Skip to main content
sharethis





บทบรรณาธิการ


เคยเป็นไหม? ที่อ่านข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว ไม่อยากทำอะไร อยากอยู่เฉยๆ ไม่อยากเขียน ไม่อยากพูด ไม่อยากตะโกนแล้ว อยากกลับไปทำงานในพื้นที่เล็กๆแคบๆแต่เปลี่ยนแปลงได้จริงดีกว่า ดิฉันกำลังเป็นแบบนั้นค่ะ


            หลายเดือนมานี้อ่านข่าวเรื่องแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าทีไร ดิฉันกลายเป็นคนแก่ขี้บ่นเสียเหลือเกิน  พวกเรา ดิฉันหมายถึงคนทำงานเรื่องนี้พยายามป่าวประกาศ กู่ร้อง ก้องตะโกน  จนเสียงแหบเสียงแห้ง หลายคนมีพลังก็ทำงานกันต่อไป หลายคนท้อถอยก็เปลี่ยนเส้นทางเดิน  การเปลี่ยนแปลงสังคมว่ายากแล้ว แต่การเปลี่ยนหัวใจคนยากยิ่งกว่า


            บ่นกับคนร่วมบ้านเดียวกัน เขาบอกว่า ไม่ใช่คนในสังคมไม่รู้เรื่องนี้หรอก ลอง search คำว่า "แรงงานต่างด้าว ผู้ลี้ภัย พม่า" ใน Google ดูซิ อ่านกันไม่หวาดไม่ไหว เอกสารทำความเข้าใจ ให้คำอธิบายมีจำนวนมาก เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ใช่คำอธิบายเรื่องนี้ไม่มี คำอธิบายมี แต่เราเลือกที่จะไม่รับรู้เสียมากกว่า


เฮ้อ ! ขอถอนหายใจดังๆแล้วกันค่ะ พลังจะได้กลับมา และทำงานกันต่อไป 


ครั้งนี้ส่งบทความเรื่อง "ต่างด้าว ต่างดาว: เราต่างไม่แตกต่าง" มาให้อ่านกันค่ะ หวังว่าจะเยียวยาหัวใจหลังจากอ่าน "ต่างด้าว ต่างดาว" ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน


ด้วยจิตคารวะและเชื่อมั่นพลังสามัญชน
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

6 พฤศจิกายน 2550


000


ต่างด้าว ต่างดาว  : เราต่างไม่แตกต่าง


โดย อดิศร เกิดมงคล International Rescue Committee
และบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ Peaceway Foundation


หมายเหตุ: ข้อมูลส่วนใหญ่เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์แรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลระหว่างปี 2547-2550 เพียงเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างกับพื้นที่อื่นๆในประเทศไทย



".......นายวิเลี่ยม ชิต เสน แกนนำองค์กรนักศึกษาพม่าพลัดถิ่น นำนักศึกษาพม่าจำนวนหนึ่งเดินทางมาพร้อมกับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อร่วมลงนามถวายพระพร โดยกล่าวว่า คนพม่าก็เหมือนกับคนไทยที่รู้สึกรักและเป็นห่วงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก เพราะที่ผ่านมาทรงให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกคนโดยไม่แบ่งแยก แม้ว่าพวกตนเป็นชาวพม่าแต่ก็ทรงให้การดูแลเหมือนกับประชาชนไทยทั่วไป คิดว่าพระองค์คือที่สุดของพระมหากษัตริย์ในโลก เมื่อทราบว่าทรงพระประชวรรู้สึกเป็นห่วง และคิดถึงพระองค์มาก อยากให้ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว........." (ลงชื่อถวายพร ทะลุ 1 ล้านคน ข่าวสด 5 พฤศจิกายน 2550)


ในช่วงหลายเดือนมานี้ตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์คมชัดลึกมักจะรายงานข่าวในท่วงทำนองที่ว่า "ในจังหวัดสมุทรสาครปัจจุบันมีกลุ่มแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะแรงงานจากพม่าอพยพเข้ามาพักอาศัยหลายแสนคน จนทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงวิตกว่า แรงงานเหล่านี้จะเข้ามาสร้างปัญหาทั้งทางด้านความมั่นคงและคดีอาชญากรรมร้ายแรง ตลอดจนปัญหาด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีการตั้งแก๊งมาเฟียเรียกเก็บค่าคุ้มครอง และมีเครือข่ายค้ามนุษย์ลักลอบนำแรงงานพม่าเข้ามาในประเทศไทย" (ดูคมชัดลึกฉบับวันที่ 5 ตุลาคม, 24-28 กันยายน 2550) และมามองดูข่าวล่าสุดในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับวันที่ 31 ตุลาคม 2550 ต่างรายงานไปในทิศทางเช่นเดียวกันว่า "ตำรวจสอบสวนกลางกว่า 600 นาย บุกจับกุมแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาทำงานในโรงงานมากกว่าจนผิดปกติ ซึ่งบางส่วนอาจสร้างปัญหาด้านความมั่นคงได้"


ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาของการทำงานเรื่องคนข้ามชาติจากประเทศพม่า การรายงานข่าวเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายครั้งกลายเป็นความเคยชินแลดูธรรมดาจนผ่านเลยและไม่ใส่ใจถ้อยคำที่อยู่ระหว่างประโยค "ความมั่นคง ผิดกฎหมาย ข้ามพรมแดน ยาเสพติด สิ่งแวดล้อมเสียหาย โรคร้ายกลับมา" คำธรรมดาที่คนทำงานอย่างเราๆได้ฟังทีไร "ตระหนก กังวล ไม่สบายใจทุกครั้งที่ได้ยิน"


คำถามสำคัญที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาไถ่ถามในหน้าหนังสือพิมพ์ย่อหน้าท้ายๆบ่อยครั้ง หลังจากที่ย่อหน้าข้างต้นได้สรุปไปแล้วว่า แรงงานต่างด้าวสร้างปัญหาให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ก็คือ


-           แรงงานต่างด้าวเป็นใคร?


-           แรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร?


-           แรงงานต่างด้าวมีชีวิตอย่างไร?


-           สังคมไทยต้องแบกรับปัญหาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง


ฉะนั้นบทความเรื่องนี้พยายามที่จะให้ภาพความเข้าใจดังกล่าว ด้วยความเชื่อพื้นฐานว่า "เมื่อคนรู้จักกัน คนจะเข้าใจกัน และเมื่อนั้นเราจะมองคนที่ถูกมองว่าเป็นอื่น แปรเปลี่ยนเป็นเรามากยิ่งขึ้น"


 


แรงงานต่างด้าวเป็นใคร?: เราเป็นคนธรรมดาที่อยู่บ้านตนเองไม่ได้


"ผมรู้ว่าการมาอยู่เป็นแขกที่ไม่ได้รับเชิญของใครนานๆเข้า วันหนึ่งเขาก็จะอึดอัด เดือดร้อน รำคาญ และไม่ต้องการพวกผม เมื่อผมหมดประโยชน์ให้กับพวกเขาแล้ว แต่จะให้ทำอย่างไรได้ ในเมื่อผมกลับบ้านไม่ได้จริง ๆ ผมกลับไปก็ไม่รู้จะอยู่อย่างไร บ้านผมถูกทหารพม่าเผาไปหมดแล้ว และตัวผมก็ถูกตามฆ่า ผมจะกลับได้อย่างไร จะให้ผมกลับไปโดนทหารพม่าฆ่าเหรอครับ" (ซูมิ หนุ่มปะโอ)


"ดาวไม่ได้อยากมาประเทศไทยเลยค่ะ แต่อยู่ที่พม่าดาวก็ไม่มีอะไรจะทำ ทหารพม่ามาที่หมู่บ้านดาวทุกวัน พ่อดาวก็กลัว ไม่กล้าออกไปทำงาน แม่ก็กลัวทหารพม่าจะทำร้ายน้อง ที่บ้านก็ไม่มีอะไรจะกิน ดาวสงสารแม่ ดาวเห็นคนในหมู่บ้านหลายคนมาที่ประเทศไทย ดาวก็เลยขอตามมาด้วย จะได้มีเงินส่งให้พ่อแม่ดาว ดาวมาทำงานอยู่ที่ร้านขายหมูที่สะพานควาย ดาวต้องทำงานตั้งแต่เที่ยงคืนถึงเก้าโมงเช้า ครั้งหนึ่งดาวเคยหั่นหมูจนมีดบาดนิ้ว แต่เจ๊ก็ไม่สนใจ ดาวต้องไปโรงพยาบาลเอง ดาวไม่กล้าไปที่คลินิกข้างๆ กลัวโดนตำรวจจับ ดาวพูดไม่ชัด ดาวกลัวค่ะ"  (ดาว สาวกะเหรี่ยง)


"กองทัพพม่าตั้งด่านตรวจคนหลบหนีออกจากหมู่บ้านใกล้กับหมู่บ้านของผม ต่อมามีทหารพม่า 4-5 คนมาจับผม และบอกผมว่าผมทำงานให้กับฝ่ายตรงข้าม ผมถูกขังคุกและทรมานเป็นเวลานานถึง 2 ปี ในที่สุดไม่มีหลักฐาน ทหารพม่าก็ปล่อยผม ผมไม่กล้ากลับบ้าน ผมจึงหลบหนีเข้ามาในอำเภอแม่ระมาด ก่อนที่จะหนีเข้ามาในอำเภอแม่สอด"  (นาวิน หนุ่มกะเหรี่ยง)


บ้านของหนูทำนา เวลาทำเสร็จแล้วข้าวที่ได้จะต้องแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ให้ทหารพม่า ให้ทหารไทยใหญ่ และเก็บไว้กินในครอบครัว หากปีไหนได้ข้าวน้อยก็ไม่พอกิน ตอนปี 39 หนูตัดสินใจมาหางานทำที่เมืองไทย หลังจากนั้นประมาณปี 39 ทหารพม่าก็สั่งย้ายหมู่บ้านของหนูไปอยู่ในเขตเมือง พ่อแม่ก็ไม่มีไร่นา ต้องทำงานรับจ้างในเมือง รายได้ต่อวันยังไม่พอซื้อผงชูรสสักถุง หนูต้องทำงานเก็บเงินส่งไปให้ที่บ้านทุกปี" (คำเอ้ย หญิงไทยใหญ่)


 


จากนโยบายทำให้ชนกลุ่มน้อยเป็นพม่า (Burmanization) ที่มีเป้าหมายเพื่อผสมกลมกลืนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆให้รู้สึกว่าเป็นพม่า พร้อมให้ความจงรักภักดีต่อประเทศพม่ามากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ของตนนั้น ได้นำมาสู่การต่อต้านนโยบายจากประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐบาลพม่าจึงได้เข้าปราบปรามอย่างหนักจนส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ต้องอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง 


ข้อปฏิบัติต่างๆที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่านำมาใช้กับกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับชาวบ้านเป็นแรงงานทาส , การยึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน, การบังคับให้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน, การปล้นเผาหมู่บ้าน, การข่มขืนผู้หญิงที่ต้องสงสัยว่าสนับสนุนกองทัพชนกลุ่มน้อย ก่อให้เกิดการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆตามมา


สาเหตุของการบังคับใช้แรงงานในพม่านั้นมาจากหลายปัจจัย หนึ่งในปัจจัยสำคัญมาจากการลงทุนต่างประเทศในโครงการพัฒนา เนื่องจากประเทศพม่าในปัจจุบันยังคงปกครองด้วยรัฐบาลทหารซึ่งมีนโยบายการบังคับใช้แรงงานชาวบ้าน การลงทุนโดยเฉพาะนโยบายด้านพลังงานและด้านเศรษฐกิจที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ทั้งนโยบายการขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาให้กับรัฐบาลไทย นโยบายเรื่องการสร้างเขื่อนสาละวิน และโครงการยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประชาชนในประเทศพม่าต้องเผชิญผลกระทบจากการพัฒนาดังกล่าวอย่างยากจะหลีกเลี่ยง และเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้พวกเขาและเธอต้องเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ในอีกแผ่นดิน


นโยบายทางการเมืองของประเทศพม่าที่ปิดประเทศมาอย่างช้านานส่งผลต่อการเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชาชนลดลง ประชาชนมีรายได้ต่ำ พม่าประสบกับปัญหาการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค ก่อให้เกิดการค้าในตลาดมืดและการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ความเป็นอยู่การดำเนินชีวิตประจำวันยังคงยากลำบาก การค้าระหว่างประเทศยังประสบปัญหาการขาดดุลการค้า เป็นผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ความยากจนอดอยากในการเลี้ยงชีพ ทำให้ประชาชนทนสภาพความยากลำบากไม่ไหวจนต้องอพยพย้ายถิ่นออกนอกประเทศเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า


 


แรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร?: เราเข้ามาได้เมื่อรัฐไทยกับทุนต่างสมยอมกัน    


สาเหตุหลักของการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่ามาประเทศไทย คือ ความหวาดกลัวจากการถูกประหัตประหาร การกดขี่ข่มเหง ประเทศไทยดูเหมือนจะเป็นประเทศที่ให้โอกาสในการพักพิง ให้สภาพการทำงานที่ดีกว่า แม้ว่าพวกเขาและเธอเชื่อว่าการย้ายถิ่นเข้ามาประเทศไทยนั้นจะสามารถนำไปสู่การถูกข่มขู่ คุกคาม หรือถูกล่อลวงไปขายได้  แต่ก็ยังพยายามดิ้นรนที่จะเอาชีวิตให้รอดด้วยการลักลอบหางานทำในตลาดแรงงานไทยที่ต้องซ่อนเร้นแอบแฝง และผิดกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง


ทันทีที่เริ่มเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยพวกเขาและเธอก็แทบจะไม่สามารถควบคุมชะตากรรมของตนได้เลย สถานการณ์ทางการเมืองและการทหารที่ผันแปรตลอดเวลาได้ส่งผลกระทบต่อความราบรื่นในการเดินทาง จำนวนด่านตรวจที่ต้องผ่าน นโยบายควบคุมแนวชายแดน การกวาดจับของทหารและเหตุการณ์อื่นๆที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดเส้นทาง


วิธีการและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเหล่านั้น พวกเขาและเธอบางคนจำเป็นต้องใช้บริการข้ามพรมแดนโดยนายหน้า ซึ่งเป็นคนที่จะพาพวกเขามายังประเทศไทยได้ สำหรับผู้ที่มีบ้านอยู่ไกลจากชายแดนและต้องการออกนอกประเทศในฐานะผู้ลี้ภัย การเดินทางของคนกลุ่มนี้มักจะใช้เส้นทางอ้อมเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคุกคามและการสู้รบส่งผลให้ต้องใช้เส้นทางที่คดเคี้ยวและไกลมากขึ้น หลายคนต้องทนทรมานกับการขาดอาหาร การเจ็บป่วยและสภาวะที่ยากลำบากตลอดการเดินทาง


 "กว่าหนูจะมาถึงกรุงเทพ หนูต้องทนนอนในรถทัวร์ชั้นล่างสุดที่เขาเอาไว้เก็บกระเป๋า หนูและเพื่อนๆอีก 5 คน ทนนอนอัดกันในนั้น หนูหายใจไม่ออก กระเป๋าหลายใบทับตัวหนูกับเพื่อนๆแต่หนูกับเพื่อนๆก็ไม่กล้าส่งเสียงร้องบอกคนข้างบน เรากลัวถูกจับและส่งตำรวจ เพื่อนคนหนึ่งเป็นลมในรถ ส่วนหนูก็เป็นลมเหมือนกัน  เมื่อรถวิ่งมาถึงที่หนึ่ง กระเป๋ารถมาเรียกพวกเราให้ลงไปข้างล่าง บอกว่าข้างหน้ามีตำรวจ ทั้งๆที่เราเป็นลม แต่เราก็ต้องลงรถ และแอบอยู่ในป่าแถวนั้น เพื่อนคนหนึ่งที่ไม่สบายมาก วันรุ่งขึ้นเขาก็เป็นไข้ตาย"  (ตีตี หญิงกะเหรี่ยง)


"ผมมาเมืองไทยตั้งแต่อายุ 12 ปี หมู่บ้านผมอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ไกลมาก ป้าพาผมนั่งรถจากที่บ้านตอน 11 โมงเช้ามาถึงชายแดนตอน 6 โมงเย็น พอถึงชายแดนก็ยังข้ามมาไม่ได้ ต้องรอจนมืดประมาณ 3 ทุ่ม รอจนด่านปิด และไม่มีตำรวจอยู่แถวนั้น ป้าพาผมแอบนั่งเรือข้ามแม่น้ำมากับป้า พอมาถึงฝั่งไทย ป้าจ่ายเงินให้คนที่มารับ ผมจำไม่ได้ว่าเท่าไหร่ แล้วคนไทยคนนั้นก็หายไปนานมาก ผมกับป้าแอบอยู่ในป่าจนถึงเช้า พอตอนเช้าผู้ชายคนนั้นก็บอกว่าไปเอาบัตรที่ด่านมาได้แล้ว แล้วเขาก็พาผมกับป้าไปที่แม่สอด" (เจ หนุ่มกะเหรี่ยง)


 


ผู้ย้ายถิ่นต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อจ่ายค่าเดินทางล่วงหน้า เกือบทุกคนไม่เคยได้รับการบอกเล่าล่วงหน้าก่อนว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางทั้งหมดเป็นเท่าใด ยิ่งกว่านี้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งของพม่าและไทยยังตั้งค่าธรรมเนียมและค่าปรับสารพัดชนิดจากผู้ย้ายถิ่นตลอดเส้นทางการย้ายถิ่นอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ เป็นตามอำเภอใจ ในบางกรณีการเรียกร้องค่าธรรมเนียมและค่าปรับต่างๆยังตามมาด้วยคำข่มขู่ หรือการยึดเอกสารแสดงตนจริงๆไป การค้นตัว การจับกุม การกักขัง รวมทั้งการส่งตัวกลับพม่า


"กว่าจะมาถึงกรุงเทพ ผมทำงานมาหลายที่แล้ว ตอนออกจากพม่า ผมก็ไม่รู้จะมาทำอะไรที่เมืองไทย แต่อยู่ในพม่า มันไม่มีอะไรทำ ผมออกจากบ้านเดินทางไปเรื่อยๆ จนข้ามเรือมาถึงเกาะสอง มาถึงบ้านน้าที่เคยมาที่เมืองไทยก่อน อยู่บ้านน้าเดือนกว่า เบื่อ ทำงานใช้แต่แรง แต่ไม่ได้เงิน เลยมาเมืองไทย น้าไปคุยกับคนไทยคนหนึ่ง เขาบอกว่าจะพาไปทำงานที่กรุงเทพ แต่ต้องจ่ายเงินให้เขา 8,000 บาท ตอนนั้นผมไม่มีเงิน แต่ผมก็อยากมาหางานทำ จึงบอกเขาว่าผมไม่มีเงิน เขาบอกว่าไม่มีเงินก็ไปได้ เขาพาผมข้ามฝั่งจากเกาะสอง มาที่ระนอง มารอที่ระนองอาทิตย์นึง รอจะเข้ามหาชัย รอคนที่จะพามา มีคนมารับพามามหาชัย ผมมารถกระบะ เขาให้ผมนอนข้างหลังกับคนอื่นอีก  6 คนแล้วเขาเอาผ้าใบปิด แล้วเอายางรถ ไม้ ทับอีกทีหนึ่ง อึดอัดมาก ผมร้องไห้ บอกว่าจะตายอยู่แล้ว


เขาให้อยู่ในนั้นประมาณชั่วโมงกว่า ช่วงกลางคืน พอผ่านด่านไปแล้ว เขาก็มาเอาออก ถึงมหาชัย 10 โมง แต่ตอนนั้นผมไม่รู้จักมหาชัย คิดว่าเป็นกรุงเทพ เขาพาผมมาทำงานในเรือประมง นายจ้างบอกว่า เขาจ่ายเงินให้คนที่พาผมมาส่งแล้ว ผมต้องทำงานใช้หนี้แทน ผมทำงานอยู่ในเรืออยู่ 9 วัน ทนไม่ไหว ไม่ได้ค่าแรงสักบาท เขาบอกว่าผมยังใช้หนี้ไม่หมด ถ้าไม่ยอมทำงานจะแจ้งตำรวจมาจับ ผมจึงหนีออกมา" (ฮ่าน ยุ้น หนุ่มกะเหรี่ยง)


 


การลักลอบเข้ามาในประเทศไทยจะมีทั้งการเดินทางด้วยเท้าผ่านบริเวณที่เป็นป่าทึบ เพื่อหลบหนีการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ และการเดินทางโดยรถยนต์ผ่านทางหลวงที่จะไปยังตัวจังหวัดและอำเภออื่นๆ  สำหรับขั้นตอนการลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงานนั้น จะมีนายหน้าทั้งชาวไทย มีทั้งข้าราชการ ตำรวจครู ผู้นำท้องถิ่น (ผู้ใหญ่บ้านและกำนัน) และนายหน้าจากพม่า (ที่เริ่มต้นจากการที่มีแรงงานข้ามชาติคนอื่นหรือญาติและเพื่อนถามหรือขอคำแนะนำในเรื่องต่างๆ  เช่น ช่องทางเข้ามาเมืองไทย หาที่ทำงานหรือกรณีอยู่เมืองไทยแล้วก็ถามถึงช่องทางหลบหนีนายจ้าง เป็นต้น) ร่วมกันดำเนินการ


การลักลอบในแต่ละขั้นตอนจะมีผู้รับผิดชอบในแต่ละหน้าที่และจะสิ้นสุดการรับผิดชอบเพียงเท่านั้น เช่น ผู้นำทาง คนเคลียร์เส้นทาง คนจัดหาที่พักให้แรงงาน นายหน้าที่เป็นผู้นำท้องถิ่นจะต้องอาศัยความร่วมมือกับคนในท้องถิ่นด้วย โดยจะให้ผลประโยชน์ในรูปของสิ่งของ หรืองบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น เพราะสามารถที่จะหลบเลี่ยงการตรวจสอบได้ ซึ่งนายหน้านี้จะอาศัยบ้านของชาวบ้านในหมู่บ้านเป็นที่พักแรงงาน


นายหน้าจะมีวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะให้แรงงานข้ามชาติสามารถเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครได้  เช่น


1)  บางคนจะต้องซ่อนตัวเข้ามาในรถบรรทุกพืชผลการเกษตรหรือดอกไม้ ที่เป็นรถบรรทุกขนาดเล็กที่บรรทุกหอมแห้ง กระเทียมแห้ง กะหล่ำปลี ดอกกุหลาบ ผ่านด่านเข้ามาในพื้นที่ชั้นในของประเทศไทยได้ ครั้งละ 8-12 คน วิธีการนี้เริ่มถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับได้มากขึ้น เนื่องมีการใช้เหล็กแหลมแทงเข้าไปสิ่งของที่บรรทุกมาซึ่งจะตรวจพบแรงงานได้


2)  ซ่อนตัวในรถบรรทุกเฟอร์นิเจอร์ไม้ เนื่องจากมีการซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ไม้บริเวณชายแดนจำนวนมากทำให้มีการลักลอบนำแรงงานซุกเข้ามาในเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ประกอบเสร็จแล้ว วิธีการนี้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ยากกว่าวิธีแรก เนื่องจากไม้เป็นเกราะกำบังให้แรงงานหลบซ่อนได้เป็นอย่างดี


3) ซ่อนตัวในกระสอบหรือถุงปุ๋ย แรงงานจะแอบซ่อนตัวในกระสอบหรือถุงปุ๋ยแล้วบรรทุกปะปนมากับสิ่งของต่างๆ เพื่อหลบเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งวิธีการหลบเลี่ยงแบบนี้นับว่าเสี่ยงอันตรายมากอาจจะเสียชีวิตได้เพราะขาดอากาศหายใจ


4)  ซ่อนตัวใต้ท้องรถบรรทุกดัดแปลง โดยมีการดัดแปลงใต้ท้องรถบรรทุกสินค้าให้มีช่องว่างสำหรับให้คนนอนเรียงกันได้ 10-15 คน ซึ่งแรงงานที่หลบซ่อนใต้ท้องรถบรรทุกจะต้องทนกับการเบียดเสียดและความร้อน รวมทั้งอากาศที่มีหายใจน้อย เนื่องจากที่สำหรับหลบซ่อนแคบมาก


วิธีการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติจากพม่าส่วนใหญ่จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก แทบจะทุกคนต้องใช้การเดินเท้าข้ามภูเขาเป็นเวลาหลายวัน จากนั้นโดยสารมากับรถสองแถวหรือนั่งมอเตอร์ไซด์มาอีกต่อหนึ่ง ขณะที่เดินทางมานั้นทุกคนต้องระวังภัยจากทหารพม่าตลอดเวลา แรงงานจำนวนมากต้องอาศัยผู้นำทางหรือนายหน้าเป็นผู้ให้ความสะดวกในการเข้ามา นายหน้าเหล่านั้นมีทั้งคนพม่าและคนไทย ส่วนใหญ่แล้วจะมีตำรวจไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อัตราค่านายหน้าไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการต่อรองและระยะทางของแต่ละคน ผู้ประกอบอาชีพนายหน้าในการนำแรงงานเข้ามาจึงมีรายได้ดี ทำให้คนจากพม่าหรือคนไทยหลายคนได้เปลี่ยนไปประกอบอาชีพนี้มากขึ้นเรื่อยๆ


            แรงงานข้ามชาติบางคนเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยพร้อมกับครอบครัว และบางส่วนเดินทางเข้ามาทำงานพร้อมเพื่อนๆ ในหมู่บ้านเดียวกัน จากการสอบถามเพิ่มเติมพบว่าก่อนจะเข้ามาทำงานในประเทศไทยมักมีญาติพี่น้องหรือคนรู้จักที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยแล้วเป็นผู้ติดต่อชักชวนให้มาทำ โดยบางรายมาทำงานแทนญาติที่เดินทางกลับประเทศ ส่วนแรงงานข้ามชาติที่เดินทางเข้ามาคนเดียวมักเดินทางเข้ามาเพราะมีนายหน้าเข้าไปติดต่อหาแรงงานในหมู่บ้าน


นายหน้าจำนวนมากไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนายหน้า แต่ตัวแรงงานหรือครอบครัวมักจะรู้จักว่าผู้ที่พาเข้ามานี้เป็นนายหน้า ผ่านทางเครือข่ายความสัมพันธ์ในหมู่แรงงานข้ามชาติที่มาจากหมู่บ้านเดียวกัน สำหรับคนที่มีอาชีพนายหน้านั้นไม่ได้เพียงช่วยจัดการเรื่องการเดินทางเข้ามาเมืองไทยและการหางานเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเงินและสิ่งของอื่น ๆ กลับบ้านให้อีกด้วย แรงงานส่วนใหญ่มักจะใช้นายหน้าคนเดิมให้ส่งเงินกลับบ้าน ยิ่งนายหน้ามีลูกค้าซึ่งหมายถึงแรงงานมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีรายได้มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นนายหน้าจึงต้องสร้างความไว้วางใจให้กับแรงงานและครอบครัว เพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการให้บริการเท่าที่จะเป็นไปได้


ในขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้น การพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมของไทย แรงงานเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเกื้อหนุนการพัฒนาประเทศให้พัฒนาไปได้อย่างรุดหน้าและทัดเทียมประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ สำหรับการผลิตสินค้าครั้งหนึ่งๆแรงงานเป็นทั้งปัจจัยและต้นทุนสำคัญหนึ่งในการผลิต หากต้นทุนสูงสินค้าที่ผลิตมาได้ก็ย่อมมีราคาสูงติดตามไปด้วย ดังนั้นการแสวงหากำไรสูงสุดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของนายทุนผู้ประกอบการทั้งหลาย และวิธีการหนึ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นำไปใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิตนั้นคือ การจ้างแรงงานราคาถูกเข้าสู่กระบวนการผลิต ในขณะที่แรงงานไทยมีกฎเกณฑ์มาตรฐานค่าแรงที่นายทุนต้องปฏิบัติตามสูง(ในความรู้สึกของนายทุน) ทำให้ผู้ประกอบการไม่เต็มใจที่จะจ้างแรงงานไทย แรงงานราคาถูกโดยเฉพาะแรงงานที่มาจากประเทศพม่าจึงเป็นที่หมายปองสำหรับผู้ประกอบการ


ฉะนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่ครั้งหนึ่งผู้ประกอบการได้รวมตัวกันตั้งกลุ่มผลประโยชน์ขึ้นมากดดันการตัดสินใจของรัฐบาลเพื่อทำให้แรงงานอพยพกลายเป็นแรงงานถูกกฎหมาย และอนุญาตให้คนเหล่านั้นทำงานได้ในสาขาอาชีพการประมง การเกษตร เหมืองแร่ ก่อสร้าง นาเกลือ โรงงานทำอิฐ และโรงงานทำโอ่งในปี 2539 ในขณะที่รัฐบาลและกลุ่มผู้ประกอบการอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานไทย แต่นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนกลับเห็นแตกต่างไปว่า เป้าหมายที่แท้จริงของการจ้างแรงงานเหล่านี้ก็คือต้องการสร้างพลังที่ทำให้ค่าจ้างถูกลงมากกว่า


แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ แม้นายทุนจะยินยอมให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ผ่านเข้าสู่กระบวนการจัดการแรงงานอย่างถูกกฎหมาย แต่ก็มิได้หมายความว่าการเข้าสู่ขั้นตอนทางกฎหมายไทยจะเอื้อให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้รับค่าแรงที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางกฎหมายแรงงาน เพราะตัวตนหนึ่งนอกเหนือจากการเป็น "แรงงาน" แล้ว แนวคิดชาตินิยมผสานแนวคิดความมั่นคงแห่งชาติกลับไปตอกย้ำและกดทับให้ "แรงงาน" เหล่านี้ต้องดำรงภาวะการทำให้ถูกเป็นแรงงานเถื่อน ผู้น่ากลัว ผู้ค้ายาเสพติด ผู้เป็นภัยต่อความมั่นคงและสังคมไทยอยู่ด้วยเช่นกัน นั้นหมายความว่า มันมีการกำหนดสถานการณ์บางอย่างขึ้นมาให้คนในสังคมไทยเข้าใจว่านี้คือความจริง โดยความจริงที่ถูกสร้างขึ้นมานี้ได้ไปสอดประสานกับความเจริญเติบโตรุดหน้าทางเศรษฐกิจไทย กล่าวคือ แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้รับค่าแรงต่ำกว่าที่กฎหมายแรงงานไทยกำหนดไว้อยู่แล้ว มิพักถึงการถูกละเมิดสิทธิแรงงานนานัปการดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น ฉะนั้นเมื่อแรงงานจะลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือขอเพิ่มค่าแรงตามที่ตนควรได้รับ แนวคิดชาตินิยมผสานกับแนวคิดความมั่นคงแห่งชาติจะถูกหยิบขึ้นมาอธิบาย/โต้ตอบ/ตอกกลับสู่แรงงานทันทีว่า แรงงานเหล่านี้ "เป็นภัยต่อความมั่นคง ภัยร้ายแรงต่อสังคมไทย ผู้อกตัญญูไม่รู้ซึ้งข้าวแดงแกงร้อนที่คนไทยยื่นมือให้ จับส่งตำรวจให้รู้แล้วรู้รอดเสียเลยดีไหม" แล้วการถูกนิยามความหมายให้เช่นนี้จะมีแรงงานคนใดกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิที่ตนพึงได้ รวมทั้งกลับยิ่งไปทำให้นายทุนไทยกดทับชีวิตและตัวตนได้มากขึ้น เพราะความกลัวได้แทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ภายใต้การทำงานของแนวคิดทั้งสองที่ประสานกันได้เป็นอย่างดีและตั้งใจให้เกิดขึ้นมา


 


แรงงานต่างด้าวมีชีวิตอย่างไร? : ชีวิตที่ดำรงอยู่ใต้ความเสี่ยง


"ถ้าผมอยู่ที่นี่ แต่ไม่สามารถทำงานหนักได้ ผมรู้ดีว่าผมจะไม่สามารถหาเงินได้เลย"- เจ หนุ่มกะเหรี่ยง ลูกจ้างร้านอาหารย่านอนุสาวรีย์ชัย


"บางทีหนูง่วงมาก ตาหลับแล้วแต่ยังต้องแล่เนื้อหมูอยู่เลย ครั้งหนึ่งหนูหั่นโดนนิ้วตัวเอง" ดาว สาวกะเหรี่ยง ลูกจ้างร้านขายหมู ย่านสะพานควาย


"หนูยังไม่รู้ว่าชีวิตของหนูที่นี่ต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่ถ้ายังทำงานที่เมืองไทยได้ หนูก็จะไม่กลับบ้าน เพราะหนูไม่มีบ้านที่พม่าแล้ว" แอ๊ะ สาวกะเหรี่ยง ลูกจ้างร้านขายน้ำแข็ง ฉะเชิงเทรา


 


แรงงานจากประเทศพม่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบไปด้วยคนอย่างน้อย 5 เชื้อชาติ คือ พม่า กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ ปะโอ และมอญ อายุโดยเฉลี่ยประมาณ 16-50 ปี นับถือศาสนาพุทธ ภูมิลำเนาของแรงงานข้ามชาติส่วนมากจะเคลื่อนย้ายมาจาก 4 เมืองหลัก คือ เมืองพะอัน เมืองย่างกุ้ง เมืองเมาะละแหม่ง และเมืองตองยี


            โก เมี่ยน เวย์ อดีตนายทหารจากกองทัพอากาศของประเทศพม่า ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า 


"แรงงานจากพม่าเข้ามาทำงานในประเทศไทย เริ่มจากการเข้ามาเป็นลูกเรือประมงหลังจากที่หลายจังหวัดในภาคใต้ของประเทศไทยได้รับความเสียหายจากพายุเกย์เมื่อปี 2532 มีผลทำให้ลูกเรือประมงไทยต้องเสียชีวิตไปจำนวนมาก จากเหตุการณ์พายุเกย์ครั้งนั้นทำให้ลูกเรือชาวอีสานไม่กล้าออกทะเลอีก เจ้าของเรือประมงจึงจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานจากประเทศพม่ามาทำงานแทน ซึ่งลูกเรือจากพม่ามีพื้นฐานการดำรงชีวิตและทำงานประมงได้เป็นอย่างดี แม้ว่าภาษาจะไม่ค่อยดีนัก แต่ก็มีความอดทนและยอมรับสภาพการทำงานประมงได้มากกว่าแรงงานอีสาน


หลังจากที่แรงงานจากพม่าได้เข้ามาทำงานประมงระยะหนึ่งแล้ว เจ้าของกิจการอื่นๆได้ให้ความสนใจที่จะจ้างแรงงานที่มาจากประเทศพม่าไปทำงานอย่างอื่นด้วย  เนื่องจากหาคนไทยทำงานได้ยาก เช่น ทำสวนยาง สวนปาล์ม และสวนกาแฟ  ต่อมาได้มีการอพยพแรงงานเข้าไปทำงานในเขตจังหวัดภาคกลางมากขึ้น เช่น ตัดอ้อย โรงสี  แบกข้าวสาร ทำไร่มันสำปะหลัง และงานสวนอื่นๆ ซึ่งเดิมมักจะใช้คนงานจากภาคอีสาน สำหรับแรงงานจากพม่าที่สามารถฟังและพูดภาษาไทยได้เล็กน้อย ก็จะเข้าไปทำงานในร้านอาหารแถบจังหวัดภาคตะวันออก และมีแรงงานผู้หญิงส่วนหนึ่งเข้ามาทำงานในร้านค้าปลีกย่านที่มีคนจีนอาศัยอยู่หนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ย่านเยาวราช และบางลำภู ส่วนแรงงานที่อยู่ในแถบจังหวัดภาคเหนือของไทยมักจะเข้ามาทำงานรับจ้างอิสระ เช่น การเจียระไนพลอย หยก และหินอ่อน โดยคนงานบางส่วนจะใช้วิธีเดินทางไปกลับในแต่ละวันและมีบางส่วนที่เข้ามาอยู่ประจำในประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีแรงงานผู้หญิงกะเหรี่ยงเข้ามาทำงานรับใช้ตามบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคตะวันตกและในกรุงเทพมหานคร


สำหรับงานที่แรงงานจากพม่าเข้ามาทำในประเทศไทย ได้แก่ โรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง ,ทำสวนยางพารา  ,ลูกเรือประมง ,สวนกาแฟ สวนปาล์ม ไร่อ้อย ,โรงงานปลาป่น ,กรรมกรก่อสร้าง ,เลี้ยงกุ้ง  ,เลี้ยงหมู ,โรงงานทำโอ่ง และทำอิฐ,งานรับใช้ในบ้าน,งานบริการตามร้านอาหาร,ขายปลีกหน้าร้าน,งานเจียระไน อัญมณี  ,งานในห้องเย็น,งานในเหมืองแร่และเหมืองหิน  และโรงงานรองเท้ากีฬา ฯลฯ"  


 


ในปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติจากพม่าอย่างน้อย 2 ล้านคน ที่ทำงานประเภทที่เสี่ยงอันตราย สกปรก และแสนลำบาก แลกกับค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เช่น งานในโรงงานห้องเย็นแช่แข็งอาหารทะเล ในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า งานบ้าน เป็นต้น แรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวจากการถูกส่งกลับอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งต้องเผชิญกับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากสถานภาพที่ผิดกฎหมาย กับสภาพการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐานและไร้ซึ่งกลไกที่จะคุ้มครองป้องกันตนเอง


"พอผมหนีออกมาแล้ว ผมกับเพื่อนอีกคนก็ไปทำงานโรงงานปลา ล้างปลา แกะปลา ทำงานอยู่ 3-4 เดือน ได้วันละ 90 บาท ผมดีใจมากเพราะทำงานแล้วได้ตังค์ แต่ตอนหลังเขาไล่ออก เพราะผมหยุดพัก ไม่สบาย เถ้าแก่เขาไม่อยากให้เราหยุด อยากให้เราทำงานทุกวัน ผมทำงานตั้งแต่ ตีสามถึง 4 ทุ่ม ยิ่งตอนเรือเข้าต้องทำทั้งวันทั้งคืน เพื่อนผมคนหนึ่งที่ทำด้วยกัน มีครั้งหนึ่งเขาโดนเถ้าแก่ตีและก็ถีบด้วย" (ฮ่าน ยุ้น หนุ่มกะเหรี่ยง)


 


แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่แทบจะไม่เคยรู้มาก่อนล่วงหน้าว่าจะได้งานประเภทใด อยู่ที่ใด ใครเป็นนายจ้าง หรือแม้แต่เงื่อนไขการจ้างงาน พวกเขาจะทราบถึงสภาพการทำงานของตนเมื่อไปถึงยังบ้านนายจ้างหรือสถานที่ทำงาน นายจ้างจะเป็นผู้กำหนดถึงเงื่อนไข ข้อกำหนดการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ที่พักอาศัย อาหาร การลาป่วย และวันหยุดพักผ่อนตามความพอใจของตนเอง บางคนได้รับอัตราค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและยังต้องทำงานนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน หลายคนทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ และไม่ได้รับค่าจ้างทำงานล่วงเวลาจากนายจ้าง หลังจากได้รับค่าจ้างแล้ว พวกเขาจะเก็บสะสมไว้ให้ครบจำนวนหนึ่ง เช่น 10,000 บาท แล้วจะอาศัยช่องทางนายหน้าในการส่งกลับบ้านที่ประเทศพม่า การส่งเงินกลับบ้านด้วยตนเอง โอกาสที่จะสูญหายระหว่างทางหรือถูกขูดรีดจากเจ้าหน้าที่ไทยมีความเสี่ยงอย่างมาก


"เล็กเคยทำงานขายของอยู่ที่ทองผาภูมิ ทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม ไม่ได้พักเลย ได้พักกินข้าวนิดเดียว ต้องรีบกิน ไม่อย่างนั้นโดนว่า เล็กต้องยืนหน้าร้านตลอดเวลา คอยเรียกแขกให้มาซื้อของ บางคนก็พูดจาดี บางคนก็ว่า ตอนนั้นเล็กพูดไม่ชัด เขาก็ล้อเลียน พูดตามเล็ก เล็กโกรธมาก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เจ๊ให้ค่าแรงเล็กเดือนละ 500 บาท เล็กเหนื่อยมาก เวลาไม่สบายเจ๊ก็ให้กินแต่พารา" (เล็ก หญิงมอญ)


 


ภาษาก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงาน แรงงานที่พูดภาษาไทยไม่ได้หรือพูดได้แต่น้อย มักจะถูกนายจ้างใช้ความสามารถในการพูดภาษาไทยเป็นเกณฑ์สำคัญในการตั้งเงินเดือนและในการปฏิบัติตนต่อคนงาน แรงงานข้ามชาติหลายคนต้องประสบกับความยากลำบากในการหางานที่ดี การที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ บางครั้งนำไปสู่การดุด่าว่ากล่าวและถูกทำร้าย


"น้อยไม่ชอบเลยค่ะครู ตอนที่อาม่าด่าน้อยเวลาน้อยทำอะไรไม่ถูกใจ ตอนที่เขาให้น้อยมาทำงาน เขาก็รู้ว่าน้อยพูดภาษาไทยไม่ได้ พูดไม่ชัด แต่น้อยก็พยายามฝึกนะคะครู น้อยถึงต้องมาเรียนหนังสือที่นี่ มีอยู่ครั้งหนึ่งอาม่าฟังข่าวในทีวีว่ามีลูกจ้างพม่าฆ่านายจ้าง อาม่าก็มาด่าน้อย หาว่าน้อยเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ทั้งๆ ที่น้อยก็ไม่ได้รู้จักคนพม่าคนนั้น อาม่าบอกว่าพวกลื้อเหมือนกันหมด เป็นพม่ามาเผากรุงศรีอยุธยา มาฆ่าคนไทย มาปล้นทองไป  ขอให้พวกลื้อฉิบหาย ตายโหงตายห่า น้อยเป็นกะเหรี่ยงนะคะครู น้อยไม่ใช่คนพม่า น้อยไม่เคยฆ่าคนไทย และอาม่าก็เป็นคนจีนไม่ใช่เหรอคะครู"  (น้อย สาวกะเหรี่ยง)      


 


เมื่อเส้นทางการเดินทางเข้ามาประเทศไทยอย่างไม่ถูกกฎหมายไทย พวกเขาและเธอจึงปราศจากการครอบครองเอกสารประจำตัวที่ถูกต้องตามกฎหมาย จนบัดนี้หลายคนก็ยังไม่มีเอกสารใดๆที่รับรองความเป็นพลเมืองพม่า ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ตนเองและลูกๆต้องกลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติ การถูกจับกุมกักขัง แม้ว่ารัฐบาลไทยจะอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายสามารถจดทะเบียนและขอใบอนุญาตทำงานได้นั้น แต่การขาดถึงการอธิบายถึงกระบวนการจดทะเบียนอย่างชัดเจน ระยะเวลาการจดทะเบียนที่สั้นเกินไป ไม่มีการออกใบอนุญาตทำงานแก่ผู้ย้ายถิ่นที่อายุต่ำกว่า 15 ปี การกำหนดให้มีการตรวจสุขภาพโดยไม่ระบุวิธีดำเนินการที่ชัดเจน ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ที่มีส่วนสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากนายจ้างประกอบ ทำให้กรณีที่นายจ้างไม่ให้ความร่วมมือหรือตั้งเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมและบีบคั้นเรื่องการขอใบอนุญาตทำงาน ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายคนไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายไทยได้ และกลายเป็นบุคคลที่ต้องหลบซ่อนในสังคมไทยอย่างหวาดกลัวการถูกจับกุม


"ครูครับคราวนี้ผมไม่ทำบัตรแล้วนะครับ ครูอย่าว่าผมนะครับ ผมเคยทำบัตรมาหลายครั้งแล้ว บางปีผมก็ไปทำเอง บางปีผมก็จ่ายเงินให้นายหน้าทำให้ ถ้าเถ้าแก่ไม่ยอมไปทำให้ผม ผมถามเถ้าแก่ว่าทำไมไม่ทำให้ผม เถ้าแก่บอกว่า ใช้เงินเยอะ ทำไปก็ไม่คุ้ม ผมไม่อยากจะบอกว่าที่เถ้าแก่จ่ายไปก็มาหักกับผมทีหลัง ไม่ใช่เงินเถ้าแก่สักหน่อย มีบัตร ไม่มีบัตร ผมไม่เห็นแตกต่างกันเลย ก็โดนจับเหมือนกัน ผมจ่ายเงินให้ตำรวจไม่รู้เท่าไหร่แล้วครับ จ่ายเงินค่าทำบัตร ก็ต้องมาจ่ายเงินตำรวจอีก เก็บเงินค่าทำบัตร ไว้จ่ายตำรวจดีกว่าครับ"  (โอ๊ต หนุ่มปะโอ)


 


นอกจากนั้นแรงงานหลายคนที่เข้าสู่ขั้นตอนอย่างถูกกฎหมายก็ต้องเผชิญกับการถูกยึดใบอนุญาตทำงานจากนายจ้างไปเก็บไว้ ให้ลูกจ้างถือแค่ใบสำเนาไว้ในกรณีที่ยินยอมให้ลูกจ้างมีเอกสารทางการสักอย่างไว้กับตัว เมื่อลูกจ้างไม่มีเอกสารดังกล่าวติดตัว ก็จะถูกข่มขู่ว่าจะถูกส่งกลับถูกคุกคาม และถูกจับกุม เนื่องจากไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าตนมีสถานภาพถูกต้องตามกฎหมาย แรงงานส่วนใหญ่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนเองทั้งหมด ถ้าไม่มีก็ต้องยืมนายจ้างโดยให้นายจ้างหักเงินเดือนชดใช้คืน ซึ่งบางครั้งจำนวนที่หักจากเงินเดือนก็มากกว่าค่าใช้จ่ายที่ยืมไปจดทะเบียน


แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มักขาดความรู้เรื่องสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน เนื่องจากการไม่สามารถอ่านข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ได้ เพราะไม่มีการพิมพ์เผยแพร่ในภาษาของพวกเขาเอง รวมทั้งช่องทางหรือโอกาสในการเข้าถึงการรับบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานก็เป็นอุปสรรคสำคัญ


 "หนูอ่านภาษาพม่าไม่ออกค่ะครู หนูเป็นกะเหรี่ยง อยู่ที่พม่าหนูไม่เคยเข้าโรงเรียน เพื่อนเคยบอกว่าให้หนูไปที่โรงพยาบาลที่มีภาษาพม่าติดไว้ ที่โรงพยาบาลราชวิถี ครูรู้จักใช่ไหมคะหนูคิดว่าเขาคงมีภาษากะเหรี่ยงด้วย หนูเคยไปแล้ว แต่หนูก็อ่านไม่ออกว่าเขาเขียนว่าอะไร เพราะมีแต่ภาษาพม่าเท่านั้น หนูต้องพาแฟนไปด้วยทุกครั้งเวลาหาหมอ เขาได้ช่วยอ่านภาษาไทยให้ และช่วยพูดกับหมอว่าหนูไม่สบายโรคอะไร" (แอ๊ะ สาวกะเหรี่ยง)


 


เมื่อมองถึงอนาคต แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะเก็บเงินรายได้จากการทำงานสะสมไว้เพื่อส่งกลับไปให้ครอบครัวในพม่า หลายคนมีความหวังว่าจะสามารถทำงานในประเทสไทยได้สักระยะหนึ่งก็จะกลับประเทศพม่าพร้อมเงินทุนมากพอที่จะเอื้อให้ครอบครัวของตนครองชีพได้ตามอัตภาพ


 "ตอนเด็กๆหนูไม่มีความฝัน หนูรู้เพียงแต่ว่าอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น มีพ่อแม่ไม่ทะเลาะกัน แล้วก็จะมีความสุข พอโตขึ้นเข้ามาทำงานในเมืองไทยก็รู้แต่เพียงว่าทำงานได้เงิน ก็ส่งให้พ่อแม่จะได้เหมือนคนอื่นเขา คิดแค่นั้นจริงๆค่ะ แต่ตอนนี้หนูรู้แล้วล่ะค่ะ และหนูก็เริ่มที่จะมีความฝัน ฝันหลายอย่างมากค่ะ ได้รู้จักคำว่าอนาคต คำว่าความฝัน ความรู้ การศึกษา หรือคำว่าประชาธิปไตย หรือคำว่าอิสรภาพ เมื่อก่อนหนูไม่รู้จักคำเหล่านี้เลยจริงๆ หนูเพิ่งมารู้ทีหลัง หลังจากได้มาเรียน เมื่อก่อนเวลาคนอื่นเขาถามว่าที่พม่ามีประชาธิปไตยไหม หนูก็ตอบไม่ได้ เพราะหนูไม่รู้จริงๆ ตอนนี้หนูอยากให้ประเทศพม่ามีประชาธิปไตยเร็วๆค่ะ ถ้าบ้านเราไม่มีประชาธิปไตยมันก็คงจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปจะทำอะไรก็คงยาก ไม่รู้ว่าเมื่อไร แต่หนูก็ยังหวังว่าสักวันหนึ่งหนูจะได้เห็นบ้าน มีผู้นำที่ดี มีประชาธิปไตยค่ะ มาเข้าเรื่องความฝันดีกว่าค่ะ อย่าหัวเราะหนูนะคะ หนูอยากเป็นนักธุรกิจหญิงค่ะ มีธุรกิจของตัวเอง เล็กๆ ไม่ต้องใหญ่โต พอมีพอใช้ พอช่วยเหลือคนอื่นได้บ้างก็น่าจะดี แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือหนูอยากเขียนภาษาไทยได้ อ่านออกเหมือนคนไทยทั่วไป จะได้ไปธนาคาร จะได้ทำอะไรได้ด้วยตัวเอง หนูจะพยายามทำให้ดีที่สุดค่ะ"  (โย สาวกะเหรี่ยง )


 


สังคมไทยต้องแบกรับปัญหาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง? : มองให้ไกลกว่าปัญหา จะเห็นคุณค่าของการย้ายถิ่น


ผลสำคัญที่เกิดขึ้นจากการย้ายถิ่นต่อวิถีชีวิตของแรงงานข้ามชาติ  พบว่ากระบวนการย้ายถิ่นข้ามพรมแดนของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่ามายังประเทศไทยในปัจจุบัน ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายคน เทคโนโลยี เงินทุน ข้อมูล ข่าวสาร และอุดมการณ์


 


1)  มิติของการเคลื่อนย้ายคน


แม้ว่าการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่าจะไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่  แต่โลกาภิวัตน์ก็มีส่วนเอื้อให้ปรากฏการณ์การย้ายถิ่นมีความถี่มากขึ้น และมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกับการโยกย้ายถิ่นฐานในอดีต การใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็ว มีราคาถูก และสะดวกสบาย ทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถรักษาสายสัมพันธ์กับประเทศบ้านเกิดเมืองนอนได้อย่างแน่นแฟ้น ไม่ตัดขาดกับญาติพี่น้องทั้งในประเทศพม่าและในประเทศไทย ซึ่งช่วยให้กระบวนการปรับตัวของพวกเขาและเธอในประเทศไทยเป็นไปอย่างง่ายขึ้น


อย่างไรก็ตามแม้ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทยได้ง่าย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการโยกย้ายถิ่นฐานของพวกเขาและเธอที่เป็นคนต่างถิ่น ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และอุดมการณ์ ที่แตกต่างกับคนจำนวนมากในสังคมไทย เช่น ด้อยการศึกษา ไร้ทักษะ สื่อสารคนละภาษา สถานการณ์เหล่านี้อาจนำมาสู่ความตึงเครียดได้ในสังคมไทย เนื่องมาจากผู้คนไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายของการใช้ชีวิตร่วมในสังคมเดียวกัน


นอกจากความตึงเครียดที่ผู้คนในสังคมต้องเผชิญแล้ว สังคมยังต้องรับมือกับความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้น เช่น การมีจำนวนคนไร้สัญชาติไทยเพิ่มขึ้น การที่ลูกหลานของแรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิต่างๆ ที่พลเมืองไทยพึงได้รับ การเกิดชุมชนคนต่างชาติและความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ ความต้องการได้สัญชาติในฐานะพลเมืองและสวัสดิการสังคม หรือขบวนการค้ามนุษย์ที่ลักลอบขนส่งแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าเข้าเมืองไทย ด้วยวิธีการอันโหดร้ายป่าเถื่อน ละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อมีแรงงานจำนวนมากที่ไม่สามารถไปขึ้นทะเบียนได้ด้วยเหตุผลต่างๆ  พวกเขาและเธอจึงลักลอบทำงานอยู่ตามโรงงาน ไซต์งานก่อสร้าง บ้านจัดสรร ในฐานะ "แรงงานนอกกฎหมาย แรงงานผิดกฎหมาย" สถานะดังกล่าวช่วยเอื้อประโยชน์ให้นายจ้างสามารถจ่ายค่าแรงที่ถูกมากได้ และไม่มีข้อผูกมัดที่นายจ้างจะต้องทำตามกฎหมายแรงงานใดๆ  ทั้งสิ้น ความกดดันที่พวกเขาและเธอได้รับอยู่ตลอดเวลาอาจนำมาสู่การปะทุ ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องสิทธิ และอาจนำไปสู่การแตกขั้วทางความคิดที่รุนแรงได้ในสังคมไทย


 


2)  มิติของการเคลื่อนย้ายเทคโนโลยี


แรงงานข้ามชาติได้รับความรู้และความสะดวกสบายจากอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีอื่นๆในประเทศไทย ส่งผลให้แรงงานได้รับการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับทั้งตนเองและกับสังคมไทย และต่อไปถ้าพวกเขาและเธอมีโอกาสได้กลับไปยังประเทศพม่า เทคโนโลยีต่างๆที่ได้รับเพิ่มขึ้นก็อาจจะช่วยส่งผลต่อการพัฒนาประเทศพม่าเพิ่มขึ้นด้วย


การเคลื่อนย้ายเทคโนโลยีที่สำคัญและเห็นรูปธรรมอย่างชัดเจน คือ การใช้โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า  เช่น การใช้เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารกับนายหน้าเวลาที่แรงงานต้องการส่งเงินกลับบ้านเกิดที่ประเทศพม่า โดยแรงงานข้ามชาติจะโทรศัพท์บอกนายหน้าที่อยู่ในประเทศไทย แล้วนายหน้าคนดังกล่าวจะเป็นคนจัดการโดยการโทรศัพท์ไปหานายหน้าที่อยู่ในประเทศพม่าหรือแถบชายแดนไทย-พม่า โดยแรงงานข้ามชาติจะเป็นคนให้เงินแก่นายหน้าที่อยู่ที่นี่ แล้วให้ทางนายหน้าที่อยู่ในหมู่บ้านหรืออยู่ที่ในประเทศพม่า  นำเงินไปให้กับทางครอบครัว หลังจากนั้นแรงงานก็จะโทรศัพท์กลับไปที่บ้านหรือคนในหมู่บ้านที่มีโทรศัพท์ใช้ เพื่อสอบถามและตรวจสอบว่าได้รับเงินที่โอนมาแล้วหรือยัง นอกจากนั้นโทรศัพท์ยังกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารในการหาช่องทางในการทำงานใหม่ และการติดต่อญาติมิตรทั้งในประเทศพม่าและในประเทศไทยด้วย


 


3)  มิติของการเคลื่อนย้ายเงินทุน


แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า โดยเฉพาะแรงงานหญิงมักจะส่งเงินกลับไปจุนเจือญาติพี่น้องที่ประเทศพม่า เฉลี่ยคนหนึ่งอย่างน้อยปีละ 10,000-50,000 บาท ซึ่งก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินตราทั้งในประเทศพม่าและในประเทศไทย ในหลายพื้นที่ที่มีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติจากพม่าอย่างเข้มข้น เช่น ระนอง สมุทรสาคร แม่สอด พบว่าได้เกิดการหมุนเวียนเงินตราในชุมชนนั้นๆ มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย เช่น หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2239 วันที่ 29 ก.ค.-01 ส.ค. 2550 รายงานข่าวว่าห้างเทสโก้โลตัสมีแนวคิดที่จะเปิดสาขาขึ้นแห่งใหม่ในจังหวัดระนอง เนื่องจากเห็นว่าแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ทำงานอยู่ในจังหวัดและที่ทำงานอยู่ในเกาะสอง ประเทศพม่า จะเป็นลูกค้าสำคัญที่จะเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้า เพราะราคาจะต่ำกว่าในท้องตลาดทั่วไป หรือหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2236  วันที่ 19-21 ก.ค. 2550 รายงานข่าวว่าห้างน้ำพุพลาซ่าซึ่งเป็นห้างขนาดใหญ่ในตัวเมืองสมุทรสาครสามารถพลิกฟื้นโอกาสกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเห็นว่าลูกค้าสำคัญที่มาซื้อสินค้าในห้าง คือ กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในพื้นที่


 


4)  มิติของการเคลื่อนย้ายข้อมูล ข่าวสาร


มีดนตรี วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ จากกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศพม่าให้สังคมไทยได้เรียนรู้ เกิดการสืบทอดประเพณีจากบ้านเกิดให้สรรค์สร้างความคิดใหม่ๆ ตลอดเวลา เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่าง "บ้าน" ของแรงงานข้ามชาติกับตัวแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย มีการส่งข้อมูล/ข่าวสารที่ไม่สามารถรับรู้ได้กลับไปยังประเทศพม่า ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ยังเกิดพื้นที่สื่อทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ วีดิทัศน์ อินเตอร์เนต ที่ใช้ภาษาของประชาชนจากพม่า เช่น การเกิดวิทยุชุมชนหรือวารสารภาษาพม่า ภาษากะเหรี่ยง ภาษาไทยใหญ่ เกิดการรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มมอญ กลุ่มกะเหรี่ยง ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เช่น วันชาติมอญซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ วันแรมหนึ่งค่ำเดือนสาม (หลังวันมาฆบูชาหนึ่งวัน) ในประเทศไทยนั้นมีการจัดงานครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปีพ.ศ. 2536 และตามชุมชนที่มีคนไทยเชื้อสายมอญอาศัยอยู่ เช่น อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ตำบลบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และอีกหลายประเทศทั่วโลก เช่น อังกฤษ แคนาดา นอร์เวย์ ศรีลังกา ออสเตรเลีย มาเลเซีย ที่มีกลุ่มนักศึกษามอญโพ้นทะเลไปอาศัยอยู่ (สุกัญญา เบานิด, 2549) หรือการจัดงานวันปีใหม่กะเหรี่ยง ซึ่งจะจัดทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ประมาณเดือนเมษายนของทุกปี ดังจัดในพื้นที่นครปฐม พื้นที่ชลบุรี ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสได้เข้าร่วมด้วยในปี 2548 เป็นต้น


 


5)  มิติของการเคลื่อนย้ายอุดมการณ์


วัฒนธรรมของแรงงานข้ามชาติได้แสดงออกและปะทะสังสรรค์กับวัฒนธรรมของคนไทยเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมที่อยู่ในประเทศไทยกับวัฒนธรรมที่มาจากประเทศพม่า เป็นกระบวนการสร้างความเข้าใจระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา อุดมการณ์ และความเชื่อที่แตกต่างกันให้อยู่ร่วมกันได้ เป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ ให้กับคนกลุ่มน้อยในสังคม การผสมผสานทางวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นผลพวงจากการปะทะสัมพันธ์ของมนุษย์ ซึ่งมีพลังที่จะข้ามพ้นปราการหรือมายาคติของวัฒนธรรมทางการที่รัฐ-ชาติไทยใช้เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการครอบงำความคิดและอุดมการณ์ของคนในสังคม เพื่อกำหนดระเบียบวาระทางการเมืองให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีอำนาจเท่านั้น และกีดกันคนกลุ่มน้อยออกไปจากสังคม เช่น การบอกว่าแรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ  เพราะไม่ใช่คนที่มีสัญชาติไทย เป็นต้น


 


บทส่งท้าย : อย่าให้ความแตกต่างบั่นทอนการอยู่ร่วม


ในปัจจุบันพบว่ามีการใช้แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมากขึ้น แรงงานเหล่านี้มักจะประสบปัญหาการใช้แรงงานหนัก ถูกทำร้ายทารุณ มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม การเข้ามาของแรงงานข้ามชาตินั้น ช่วงแรกเกิดจากการขาดแคลนแรงงานในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อหาแรงงานไทยยากขึ้นจึงมีกระบวนการชักจูงคนข้ามชาติในประเทศใกล้เคียงให้เข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย


แรงงานข้ามชาติที่โยกย้ายเข้ามาทำงานต้องกลายเป็นเหยื่อที่ไร้เขี้ยวเล็บและถูกกระทำ พวกเขามีสถานะที่สังคมมองว่าคนเหล่านั้นเป็นเพียงคนที่ด้อยกว่า นำไปสู่การละเลยและปล่อยให้การลดทอนความเป็นมนุษย์ดำเนินต่อไป สุริชัย หวันแก้ว ชี้ให้เห็นว่าสถานะแรงงานข้ามชาติถูกละเลยด้วยความเชื่อ 2 ประการ คือ ความเป็นคนต่างชาติที่มีสถานะด้อยกว่าชาติตน เพียงแค่สถานะดังกล่าวได้นำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่คำนึงถึงหัวใจและจิตวิญญาณ อีกทั้งการทอดทิ้งละเลยกลายเป็นวัตถุไม่มีค่า กลายเป็นคนแปลกหน้าที่บางครั้งก่อให้เกิดความรู้สึกว่า หากไม่มีประโยชน์ต่อไปจะสามารถกำจัดได้ก็จะเป็นการดี ความรู้สึกของคนบางกลุ่มที่มีต่อคนอื่นในลักษณะเช่นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นแนวคิดกำจัดได้ก็จะดี  (Dispensability thesis)  เพราะคิดว่าเป็นภาระและต้นเหตุของปัญหาสังคม นำพามาซึ่งความเดียดฉันท์และความไม่เข้าใจ ส่งผลให้เกิดความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ โดยแรงงานข้ามชาติที่ถูกทำร้ายทารุณถูกลดสถานะให้กลายเป็นคนที่ด้อยกว่า เนื่องจากเพราะความเชื่อที่ถูกสร้างให้เกิดการเรียนรู้ถึงความหมายและการเปรียบเทียบ สู่การสะสมความเชื่อในความเหนือกว่า ความเชื่อและการเรียนรู้ดังกล่าวทำให้มองไม่เห็น "คนอื่น"กลับกันก็จะมองเห็นแต่ตัวเอง


ทั้งนี้หลายครั้งได้นำมาซึ่งการปล่อยปละละเลยให้มีการทำร้ายทารุณแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง พวกเขาต้องเผชิญชะตามกรรมเพียงลำพัง  ถูกใช้งานหนักเหมือนวัตถุที่ไม่มีตัวตน การร้องบอกหรือการเยียวยาเมื่อถูกละเมิดจึงแทบไม่มี แรงงานข้ามชาติต้องต่อสู้กับตัวเองเพื่อให้หลุดพ้นจากสภาวะการณ์ดังกล่าว ซึ่งจะมีสักกี่คนที่สามารถออกจากสภาวการณ์นั้นได้ แล้วยังมีอีกสักกี่คนที่เรามองไม่เห็นแล้วหายไปอย่างไร้ร่องรอย ขณะที่คนส่วนใหญ่ในประเทศกำลังวิ่งไล่ตามเศรษฐกิจว่าวันนี้ภาวะการเงินจะเป็นอย่างไร แต่อีกด้านหนึ่งเราไม่เคยนึกว่าคนอีกส่วนหนึ่งจะทุกข์ทรมานเจ็บปวดสักแค่ไหน เพราะเราไม่เคยหันไปทบทวนหรือแม้แต่เหลียวมองร่วมกัน เพียงเพราะ "พวกเขา" ไม่ใช่ "พวกเรา" เท่านั้นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net