซับซ้อนวุ่นวายและสับสนทำให้สื่อกลายมาเป็นที่พึ่งที่จะหาความจริงให้ปรากฏ และเมื่อมองในส่วนคนทำสื่อมืออาชีพเองก็มีเป้าหมายของการนำเสนอข่าวอย่างมีจรรยาบรรณและมีจริยธรรมทางสังคม ภายใต้องค์ประกอบของทุน การเมือง บริบททางสังคม และการศึกษา โดยให้ความเห็นว่า หากจะดูว่าสื่อเป็นอย่างไรก็ต้องดูที่สังคมในขณะนั้นเพราะต่างเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน

 

ในฐานะตัวแทนคนข่าวโทรทัศน์ นายจอมยอมรับในความสำคัญของทุนในฐานะจุดกำเนิดหนึ่งของสื่อโทรทัศน์ โดยกล่าวว่า คนทำสื่อต้องพึ่งเจ้าของทุน หากปฏิเสธทุนก็จะไม่สามารถทำหน้าที่เอาความจริงมานำเสนอได้ ต้องยอมรับว่าทุนเป็นตัวหลักที่กำหนดอนาคตของสื่อ แม้การยอมรับทุนจะมีผลให้นำเสนอได้เพียงบางส่วนก็ตาม ยิ่งเมื่อทุนกับการเมืองประกอบเข้าด้วยกัน ยิ่งทำให้ระบบกลไกไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและปัจจุบันสถานการณ์เช่นนี้ก็ยังคงมีอยู่

 

นายจอมยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับ TITV หรือ ITV ในอดีตว่า ITV ถูกตั้งมาบนอุดมคติที่ดีในการเป็นสถานีสื่อเสรี ที่นำเสนอข่าวสารที่สร้างสรรค์ที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีพื้นที่สื่อในการเสนองานที่มีอิสระมากเพราะไม่มีโฆษณามาควบคุม แต่ก็เป็นอุดมคติที่เป็นจริงได้เพียงช่วงแรกที่ยังไม่ติดตลาดเท่านี้

ในยุคทักษิณเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ใน ITV ทำให้สวัสดิการ การดูแลคนทำงานทุกอย่างดีหมด แต่ข่าวซึ่งเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐทำไม่ได้มากนัก ยิ่งเมื่อมีเวลาการออกอากาศและทุนเข้ามาเกี่ยวข้องช่องทางการนำเสนอจึงลดลง กับเวลาการนำเสนอข่าวเพียง 18 นาทีต่อวัน ต่อทีมข่าวที่มีมากกว่า 50 ทีม ถือเป็นสถานการณ์ที่บีบคั้นอย่างหนักต่อจรรยาบรรณนักข่าว

 

ตามความคิดของนายจอม เมื่อคนมีจริยธรรมดีอยู่ไม่ได้ คนข่าวต่างต้องแข่งขันเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด การทำข่าวให้เป็นละคร สร้างอารมณ์ร่วมให้เกิดจินตนาการ ปิด บิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความสนุก แต่ไม่สร้างความคิดสติปัญญาจึงเกิดขึ้นกับสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ กรณีการปรับเปลี่ยนให้ TITV เป็นโทรทัศน์สาธารณะนั้นนายจอมกล่าว่า คน ITV ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยเหตุผลส่วนหนึ่งคือไม่เข้าใจในความเป็นโทรทัศน์สาธารณะ และไม่มั่นใจว่าจะอยู่รอดเลี้ยงพวกเขาได้ยาวนาน ในเมื่อไม่มีโฆษณามาอุดหนุน ซึ่งแม้จะมีเงินจากรัฐบาลกว่า 2,000 ล้านต่อปี แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะจ่ายโดยไม่อิดออดบิดพลิ้วหากมีการนำเสนอข่าวที่โจมตีการทำงานของรัฐบาล

 

นอกจากนี้ยังไม่มีกรอบอะไรที่จะสนับสนุนแนวคิดดีๆ อีกทั้งการปฏิสนธิของรัฐและทหารจนทำให้เกิดโทรทัศน์สาธารณะจะให้ข่าวสารสาระแก่ประชาชนในระดับไหนอย่างไรก็ยังเป็นปัญหาต่อคนทำงานอยู่ในตอนนี้

 

นายจอมเปิดเผยต่อไปอีกว่าในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านเช่นปัจจุบัน คน ITV ต่างอึดอัดใจที่จะออกมาพูดแสดงความคิดเห็น หรือเคลื่อนไหวใดๆ นอกจากยอมจำนนว่าจะเอาอย่างไรก็เอา และเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการไม่มีสิทธิ์มีเสียงอีกครั้งหนึ่งเพื่อความอยู่รอดและอาชีพการงานที่แน่นอน

"เราถูกกระทำโดยตลอด โดยทุน โดยการเมือง" นายจอมกล่าว

 

ในส่วนสถานการณ์สื่อต่อไป นายจอมแสดงความเห็นว่า อนาคตจะมีสื่อที่หลากหลายรูปแบบที่จะเป็นทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งจะต้องมามองว่าประชาชนจะเท่าทันได้อย่างไร และสื่อที่หลากหลายนี้จะมีความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างไร สำหรับทีวีสาธารณะจะต้องมีกลไกบางอย่างมาดูแล เช่น กรรมการระดับนโยบายเป็นสภาชุมชนมาตรวจสอบ และมีโครงสร้างต่างๆ ที่เอื้อให้มองประชาชนเป็นหลัก ซึ่งสำคัญคือองค์กรประชาชนต้องเข้มแข็ง และตรวจสอบสื่อและรัฐได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท