โรงงานปิดกิจการ: หน้าที่ลูกจ้าง (?) เรียกร้องสิทธิตัวเอง

ในการเสวนาเรื่อง เสียงจากคนงาน...กรณีโรงงานเลิกกิจการ ทรงศักดิ์ ศรีแทน อดีตประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมพลาสติก เล่าว่า ก่อนที่จะปิดกิจการนั้น เมื่อปี 46 บริษัทเริ่มเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารภายใน ปรับพนักงานรายเดือนเป็นรายวัน ค่าสวัสดิการ-เบี้ยขยันถูกตัด เมื่อพนักงานไม่ยอม ฝ่ายบริหารก็เรียกคุยหลายรอบ โดยให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ต่อมา ปี 47 บริษัทย้ายเครื่องจักรไปที่อื่น ซึ่งทำให้คิดว่า บริษัทอาจจะปล่อยพนักงานลอยแพ พวกเขาจึงร้องไปทางพนักงานตรวจแรงงาน จังหวัดนครปฐม ให้เข้ามาดูแล แต่เมื่อเข้ามาแล้ว พนักงานตรวจแรงงานกลับสรุปว่า เป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะโยกย้าย พนักงานไม่มีส่วนคัดค้านได้

 

เมื่อเขาถามว่า ถ้าเช่นนี้พนักงานจะมีอะไรทำ เมื่อไม่มีเครื่องจักร บริษัทจะไม่เลิกจ้างหรือปิดกิจการหรือ พนักงานตรวจแรงงานได้ตอบว่า เป็นเรื่องของอนาคต สุรปไม่ได้ อย่าตีตนไปก่อนไข้ และต่อมาไม่นาน  22 พ.ย. 47 ก็เป็นวันที่พวกเขาตกงาน โดยพนักงานตรวจแรงงานเป็นตัวแทนของนายจ้างมาบอกว่า บริษัทจะปิดกิจการ ใครต้องการเงินช่วยเหลือ 1 เดือนจากบริษัทก็ไปรับได้ ทั้งที่พนักงานส่วนใหญ่มีอายุงานสิบปีขึ้นไป นอกจากนี้ เมื่อถามว่า ค่าชดเชยตามที่กฎหมายไม่ใช่อย่างนี้ พนักงานตรวจแรงงานกลับบอกว่า ที่เหลือไปเรียกร้องเอาเอง

 

ทรงศักดิ์ แสดงความเห็นว่า ทำไมพนักงานตรวจแรงงานไม่ตรวจสอบตั้งแต่ต้น หากมีการสืบก็น่าจะหยุดยั้งการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรได้ ตอนที่บริษัทขนย้ายเครื่องจักรนั้นขนในตอนเย็นที่พนักงานเลิกงาน เมื่อจ้างคนติดตามว่าขนไปที่ไหนก็มีคนกั้นถนนและถามว่าตามมาทำไม ถ้าไม่อยากตายกลับไปซะ เขาจ้างทั้งตำรวจและชายฉกรรจ์ไปคุ้มกัน เพราะไม่ต้องการให้รู้ว่า ขนเครื่องจักรไปที่ไหน แต่สืบทราบเพราะมีพนักงานอยู่แถวนั้น

 

ส่วนการฟ้องร้องนั้น คำสั่งแรกของพนักงานตรวจแรงงาน พบว่า ค่าชดเชยออกไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อฟ้องร้อง พนักงานตรวจแรงงานก็อ้างว่า นายจ้างค้านว่า ยอดไม่ตรงกับเขา ต้องรอให้นายจ้างมาชี้แจงก่อน ซึ่งทรงศักดิ์เชื่อว่า นี่เป็นขั้นตอนที่พนักงานตรวจแรงงานถ่วงให้ล่าช้า เพื่อให้บริษัทดำเนินการหลีกเลี่ยง ขนย้ายเครื่องจักรให้หมด พอทักท้วงว่า คำสั่งออกไม่ครบ ประมาณ 1 สัปดาห์ต่อมา เขาก็แก้ให้ใหม่ ก็ไม่ทราบว่าทำไมไม่ออกให้ครบแต่แรก

 

พอเรื่องไปถึงศาล วันที่ศาลนัดครั้งแรกคือ 22 มี.ค. โดยจะแยกสอบนายจ้างและพนักงาน วันนั้นผู้พิพากษาบอกให้เขารับเท่าที่ได้เถอะเพราะนายจ้างโยกย้ายทรัพย์สินไปหมดแล้ว ทรงศักดิ์จึงบอกศาลว่า นายจ้างไม่ได้จนจริง ถ้ามีกฎหมายแต่ทำอะไรไม่ได้ ต่อไปทุกบริษัทก็ต้องทำแบบนี้เพราะไม่อยากจ่าย ศาลบอกว่า ศาลไม่ได้เป็นคนออกกฎหมาย เป็นคนพิพากษาก็ทำตามหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว วันนั้นจึงตกลงกันไม่ได้ และนัดใหม่วันที่ 1 เม.ย. โดยในวันนั้นมีการแยกตัวแทนลูกจ้างกับพนักงานที่เข้าไปรับฟังออกจากกัน เนื่องจากศาลบอกว่าเขาหัวแข็งพูดแล้วไม่เชื่อ บอกว่าคนที่ไม่มีความรู้พูดยาก ผู้พิพากษาบอกว่า อยากให้รับเงินชดเชยส่วนที่บริษัทเสนอมา 16% แต่ก็สรุปกันไม่ได้อีก ต่อมาเมื่อนัดอีกครั้ง เมื่อต่อรองว่า รับ 16% ก่อน แล้วที่เหลือจะเรียกร้องบังคับคดีเอา ศาลจึงบอกว่าไม่ได้ หากรับ 16% ก็จบกัน ปิดคดีไปเลย จึงมีบางส่วนที่รับไป ส่วนที่เหลือก็ต้องสู้กันจนทุกวันนี้ เดือนหน้านี้ก็จะครบสามปีแล้ว

 

"นี่คือ ผลสะท้อนกรณีศึกษาว่า การกระทำของนายจ้างที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรม และต้องหาวิธีแก้ไขทางกฎหมายที่รัดกุม เนื่องจากบริษัทที่ปิดตัวไป ยากที่พนักงานจะได้รับค่าชดเชย เพราะกฎหมายมีช่องเสมอ พนักงานที่ขาดความรู้จะมีปัญญาอะไรไปต่อกรกับนายจ้างที่มีเงินจ้างทนายมาหลีกเลี่ยงให้ไม่ต้องเสียค่าชดเชย" ทรงศักดิ์กล่าว

 

อุษา สัตบุตร ตัวแทนพนักงานบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด จ.สมุทรปราการ เล่าถึงคืนก่อนที่จะทราบว่า มีการปิดกิจการว่า คืนนั้น มีการพูดกันว่า บริษัทปิดกิจการแล้ว แต่ตนไม่เชื่อ ยังบอกว่า ยังทำโออยู่เลย พอตีห้าไปที่โรงงาน พบว่า โรงงานปิดแล้ว จึงโทรบอกเพื่อนๆ แต่เพื่อนไม่เชื่อ เมื่อมาเห็นกับตาจึงเชื่อ ตอนนั้นที่อยู่กันหน้าโรงงานไม่รู้จะทำอย่างไร เขาไม่ให้เข้าโรงงาน ถนนโรงงานก็แคบๆ เลยชวนกันปิดถนนใหญ่ แต่ละคนก็มารวมกัน

 

อุษา เล่าว่า ต่อมา มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยคุย โดยทีแรก ยื่นข้อเสนอให้นายจ้างจ่ายค่าแรงและเงินชดเชย แต่นายจ้างก็ไม่ยอม และบอกให้ยึดทรัพย์สินไปขายแทน โดยบางครั้งมีปัญหาเนื่องจากนายจ้างไม่เซ็นอนุมัติเอกสาร สร้างข้อบีบบังคับด้วยการไม่ขายของบ้าง ปิดน้ำปิดไฟบ้าง จนบางทีก็ทะเลาะกันเองก็มี

 

สุรัตน์ ตุ้มจิบ อดีตประธานและรองประธานสหภาพแรงงานจีน่าสัมพันธ์ เล่าว่า มีการตั้งสหภาพมาตั้งแต่ปี 37 โดยตั้งแต่ปี 42-44 ช่วงที่เป็นประธาน เกิดปัญหา ตั้งแต่ที่เรียกร้องเรื่องสวัสดิการให้สมาชิก มีการกระทบกระทั่งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จนเมื่อปี 44 มีผู้บริหารคนไทยมาบริหาร เป็นจุดแรกที่มีเรื่องกันค่อนข้างมาก สมาชิกสหภาพถูกเลิกจ้าง เอาพนักงานมาทำงานในบริษัทแทนพนักงานเก่า ต่อสู้จนถึงปี 46 บริษัทไม่สามารถเลิกจ้างกรรมการสหภาพได้ ต่อมา เมื่อเปลี่ยนผู้บริหาร ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้างก็ดำเนินมาด้วยดี ไม่มีวี่แววปิด แต่เมื่อปีที่แล้ว นายจ้างประกาศว่าจะปิดกิจการแล้ว ก็ค่อนข้างตกใจ เพราะไม่มีวี่แววมาก่อน ผู้บริหารจ้างทนายความมา เรียกหัวหน้างานมาบอกว่าดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้ เพราะได้กำไรน้อย

 

"แค่กำไรน้อยก็ปิด โดยไม่คำนึงถึงพนักงานพันกว่าคน และบอกว่า จะจ่ายชดเชยตามกฎหมาย ถ้าใครลาออกเองจะชดเชยให้หนึ่งเดือน จึงมาคุยกันว่า ทำไมต้องเขียนใบลาออก ถ้าปิดกิจการและจ่ายตามกฎหมายจริง แต่ก็มีบางส่วนที่เขียนใบลาออก เพราะอายุงานน้อย คิดว่าคงไม่ได้ค่าชดเชยมาก"

 

สุรัตน์ เล่าว่า พวกเธอคุยกันว่า ถ้าจะดำเนินการรอให้บริษัทจ่าย ก็อาจเจอเหมือนที่อุตสาหกรรมพลาสติกและไทยศิลป์เจอก็ได้ ทั้งนี้ ก่อนมีการประกาศปิด ก็มีการขนย้ายเครื่องจักร เครื่องตัดผ้าราคาประมาณ 10กว่าล้าน บอกว่าขอยืมไปกัมพูชาก่อน แล้วเอาเครื่องตัดที่ใช้มือสมัยเปิดบริษัทครั้งแรกกลับมา พวกเธอก็สงสัยว่า ชักยังไงๆ เอาเครื่องสิบล้านไป แล้วเอาเครื่องไม่กี่หมื่นกลับมา ขนจักรไปจีน 600 ตัว พวกเธอถามว่า แล้วคนงาน 600 คนทำยังไง นายจ้างบอกว่าจะมีการอบรม เขาว่ายืมไปเดือนเดียว แต่เมื่อคิดแล้วว่า ค่าขนส่งส่งไปกลับน่าจะมากกกว่าซื้อเครื่องจักรใหม่ จึงทำหนังสือถึงกระทรวงว่าไม่ไว้ใจพฤติกรรมบริษัท แต่ก็ได้คำตอบว่า เหตุยังไม่เกิดทำอะไรไม่ได้ ทั้งที่พวกเธออยากขอว่า ให้ช่วยระงับได้ไหม อย่าเพิ่งย้าย เพราะไม่แน่ใจว่าอาจมีแนวโน้มจะปิด

 

อย่างไรก็ตาม ยังดีที่สหภาพและสมาชิกเคลื่อนไหว ทำหนังสือร้องกระทรวง พาคนไปเรียกร้องให้กระทรวงออกมาดูแล ถ้าไม่ทำคงโดนลอยแพ ทั้งนี้ ไม่ได้หยุดแค่ในประเทศ แต่บินไปฮ่องกง พบเจ้าของบริษัทต่อรองเรื่องค่าชดเชย เจ้าหน้าที่บอกว่าได้แค่ค่าชดเชยตามกฎหมายก็ดีแล้ว ซึ่งคิดว่า ไม่สมควรพูด ต้องคิดถึงคนงานตาดำๆ ที่ไม่มีความรู้ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ

 

การเรียกร้องให้ได้ค่าชดเชยตามกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเรียกสมาชิกประชุม ต้องดำเนินการ ตรวจเช็คสมาชิก อย่างไรก็ตาม อยากให้รู้ว่า ถ้าไม่รวมตัวกัน จะไม่มีใครช่วยเหลือคุณได้ ถ้าคนงานไม่เตรียมตัวเสียแต่วันนี้ เมื่อถึงวันนั้นจริงๆ ทำอะไรไม่ได้

 

สุรัตน์ เล่าว่า หลังจากถูกเลิกจ้าง คนงานกลุ่มหนึ่งรวมตัวกัน เพื่อเย็บผ้า ถ้าถามว่าดีไหม ภายนอกดูดี เหมือนเปิดกิจการของตัวเอง โดยต้องรวมตัวกันเอาเงินคนละเล็กละน้อยมาลง เหมือนซับคอนแทค (จ้างเหมาช่วง) ที่ตนเคยต่อต้าน แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้จะทำอะไร บางกลุ่มก็ทำตามบ้าน ถูกกดราคาและกำหนดระยะเวลา

 

เธอเล่าว่า หลังโรงงานปิด ได้ค่าชดเชยตามกฎหมายและค่าสูญเสียโอกาส ที่ทำงานให้ตั้งแต่หนุ่มสาวจนออกไปไม่มีใครรับเข้าทำงานแล้ว ถึงขนาดที่บางคนไปยื่นประกันสังคมกรณีว่างงาน เขายังบอกเอาชราภาพไปเลยดีกว่า  

 

สุดท้าย เธอเสนอว่า โรงงานควรตระหนักว่า 20 ปีที่เราทำงานให้มีผลกำไรมากมาย แค่จ่ายนิดหน่อยน่าจะทำได้ อย่าให้คนงานลอยคอในทะเล จมน้ำตาย ค่าสูญเสียโอกาสไม่ได้ทำให้ร่ำรวย พวกเรายังลำบาก เพราะไม่ได้เตรียมตัวสำหรับโรงงานปิดมาก่อน

 

ทิฆัมพร เชิดมี ตัวแทนจากคนงานเอ็มการ์เมนท์ กล่าวว่า ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะตกงานตอนอายุมาก ตอนประกาศปิดกิจการก็ได้แต่คิดว่าทำยังไงให้ได้เงินมา จากนั้นค่อยมานึกว่าจะทำอะไรต่อ ความรู้ก็ไม่ค่อยมี และแก่แล้ว จึงรวมกัน 30กว่าคน เอาเงินมาเช่าตึก สี่ชั้น ทำใหม่ ประมาณ 2 เดือน ใช้จ่ายเงิน ซื้ออุปกรณ์ จักร กรรไกร ตอนนั้นยังไม่มีออเดอร์ เป็นการตั้งกลุ่มก่อนแล้วค่อยหางาน ก็หางานกันเองตามบริษัทต่างๆ ที่รับซับคอนแทค ดูว่าใครทำอะไรได้บ้าง จากเดิมที่เย็บชุดชั้นใน ก็เย็บทั้งเสื้อผู้ใหญ่ เด็ก บางบริษัทให้แค่แบบถ่ายเอกสาร แล้วก็ให้เย็บตามแบบ ก็ช่วยกันดู

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถึงเดือนสองเดือน เพื่อนหลายคนก็ถอดใจ เริ่มหางานใหม่ ตอนนี้เหลือประมาณ 10 คน ที่แก่ๆ ไปไหนไม่ได้ ก็ต้องสู้กัน ปัจจุบันพอมีงานเข้ามาให้ทำ ยากบ้างง่ายบ้าง ต้องเร่งตลอด ให้ทันกำหนด ต้องเร่งให้เสร็จตามกำหนด ค่าใช้จ่ายไม่พอกับรายรับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท