Skip to main content
sharethis

บทสัมภาษณ์ 3 ชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดน ที่ได้รับผลพวงเชิงการปฏิบัติจากยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ที่ทำการปิดล้อม จับกุม ควบคุมตัว ฝึกอาชีพและไม่อนุญาตให้กลับบ้าน จากมัสยิดกลางประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันแรกที่ถูกจับกระทั่งวันสุดท้ายที่พวกเขาไม่ได้กลับบ้าน


00000


คนที่1


ชายหนุ่มจากอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา (สงวนนาม) อายุ 24 ปี สมมติให้ชื่อว่าอาลี เขาถูกจับกุมตัวโดยทหารมากกว่า 100 คน ระหว่างงานพิธีแต่งงานของญาติ พร้อมกับเพื่อนๆ อีก 20 คน หนึ่งในนั้นเป็นเด็กวัยรุ่นนอกหมู่บ้านที่มารับจ้างถางป่า ทั้งหมดถูกพาตัวมาที่นิคมเทพา ก่อนจะปล่อยตัวกลับ 15 คน ส่วน 5 คนที่เหลือ รวมทั้งอาลีถูกนำตัวเพื่อไปสืบสวนต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ก่อนจะปล่อยกลับมาอีก 3 คน อาลีและเพื่อน ถูกนำตัวมาเข้ารับการฝึกอาชีพเพื่อปรับทัศนคติ 4 เดือน ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี


"ผมไม่รู้จะพูดถึงความกลัวอย่างไร มันบรรยายไม่ถูก" 24 วัน ในค่ายอิงคยุทธ อาลี ถูกควบคุมตัวพร้อมกับเพื่อนอีก 1 คน ในตู้คอนเทนเนอร์ที่ซอยย่อยออกเป็น 7 บล็อก กว้างยาวและสูงประมาณ 2 เมตร รวมห้องน้ำห้องนอนเสร็จสรรพ ภายในบล็อกไม่มีหมอนหรือผ้าห่ม (เจ้าหน้าที่ทหารให้เหตุผลว่า ไม่พอ) นอกจากเสื่อน้ำมันรองนอน "เปิดแอร์และพัดลมระบายอากาศตลอดเวลา พี่เชื่อไหมว่ามันหนาวสะท้าน บอกไม่ถูกหรอกว่าหนาวสะท้านเพราะอะไร" อาลีย้ำความหมายของคำว่าหนาว


"จากภายในจะไม่ได้ยินเสียงใดจากภายนอก ต้องตะแคงหูฟังและมองเห็นท้องฟ้าผ่านช่องระบายอากาศเท่านั้น จะละหมาดทีต้องส่งเสียงตะโกนดังๆ กับเพื่อนห้องข้างๆ" ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทหารเดินมาส่งข้าว อาลีถามถึงจำนวนคนที่ถูกคุมขังที่ค่ายอิงคยุทธฯ เขาตอบว่ามีจำนวนมากกว่า 100 คน


แต่ละวันในค่ายอิงคยุทธผ่านไปอย่างเชื่องช้า สำหรับอาลี เขาถูกสอบสวนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น พ่อแม่ชื่ออะไร มีพี่น้องกี่คน เรียนจบชั้นไหนหรือช่วงที่เกิดเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้ เขาอยู่ที่ไหน ทำอะไร "ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยสักอย่างพี่ ผมจะทำทำไม"


"ครั้งนึง มีการฆ่าแล้วเผา ผมอยู่ที่ปอเนาะ เหตุการณ์เกิดขึ้นห่างจากหมู่บ้าน 200-300 เมตร แม้แต่จะไปยืนมุงดู ผมยังไม่กล้าไปเลยพี่ เชื่อผมเหอะ ไม่มีใครกล้าไปดูหรอก สอบสวนแต่ละครั้งนานเป็นชั่วโมงๆ (เป็นอย่างน้อย) บางคนนานถึง 6 ชั่วโมง ก็มี"


ข่าวคราวความเคลื่อนไหว ผ่านเข้าหูอาลีหลายกระแส การปิดล้อม จับกุมอย่างทารุณ "อย่างที่บันนังสตา มีการปิดตาและมัดมือไพล่หลังทำราวกับพวกผมเป็นนักโทษ เราเป็นประชาชนธรรมดาต้องทำกันขนาดนี้เชียวหรือ" อาลีย้ำว่ามีหลายรูปแบบ บางที่ถูกขู่ว่าหากพยายามหลบหนีจะยิงทิ้งหรือเอารถไปจอดหน้ามัสยิดแล้วต้อนขึ้นรถเหมือนต้อนเป็ดเข้าเล้า เหวี่ยงแหจับกุมทั้งที่ไม่มีอะไรแน่ชัดว่าคนๆ นั้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบหรือไม่ นานกว่า 21 วัน เจ้าหน้าที่มายื่นเงื่อนไขว่า "หากเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพ ความผิดที่ติดตัวเราจะได้รับการยกเว้น ครับ ผมไม่เชื่อ เราทุกคนไม่เชื่อ"


แม้กระนั้นทุกคนจำต้องเข้ารับการฝึกอบรมเพราะมีทางให้เลือกเพียงไปฝึกอบรมหรือไม่ก็กลับเข้าคุก


อาลีเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพเพื่อปรับทัศนคติ (ค่ายวิภาวดีรังสิต) ไม่ครบ 4 เดือน เขาเดินออกมาเพราะคำสั่งศาล 30 ตุลาฯ 50 บุคคลใดที่ไม่ยินยอมเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพสามารถกลับออกมาได้โดยไม่มีเงื่อนไข แต่วันนี้ อาลียังไม่ได้กลับบ้าน จากประกาศห้ามเข้าพื้นที่ของกองทัพภาค 4 เขายังอยู่ที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีและทำได้เพียงรอคำสั่งเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง


"ไม่มีใครในพวกผมที่เต็มใจจะเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพหรอก เขาอยากกลับบ้าน หาลูกหาเมีย ผมเข้าใจว่าเค้าทำโครงการนี้มาเพื่ออะไร (แยกปลาออกจากน้ำ) แต่เค้าโกหกพวกผมหลายครั้ง ฝึกอบรมอาชีพ 4 เดือน ตามหลักสูตรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่หลังจากศาลไต่สวน ระยะเวลาทำไมถึงกลายเป็น 6 เดือน แล้วยังห้ามคนทั้ง 300 กว่าคน ที่อยู่ใน 3 ค่าย (ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี) กลับบ้านอีก อยู่ในค่ายไม่มีอิสระ สู้ออกมาข้างนอกจะดีกว่า อยากกลับบ้านกันทุกคน ไม่มีใครอยากฝึกอาชีพหรอก สำหรับผมแล้วฝึกตัดผมน่าจะพอไปได้สักหน่อย" แต่นั่นก็ไม่ได้ตรงกับงานของอาลีที่ทำสวนยางมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก


"ขอบคุณมัสยิดกลางฯ สุราษฎร์ธานีที่ให้พวกผมได้พึ่งพิง ในฐานะคนมุสลิมด้วยกัน ที่พึ่งสุดท้ายของพวกเรา คือ มัสยิด โต๊ะอิหม่ามที่นี่ ใจดีกับพวกเรามาก พี่ ผมถามหน่อยสิ ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน ในเมื่อผมเป็นคนไทย สัญชาติไทย มีองค์เหนือหัวคนเดียวกัน"


00000


คนที่2


มูหาหมัด เจ๊ะแม อายุ 37 ปี ชาวสวนยางจาก ม.ยานิง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถูกจับระหว่างเดินไปตักน้ำจากคลอง (ธรรมชาติ) ในหมู่บ้านเพื่อมาล้างหน้าทำความสะอาดร่างกายก่อนเข้าพิธีละหมาด ก่อนเข้าพิธีละหมาด ชาวมุสลิมจะล้างหน้า ล้างมือ ล้างเท้า บ้วนปาก ทำความสะอาดร่างกาย เป็นการชำระล้างร่างกายและจิตใจให้มีความบริสุทธิ์ก่อนเข้าพิธีอันศักดิ์สิทธิ์


"ทหารอยู่ที่คลอง พวกเขาชี้มาที่ผมตะโกนถามว่าจะไปไหน ผมก็บอกว่าจะไปเอาน้ำละหมาด เขาชี้ให้ผมไปรวมกับกลุ่มเพื่อนๆ ของผมที่ถูกจับมัดมือไพล่หลังเอาไว้ บอกแค่ว่า ขอเชิญตัวไปที่อำเภอเดี๋ยวเดียวแล้วจะปล่อยกลับ ระหว่างนั้น มีคนเฒ่าคนนึงแกแก่แล้ว ไม่รู้ภาษาไทย ทหารตะคอกว่าให้นั่งลง แกฟังไม่รู้เรื่อง ทหารจึงใช้พานท้ายปืนตบหน้าแกจนล้มลง ผมว่ามันโหดร้ายไปหน่อยนะ"


มูหาหมัดและชาวบ้านคนอื่นๆ มากกว่า 50 คน (ทั้งชายและผู้หญิง) ถูกควบคุมตัวอยู่ในที่ว่าการอำเภอ จาก 05.00 น. (เวลาละหมาด) จนกระทั่ง 16.00 น. มีเพียงข้าวและไข่ดาวตกถึงท้อง หลังจากทำทะเบียนประวัติและสอบสวนแล้ว ชาวบ้านจากหมู่บ้านยานิง รวมทั้งมูหาหมัด ทั้งนำตัวไปยังค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส


เช้าวันที่มีการปิดล้อมจับกุม ชาวบ้านแต่ละคนออกมาทำงานตามปกติ ขายโรตี ขายข้าวยำ หลายคนไม่ใช่คนในหมู่บ้านยานิงแต่แวะมากินกาแฟ ข้าวยำกันตามประสา ก็ถูกต้อนขึ้นรถ "ที่จับไปก็ไม่ได้มีหลักฐานอะไรกันสักคน เรียกว่า จับมั่วกันไปหมด ทหารบางคนมีกลิ่นเหล้า ทีแรกบอกแค่ว่าพาไปสอบสวนทำทะเบียนประวัติเสร็จแล้วจะปล่อยกลับที่ไหนได้ บอกพวกเราว่าจะต้องคุมตัวไปค่ายปิเหล็ง" มูหาหมัดกล่าว


ในจำนวนนั้น คนที่มีญาติเป็นทหารหรือตำรวจ สามารถกลับบ้านได้ ชาวบ้านที่เหลือเพียง 25 คน ถูกส่งตัวไป ที่ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส ที่นั่น มูหาหมัดและเพื่อนถูกบังคับให้เซ็นลายมือชื่อลงในกระดาษเปล่า "เซ็นไปหลายแผ่นแต่เป็นกระดาษเปล่าทั้งนั้น ไม่มีตัวหนังสือหรอก เค้ากรอกเนื้อความเอาเอง พวกผมก็ต้องเซ็นก็ทหารเค้าถือปืนยืนคุมอยู่ข้างหลัง ผมกลัวครับ" เขาอยู่ที่นั่น 14 วัน ก่อนถูกส่งตัวไปที่ค่ายทหาร จังหวัดสงขลาและนำตัวไปฝึกอาชีพในค่ายทหารจังหวัดระนอง


ในค่ายทหารที่ปิเหล็ง มูหาหมัดถูกคุมขังอยู่ใต้โรงเรือนทหาร ยกพื้นสูง อาคารโรงเรือนซิเมนต์ยาวเหมือนโรงนอนทหารโดยทั่วไป ปิดทึบและมีรั้วลวดหนามล้อมรอบ "ทหารจะอยู่กันข้างบน ผมถูกขังอยู่ข้างล่าง ไม่มีที่นอนหมอนมุ้งอะไรสักอย่าง" ส่วนในเรื่องอาหารการกิน น้ำดื่ม ไม่ต้องพูดถึง ไม่พอเพียง ทหารต้องไปตักน้ำมาจากที่ไหนสักแห่ง


ไม่มีการแจ้งข้อหา ไม่มีการสอบสวนเป็นเรื่องเป็นราว มูหาหมัดบอกว่า เหมือนจงใจปล่อยเอาไว้อย่างนั้น รอวันส่งตัวไปที่อื่น คนที่ถูกเรียกไปสอบสวนก็ถูกถามคำถามซ้ำเดิม "เอ็งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือเปล่า, เอ็งหรือเปล่าเป็นคนตัดต้นไม้ขวางถนน, เอ็งหรือเปล่าเป็นคนโรยตะปูเรือใบ เอ็งหรือเปล่า รู้จักคนนี้หรือเปล่า รู้จักคนนั้นหรือเปล่า ถามไปงั้นแหละ ไม่ได้จริงจังอะไร ก็คนในหมู่บ้าน พวกผมจะไม่รู้จักได้ยังไง ผมก็ต้องบอกว่ารู้จัก ทหารถามอีกว่าแล้วตอนนี้เค้าอยู่ที่ไหน ไม่รู้ ผมจะไปรู้ยังไง ไม่รู้จริงๆ" มูหาหมัดกล่าวประสาซื่อ "ผมบอกเค้าไปตามตรง" แต่กระนั้นทหารยังพยายามจะกล่าวโทษพวกผมว่ามีส่วนรู้เห็น


นับตั้งแต่ มูหาหมัดและเพื่อน ถูกควบคุมตัวจากบ้านยานิงมาที่อำเภอเจาะไอร้อง นำตัวเข้าค่ายทหาร ที่ปิเหล็ง ถูกนำตัวเข้าโครงการฝึกอบรมอาชีพเพื่อปรับทัศนคติ ไม่มีการแจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ทหาร นอกจาก ระบุผ่านคำพูด ระหว่างสอบสวนว่า เป็นเพียงผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้


มูหาหมัด ถูกส่งตัวเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพเพื่อปรับทัศนคติได้เพียง 3 เดือนเศษ หลังจากคำสั่งศาล วันที่ 30 ตุลาคม 50 ให้ปล่อยตัวผู้ยื่นคำร้องไม่ขอรับการฝึกอบรมอาชีพ จำนวน 85 คน มูหาหมัดและเพื่อนในค่าย จ.ระนอง ได้ยื่นหนังสือไม่ขอรับการฝึกอบรมอาชีพฯ และออกมารวมกลุ่มกับเพื่อนจากค่ายอื่นๆ ที่มัสยิดกลางฯ จ.สุราษฎร์ธานี "ทหารเกลี้ยกล่อมพวกผมให้อยู่ฝึกอบรมอาชีพฯ ต่อไป อยู่กันมาเกือบจะหมดโครงการอยู่แล้ว พวกที่ออกไปตอนนี้ก็กลับบ้านไม่ได้ อยู่ฝึกอบรมต่ออีกหน่อย ออกไปแล้วเค้าจะให้กลับบ้าน"


"ผมไม่เชื่อ" คราวนี้มูหาหมัดไม่พูดประสาซื่อเหมือนเคย ไม่มีหนังสือยืนยัน ไม่มีหลักฐานมากพอที่จะทำให้เขาเชื่อถือ นอกจาก คำพูดของเจ้าหน้าที่ทหารที่โกหกพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะขาดความเชื่อถือต่อคำพูดของทหาร "ผมขอหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันคำพูดของเจ้าหน้าที่ หากไม่มี ผม (และเพื่อนจากค่ายระนอง) ยืนยัน ขอไม่รับการฝึกอบรมอีกต่อไป ผมอยากกลับบ้าน"


"ทหารบอกว่าคนที่ออกไปก่อน (ตามคำสั่งศาลหรือการยื่นหนังสือไม่ขอรับการฝึกอบรมอาชีพเพื่อปรับทัศนคติ) อยู่ไม่ถึงวันที่ 24 พ.ย. 50 จะไม่ได้รับการอนุญาตให้กลับบ้าน ส่วนคนที่อยู่ฝึกอบรมจนครบ 24 พ.ย. 50 หลังออกไปแล้วจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ พวกเค้าบอกผมอย่างนี้" มูหาหมัดยืนยัน


"แล้วผมหล่ะ จะกลับบ้านได้หรือเปล่า ผมคิดไม่ออกว่าเค้าจะห้ามผมกลับบ้านทำไม"


00000


คนที่3


อิมรอน สาและ โต๊ะอิหม่ามวัยหนุ่ม อายุเพียง 35 ปี จากบ้านบาโงปุโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เขาและเพื่อนยื่นหนังสือไม่ขอฝึกอบรมอาชีพเพื่อปรับทัศนคติ 4 เดือน ออกจากค่ายเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร หลังคำตัดสินของศาลในวันที่ 30 ตุลาคม 50 ระบุถึงบุคคลผู้ถูกควบคุมตัวเพื่อฝึกอาชีพสามารถมีความประสงค์ไม่ขอฝึกอาชีพได้และมาร่วมกลุ่มกับเพื่อนที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน 50


หมู่บ้านบาโงปุโระถูกทหารมากกว่า 100 นาย เข้าปิดล้อมพร้อมรถฮัมวี่และอาวุธครบมือ ทหารบอกกับพ่อตาของอิมรอนซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านว่า ต้องการพบตัวและเชิญตัวอิมรอนไปที่ ฉก.วัดทรายทอง บ้านบากง อิมรอนและพ่อตาไม่ขอขึ้นรถเจ้าหน้าที่แต่จะตามไปกันเอง "ทีแรกเขาบอกผมว่าให้ไปคุยที่ ฉก. (หน่วยทหาร) ใกล้ๆ บ้าน ซึ่งอยู่ในตำบลเดียวกัน แล้วต่อมา ไม่รู้ยังไง ทหารยศร้อยตรีคนหนึ่งบอกว่า เปลี่ยนไปคุยที่ ฉก.วัดทรายทอง บ้านบากง ซึ่งเป็นหน่วยใหญ่เพราะจะได้คุยกะผู้การแต่อยู่กันคนละตำบล"


เมื่อเขาและพ่อตาไปถึง ฉก.บากง ขณะนั้นเป็นเวลาเช้ามาก มีเพียงเสมียนเวรกับทหารจำนวนหนึ่งที่เพิ่งจะตื่นขึ้นล้างหน้าอาบน้ำ หลังจากนั้น รถฮัมวี่ 2 คัน ซึ่งปิดล้อมบ้านอิมรอนได้นำตัวเพื่อนบ้านของอิมรอนอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ต่างหมู่บ้านมาที่ ฉก.บากงด้วย "ผมรออยู่ที่หน่วยทหารจนเที่ยง ยังไม่มีใครมาคุยกับผม"


ระหว่างนั้นได้มีทหารพรานบรรทุกชาวบ้าน มากกว่า 10 คน มาที่หน่วยทหาร เมื่อทั้งหมดลงมาอยู่ในหน่วยเค้าบอกให้เราเซ็นรับรองการตรวจค้นว่าไม่ได้มีอะไรเสียหาย "ผมถามว่าให้เซ็นเรื่องอะไร ทหารบอกมาว่าแค่เซ็นรับรองว่าไม่ได้มีการทำร้ายหรือทำข้าวของเสียหายระหว่างการตรวจค้น"


หลังเที่ยงมีเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติเวช เดินทางมาจากกรุงเทพฯ มาตรวจหาสารตั้งต้นวัตถุระเบิด "ใช้อุปกรณ์อะไรไม่ทราบ สัมผัสที่ร่างกาย เสื้อผ้า ลิ้น ปากและกระพุ้งแก้ม ถ่ายรูป ทั้งหน้าตรง ด้านข้าง ด้านหลัง ทำทะเบียนประวัติ "ผมกลับบ้านได้หรือยัง" อิมรอนและทุกคนถามและเริ่มกระวนกระวายใจ


"จะเอาอย่างไรกัน จะต้องรอพบผู้การฯ หรือใคร อีกหรือเปล่า ไม่มีใครตอบได้ครับ ผมและคนอื่นๆ เริ่มเอะใจ ยังไงกัน บอกว่าเชิญตัวมาเพื่อพูดคุยแล้วจะปล่อยกลับตั้งแต่เช้า จนเย็นแล้วเรื่องยังไปไม่ถึงไหน จนกระทั่งทหารคนหนึ่งบอกพวกเราว่า ผู้การติดราชการเสียแล้ว เอาอย่างนี้แล้วกัน เดี๋ยวพวกคุณไปที่ สภอ.รือเสาะ คุยนิดเดียวแล้วเดี๋ยวคงได้กลับบ้าน" ทุกคนเริ่มยิ้มแย้มแจ่มใส สบายอกสบายใจ


เมื่ออิมรอนและกลุ่มชาวบ้านจาก ฉก.วัดทรายทองไปถึง สภอ.รือเสาะมีชาวบ้านมากกว่า 40 คน อยู่ที่นั่น เป็นทั้งเด็กและผู้หญิง เจ้าหน้าที่เข้ามาบอกพวกเขา (กลุ่มของอิมรอน) ว่า พวกคุณจะต้องอยู่รอผลการตรวจสารตั้งต้นฯ และขอควบคุมตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จนกว่าผลการตรวจจะออกมาอย่างเป็นทางการสัก 3-4 วันหรือ 1 อาทิตย์เป็นอย่างน้อย


ชาวบ้านมากกว่า 20 คน ถูกส่งไปค่ายอิงคยุทธบริหาร "พวกเราจะทำอะไรได้ครับ นอกจากจะตั้งความหวังเอาไว้ในใจว่าไม่เกิน 1 อาทิตย์ คงจะได้กลับบ้าน" อิมรอนถูกควบคุมตัวภายในห้องสี่เหลี่ยมทึบๆ ภายในตู้คอนเทนเนอร์ ภายในห้องขัง อิมรอนอยู่กับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีก 4 คน มีฟูกเก่าๆ เปล โถส้วมและพัดลมระบายอากาศ


อิมรอนอยู่ที่นั่น 12 วัน ก่อนจะถูกส่งตัวไปค่ายรัตนพล อ.คลองหอยโข่งและนำตัวเข้าโครงการฝึกอบรมอาชีพฯ 4 เดือน โดยไม่มีทางเลือก "ทุกๆ ครั้งที่ผมถูกสอบสวน เจ้าหน้าที่พยายามถามนำเพื่อให้ผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เป็นแนวร่วมก่อการ ผมคิดว่า ผมเข้าใจเรื่องวิธีการสอบสวน หากมันเป็นไปตามหนทางที่ถูกต้อง เหมาะควร ผมคิดว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้พยายามพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกัน ช่วงที่อยู่ในค่ายอิงคยุทธฯ เค้าเอาเราไปขังไว้ แล้วสอบประวัติเราเพียงแค่วันเดียว ขังเราอยู่อย่างนั้น มันไม่ได้สร้างความไว้วางใจกัน"


"หลังจากที่พวกเรายื่นหนังสือไม่ขอฝึกอาชีพ ทหารคุยกับผมว่า ผม (หมายถึงทหาร) ไม่อยากจะอยู่คนละฝ่ายกับคุณ แต่คุณมาทำอย่างนี้เป็นอันว่าเราขาดกัน แล้วยังบอกอีกว่า กลุ่มที่ออกไปแล้ว (หลังคำตัดสินของศาล) ไม่มีทางที่จะได้กลับบ้าน พูดอย่างนี้ผมยิ่งหวั่นใจ อยู่บ้านผมเป็นโต๊ะอิหม่าม อยู่ในค่ายทหารผมก็เป็นตัวแทนคนอื่นๆ ในการเจรจา เจ้าหน้าที่เค้าคงมองว่าผมเป็นคนชักนำคนอื่นๆ ให้ออกจากค่ายทหาร เชื่อผมเถอะครับ ไม่มีใครอยากอยู่ในค่ายทหาร ทุกคนอยากกลับบ้าน" สิ่งเดียวที่อิมรอนและเพื่อนหวัง คือ จะทำอย่างไรให้เราทุกคนได้กลับบ้านเร็วที่สุด กลับไปอย่างถูกกฏหมาย กลับไปอย่างคนบริสุทธิ์ที่ไม่มีความผิด ประกอบสัมมาอาชีพตามปกติสุข


ความคิดเห็นของนักกฏหมายและผู้คร่ำหวอดในวงการสิทธิมนุษยชน จากโครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง หลักนิติธรรมกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต่อกรณีศึกษา คำสั่งศาลต่อการใช้สิทธิตามป.วิอาญา ม.90 และคำสั่งของแม่ทัพภาค 4 "ห้ามบุคคลเข้าไปหรืออยู่อาศัยในพื้นที่" วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2550 ห้อง 211 คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)


ศ.ดร.คณิต ณ นคร คณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิต
"คำสั่งนี้ (ประกาศห้ามเข้าพื้นที่ของกองทัพภาค 4) ไม่ได้เปิดให้มีการตรวจสอบซึ่งหากจะพูดกันตามตรง คือ คำสั่งนี้มิชอบในทางกฏหมายและขัดรัฐธรรมนูญที่ระบุให้บุคคลสามารถเดินทางไปไหนมาไหนก็ได้ (อย่างเสรี) ภายในราชอาณาจักร คำสั่งห้ามเข้าพื้นที่เป็นการกระทำทางปกครองซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของศาลปกครองที่จะตรวจสอบได้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าศาลปกครองจะเอาด้วยหรือเปล่าเพราะหากไม่เจอนักกฏหมายที่มีมุมมองเชิงอำนาจ เขาก็ไม่เอา การที่เราจะได้อะไรมาก็ตาม เราต้องต่อสู้ด้วยวิถีทางที่ถูกต้อง อย่างเช่น กรณีมีคำสั่งออกมาลักษณะนี้ เราสามารถร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้วินิจฉัยว่าคำสั่งนี้ชอบหรือมิชอบ หากศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยแล้ว เราก็ยังมีศาลปกครองสูงสุด หากสำเร็จมันจะเป็นบรรทัดฐาน ถึงแม้จะเสียเวลาบ้างเราก็ต้องยอม มิฉะนั้น คำสั่งลักษณะเดียวกันจะเกิดขึ้นอีก"


ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่
"ปรากฏการณ์ที่เกิดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ สะท้อนว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับการคุกคามจากการใช้อำนาจรัฐ ผ่านชุดกฏหมายความมั่นคง (พรบ.กฏอัยการศึก พ.ศ.2457, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2548) ซึ่งมีอัปลักษณะพื้นฐานร่วมกัน 4 ประการ 1.เหตุผลในการประกาศใช้ที่ให้อำนาจครอบจักรวาล "เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย" โดยที่ผู้ประกาศใช้ไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลหรือรับผิดชอบใดใดทั้งสิ้น 2.ให้อำนาจเจ้าพนักงานของรัฐอย่างกว้างขวางไร้ข้อจำกัดซึ่งการห้ามบุคคลเข้าพื้นที่ (โดยที่บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องทำผิดก็ได้) เป็นส่วนหนึ่งจากการใช้อำนาจตามกฏหมายนี้ 3.การใช้อำนาจจะไม่ถูกตรวจสอบ (จากใคร) 4.เจ้าพนักงานไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย สุดท้ายการใช้กฏหมายเชิงอำนาจจะนำไปสู่การคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน"


รศ.ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"การห้ามเข้าพื้นที่ต้องอยู่บนพื้นฐาน 2 ประการ คือ 1.ผู้ที่ถูกห้ามเข้าพื้นที่ต้องมีการกระทำผิด (อย่างชัดแจ้ง) เสียก่อน หรือ 2.หากเข้าพื้นที่แล้วจะเกิดเหตุร้าย หากไม่มีพื้นฐานของทั้ง 2 ประการ คำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 32 ซึ่งบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลและในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ผู้เสียหาย พนักงานอัยการ หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้ระงับเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควร หรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจต้องมีกฏหมายตรวจสอบ แต่ปัจจุบันอำนาจนี้ไม่มีการตรวจสอบและเจ้าหน้าที่ก็ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินให้ไม่ต้องรับผิด"


สมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา
"หลักนิติธรรมอยู่ในกระบวนการทางกฏหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฏหมายอาญาหรือกฏหมายวิ.อาญา แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้คิดจะนำหลักการอันนี้ไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ยกตัวอย่าง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เจ้าหน้าที่กระทำความผิดแล้วไม่ถูกลงโทษ หลายคดีผลการสืบสวนชี้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด แต่กลับไม่มีการดำเนินการเพื่อเอาผิด


"ยกตัวอย่าง กรณีไต่สวนการตายที่มัสยิดกรือเซะซึ่งระบุชัดว่าใครทำให้ตาย แต่ไม่มีการตั้งข้อหาดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด หรือการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบและดุลยพินิจต้องมีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ เช่น คำสั่งที่กล่าวว่า ผู้ที่เข้ารับการอบรมครบ 4 เดือน สามารถกลับเข้าพื้นที่ได้ แต่ผู้ที่ยื่นคำร้องหรือหนังสือขอออกมาก่อนไม่สามารถกลับเข้าพื้นที่ได้ คำสั่งดังกล่าวถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ โดยดูที่ว่าบุคคลดังกล่าวเชื่อฟังคำสั่งหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ไม่ได้ตัดสินว่า ใครมีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์อย่างไรแล้วจะให้พวกเขายอมรับอำนาจของรัฐไทยที่เขามองว่าไม่ชอบธรรมนั้น ผมว่า เป็นไปไม่ได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net