Skip to main content
sharethis

CHUEM NEWS โดย ศูนย์ข่าวสาละวิน


 


 


 


นายอิบราฮิม แกมบารี


 


สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ว่า นายอิบราฮิม แกมบารี ทูตพิเศษของยูเอ็นเยือนพม่ารอบสองนับตั้งแต่มีการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างหนักเมื่อปลายเดือนก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าทำการปฏิรูปทางการเมืองและเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างรัฐบาลและนางอองซาน ซูจีผู้นำพรรคฝ่ายค้าน


 


โดยนายแกมบารีได้เข้าพบนายหน่ายวิน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และนายอองจี รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของพม่า ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้เจรจาร่วมกับนางอองซาน ซูจีเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่นักการทูตเผยรัฐบาลพม่าไม่อนุญาตให้นักการทูตให้สัมภาษณ์กับสื่อ


 


อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่นายแกมบารีจะเดินทางมาถึง ทางการพม่าได้ประกาศกร้าวเตรียมที่จะขับนายชาร์ลส เพทรี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นประจำกรุงย่างกุ้งออกจากประเทศ โดยอ้างว่าเขาทำเกินกว่าหน้าที่ที่กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจและสนองตอบความต้องการของประชาชนของตนเองจนเป็นเหตุให้เกิดการประท้วงใหญ่ ซึ่งบรรดานักการทูตต่างเกรงว่า ความร้าวฉานดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคทำให้นายแกมบารีไม่สามารถเข้าพบกับพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วยได้


 


นักการทูตกล่าวอีกว่า นายอิบราฮิมมีแผนเยือนกรุงเนย์ปีดอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่าที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงย่างกุ้งในวันจันทร์  ก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงย่างกุ้งอีกครั้งเพื่อหาทางเข้าพบกับนางอองซาน ซูจี อย่างไรก็ตาม สถานีโทรทัศน์ในพม่ากลับไม่มีการเสนอข่าวนายอิบราฮิมเยือนพม่าแต่อย่างใด


 


ทั้งนี้ การเยือนพม่ารอบแรกนั้น นายอิบราฮิมได้เข้าพบกับผู้นำระดับสูงของพม่าและเข้าพบกับนางอองซาน ซูจีสองครั้ง หลังการเยือนเสร็จสิ้น รัฐบาลพม่าได้แต่งตั้งนายอองจีซึ่งเป็นนายพลที่มีความอะลุ้มอล่วยที่สุดในบรรดานายพลทั้งหลาย เป็นตัวแทนร่วมเจรจากับนางซูจี แต่ไม่สามารถยืนยันรายละเอียดว่าทั้งสองได้พูดคุยถึงเรื่องใด  


 


จากเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ ทางการพม่าเผยว่ามีประชาชนเสียชีวิตในช่วงที่รัฐบาลปราบปรามเพียง 10 คน ขณะที่นักการทูตไม่เห็นด้วยพร้อมกล่าวว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจริงน่าจะมีสูงกว่านั้น ขณะที่นักประท้วงนับพันยังคงถูกกุมขัง ด้านนักวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นว่า การเยือนพม่าของนายอิบราฮิมรอบสองจะไม่มีส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของพม่า


 


อย่างไรก็ตาม ยูเอ็นมีความพยายามที่จะทำให้พม่าปฏิรูปการเมืองมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ขณะที่รัฐบาลพม่ายืดเวลาและไม่เห็นการปฏิรูปการเมืองและการเจรจากับ นางอองซาน ซูจี เป็นเรื่องสำคัญ แต่รัฐบาลกลับพยายามที่จะรักษาอำนาจของตนต่อไป ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 45 ปีที่รัฐบาลยังดื้อดึงต่อคำเรียกร้องนานาชาติ ด้านนักเคลื่อนไหวที่หลบหนีเข้าไทยเผยว่า ประชาชนชาวพม่าบางกลุ่มยังคงคาดหวังกับยูเอ็น ขณะที่ประชาชนบางกลุ่มสิ้นหวังกับท่าที่ของยูเอ็นที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาลพม่าได้


 


ด้านสหรัฐและประเทศในยุโรปหลีกเลี่ยงที่จะร่วมมือกับรัฐบาลพม่าเนื่องจากละเมิดสิทธิมนุษยชน ในประเทศและช่วงชิงอำนาจทางการเมืองมาจากนางอองซาน ซูจีที่ได้ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 1990 โดยได้ตัดความสัมพันธ์ด้านการทูตและการใช้นโยบายคว่ำบาตรตอบโตรัฐบาลพม่า นอกจากนี้ยังกดดันให้ประเทศต่างหรือกลุ่มองค์กรต่าง ๆ หยุดให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลพม่า


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net