บทวิเคราะห์ : ซื้อสิทธิขายเสียง : ปัญหาหรือมายาภาพของสังคมไทย..?

นีรนุช เนียมทรัพย์


 

 

 

 

ฤดูกาลเลือกตั้งเยือนมาอีกครั้ง ในขณะที่สื่อมวลชนก็ฉายภาพให้เห็นนักการเมืองจับขั้วรวมพรรค ย้ายพรรคกันฝุ่นตลบ พร้อมไปกับกระแสการรณรงค์เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

 

ทั้งหมดนี้ส่งให้การซื้อสิทธิขายเสียงกลายเป็นวาระแห่งชาติ และจำเลยที่ทำให้ประชาธิปไตยไม่พัฒนา ทำให้รัฐสภาเต็มไปด้วยนักการเมืองน้ำเน่า นายทุน และผู้มีอิทธิพล ก็คือ "ประชาชนคนยากจน"

 

เราจึงได้เห็นเสื้อรณรงค์ที่จัดทำโดยสำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์ด้วยประโยค "คนดีไม่ขายเสียง"

เราจึงได้เห็นการประชาสัมพันธ์ของ กกต.เต็มหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยถ้อยคำว่า "เราคนไทย พร้อมใจไม่ขายเสียง"[1]

 

และเราจึงได้เห็นหนึ่งใน กกต.ให้สัมภาษณ์ว่า"เราจะโทษประชาชนไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้รับการอบรมในอดีตมาดีพอเกี่ยวกับการขายเสียงและประชาธิปไตย" [2]

 

การซื้อสิทธิขายเสียงได้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของ คนดี-คนเลว คนรู้-คนไม่รู้ เป็นปัญหาระดับบุคคลที่แก้ไขได้โดยการรณรงค์/ประชาสัมพันธ์ แทนที่จะเป็นเรื่องที่มีรากเหง้ามาจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

 

หากวิเคราะห์จากบริบทของผู้ที่คิด หรือผู้ที่มีแนวโน้มที่จะคล้อยตามความคิดนี้ ซึ่งก็คือ ชนชั้นนำ และชนชั้นกลาง (เจ้านายชั้นสูง, นายทุน, นักการเมือง, ข้าราชการ, นักธุรกิจ, พ่อค้า) เขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีเงินเดือนประจำ เริ่มจากหลักหมื่นจนถึงหลักล้าน สิ้นปีมีโบนัส เลื่อนขั้น ปันผล มีสวัสดิการเมื่อเจ็บป่วย ลาคลอด ตาย เกษียณอายุ ลาออก หรือถูกให้ออก ในกรณีของข้าราชการสวัสดิการยังครอบคลุมไปถึงลูกและพ่อแม่ มีโอกาสได้ไปเที่ยวเมืองนอกฟรี แถมด้วย pocket money

 

ในทางการเมือง ชนชั้นนำเข้าถึงและควบคุมทุกอย่างเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตน ไม่ว่าจะเป็นกลไกรัฐ ทรัพยากร ทุน โดยใช้ "ระบบอุปถัมภ์" และพฤติกรรม "ต่างตอบแทน" ในการสร้างอำนาจและกอบโกย ในขณะที่ชนชั้นกลางเป็นกลไกหลักที่จงรักภักดี ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกลไกของระบบอัปลักษณ์นี้ให้ดำเนินไปด้วยดีและได้รับผลประโยชน์จากเจ้านายของเขาอย่างเกินจะพอเพียง

 

ย้อนกลับมาดูคนชั้นล่าง ซึ่งมีรายได้เป็นรายวัน 100 - 200 บาท/วัน หรือในภาคเกษตร รายได้จากการขายข้าวปีละ 1- 2 ครั้ง ขุดมันตัดอ้อยปีละครั้ง แต่ทั้งหมดเป็นรายได้ที่ไม่มีความแน่นอน ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ราคาผลผลิต และสุขภาพของพวกเขา โดยไม่มีสวัสดิการใดๆ ยามแก่ เจ็บ หรือตาย ยกเว้นแรงงานในระบบ การศึกษาภาคบังคับ 9 ปีที่รัฐให้ ก็ไม่ฟรีจริง มีค่าอุปกรณ์การศึกษาและค่าใช้จ่ายรายวันที่เป็นภาระหนักเมื่อเทียบกับรายได้ของพ่อแม่ ไม่มีเงินออม มีแต่หนี้สินที่เกิดจากรายได้ไม่เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่าย

 

ในทางการเมือง นับแต่อดีตมา คนกลุ่มนี้ไม่เคยมีอำนาจในการตัดสินใจกำหนดอะไร ทั้งในเรื่องการครอบครองปัจจัยการผลิต (ที่ดิน ทุน) การเข้าถึงทรัพยากร (แม้จะอยู่ใกล้ แต่ถูกกีดกันจากกฎหมายของชนชั้นนำ) ราคาผลผลิต การเข้าถึงบริการของรัฐ มีผู้แทนก็ไม่เคยสะท้อนความต้องการของคนจน ไม่เคยผลักดันอะไรให้เกิดประโยชน์หรือแก้ปัญหาให้กับตน

 

ในสภาพที่เศรษฐกิจและการเมืองไม่มีความหวังเช่นนี้ ไม่น่าสงสัยเลยว่า สำหรับคนจนแล้ว เงินที่พวกเขาได้รับจากนักการเมือง จึงดูมีค่ามากกว่าผู้แทนที่ดีในอุดมคติ แต่กลับไร้ค่าในความเป็นจริง

 

หรือการเลือกผู้แทนที่ช่วยเหลือได้ในยามที่คนในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วยหรือตาย (มีรถบริการฟรี) ช่วยประกันตัวยามที่ต้องคดีความ มีน้ำแข็งหรือเงินช่วยเหลือยามที่ชุมชนมีงานบุญหรืองานอื่นๆ ก็ยังดีกว่าเลือกผู้แทนที่ไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยเห็นหน้าเลยถ้าไม่ใช่ฤดูเลือกตั้ง

 

แต่แล้วสิ่งที่คนจนแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาที่สุดในวันที่สิทธิเสียงของเขาได้รับการรับฟังอย่างเท่าเทียมกับคนอื่น (เพียงวันเดียว) กลับถูกตราหน้าว่า ขายสิทธิขายเสียงบ้าง, อยู่ในระบบอุปถัมภ์บ้าง

 

ในสมัยที่พรรคไทยรักไทยหาเสียงด้วยนโยบายที่มีประโยชน์ต่อคนจนในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2544 (เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ใช้บังคับ) ไทยรักไทยได้รับการตอบรับจากประชาชนด้วยคะแนนกว่า 9 ล้านเสียง เป็นอันดับหนึ่ง และเมื่อไทยรักไทยนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงได้ การเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 2548 ไทยรักไทยจึงได้รับการสนับสนุนด้วยคะแนนเกือบ 19 ล้านเสียง[3] นี่เป็นการสะท้อนสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ คือ การเมืองที่เห็นหัวคนจนบ้าง และสะท้อนปัญหาสังคมที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงใจ คือปัญหาความยากจน

 

เช่นเคย กลุ่มอภิสิทธิ์ชนไม่ได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่คนจนชนชั้นล่างสะท้อนออกมา วันที่คนจนเรียนรู้ที่จะเลือกนโยบายพรรคที่เป็นประโยชน์กับตน ก็กลับถูกชี้หน้าว่าเป็นพวกเสพติดประชานิยม!![4]

 

การที่ประชาชนไปเลือกพรรคที่มีนโยบายที่เป็นประโยชน์อย่างถล่มทลาย อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การรัฐประหาร[5] และการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 ในหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้ง เปลี่ยนระบบบัญชีรายชื่อที่ประชาชนตัดสินใจเลือกพรรคที่มีนโยบายถูกใจ และพรรคนั้นสามารถเป็นรัฐบาลนำนโยบายไปปฏิบัติให้เป็นจริงได้ เป็นระบบสัดส่วนตามกลุ่มจังหวัด ซึ่งออกแบบมาให้เลือกตัวบุคคลแทนการเลือกนโยบาย การบัญญัติแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไว้อย่างละเอียดในรัฐธรรมนูญ ทำให้นโยบายของพรรคเป็นเรื่องไร้สาระ ประกอบกับการกำหนดบทเฉพาะกาลให้ผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรคก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน ทำให้บรรยากาศก่อนการเลือกตั้ง มีแต่ข่าวการย้ายพรรค ซื้อตัว ส.ส. เป็นที่เบื่อหน่ายของประชาชน ทั้งหมดนี้ ทำลายระบบพรรคการเมือง, นักการเมือง และประชาธิปไตยให้เป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้และดูสิ้นหวังสำหรับประชาชนโดยเฉพาะคนจน เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540

 

ขณะเดียวกัน สภาพทางเศรษฐกิจของประชาชนไม่มีอะไรดีขึ้น ข้อมูลข่าวสารถูกปิดกั้น สิทธิเสรีภาพถูกริดลอน (ด้วยกฎอัยการศึก) เสียงของประชาชนถูกเมินเฉย ในสภาพเช่นนี้ เงินจึงเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกผู้แทนของคนจนอีกครั้ง[6]

 

เห็นได้ว่า การซื้อสิทธิขายเสียงไม่อาจกลบเกลื่อนด้วยการมองเป็นแค่ปัญหาระดับบุคคล พร้อมกับสร้างให้นักการเมือง-ประชาชนเป็นผู้ร้ายในเวทีประชาธิปไตยที่เห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า และตกอยู่ในระบบอุปถัมภ์ ในขณะที่ชนชั้นสูง นายทุน ข้าราชการ (และคณะรัฐประหาร) ต่างก็ใช้ระบบอุปถัมภ์ มีพฤติกรรมต่างตอบแทน และสร้างกลไก/กติกาที่เอื้อต่อการซื้อสิทธิขายเสียง

