ชาวบ้านขู่ชุมนุมใหญ่ ค้าน ร่าง พ.ร.บ.พลังงาน เสนอตัดมาตราห้าม "ขัดขวาง" โรงไฟฟ้าเอกชน

ประชาไท - 4 พ.ย.50 สหพันธ์องค์กรเพื่อผู้บริโภค (สอบ.) และเครือข่ายชาวบ้านต่อต้านโรงไฟฟ้าในหลายจังหวัด จัดแถลงข่าวว่าด้วย ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ... ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 7 พ.ย.นี้

 

ประเด็นสำคัญที่ สอบ.และตัวแทนประชาชนจากหลายจังหวัดคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ มาตรา 134 ที่ระบุโทษหนักสำหรับผู้ขัดขวางการประกอบกิจการพลังงานของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับก่อนหน้านี้ที่สหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รวมตัวกันประท้วง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เช่นกันเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ในมาตรา 8 (4) โดยเรียกร้องให้รัฐรับปากว่าจะไม่นำไปสู่การแปรรูป และมีการระบุถ้อยคำในกฎหมาย ให้ กฟผ.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการระบบส่งไฟฟ้า รวมทั้งศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า

 

สายรุ้ง ทองปลอน เลขาธิการ สอบ. ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสนช.ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้มาตรานี้ระบุว่า "ผู้ใดก่อกวน หรือขัดขวางการดำเนินการของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 100,000 บาท" ซึ่งแม้ว่า ในการพิจารณาร่างในชั้นกรรมาธิการวิสามัญจะตัดคำว่า "ผู้ใดก่อกวน" ออกไป คงเหลือเพียง "ผู้ใดขัดขวาง" และได้ลดหย่อนโทษปรับเป็นไม่เกิน 10,000 บาท แล้วก็ตาม แต่ สอบ.และเครือข่ายชาวบ้านในหลายพื้นที่เห็นว่าควรตัดมาตรานี้ออกทั้งหมด เพราะเป็นมาตราที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า

 

อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีกฎหมายฉบับอื่นที่คุ้มครองกิจการของรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะอยู่แล้ว เช่น กฎหมาย กฟผ., กฎหมาย ปตท. ในส่วนของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ก็มีกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญาให้ความคุ้มครองกิจการของเอกชนอยู่

 

"ในอนาคตถ้าชาวบ้านยืนบนถนนสาธารณะหน้าโรงไฟฟ้า อาจถูกตีความว่านี่คือการขัดขวางการประกอบกิจการพลังงาน แล้วโดนลงโทษได้ เรื่องนี้จะทำให้ความรุนแรงในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น"

 

"การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือโดยเฉพาะกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจะยิ่งทำลายกระบวนการเจรจา หรือความพยายามอื่นๆ ในการร่วมกันหาทางออกโดยสันติวิธี" สายรุ้งกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า มีความพยายามผลักดันกฎหมายในช่วงนี้ ซึ่งเอกชนได้รับโควตาการผลิตไฟฟ้าคนละครึ่งกับ กฟผ.โดยชาวบ้านในหลายพื้นที่กำลังแสดงพลังในการคัดค้านโรงไฟฟ้าของเอกชนอยู่ด้วย

 

สายรุ้งกล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีมาตราอื่นที่ต้องแก้ไข เช่น มาตรา 11 (5) เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ที่ยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนอกเหนือจากราชการ, มาตรา 138 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการซึ่งจะเป็นคนกลางถ่วงดุล ดูแลผละประโยชน์ระหว่างผู้บริโภค หน่วยราชการ และผู้ประกอบการ แต่ระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการนี้ให้ณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติซึ่งเป็นผู้ออกและควบคุมนโยบายพลังงานดำรงตำแหน่งไปก่อน ซึ่งกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะหลายคนยังเป็นบอร์ดของ กฟผ. ปตท. หรือถือหุ้นในบริษัทพลังงานด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีมาตราอื่นๆ อีก เช่น เรื่องโครงข่ายระบบพลังงาน ที่ยังไม่เปิดสำหรับแหล่งพลังงานขนาดเล็ก หรือพลังงานหมุนเวียน เพราะโครงข่ายยังถูกผูกขาดเหมือนเดิม  

 

สายรุ้งกล่าวในตอนท้ายว่า หาก สนช.มีการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในวันที่ 7 พ.ย.จริง ประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยจะมารวมตัวกันหน้ารัฐสภา พร้อมกับรวบรวมรายชื่อคัดค้านซึ่งตอนนี้มีอยู่แล้วนับแสนชื่อทั้งจากระยอง สมุทรสงคราม ราชบุรี สระบุรี และในวันที่ 7 พ.ย.กรรมาธิการเสียงส่วนน้อยซึ่งขอสงวนการแปรญัตติจะได้ชี้แจงในที่ประชุมใหญ่ของสนช.ด้วย

 

บุญยืน ศิริธรรม  จากเครือข่ายคนรักแม่กลอง กล่าวว่า มาตรา 134 นี้อาจขัดกับสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เพราะมุ่งที่จะคุ้มครองเอกชน ดังนั้น ควรเปลี่ยนชื่อเป็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเอกชน ไปเลยจะดีกว่า เพราะคุณนอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงานก็พูดชัดในที่ประชุมคณะกรรมาธิการว่าการประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้าไม่ได้มีแต่ของรัฐ มีของเอกชนด้วย และรัฐมีหน้าที่ดูแลเอกชนด้วย มาตรานี้เกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองธุรกิจเอกชน

 

"ถ้าดูตัวอย่างหินกรูด-บ่อนอก มาตรานี้บอกชัดเจนว่ากิจการใดได้ใบอนุญาตแล้วห้ามชาวบ้านมารบกวนขัดขวาง กรณีนั้นเอกชนก็ได้ใบอนุญาตแล้วแต่ชาวบ้านก็ไม่เห็นด้วย ไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้า มาตรา 134 กำหนดว่าห้ามขัดขวางผู้ได้ใบอนุญาตแล้วโดยไม่ดูเลยว่าใบอนุญาตมันได้มาโดยชอบหรือไม่ชอบ พ.ร.บ.นี้มันจึงย้อนยุคยิ่งกว่าสมัยเผด็จการใดๆ เขียนขึ้นมาเพื่อกดหัวประชาชน จะชุมนุมสงบตามสิทธิในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้" บุญยืนกล่าว

 

สมคิด ดวงแก้ว ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย จ.สระบุรี กล่าวถึงกรณีการใช้กฎหมายที่มีอยู่หยุดการเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวบ้าน เช่นกรณีที่โรงไฟฟ้าเอกชนที่ จ.สระบุรี ฟ้องชาวบ้านโดยใช้ ม.101 ของ พ.ร.บ.การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เนื่องจากชาวบ้านเปิดเผยข้อมูลผลกระทบอีกด้านที่บริษัทไม่เคยพูดถึง

 

กันจร เอี่ยมชื่น กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้า จ.ราชบุรี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับมาตรานี้ เพราะราชบุรีมีทั้งโรงไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดและโรงไฟฟ้าที่สร้างไปแล้วกว่า 5,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งได้ส่งผลกระทบกับคนในราชบุรีมาก มีการยื่นหนังสือคัดค้านที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ถ้ามาตรานี้ผ่านก็ยิ่งเป็นการปกป้องโรงไฟฟ้า ประชาชนในพื้นที่จึงได้ร่างหนังสือคัดค้านและล่ารายชื่อได้เกือบหมื่นชื่อแล้วในหลายพื้นที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท