Skip to main content
sharethis



กรีนพีช เผยรายงานความเสียหายการปนเปื้อนของข้าวจีเอ็มโอ


เมื่อวันที่ 6 พ.ย.50 กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผยแพร่ผลการวิจัย "ธุรกิจแห่งความเสี่ยง: ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการควบคุมที่เกิดจากการปล่อยพันธุ์ข้าวดัดแปลงพันธุ์กรรมโดยบังเอิญสู่ระบบการค้าข้าวของสหรัฐฯ" (Risky Business Economic and regulatory impacts from the unintended release of genetically engineered rice varieties into the rice merchandising system of the US)




สำหรับจุดประสงค์ของรายงานฉบับนี้คือการให้ภาพรวมเกี่ยวกับเหตุการณ์ปนเปื้อนของข้าวพันธุ์ลิเบอร์ตี้ ลิงค์ของบริษัทไบเออร์ ในปี 2549 อุตสาหกรรมข้าวทั่วโลกได้รับผลกระทบเชิงลบจากการปนเปื้อนโดยไม่ได้รับอนุญาตของพันธุ์ข้าวดัดแปลงพันธุกรรม ที่มีชื่อว่า ลิเบอร์ตี้ ลิงค์ 6011 ซึ่งข้าวพันธุ์ดังกล่าว (LL601) เป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นจากสายพันธุ์ LP2 โดยบริษัทไบเออร์ ครอปไซน์ส โดยที่ข้าวพันธุ์ LL601 ไม่เคยได้รับการอนุญาตให้นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์จากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) แต่อย่างใด ข้าวพันธุ์ลิเบอร์ตี้ ลิงค์ของบริษัทไบเออร์ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมให้มีความต้านทานต่อสารกําจัดวัชพืชลิเบอร์ตี้ (กลูโฟซิเนต-แอมโมเนียม) แม้ว่ารายละเอียดในเบื้องต้นเกี่ยวกับสาเหตุของการปนเปื้อนโดยบังเอิญจะยังคงไม่ทราบแน่ชัดก็ตาม แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั่นปรากฏขึ้นชัดเจน


 


โดยในเดือนสิงหาคม ปี 2549 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของสหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์สั้นๆ เพื่อประกาศว่าผลผลิตข้าวของสหรัฐฯ ถูกปนเปื้อนด้วยข้าวพันธุ์ LL601 (ลิเบอร์ตี้ ลิงค์) ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวดัดแปลงพันธุ์กรรม (GE) ของบริษัทเบเยอร์ ครอปไซน์ส (Bayer CropScience)


 


การประกาศดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะทางด้านการเงินและการตลาดครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของวงการค้าข้าวสหรัฐฯ ผลกระทบที่เกิดจากอุตสากรรมดังกล่าวแผ่ขยายไปทั่วโลก ทำให้มีค่าเสียหายขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมข้าวอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก


 


ในเดือนสิงหาคมปี 2549 ได้มีการตรวจพบร่องรอยการปนเปื้อนของข้าวพันธุ์ LL601 ในระบบการค้าข้าวในยุโรป แอฟริกา และเอเชีย หลังจากนั้นไม่นานนัก หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป และประเทศญี่ปุ่น ได้ระงับการนำเข้าข้าวเมล็ดยาวจากสหรัฐฯ โดยทันที ต่อมาภายหลังสหพันธุ์ข้าวสหรัฐฯ ได้มีมาตรการให้ 1) กวาดล้างช่องทางการจัดจำหน่ายข้าวทั้งหมดไม่ให้มีร่องรอยการปนเปื้อนของข้าวพันธุ์ LL601, LL62 และ LL06 รวมทั้งข้าวเมล็ดยาวพื้นเมืองพันธุ์ Clearfield CL131 และ Cheniere ที่พบว่ามีการปนเปื้อนของข้าวพันธุ์ที่ดัดแปลงพันธุกรรมเช่นกัน


 


และ 2) ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าการส่งออกข้าวในอนาคตได้มาตรฐานตามแนวทางข้อกำหนดด้านการส่งออกข้าวที่ปลอดการดัดแปลงพันธุกรรม นอกจากนี้กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) และคณะกรรมการพืชพันธุ์แห่งรัฐอาร์คันซอ (Arkansas State Plant Board) ยังได้ประกาศมาตรการฉุกเฉินโดยสั่งห้ามการเพาะปลูกข้าวเมล็ดยาวพันธุ์ Clearfield 131 และ Cheniere ในปี 2550 และ 2551 เนื่องจากพบว่ามีการปนเปื้อนของพันธุ์ข้าวดัดแปลงพันธุกรรม โดยพบว่าข้าวเมล็ดยาวพันธุ์ Clearfield 131 ของบริษัท BASF คอร์ปอเรชั่นได้ถูกปนเปื้อนด้วยข้าวพันธุ์ LL604 ของบริษัทไบเออร์ นอกเหนือจากข้าวตระกูลลิเบอร์ตี้ ลิงค์ (LL) ที่กล่าวในรายงานฉบับนี้แล้ว (ซึ่งได้แก่ LL601, LL62, LL06 และ LL604) ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าว่ามีข้าว ตระกูลนี้จำนวนอีกกี่สายพันธุ์ที่พัฒนาโดยบริษัทไบเออร์ ครอปไซน์ส แอลพี  นอกจากนี้ทาง USDA ยังไม่มีคำอธิบายถึงสาเหตุที่ข้าวดัดแปลงพันธุ์ LL601 เข้าไปปนเปื้อนในระบบการผลิดตข้าวของสหรัฐในวงกว้าง


 


ความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากผลกระทบด้านการส่งออกในปีเพาะปลูก 2549/ 50 อยู่ที่ประมาณ 254 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยความเสียหายด้านการส่งออกในอนาคตโดยประมาณอยู่ที่ 89 ถึง 445 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการปิดตลาดของตลาดส่งออกหลักของสหรัฐฯ สองแห่ง (อียูและฟิลิปปินส์) ผลกระทบเชิงลบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ผู้ผลิตข้าวต้องเผชิญ อันเนื่องมาจาก 1) ราคาข้าวที่ลดลง 2) ระยะเวลาการจัดเก็บข้าวในสต็อกที่ยาวนานขึ้น 3) สต็อกเมล็ดพันธุ์ข้าวในปี 2550 ลดลง 4) ค่าใช้จ่ายในการทดสอบข้าวตามข้อกำหนด 5) การทำลายข้าวออกจากระบบค้าข้าว และ 6) รายได้จากข้าวที่สูญเสียไป คาดว่าอยู่ที่ 199 ถึง 201 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ โดยประมาณ ในด้านความเสียที่เกิดกับแก่ผู้แปรรูปข้าวโดยประมาณอยู่ที่ 88 - 91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยบริษัท BASF ได้ประเมินค่าเสียหายของตนไว้ที่ 1-15 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ จากการที่เมล็ดพันธุ์ ข้าว 131 ของบริษัทฯ ถูกปนเปื้อนด้วยข้าวพันธุ์ LL62 และ LL604 การเรียกคืนสินค้าอาหารทั่วโลกมีมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 85- 253 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ ผลเสียหายจากการส่งออกสินค้าทางเรือที่เกิดจากค่าเสียหายของสหรัฐฯ อยู่ 25 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ ความเสียหายรวมทางเศรษฐกิจทั่วโลกโดยประมาณอันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของข้าวพันธุ์ LL601 อยู่ที่ 741- 285 พันล้านเหรียญ สหรัฐฯ


 


รายงานดังกล่าวยังระบุว่า เป็นที่คาดการณ์ว่าการฟ้องร้องดำเนินคดี แบบกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของสหรัฐฯ ต่อกับบริษัท ไบเออร์ คอร์ปไซน์ส แอลพีจะทำให้บริษัทไบเออร์ (และ/ หรือบริษัทผู้รับประกันภัย) ต้องเสียค่าชดเชยเป็นจำนวนถึงหนึ่งพันล้านเหรียญ สหรัฐฯ นอกจากนี้ผู้แปรรูปอาหารจากอังกฤษและเยอรมันนียังได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อบริษัทไรซ์แลนด์ ฟู้ดส์ และบริษัทโพรดิวเซอร์ส ไรซ์ มิลล์อีกด้วย ทั้งนี้ค่าเสียหายเพื่อเป็นการชดเชยมูลค่า 1 พันล้านเหรียญ สหรัฐที่บริษัทไบเออร์ต้องจ่ายนี้ยังถือเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากมูลค่าความเสียหายที่อุตสาหกรรมข้าวทั่วโลกต้องแบกรับ


 


ยันตลาดข้าวไทยยังปลอดจีเอ็มโอ แต่ให้ระวังระเบิดเวลาในอนาคต


นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนี้ ณ บ้านไร่กาแฟ ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และ นายแดเนียล โอคามโป  ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ร่วมจัดงานแถลงข่าวเปิดเผยรายงานผลกระทบด้านเศรษฐกิจการส่งออกข้าวของสหรัฐอเมริกา อันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของข้าวจีเอ็มโอพันธุ์ LL601


 


โดยสถานการณ์ข้าวในประเทศไทยนั้น ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า "ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่ปลอดจากข้าวจีเอ็มโอ การส่งเสริมให้มีข้าวจีเอ็มโอก็เหมือนกับเป็นการวางระเบิดอนาคตของเกษตรกรรมไทย และการปนเปื้อนในตลาดข้าวของสหรัฐอเมริกานี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเกษตรกรนับพันคน รวมไปถึงธุรกิจการส่งออกข้าวทั่วโลกด้วย และประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกจึงไม่ควรไปเสี่ยงไปกับเทคโนโลยีที่อันตรายเช่นนี้"


 


ด้านแดเนียล โอคามโป  ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า "สถานการณ์ข้าวของประเทศไทยและฟิลิปปินส์มีทั้งสิ่งที่เหมือนกันและต่างกัน คือ เหมือนกันตรงที่ทั้งสองประเทศปลูกข้าวเหมือนกัน และสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเยอะเป็นอันดับหนี่งของโลก สำหรับฟิลิปปินส์แล้วเป็นประเทศที่นำเข้าข้าวจำนวนมาก และจากกรณีการพบการปนเปื้อนของข้าวจีเอ็มโอพันธุ์ LL601 ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบโดยไม่รู้ตัวจากข้าวจีเอ็มโอซึ่งนับว่าเป็นภัยที่เลี่ยงไม่ได้ ทั้งความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และจากรายงานยังชี้ให้เห็นอีกว่าพืชจีเอ็มโอยังทำลายตลาดการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย ดังนั้นทุกประเทศในเอเชียควรที่จะให้ความสนใจต่อการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวด้วยวิธีการอื่น"


 


ส่วนของสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ มีความคิดเห็นกับเรื่องนี้ว่า "ทางสมาคมฯ มีความมั่นใจว่าข้าวไทยที่ค้าขายและส่งออกกันอยู่ในขณะนี้เป็นข้าวที่ปลอดจากจีเอ็มโอแน่นอน"


 


ณัฐวิภา ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า  "กรีนพีซกังวลว่ารัฐบาลในภูมิภาคนี้จะสนับสนุนการทดลองข้าวจีเอ็มโอ ซึ่งถ้าหากมีการอนุญาตให้ทดลองข้าวจีเอ็มโอในแปลงเปิดแล้ว จะส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์ข้าวและตลาดการส่งออกข้าวของประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึงข้าวหอมมะลิของเราด้วย แล้วใครจะชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่เกษตรกรไทย ผู้ประกอบธุรกิจข้าว และผู้ส่งออกข้าวไทยที่ต้องรับปัญหาหนักเหมือนกับตัวอย่างจากประเทศสหรัฐฯ และมีเพียงทางเดียวที่ธุรกิจข้าวจะปกป้องตัวเองจากการที่ต้องสูญเสียเงินนับพันล้านไปกับความเสี่ยงอย่างจีเอ็มโอ นั่นคือ การป้องกันไม่ให้ข้าวจีเอ็มโอสู่ระบบการส่งออกข้าวของประเทศสหรัฐอเมริกา"

เอกสารประกอบ

ธุรกิจแห่งความเสี่ยง: ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการปล่อยข้าวจีเอ็มโอโดยบังเอิญสู่ระบบค้าข้าวของสหรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net