Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อเวลา 9.30 น. วันนี้ (6พ.ย.50) ชาวบ้านในนามเครือข่ายชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และเครือข่ายสลัม สี่ภาครวมกว่า 400 คน เดินขบวนพร้อมชูป้ายผ้าและลังกระดาษ จากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังทำเนียบรัฐบาลฝั่งประตูติดกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้แก้ไขปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัย


การกล่าวปราศรัยตลอดการเดินขบวนระบุว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้เดือดร้อน ที่ร้องเรียนไปตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.50 ได้มีการแก้ไขเฉพาะชุมชนของญาติรัฐมนตรีคนหนึ่งเพียงแห่งเดียว แต่ชุมชนอื่นๆ กลับไม่ได้รับความสนใจ ตลอดเวลา 8 เดือนที่ผ่านมาแม้ตัวแทนกลุ่มเรียกร้องสิทธิที่ทำกินและที่อยู่อาศัยจะได้พยายามติดตามความคืบหน้าของการแก้ปัญหาจากผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ แต่แต่ละหน่วยงานกลับโยนกันไปมา จึงต้องเดินทางมาเพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงลมปากหรือลายมือชื่อ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มชาวบ้านที่มาชุมนุมมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเป็นผู้เดือดร้อนในกรณีต่างๆ ดังนี้ 1.กรณีที่นายทุนอ้างเอกสารสิทธิทับที่ดินทำกินของชาวบ้านกว่า 1,000 ครอบครัว ใน ต.หนองกินเพล ต.บุ่งหวาย ที่สาธารณหนองบัวขาวและหาดเว อ.เมือง มีการฟ้องร้องชาวบ้าน 75 ราย 2.กรณีพื้นที่สาธารณประโยชน์ทับที่ดินของชาวบ้านบ้านกุดลาด ซึ่งมีปัญหากว่า 100 ครอบครัว ซึ่งนอกจากปัญหาเรื่องที่ดินแล้วชาวบ้านยังประสบปัญหาเรื่องระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้าและน้ำประปา


3.กรณีบ้านหนองปลาดุก ซึ่งถูกโรงพยาบาลสงฆ์ขยายเขตก่อสร้างทับที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน กว่า 70 ครัวเรือน 4.กรณีชุมชนที่ผ่านกระบวนการของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) แล้วแต่ยังไม่มีความคือหน้า ของชุมชนหาดวัดใต้ ชุมชนสะพานใหม่ และชุมชนศรีประดู่ อีกทั้งชุมชนที่เข้าสู่กระบวนการเช่า 2 ชุมชนคือ ชุมชนคุรุมิตร และชุมชนวังทอง


นางสาวสุปราณี ทับสกุล ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน กรณีการขยายที่โรงพยาบาลสงฆ์ บ้านปลาดุก หมู่ 3 ต.ไร่น้อย อ.เมือง กล่าวว่า โรงพยาบาลสงฆ์ ซึ่งมีมูลนิธิ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้ดำเนินโครงการ เมื่อปี 46 ทางผู้ดำเนินโครงการต้องการขยายพื้นที่เพื่อสร้างวัดและทำสวนสมุนไพร ทั้งที่โรงพยาบาลมีพื้นที่อยู่แล้วกว่า 69 ไร่ ซึ่งเพียงพอจะทำประโยชน์ต่างๆ ได้


ทั้งนี้นางสาวสุปราณี กล่าวต่อว่าที่ดินที่โรงพยาบาลต้องการขยายเพิ่มเติมคิดเป็นพื้นที่ 80 ไร่ มี ชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 70 ครอบครัว แม้ทางผู้ดำเนินโครงการจะต้องการที่ดินแต่ก็ไม่มีการร่วมพูดคุยกลับแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน 2 รายในข้อหาบุกรุกพื้นที่สาธารณะเพื่อเป็นการข่มขู่ ตามความคิดเห็นของนางสาวสุปราณี ไม่ควรทำโครงการขยายพื้นที่โดยการรุกที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน หากต้องการทำสวนสมุนไพรก็ควรเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกในครัวเรือน


"เราสู้กันมานาน แต่ทุกวันนี้เราก็ยังเห็นการระดมทุนสร้างวัดอยู่ในหน้าจอโทรทัศน์" นางสาวสุปราณีกล่าว


นายจำนง จิตรนิรัตน์เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงความคาดหวังจากการเข้ามายื่นหนังสือในวันนี้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของระบบการจัดการถึงอย่างไรก็ต้องอาศัยกลไกของรัฐในการแก้ปัญหา ซึ่งอาจได้รับการแก้ไขเพียงเล็กน้อยจากปัญหาที่ได้ร้องเรียนไป แต่ถึงอย่างไรก็เป็นการต่อสู้ของชาวบ้านอย่างน้อยก็ใช้เป็นประสบการณ์ โดยการชุมนุมครั้งนี้จะไม่ยืดเยื้อเพราะชาวบ้านต้องกลับไปดูแลไร่นา


"พี่น้องอุบลมาเรียกร้องเรื่องที่ดิน แต่ไม่ได้เอาที่ดินมาอยู่กับตัว แต่เอาวิญญาณของผู้บุกเปิกพลิกดินพลิกป่ามาสร้างอาหารให้ทุกคนได้กิน" นายจำนงกล่าวกับผู้มาร่วมชุมนุม


ในส่วนการแก้ไขปัญหานั้นนายจำนง กล่าวว่า รัฐควรเร่งรัดในการจัดการปัญหาบางเรื่องก่อน อาทิ ปัญหาชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ การชะลอคดีฟ้องร้องชาวบ้านที่ขณะนี้ยังอยู่ในชั้นศาล และการหยุดยังไม่ให้มีการดำเนินการฟ้องร้องคดีเพิ่มเติม นอกจากนี้ในส่วนการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนรัฐควรตั้งคณะกรรมการที่มาจากรัฐบาลโดยตรงร่วมกับชาวบ้านที่ประสบปัญหาเพื่อร่วมแก้ไขและติดตามผลการดำเนินการ


"วันนี้เราอาจกลับไปมือเปล่าก็ได้ แต่จิตวิญญาณของเราผู้ทุกข์ยากจะเกาะกินท่าน หากท่านไม่ยอมแก้ปัญหาให้พวกเรา" นายจำนงกล่าวหลังจากให้ผู้ร่วมชุมนุมยืนสงบนิ่งส่งจิตใจเข้าไปให้นายกรับรู้


จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 14.00น. ตัวแทนชาวบ้านที่ได้เข้าไปยื่นหนังสือตั้งแต่ในช่วงเช้าแก่นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และได้ร่วมหารือในการแก้ปัญหากับตัวแทนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ได้ออกมารายงานถึงผลสรุปการพูดคุยว่า มีการรับปากจะแก้ปัญหาที่ดินโดยเร่งรัดในกรณีของกลุ่มชุมชนซึ่งผ่าน กบร.แล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้าทั้ง 3 ชุมชน (ชุมชนหาดวัดใต้ ชุมชนสะพานใหม่ และชุมชนศรีประดู่)


ทั้งนี้การเจรจาในต่อไปจะส่งพลเอก นิพนธ์ ศิริพร หัวหน้าสำนักงานนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ในราวกลางเดือนพฤศจิกายนนี้เพื่อเจรจา ร่วมแก้ปัญหากับชาวบ้าน ก่อนที่ชาวบ้านจะกระจายตัวกันกลับอย่างสงบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net