บทความสุรชาติ บำรุงสุข (2) : กฎหมายความมั่นคงมาเลเซีย ข้อคิดสำหรับประเทศไทย

สุรชาติ บำรุงสุข

 

           

"การผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงใหม่ทำให้ผู้คนที่รักเสรีภาพ

 ต้องตระหนกตกใจอย่างมาก"

                                                                                                Tan Phock Kin

                                                                                                26 กรกฎาคม 1960

 

เมื่อร่างกฎหมายความมั่นคงใหม่ที่ถูกผลักดันโดยผู้นำทหารและนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกานั้น กลุ่มผู้เสนอได้ออกมาปกป้องร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะการนำมาเสนอว่า "กฎหมายนี้ไม่ต่างกับกฎหมายความมั่นคงภายในของมาเลเซีย"

 

ฉะนั้นเพื่อทำความเข้าใจมากขึ้นกับปัญหาดังกล่าว บทความนี้จะทดลองนำเสนอเรื่องราวของกฎหมายความมั่นคงของมาเลเซีย อย่างน้อยก็เพื่อเป็นข้อคิดแก่ผู้คนในสังคมไทยในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน

 

ที่มาของกฎหมาย

 

หลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว สงครามใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากการจับอาวุธลุกขึ้นสู้ของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ สงครามก่อความไม่สงบของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่เกิดขึ้นในปี 2491 เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ และเป็นตัวอย่างของสงครามรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของยุคสงครามเย็น และในวันที่ 18 มิถุนายน 2491 รัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษในมลายาก็ประกาศสถานะสงคราม โดยเรียกว่า "ภาวะฉุกเฉิน" (Emergency) แทนคำว่า "สงคราม" เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบและภาวะผูกพันในทางเศรษฐกิจ

 

การประกาศภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ รัฐบาลอังกฤษในมลายาได้ออกกฎหมายพิเศษคือ "The Emergency Regulations Ordinance 1948" ในปี 2491 เพื่อรองรับต่อปฏิบัติการของรัฐบาลในการกวาดล้างและจับกุมสมาชิกและแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา

 

เพียง 2 วันต่อมาหลังจากประกาศภาวะฉุกเฉินก็มีการกวาดล้างใหญ่ทั่วประเทศ ในวันที่ 20 มิถุนายน 2491 มีประชาชนกว่า 600 คนถูกจับกุม และพรรคการเมือง สหภาพแรงงาน และองค์กรการเมืองทั่วมลายากว่า 300 องค์กรถูกยุบ จากตัวเลขในระยะเวลา 10 ปีของการใช้กฎหมายพิเศษนี้ (.. 2491-2500) มีประชาชนกว่า 34,000 คนถูกจับขังโดยไม่มีการไต่สวน และชาวจีนในมลายาประมาณ 26,000 คนถูกเนรเทศออกนอกประเทศ

 

อย่างไรก็ตามในช่วงแรกที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อใช้กฎหมายพิเศษนี้ ทุกคนคิดว่าคงจะเป็น "ภาวะชั่วคราว" เช่นบางคนคิดว่า กฎหมายนี้อาจจะใช้เพียงปีเดียว เป็นต้น หรือบางคนคิดว่าเมื่อสถานการณ์การเมืองและความมั่นคงกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็คงจะมีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว แต่การกลับเป็นว่า ภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ดำรงอยู่อย่างไม่สิ้นสุด

 

จุดมุ่งหมาย

 

กฎหมายความมั่นคงเดิมที่ออกมาพร้อมกับการประกาศภาวะฉุกเฉินคือ The Emergency Regulations Ordinance 1948  หรือ "ERO" และเมื่ออังกฤษได้รับชัยชนะในสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบแล้ว จึงได้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินในวันที่ 31 กรกฎาคม 2503 แต่แล้วในวันที่ 1 สิงหาคม 2503 รัฐบาลก็ได้ประกาศกฎหมายความมั่นคงใหม่ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า The Internal Security Act 1960 หรือ "ISA"

 

กฎหมายพิเศษไม่ว่าจะเป็น "ERO" หรือ "ISA" ถูกร่างขึ้นเพื่อใช้ต่อสู้กับปัญหาคุกคามของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเป็นหลัก ซึ่งในช่วงที่อังกฤษยังปกครองมลายานั้น กฎหมายนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลอาณานิคมที่ใช้ในการปกครองการต่อสู้เพื่อเอกราชของชนพื้นเมือง จนมีบางคนเรียกกฎหมายนี้ว่าเป็น "The White Terror" และเมื่อ ISA ถูกนำมาใช้ปฏิบัติ ก็ถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีความเข้มงวด (draconian law) มากที่สุดกฎหมายหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้

 

การใช้ ISA นั้นพบว่า รัฐบาลมาเลเซียเมื่อได้รับเอกราชแล้ว ก็ยังคงดำเนินการใช้กฎหมายพิเศษเข้มงวดไม่แตกต่างจากช่วงที่อังกฤษยังปกครองมลายาเป็นอาณานิคม เพราะ ISA ไม่ได้ใช้เพียงเพื่อจับกุมผู้ต้องสงสัยที่เป็นคอมมิวนิสต์เท่านั้น หากแต่ยังใช้ในการจับกุมบุคคลที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอีกด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ISA ถูกใช้เป็นเครื่องมือของการกวาดล้างทางการเมือง หรือเพื่อควบคุมการใช้สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของบุคคลให้เป็นไปตามความต้องการของรัฐบาล (ห้ามแสดงออกในลักษณะที่ขัดแย้งกับแนวทางของรัฐบาล)

 

ในมุมมองทางกฎหมาย ISA กลายเป็นเครื่องมือของรัฐที่ใช้เพื่อปฏิเสธต่อสิทธิของบุคคลในทางกฎหมาย ซึ่งสำหรับนักกฎหมายที่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐที่มิได้วางความเชื่อของตนเองไว้กับเพียงว่า นักกฎหมายต้องยอมรับรัฐบาลทุกชนิดโดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรมและจุดกำเนิดแล้ว กฎหมายพิเศษในลักษณะเช่นนี้ก็คือ การละเมิดหลักแห่งกฎหมาย (rule of law) ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

อำนาจพิเศษ

 

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า กฎหมายความมั่นคงของมาเลเซียมีความเข้มงวดอย่างมาก และทั้งยังให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างมากด้วยเช่นกัน ซึ่งสิทธิพิเศษที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1)      การคุมขังโดยปราศจากการไต่สวน

2)      การคุมขังโดยไม่จำกัดเวลา และปราศจากไต่สวนอย่างเปิดเผย

3)      เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า บุคคลที่จุบกุมคุมขังได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา

 

ผลจากการใช้กฎหมาย ISA ทำให้เกิดการกวาดจับขนาดใหญ่ (mass arrests) ภายในมาเลเซีย ผู้ถูกจับกุมมีทุกชาติพันธุ์ ทุกชนชั้น และทุกความเชื่ออีกทั้งจนแม้สงครามคอมมิวนิสต์ได้ยุติลงอย่างแท้จริงในมาเลเซีย รัฐบาลก็ยังคงใช้กฎหมายนี้ ทั้งที่ในปี 1989 จะมีความตกลงสันติภาพที่หาดใหญ่ เพื่อยุติสงครามคอมมิวนิสต์ในมาเลเซียแล้ว กฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย อันทำให้กฎหมายถูกวิจารณ์ว่าเป็น "เครื่องมือของรัฐบาล" ในการปราบปรามศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แม้กระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรี ดร. มหาเธร์ ในอดีตก็เคยวิจารณ์วา "ไม่มีคนที่มีความรับรู้อย่างถูกต้องคนใดชอบกฎหมายความมั่นคงภายใน เพราะกฎหมายนี้ขัดแย้งต่อหลักการของประชาธิปไตยทุกเรื่อง" (คำกล่าวรัฐสภามาเลเซีย, 22 มีนาคม 1966)

 

ปัญหาผลกระทบ

 

