Skip to main content
sharethis

 







 


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่กำลังจะถึงในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แต่ละพรรคการเมืองต่างให้ความสนใจกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้นำเสนอแนวนโยบายรวมทั้งแนวทางแก้ปัญหาที่หลากหลาย นโยบายของแต่ละพรรคจะเป็นอย่างไร จะโดนใจชาวบ้านชายแดนใต้หรือไม่ และจะเป็นความหวังให้กับคนในพื้นที่ที่อยากเห็นความสงบ สันติในเร็ววันได้หรือไม่ "ประชาไท" จะทยอยนำเสนอผ่านบทสัมภาษณ์ตัวแทนของแต่ละพรรคอย่างต่อเนื่อง


 


 


 


 


 


แนวนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของหลายพรรคการเมืองที่จะใช้ในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 กำลังเป็นที่จับตามมองของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง


 


"พรรคชาติไทย" ก็เช่นกัน ได้เสนอนโยบายดับไฟใต้เป็นนโยบายสำคัญของพรรค หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการร่างนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคชาติไทย คือ "มูฮำมัดซุลฮัน ลามะทา" ในฐานะคณะกรรมการแก้ปัญหาและพัฒนาภาคใต้ พรรคชาติไทย


 


เขาถูกวางตัวเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วนเพียงหนึ่งเดียวที่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกวางตัวเป็นเบอร์สอง ต่อจากเบอร์หนึ่ง "นิกร จำนง" รองหัวหน้าพรรคชาติไทย


 


แม้ชื่อชั้นยังไม่เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่มากนัก แต่ขณะนี้เขามีบทบาทสำคัญภายในพรรค โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย "นิกร จำนง" ชักชวนเข้ามาทำงานการเมือง ร่วมกับ "กูเฮง ยาวอหะซัน" อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพียงหนึ่งเดียวในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ทำให้เขากลายเป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคชาติไทยในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


มูฮำมัดซุลฮัน เป็นลูกชายของโต๊ะครูคนหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นอดีตนักกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่ง ในขณะศึกษาอยู่ที่นั่น ก่อนจะไปเรียนจบปริญญาโทสาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมลายา ประเทศมาเลเซีย และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกัน


 


มูฮำมัดซุลฮัน พูดถึงนโยบายในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคชาติไทยว่า คณะกรรมการแก้ปัญหาและพัฒนาภาคใต้ ได้สรุปนโยบายสำหรับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมามี 4 นโยบายหลัก ประกอบด้วย


 


1. การตั้งศูนย์อุทธรณ์ฉุกเฉิน (Emergency appall system) สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสามารถร้องเรียนไปถึงนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง


 


2. จัดตั้งศูนย์บริหารราชการครบวงจรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (One stop Government) คล้ายกับตั้งรัฐบาลส่วนหน้าขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจได้ทันที ไม่ต้องรอส่วนกลางพิจารณา นอกจากนี้มีหน่วยงานทุกกระทรวง ทบวง กรม ตั้งอยู่ในศูนย์ดังกล่าว สามารถบริการและตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ทันที เช่น การขอทำหนังสือเดินทาง เป็นต้น


 


3. ส่งเสริมแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปโลกมุสลิม โดยจะพัฒนามือแรงงานตามความต้องการของตลาดโลกมุสลิม รวมทั้งเจรจากับรัฐบาลโลกมุสลิมให้รองรับแรงงานเหล่านั้น เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


4. การบูรณาการทางด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยจะวางกรอบในการดำเนินการให้ทั้งสามอย่างดังกล่าวแยกออกจากกันไม่ได้ ยกตัวอย่าง ประกาศให้โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หยุดวันศุกร์และวันเสาร์ เพื่อให้นักเรียนได้ร่วมละหมาดวันศุกร์ในชุมชน เปิดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาเต็มรูปแบบในโรงเรียนของรัฐ จัดตั้งงบจัดกิจกรรมประจำมัสยิด เป็นต้น


 


มูฮำมัดซุลฮัน มองว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบยั่งยืนนั้น ต้องมีกลไกหนึ่งคือการตั้งศูนย์บริหารราชการครบวงจรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 นโยบายหลักดังกล่าว เนื่องจากการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ไม่สามารถแก้ได้ในระยะ 1 - 2 ปี ดังนั้น จึงต้องตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้นมาเพื่อให้เอื้อต่อการแก้ปัญหาในระยะยาวได้


 


นอกจากนี้ พรรคชาติไทยยังมองเห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของหน่วยงานของรัฐในการแก้ปัญหา จึงยิ่งต้องมีการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการแก้ปัญหา


 


ส่วนการจัดตั้งศูนย์อุทธรณ์ฉุกเฉินนั้น เนื่องจากพรรคชาติไทยเห็นกรณีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดความไม่สงบขึ้นมา โดยศูนย์ดังกล่าวจะแก้ปัญหาความอยุติธรรมได้ และยังเป็นเครื่องมือเฝ้าระวังไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐ สร้างความไม่เป็นธรรมกับประชาชน เพราะชาวบ้านสามารถร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง


 


สำหรับนโยบายการส่งเสริมแรงงานนั้น มองปัญหาการว่างงานเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งคาดว่าอีกนาน กว่าที่นักลงทุนจะกล้ามาลงทุนในพื้นที่ ดังนั้นต้องมีนโยบายนี้ขึ้นมา โดยจะมีการเจรจากับรัฐบาลประเทศมุสลิม เช่น มาเลเซีย ให้คนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปทำงานอย่างถูกกฎหมาย รวมทั้งต้องพัฒนาฝีมือแรงงานให้เป็นผู้เชี่ยวชาญได้ก่อนจึงจะส่งแรงงานไปประเทศมุสลิมตามความต้องการของตลาดแรงงาน


 


ประเด็นสุดท้าย พรรคชาติไทยมองปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้น เนื่องจากความไม่เข้าใจของรัฐเอง ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินนโยบายที่แยกทั้ง 3 อย่างคือ การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมออกจากกัน พรรคจึงเสนอนโยบายในลักษณะบูรณาการ เพราะรู้ดีว่า บริบทของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถแยกทั้งสามส่วนนี้ออกจากกันได้


 


ดังนั้น การดำเนินทุกนโยบายหรือโครงการต้องสอดคล้องกันในสามเรื่องดังกล่าวโดยไม่ขัดแย้งซึ่งกันและกันได้ ซึ่งเชื่อว่า ถ้าพรรคชาติไทยได้เป็นรัฐบาลและได้ดำเนินนโยบายหลักนี้แล้ว จะทำให้ความรุนแรงลดลงได้


 


สำหรับกลยุทธ์หาเสียงนั้น มูฮำมัดซุลฮัน บอกว่า พรรคชาติไทยหวังว่าในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสผู้สมัครของพรรคจะได้รับเลือกตั้งทั้งหมด เพราะเชื่อว่าฐานเสียงในพื้นที่ค่อนข้างแข็ง เพราะมีการลงพื้นที่พบปะประชาชนตลอด


 


ทั้งนี้ ได้เชื่อมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นราธิวาส ที่มีนายกูเซ็ง ยาวอหะซัน เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นแม่งานในการวางแผนหาเสียง เนื่องจากผู้ที่คนที่ลงสมัครในเขต 1 คือ วัชระ ยาวอหะซัน เป็นลูกชายของนายกูเซ็ง เช่นเดียวกับนายกูเฮง ยาวอหะซัน ลูกชายอีกคน ซึ่งเป็นอดีตส.ส.หนึ่งเดียวของพรรค ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2548


 


ขณะเดียวกัน สมาชิก อบจ.28 คน จากทั้งหมด 30 คน ได้ให้การสนับพรรคชาติไทย


 


นอกจากนี้จะใช้ผลงานที่ผ่านมาในการหาเสียงด้วยไม่ว่า การผลักดันสร้างโรงพยาบาลในอำเภอยี่งอ ซึ่ง กำลังสร้าง การผลักดันก่อสร้างสถานีขนส่งจังหวัดนราธิวาสในสมัยนายนิกร จำนง รองหัวหน้าพรรค ในสมัยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


 


ใช้ความนิยมของคนจังหวัดนราธิวาสต่อนายวัชระ ซึ่งเป็นประธานชมรมฟุตบอลประจำจังหวัดนราธิวาส โดยขณะนี้ทีมฟุตบอลของจังหวัดนราธิวาสสามารถขึ้นอันดับ 5 ของประเทศได้ เป็นความสามารถของนายวัชระ นั่นเอง


 


ส่วนการหาเสียงในระดับรากหญ้า จะให้ความสำคัญกับผู้นำชุมุนม โดยคณะนี้ส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคชาติไทย เนื่องจากเห็นผลงานของนายกูเซ็ง ซึ่งที่ผ่านมาได้ทุ่มงบประมาณกว่าปีละ 20 ล้านบาท ในการพัฒนามัสยิดต่างๆ ซึ่งระยะต่อไป หลังจากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ก็จะทุ่มงบประมาณไปที่การส่งเสริมกิจกรรมของมัสยิด ค่าตอบแทนผู้นำศาสนาและครูโรงเรียนตาดีกา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของพรรคชาติไทยด้วย


 


 






 


รายชื่อว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคชาติไทย


 


ระบบเขตเลือกตั้ง ส่งลงสมัครเฉพาจังหวัดนราธิวาส


 


เขต 1 นายวัชระ ยาวอหะซัน ลูกชายนาย กูเซ็ง ยาวอหะซัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) นายมาหะมารอปี เจ๊ะแว และนายมิลลาดน หะยีมะ


 


เขต 2 นายกูเฮง ยาวอหะซัน อดีต ส.ส. หนึ่งเดียวของพรรค ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 เป็นลูกชายนายกูเซ็งอีกคน และนายอาทร ธนะสุขเสถียร


 


ขณะที่ระบบสัดส่วนเขตภาคใต้ มีตัวแทนมุสลิมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงหนึ่งเดียว คือ นายมูฮำมัดซุลฮัน ลามะทา บัณฑิตปริญญาโทสาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมลายา ประเทศมาเลเซีย


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net