Skip to main content
sharethis


โดย ออซา ธี


ฮ่องกง, ประเทศจีน วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550


 


 


 


ภายหลังจากที่ มะดี  อาลีลาเต๊ะ ถูกจับตัวออกมาจากบ้านของเขาในจังหวัดยะลา ภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เขาได้ถูกรับตัวไปฝึกอบรมในโครงการฝึกอาชีพและปรับทัศนคติ โดยที่ไม่ได้ถูกตั้งข้อหาแต่อย่างใด ไม่แม้กระทั่งจะได้รับการชี้แจงว่า การถูกจับและถูกส่งตัวไปฝึกอบรมเป็นไปโดยกฎหมายใด ด้วยเหตุผลอะไร หรือด้วยวัตถุประสงค์ใด ทั้งสิ้น


 


รายละเอียดที่มีอยู่เพียงน้อยนิดปรากฏอยู่ในรายงานการรับตัวไปเพื่อฝึกอาชีพ แม้ มะดี (ผู้ชาย) อายุ 26 ปี และพวกอีก 8 คน ถูกควบคุมตัวภายใต้การประกาศการใช้พระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในแบบฟอร์มบันทึกดังกล่าวกลับระบุรายละเอียดไม่มากไปกว่า ชื่อหน่วยงาน ชื่อผู้ถูกควบคุมตัว นอกนั้นทุกช่องจะเว้นว่างไว้ไม่มีการเติมข้อความใด


 


นี่คือการกระทำตาม "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ที่การบันทึกเบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลทั้ง 9 คนที่ถูกจำกัดเสรีภาพ กลับสะท้อนถึงความไม่สนใจในหลักกฎหมาย หลักกระบวนการยุติธรรม ของทหารและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในภาคใต้ และบ่งชี้ถึงชนิดของเอกสาร บันทึกของทุกคนมีลักษณะที่เหมือนๆ กัน คือระบุเพียงว่า ใครถูกส่งตัวไป ส่งตัวไปเมื่อไร แต่ไม่มีการระบุว่า ส่งตัวไปอย่างไร และส่งตัวไปทำไม


 


มีเหตุผลอย่างน้อยที่สุด 2ประการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ประการแรก ดังที่กล่าวข้างต้น การดำเนินการตาม "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" และดำเนินการอื่นใดโดยทหารในกรณีภาคใต้นั้น มิได้มีเจตนาที่แท้จริงที่จะกระทำตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่เป็นไปเพียงเพื่อให้เห็นว่ามีการดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น การจัดทำบันทึกดังกล่าวจึงเป็นเพียงการทำไปพอเป็นพิธีเท่านั้น โดยไม่มีเอกสารฉบับไหนเลยที่ผู้เขียนอ่านแล้วรับรู้ได้ถึงความจริงใจในการดำเนินการ


 


ประการที่สอง บทพิสูจน์สำหรับกรณีแรก ก็คือการควบคุม "มะดี" กับพวก โดยทหารนั้น ถูกอ้างว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่จำเป็น แต่ไม่ได้มีการอ้างถึงกฎหมายใด


 


กลุ่มคนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของอีกหลายร้อยคนที่ถูกเอาจับออกมา และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ต้องสงสัย ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการระเบิด การยิง แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดสำคัญเพียงพอที่จะแสดงถึงความผิดนั้นได้ นี่คือประเด็นสำคัญที่แสดงถึง "การแยกปลาออกจากน้ำ"


 


กระบวนการดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นเมื่อใกล้ครบระยะเวลาสูงสุดที่ทหารจะมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยดังกล่าวไว้ได้ คือก่อนครบ 37 วัน ตามกฎอัยการศึกรวมกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลดังกล่าว บางสิ่งบางอย่างจึงถูกทำขึ้นเพื่อเอาปลาเหล่านี้ออกมาจากการว่ายน้ำ และมันไม่สามารถทำให้ดูว่าเป็นการบังคับได้ เพราะนั่นจะกลายเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มันจึงถูกทำให้กลายเป็นความสมัครใจ


 


มะดีกับพวก จึงได้รับข้อเสนอที่เป็นทางเลือกว่า จะไปเข้าร่วมในโครงการฝึกอาชีพ 4 เดือน หรือจะรับการถูกดำเนินคดี ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานในการต่อสู้คดีในศาล โดยไม่ได้รับการประกันตัว ดังนั้น โดยธรรมชาติแล้ว ผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 300 กว่าคน ย่อมต้องเลือกที่จะไปฝึกอาชีพที่ค่ายทหาร ซึ่งค่ายดังกล่าวตั้งอยู่ในจังหวัดที่อยู่เหนือขึ้นไปจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


แต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าวหลายร้อยคนนี้ได้ขออนุญาตกลับไปเยี่ยมบ้านเนื่องในวันฮารีรายอ พวกเขาจึงพบว่า การฝึกในโครงการดังกล่าว ไม่ได้เป็นไปด้วยความสมัครใจอีกต่อไป เพราะพวกเขาได้รับการปฏิเสธหลังที่ได้ส่งจดหมายขอกลับบ้าน


 


หลังจากนั้น ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดที่มีอำนาจในการพิจารณาคดี คือศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศาลจังหวัดระนอง และศาลจังหวัดชุมพร ตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้พิจารณาเกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย


 


มาตรา 90 ในประเทศไทย เทียบเคียงได้กับ " the habeas corpus" ที่กำหนดไว้ในกฎหมายคอมมอนลอว์ แต่ไม่เหมือนกับ habeas corpus เสียทีเดียว เนื่องจากในประเทศไทยมันถูกใช้น้อยมาก ทั้งนักเรียนกฎหมายเองก็ไม่ได้สนใจที่จะเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทนายความและผู้พิพากษาเองก็ดูเหมือนว่าจะไม่สนใจเกี่ยวกับการกระบวนพิจารณาคดีที่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือการที่จะพยายามหาหนทางนำหลักดังกล่าวไปใช้ หรือการหาหลักในทางปฏิบัติหรือในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวเรื่องดังกล่าวให้คุ้นชิน


 


นี่แสดงโดยตัวมันเองถึงวิธีการใช้กฎหมายและความเข้าใจสำหรับคุ้มครองสิทธิพลเมืองในประเทศไทยประการหนึ่ง


 


จากหนังสือของ A. V. Dicey ที่เขียนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป A. V. Dicey ได้อธิบายถึง habeas corpus ว่า "เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจในการตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยฝ่ายตุลาการอย่างหนึ่ง"


 


Dicey ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของคำร้องเกี่ยวกับ  habeas corpus อีกว่า คำร้องดังกล่าวเป็นมากกว่าการกำหนดไว้เป็นหลักประกันในสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะต้องสามารถดำเนินการได้ตลอดเวลา อย่างทันที ในการที่จะไต่สวนเพื่อให้ได้ความว่า มีการควบคุมต้วโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะแตกต่างจากสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นที่มีอยู่แต่เพียงในกระดาษที่เป็นเพียงแนวคิดแต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง เพราะสิทธิเหล่านั้นอาจจะถูกยกเลิกชั่วคราวได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อ 19 กันยายน ปีที่แล้ว


 


ดังนั้น คำร้องเมื่อเดือนตุลาคม จึงไม่ได้มีความหมายเพียงเป็นการฉายภาพให้เห็นถึงฉากหลังแห่งความรุนแรงในภาคใต้ แต่มันยังแสดงถึงความเอาใจใส่ในระบบกฎหมายในเมืองไทยอีกด้วย


 


จากคำพิพากษาของทั้งสามศาล เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ปรากฏว่า คำพิพากษาได้วินิจฉัยออกมาในแนวเดียวกับคำพิพากษาด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายกรณีที่เน้นการปฏิบัติและมีลักษณะในทางตรงข้าม คำพิพากษาทั้งหมดสรุปว่า กองทัพไม่มีความผิดในการควบคุมตัวบุคคลเหล่านั้น หากเป็นแต่เพียงการควบคุมตัวไว้ในค่ายทหารโดยระเบียบของทหาร และไม่ได้ถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ต้องขัง อย่างไรก็ตาม หากมีการปฏิเสธสิทธิในการออกไปจากค่ายหรือโครงการของคนเหล่านั้นเมื่อใด เมื่อนั้นก็เท่ากับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย


 


ดังนั้น ผู้ถูกควบคุมตัวจึงเป็นอิสระในการออกจากค่ายหรือโครงการ เช่นเดียวกับทหารที่เป็นอิสระจากการถูกตำหนิ อย่างไรก็ตาม คำให้การของผู้ถูกควบคุมตัวที่ได้ให้การต่อศาล ก็ยืนยันตามคำร้องที่ยื่นต่อศาลว่า พวกเขาถูกบังคับให้เข้าร่วมโครงการ และเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทหารเองก็ยอมรับในศาลว่า ผู้ถูกควบคุมตัวมีทางเลือก 2 ทาง คือเข้าร่วมรับการฝึกในโครงการ หรือรับการถูกตั้งข้อหาซึ่งอาจจะไม่ได้รับการประกันตัว แต่ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใดก็เท่ากับเป็นการระบุว่า พวกเขาเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาอยู่ดี ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าเขาจะถูกตั้งข้อหาใด หรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ พวกเขาไม่ควรถูกข่มขู่ด้วยการตั้งข้อหา เพราะมันเท่ากับไม่มีคำตอบอื่นให้พวกเขานั่นเอง


 


คำพิพากษาเกี่ยวกับมาตรา 90 นี้พบได้น้อยมากในประเทศไทย ทั้งๆ ที่มันควรได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง และได้รับการพิจารณาอย่างรอบรู้ มันไม่ควรถูกสงสัยถึงขอบเขตของการใช้กฎหมายดังกล่าว และมันต้องไม่เป็นเพียงการคุ้มครองผู้ถูกควบคุมเท่านั้น แต่มันต้องเป็นมากกว่านั้นในการที่จะการสร้างแนวทางการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายตุลาการ


 


ในขณะนี้ ผู้ได้รับการปล่อยตัวก็ยังคงกลับเข้าบ้านไม่ได้ เนื่องจากเขายังมีอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ คำสั่งของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม โดยสั่งห้ามมิให้เขาเหล่านั้นเข้าไปในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลา 6 เดือน นี่จึงยังคงเป็นปฏิบัติการอีกอย่างหนึ่งที่ต้องการ "แยกปลาออกจากน้ำ"


 


ขณะที่เขียนนี้ การกลับไปบ้านของผู้ได้รับการปล่อยตัว ยังคงอยู่ระหว่างการต่อรอง โดยที่จังหวัดชุมพร ทหารอนุญาตให้พวกเขาอยู่ต่อไปได้อีก 3 วัน เพื่อพิจารณาทางอื่นที่ดีกว่า ได้แก่ การเข้าโครงการฝึกอบรมต่อ เพื่อจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านในเดือนพฤศจิกายน หรือการใช้สิทธิของพวกเขาภายใต้คำสั่งศาล โดยออกมาจากโครงการ และคอยจนกว่าจะครบกำหนดในเดือนมกราคมปีหน้าเพื่อกลับบ้าน


 


ในขณะที่ผู้ได้รับการปล่อยตัวในชุมพร ยังคงคิดว่าจะอยู่จนครบกำหนดหรือไม่ตามข้อเสนอดังกล่าว1 แต่ผู้ได้รับการปล่อยตัวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดระนองไม่เสียเวลาในการแสวงหาทางเลือกอื่น พวกเขาทั้งหลายได้ออกจากค่ายไปเรียบร้อยแล้ว


 


 


 


 






 


(Awzar Thi เป็นนามปากกาของคนที่ทำงานในกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเอเชีย ที่มีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมในประเทศไทยและประเทศพม่า เข้ามาเวปบลอ๊คชื่อ Rule of Lords blog อ่านได้ใน http://ratchasima.net)


 


 


1หมายเหตุ : ผู้ได้รับการปล่อยตัวที่จังหวัดชุมพร ขณะนี้ได้ออกจากค่ายมาแล้วเช่นกัน 2 .. 2550


 


 


0 0 0


 


  







 


ขอเชิญร่วมเวทีเสวนาวิชาการ


เรื่องการใช้หลักนิติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ศึกษากรณี


"คำสั่งศาลกรณีการใช้สิทธิตามม. 90 และคำสั่งห้ามกลับบ้านของแม่ทัพภาค 4"


 


ร่วมแสดงมุมมองความเห็นต่อประกาศแม่ทัพภาค 4 และหาคำตอบให้กับสังคมและประชาชนที่ไม่สามารถกลับคืนสู่มาตุภูมิและครอบครัวของตน


 


วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2550 เวลา 09.00-12.30 น.


ห้อง 211 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


 


ปาฐกถานำการเสวนา


"หลักการของ Habeas Corpus ในกฎหมายไทย และกฎหมายระหว่างประเทศ"


โดย    ศ.ดร.คณิต ณ นคร  คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต


 


เสวนาแลกเปลี่ยน


การใช้หลักนิติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ศึกษากรณี


"คำสั่งศาลกรณีการใช้สิทธิตาม ม.90 ป.วิอาญา และคำสั่งห้ามกลับบ้านของแม่ทัพภาค 41 "  


 


โดย - คุณสมชาย  หอมลออ  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา


       - ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


       - รศ.ณรงค์  ใจหาญ  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


       - คุณไพโรจน์  พลเพ็ชร  สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน


       - คุณสิทธิพงษ์  จันทรวิโรจน์ ชมรมนักกฎหมายมุสลิม


       - คุณอังคณา  นีละไพจิตร  คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


       - ตัวแทนศาลปกครอง*


 


ดำเนินรายการโดย    คุณศราวุธ  ปทุมราช  สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน


 


จัดโดย  มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา  คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


 


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net