การให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหลักการทั่วไปของกฎหมายความมั่นคงมาเลเซีย ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่มาตรา 8 ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถจับกุมและคุมขังบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการไต่สวน

 

ในมาตรา 73 ให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้สามารถจับกุมบุคคลที่คิดว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายจับจากศาล หรือในมาตร 22 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการห้ามการพิมพ์หรือการแจกจ่ายสิ่งพิมพ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติได้ เป็นต้น

 

ตัวอย่างของอำนาจที่ปรากฏใน 3 มาตราข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ISA นั้นมีลักษณะเป็นกฎหมายในภาวะสงคราม ซึ่งว่าที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ ISA ก็เป็นผลผลิตสืบต่อจาก ERO ซึ่งประกาศใช้ในภาวะที่รัฐบาลของอังกฤษในมลายาต้องเผชิญกับสถานการณ์สงครามของพรรคคอมมิวนิสต์

 

ดังนั้นจึงมีข้อสังเกตว่า ถ้ากฎหมายความมั่นคงเป็นกฎหมายสงครามแล้ว รัฐควรจะใช้กฎหมายนี้กับการบริหารประเทศในภาวะปกติหรือไม่ เช่นการจับกุมคุมขังโดยปราศจากการไต่สวนนั้นจะใช้ได้ในอังกฤษ ก็ต่อเมื่อมีการประกาศภาวะฉุกเฉินของประเทศแล้ว เป็นต้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กฎหมายในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ในภาวะปกติของประเทศประชาธิปไตย เพราะการปกครองภายใต้หลักนิติรัฐนั้น จะต้องไม่ทำให้รัฐกลายเป็นผู้ละเมิดหลักกฎหมายเสียเอง

 

นอกจากนี้ในกรณีของมาเลเซียจะพบว่าบุคคลที่ถูกคุมขังจากกฎหมาย ISA ก็คือ บุคคลที่กิจกรรมของพวกเขาไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับจุดมุ่งหมายเดิมของกฎหมายที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ดังจะเห็นได้ว่าในระยะหลังผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ และนักกิจกรรม การกวาดล้างในปี 2530 เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ คนถูกจับกุมไม่ใช่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด (พวกเขาเป็นพวกต่อต้านรัฐบาล) ซึ่งผลที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ ผู้คนที่มีความคิดแตกต่างจากรัฐบาลจะไม่กล้าแสดงความเห็นในที่สาธารณะแต่อย่างใด

 

ผลกระทบในทางการเมืองอย่างสำคัญก็คือ อำนาจพิเศษอยู่ในมือของรัฐบาล และรัฐบาลจะใช้อำนาจนี้อย่างไรและเมื่อใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินแต่อย่างใดด้วย ผลที่เกิดขึ้นก็คือ อำนาจถูกรวมศูนย์อยู่กับฝ่ายบริหาร อันทำให้ระบบการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) หรือเรียกได้ว่าเป็นการเมืองแบบ "ฝ่ายบริหารเป็นใหญ่" (Executive Supremacy) และกฎหมายความมั่นคงภายในก็กลายเป็นเครื่องมือที่สมบูรณ์และรอบด้านที่สุดของผู้มีอำนาจ

 

ข้อคิดสำหรับคนไทย

 

วันนี้สังคมไทยคงจะคิดที่จะตอบตนเองให้ได้วา เราพร้อมจะอยู่กับการเมืองแบบ "ฝ่ายบริหารเป็นใหญ่" ด้วยการมีอำนาจพิเศษแบบไม่มีข้อจำกัดหรือไม่ และผลกระทบที่นำเสนออย่างสังเขปจากกรณีของมาเลเซียในข้างต้นอาจจะเป็นข้อคิดเพิ่มเติมว่า สังคมไทยควรจะอนุญาตให้รัฐไทยควรจะมีกฎหมายความมั่นคงที่ให้อำนาจแก่รัฐอย่างกว้างขวางหรือไม่ ?

 

 000

 

อ่านประกอบ

 

บทความสุรชาติ บำรุงสุข (1) : กฎหมายความมั่นคงกับการละเมิดสิทธิ บทเรียนจากมาเลเซีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท