Skip to main content
sharethis

2 พ.ย.2550 องค์กรสิทธิมนุษยชน 11 องค์กร ทำหนังสือถึง น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการตำรวจและสิทธิมนุษยชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอให้ไต่สวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีคำสั่งห้ามกลับบ้านและการควบคุมตัว 4 เดือนโดยมิชอบของกองทัพภาคที่ 4 สืบเนื่องจากการที่ญาติของผู้ถูกจับกุมและคุมขังตามกฎอัยการศึก และ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากอำนาจของแม่ทัพภาคที่ 4 กองทัพบก ซึ่งหลังจากพ้นกำหนดการคุมขังตามกฏหมายแล้วได้ถูกนำตัวไปฝึกอบรมอาชีพต่อในค่ายทหารและศูนย์ฝึกต่างๆ ในท้องที่ห่างไกลอีกเป็นเวลา 4 เดือนโดยไม่มีกฏหมายรับรองอำนาจ


 


ต่อมาญาติของผู้ถูกฝึกอาชีพ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดในแต่ละท้องที่ ขอให้ใต่สวนว่าการฝึกอบรมอาชีพที่ดำเนินการโดยกองทัพภาคที่ 4 นั้น เป็นการคุมขังโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลจังหวัดระนอง ศาลจังหวัดชุมพร และศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ไต่สวนพยานของผู้ร้อง และในวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ศาลทั้งสามศาล ได้วินิจฉัยคดีดังกล่าวว่า


 


"บุคคลผู้มีชื่อตามคำร้องของผู้ร้องยินยอมเข้ารับการฝึกอบรม กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ต่อมาผู้เข้ารับการฝึกอบรมแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการฝึกอบรมอีกต่อไป ข้อตกลงหรือความยินยอมสมัครใจรับการฝึกอบรมที่ได้ให้ไว้ย่อมสิ้นสุดลง ดังนั้น การฝึกอบรมโดยบุคคลผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่ยินยอมหรือไม่สมัครใจ ย่อมไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 32 วรรคห้า ศาลจึงมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านระงับการฝึกอบรมเฉพาะบุคคลผู้มีชื่อตามคำร้องของผู้ร้อง..."


 


โดยหนังสือที่ยื่นต่อ กมธ.สิทธิมนุษยชน ย้ำว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลแสดงว่า เมื่อผู้ถูกฝึกอบรมอาชีพไม่สมัครใจเข้าร่วมการฝึกอบรม ก็สามารถยุติการถูกฝึกอบรมได้ โดยเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะบังคับ หรือควบคุมตัวบุคคลเหล่านั้นให้อยู่ฝึกอบรมต่อไปได้โดยมิได้รับความยินยอมอีกต่อไป แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเองได้ เนื่องจาก พลโทวิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ออกประกาศห้ามพวกเขา และบุคคลอื่นๆ อีกหลายร้อยคนเข้าไปหรืออยู่อาศัยในเขตท้องที่จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลาเป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 6 เดือน โดยใช้อำนาจตามกฏอัยการศึก พ.ศ.2457 โดยอ้างว่าผู้ถูกควบคุมตัวต่อเนื่องโดยมิชอบด้วยกฏหมายนี้ มีพฤติการณ์ต้องสงสัยเป็น "แนวร่วม" ที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการก่อความไม่สงบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรม จึงทำให้อาจมีผู้บริสุทธ์จำนวนมาก ถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมของผู้ก่อความไม่สงบจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย อีกทั้งไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ตามกระบวนการยุติธรรม และอาจกลายเป็นการขยายปัญหาลุกลามรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่พลเมืองของตนเองได้ แต่กลับสร้างแนวร่วมมุมกลับให้ผู้ก่อความไม่สงบเสียเอง


 


โดยเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน 11 องค์กร เห็นว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง ที่จะห้ามบุคคลใดไม่ให้เดินทาง ใช้เส้นทางคมนาคม หรือห้ามมิให้เข้าเคหะสถานของตนเอง ซึ่งถือเป็นการผลักดันพลเมืองซึ่งมีสัญชาติไทยถูกต้องตามกฏหมาย ให้เป็นพลเมืองที่ไม่มีสิทธิพลเมืองตามกฏหมาย หรือถูกบังคับให้เป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของตนเอง (Internally Displaced Persons -IDP) โดยมิชอบและเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง มาตรา 34 และมาตรา 29 รวมถึง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 13 ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแล้ว


 


ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน 11 องค์กรได้ขอให้ประธานอนุกรรมาธิการตำรวจและสิทธิมนุษยชนในคณะกรรมาธิการตำรวจและสิทธิมนุษยชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอให้เปิดสภาไต่สวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกรณีคำสั่งห้ามกลับบ้านโดยใช้อำนาจกฏอัยการศึก และการควบคุมตัว 4 เดือนโดยมิชอบของกองทัพภาคที่ 4 กองทัพบกโดยเร็วที่สุด


 


 


 







 


ขอเชิญร่วมเวทีเสวนาวิชาการ


เรื่องการใช้หลักนิติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ศึกษากรณี


"คำสั่งศาลกรณีการใช้สิทธิตามม. 90 และคำสั่งห้ามกลับบ้านของแม่ทัพภาค 4"


 


ร่วมแสดงมุมมองความเห็นต่อประกาศแม่ทัพภาค 4 และหาคำตอบให้กับสังคมและประชาชนที่ไม่สามารถกลับคืนสู่มาตุภูมิและครอบครัวของตน


 


วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2550 เวลา 09.00-12.30 น.


ห้อง 211 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


 


ปาฐกถานำการเสวนา


"หลักการของ Habeas Corpus ในกฎหมายไทย และกฎหมายระหว่างประเทศ"


โดย    ศ.ดร.คณิต ณ นคร  คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต


 


เสวนาแลกเปลี่ยน


การใช้หลักนิติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ศึกษากรณี


"คำสั่งศาลกรณีการใช้สิทธิตาม ม.90 ป.วิอาญา และคำสั่งห้ามกลับบ้านของแม่ทัพภาค 41 "  


 


โดย - คุณสมชาย  หอมลออ  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา


       - ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


       - รศ.ณรงค์  ใจหาญ  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


       - คุณไพโรจน์  พลเพ็ชร  สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน


       - คุณสิทธิพงษ์  จันทรวิโรจน์ ชมรมนักกฎหมายมุสลิม


       - คุณอังคณา  นีละไพจิตร  คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


       - ตัวแทนศาลปกครอง*


 


ดำเนินรายการโดย    คุณศราวุธ  ปทุมราช  สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน


 


จัดโดย  มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา  คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net