Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่โรงแรมเพนนินซูล่า เอกเซกเซียร์ ประเทศสิงคโปร์ มีการประชุมประชาสังคมอาเซียน ครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Civil Society Conference) ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. โดยมีผู้เข้าร่วมจากกลุ่มประชาสังคมจากประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งวิทยากรจากภาครัฐ สำนักงานเลขาธิการอาเซียนและจากประชาชนนอกกลุ่มอาเซียนด้วย

 


ซามีโดไร สีนะพัน ผู้แทนเจ้าภาพสิงคโปร์ กล่าวในพิธีเปิดว่า 60% ของคนในอาเซียนมีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่า 3 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน คนสิงคโปร์เองก็มีทั้งที่รวยและจน แม้สิงคโปร์จะได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง แต่ต้องไม่ลืมว่ามีคนจนอยู่ที่นี่ด้วย อาทิ มีคนมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ที่เข้ามาเป็นแม่บ้าน มีการขายบริการทางเพศ มีบ่อนคาสิโน มีแรงงานอพยพเพิ่มขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องพูดกันคือเรื่องวาระของประชาชนและการขับเคลื่อนของภาคประชาชนเอง รวมถึงกฎบัตรอาเซียนว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่อาเซียนกำลังเผชิญได้หรือไม่


 


 


อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา


หรือส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา?


 


 


ด้านเด็บบี้ สธอตทาร์ท องค์การอัลท์เซียน (Altsean) พม่า กล่าวปาฐกถาว่า ปัจจุบันนี้ไม่มีสงครามระหว่างประเทศเช่นในอดีตแล้ว แต่ยังมีสงครามความยากจนในบางประเทศ เรามีคนอพยพมากขึ้นกว่าเมื่อ 40 ปีก่อน สงครามระหว่างรัฐกับประชาชนยังดำเนินต่อไป แม้แต่ในสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเอง


 


สำหรับปัญหาในพม่านั้น เกิดเพราะค่าน้ำมันที่ขึ้นสูงถึง 500% ทำให้ต้องใช้จ่ายสูงขึ้น ผู้คนไปทำงานไม่ได้ ไม่มีเงินเลี้ยงลูก คนต้องขอข้าวจากพระ แล้วทหารพม่าก็เข้ามาฆ่าพวกเขา จำกัดสิทธิและกดดันให้อยู่ในความหวาดกลัว อย่างไรก็ตาม มีประชาชนที่รังเกียจการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนช่วยกันจัดประท้วงทั่วโลก แต่รัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนกลับทำเพียงออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจ แต่ไม่แก้ปัญหา


 


เด็บบี้ ตั้งคำถามต่อท่าทีของอาเซียนในประเด็นพม่าว่า ประเทศต่างๆ ไม่คุ้มครองคนอพยพจากพม่า ทั้งยังกำจัดนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนจากพม่า คำถามคือ อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา


 


เธอกล่าวว่า หากถามว่าทำไมพม่าจึงชอบอาเซียน คงเพราะกระบวนการร่างกฎบัตรของอาเซียนนั้นไม่ต่างจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของพม่าที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เธอเล่าว่า ได้เข้าร่วมและจัดเวทีระดับชาติ รวบรวมข้อเสนอและเสนอต่ออาเซียน แต่ก็ยังไม่รู้ว่ากฎบัตรอาเซียนมีหน้าตาเป็นอย่างไร


 


10 ปีของการเป็นสมาชิกอาเซียนของพม่า รัฐบาลพม่ามั่นคง แต่ประชาชนแย่ลง มีปัญหาความเหลื่อมล้ำผู้คนอพยพ แรงงานผิดกฎหมาย ไม่มีเสถียรภาพ โดยในปี 1990 เด็ก 32% ในพม่า น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน ขณะที่ปี 2003 เด็กที่น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานเพิ่มเป็น 58% เด็ก 1 ใน 5 คน เสียชีวิตก่อนที่จะอายุครบ 5 ขวบ


 


เด็บบี้ เล่าว่า ที่ผ่านมา เธอได้พยายามต่อสู้ด้วยสันติวิธี พูดให้ผู้นำอาเซียนได้ยินว่า สิ่งที่เกิดขึ้นรับไม่ได้ ทั้งในพม่า ภาคใต้ของไทย และในมินดาเนา


 


เด็บบี้ แสดงความเห็นว่า อาเซียนต้องเป็นสมาคมของประชาชนไม่ใช่สมาคมของเผด็จการ ความต้องการของประชาชนต้องได้รับการตอบสนอง ประชาชนพม่าเรียกร้องการพูดคุยกัน ไม่ได้ต้องการโค่น ทำไมผู้นำจึงหวาดกลัวการคุยกับประชาชน ดังนั้น ประเด็นพม่า คงเป็นประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นความท้าทายของการประชุมครั้งนี้ที่ต้องพูดคุยร่วมกัน  


 


อนึ่ง การประชุมประชาสังคมอาเซียนนั้นเป็นการจัดเวทีของภาคประชาสังคมในกลุ่มประเทศอาเซียน คู่ขนานไปกับการประชุมผู้นำอาเซียน โดยจัดต่อเนื่องจากการประชุม 2 ครั้งก่อนหน้านี้ที่ประเทศมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ตามลำดับ โดยครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net