 

การแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงด้วยการทุ่มงบประมาณรณรงค์/ประชาสัมพันธ์ ออกกฎหมายป้องกัน/ปราบปราม หรือสร้างอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตยนับแสนนับล้านคน อย่างเช่นที่รัฐบาลชั่วคราวและคณะรัฐประหารทำอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นมายาภาพที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อหลอกลวงให้สังคมได้มองเห็นว่าการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นปัญหาหลัก โดยอำพรางรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงเอาไว้

 

ในทัศนะของผู้เขียน การซื้อสิทธิขายเสียงไม่ได้เป็นปัญหาในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงทัศนะของคนชั้นกลางที่มีต่อคนชั้นล่างอย่าง "เป็นอื่น" โดยไม่ทำความเข้าใจในฐานะของมนุษย์ที่เท่าเทียมและยังสะท้อนถึงโครงสร้างสังคมการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยสำหรับคนยากจนมีค่าเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับเศษเงิน 200-300 บาท หรือการอุปถัมภ์เล็กๆ น้อยๆ ที่พวกเขาได้รับจากพรรคการเมือง

 

โจทย์ที่แท้จริงของการซื้อสิทธิขายเสียง จึงอยู่ที่สังคมต้องทำความเข้าใจการเมืองในบริบทที่กว้างขวางขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนทัศนะที่มีต่อคนจนเสียใหม่ และพุ่งตรงไปที่การสร้างสังคมที่เป็นธรรมให้เป็นจริง คนจนต้องไม่ฝากความหวังไว้กับคนอื่น แต่ต้องขบคิดและสร้างขบวนการเคลื่อนไหวด้วยตนเอง กดดันให้พรรคการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีสัญญาประชาคมในการปฏิรูปการเมือง เร่งแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อให้ประชาธิปไตยเป็นประโยชน์ต่อทุกคนได้อย่างเป็นจริง็น็น   

 

ที่สำคัญ สังคมต้องดำเนินและพัฒนาไปตามครรลองของประชาธิปไตย โดยไม่ยินยอมให้อำนาจเผด็จการหรืออำนาจนอกระบบประชาธิปไตยใดๆ มาทำให้หยุดชะงักลงอีกแล้ว เพื่อที่ประชาชนจะได้เรียนรู้การใช้อำนาจและสิทธิของปวงชนชาวไทยอันเป็นสาระที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย

 

และเมื่อนั้น ประชาธิปไตยก็จะมีค่ามากกว่าเงิน 200-300 บาท โดยไม่ต้องบังคับหรือเชิญชวน!!

 

 

 

 

 

เชิงอรรถ

[1] ไทยโพสต์, 25 ตุลาคม 2550

[2] สุเมธ อุปนิสากร ให้สัมภาษณ์กรณีเอแบค จัดทำโพลล์สำรวจ "วาระแห่งชาติที่ประชาชนต้องการในรัฐบาลสมัยหน้าหลังการเลือกตั้ง: กรณีศึกษาตังอย่างประชาชนอายุ 18 ขึ้นไป ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ" (ดูใน ไทยโพสต์, 22 ตุลาคม 2550)

[3] ดูใน "ระบบสัดส่วน," มติชน, 26 ตุลาคม 2550

[4] ทวี มีเงิน, "ปลุกผีประชานิยม," มติชน, 25 ตุลาคม 2550

[5] ดูเพิ่มเติมใน สัมภาษณ์ "ใจ อึ๊งภากรณ์" หลังกลับอังกฤษ... รัฐประหาร, หลังเลือกตั้ง, และขบวนการภาคประชาชนไทย ? www.prachatai.com เวบหนังสือพิมพ์ออนไลน์

[6] ผลสำรวจเอแบคโพลล์ "วาระแห่งชาติที่ประชาชนต้องการในรัฐบาลสมัยหน้าหลังการเลือกตั้ง: กรณีศึกษาตังอย่างประชาชนอายุ 18 ขึ้นไป ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ" ร้อยละ 64.6 จะรับหากมีคนเสนอเงิน/สิ่งของ หรือผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อแลกกับการออกเสียงลงคะแนนให้ (ดูใน ไทยโพสต์, 22 ตุลาคม 2550)

 

หมายเหตุผู้เขียน            บทความนี้หากมีคุณความดีอยู่บ้างผู้เขียนขออุทิศให้คุณนวมทอง ไพรวัลย์ สามัญชนที่สละชีวิตเพื่อยืนยันในหลักการประชาธิปไตยและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของเขา ว่ามีเท่าเทียมกันกับคนชั้นนำทั้งหลาย ซึ่งค่อนข้างแน่นอนว่าเขาจะถูกสังคมละลืมลงไปในเวลาไม่นานนัก แต่อย่างน้อยเขาจะเป็นที่ระลึกอยู่ในใจของคนรุ่นหลังจำนวนหนึ่งตลอดไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท