Skip to main content
sharethis

31 ตุลาคม 2550 เวลา 9.00 น. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายองค์กรแรงงาน ประมาณ 200 คน นัดรวมตัวกัน ณ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่จะเดินขบวนไปยังรัฐสภา เพื่อผลักดันและเรียกร้องให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม ๒๕๓๓ ให้นำไปสู่การปรับโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เกิดการบริหารงานอย่างมีส่วนร่วมและเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกันตนทุกคนที่นับได้ว่าเป็นเจ้าของเงินกองทุนประกันสังคมอย่างแท้จริง


 


เวลาประมาณ 10.00 น. ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 10 คน นำโดย นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้เข้าไปยื่นหนังสือให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ขอให้เร่งรัดในการตรวจสอบการนำเงินประกันสังคม 2,800 ล้านบาท จัดซื้อคอมพิวเตอร์ในกระทรวงแรงงานเพื่อหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ และได้มอบหนังสือฉบับเดียวกันนี้ให้แก่ พ.อ พงษ์เทพ แก้วไชโย ตัวแทนจากรองนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเร่งพิจารณาในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน


 


ทั้งนี้ ก่อนที่ขบวนจะเคลื่อนไปยังรัฐสภา กลุ่มตัวแทนได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวปราศรัยถึงปัญหาต่างๆที่เหล่าคนงานได้รับจากความไม่ยุติธรรมของหลักประกันสังคมผ่านเครื่องขยายเสียง พร้อมกันนี้ยังมีการใช้ป้ายผ้าและป้ายข้อความว่า "มีบ้างไหมความยุติธรรมสำหรับผู้ใช้แรงงาน, ประกันสังคมจะก้าวหน้าจะต้องผ่าโครงสร้าง"


 


ขบวนได้เริ่มตั้งขึ้นเวลาประมาณ 10.45 น. หน้าสุดของขบวนเป็นป้ายผ้า ตามด้วยหุ่นนายประกันสังคม และป้ายข้อความต่างๆ ที่แสดงถึงปัญหาต่างๆที่ผู้ใช้แรงงานต้องประสบ ระหว่างการเดินขบวนมีการกล่าวปราศรัยของกลุ่มตัวแทนตลอดการเดินขบวน


 


เมื่อขบวนเคลื่อนมาถึงยังหน้ารัฐสภา นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้มอบหนังสือให้กับประธานกรรมาธิการแรงงานสวัสดิการสังคมและเรียกร้องให้มีการผ่าโครงสร้างประกันสังคม และได้ทำพิธีผ่าและเผาศพนายประกันสังคมเพื่อพี่น้องผู้ใช้แรงงาน


 


นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  กล่าวว่า  "คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้เคลื่อนไหวประเด็นต่างๆในการผลักดันให้เกิดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม และมีการตรวจสอบการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม โดยเฉพาะโครงการต่างๆที่ไม่มีความโปร่งใส และประเด็นปัญหาอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งสิ่งที่สำคัญในการบริหารสำนักงานประกันสังคมคือต้องมีการผ่าโครงสร้างให้เกิดการบริหารงานอย่างมีส่วนร่วมตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย"


 


ด้านนายมงคล ตัวแทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ กล่าวว่า "อยากให้บอร์ดบริหารของประกันสังคมจะต้องมาจากการเลือกตั้ง และอยากให้ผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ"


 


ทางด้านตัวแทนเครือข่ายคนตกงาน กล่าวว่า "ทางรัฐบาลไม่เคยให้ความช่วยเหลืออะไรแก่กลุ่มผู้ใช้แรงงานเลย สิทธิในเรื่องของหลักประกันสังคมก็ได้มาจากการต่อสู้ของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งนับว่าเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่เพื่อให้ได้มาซึ่งสวัสดิการด้านแรงงานและสาธารณสุข การต่อสู้ทำให้เกิดประกันสังคมและมีวิวัฒนาการเรื่อยมา การเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องนี้ยาวนานเป็น 10 ปี มาสำเร็จในปี 2532 และพระราชบัญญัติออกมาปี 2533 การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาผู้ใช้แรงงานมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานกลุ่มย่านอุตสาหกรรมอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ และกลุ่มย่านพระปะแดง ทำให้เกิดการรวมกลุ่มคนงานจำนวนมากที่ได้รับเพียงแค่ค่าแรงขั้นต่ำ แต่ไม่มีสวัสดิการอื่นๆเลย อีกทั้งมีสภาพการทำงานที่แย่ ทำให้คนงานเหล่านั้นลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสวัสดิการสังคมของตนเอง มีการอดอาหารประท้วงของผู้นำแรงงานและนักศึกษา"


 


 


 


ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะสลายตัวไปได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันอย่างชัดเจนว่าจะต่อสู้ให้พยายามผลักดันให้เกิดการผ่าโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคมให้ได้ในที่สุด


 






 


 


แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


ฉบับที่ ๘ / ๒๕๕๐


เรื่อง ผลักดันให้เกิดการผ่าโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม


 


เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมได้จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นเวลากว่า ๑๖ ปีแล้ว ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนถึงกว่าเก้าล้านคน เนื่องจากการขยายความคุ้มครองลูกจ้างตั้งแต่ ๑ คนขึ้นไป และในอนาคตนี้ต้องขยายความคุ้มครองไปยังกลุ่มอาชีพอื่นๆ ซึ่งจะมีลูกจ้างเพิ่มมาในระบบประกันสังคมอีกจำนวนมาก ในขณะเดียวกันเงินกองทุนประกันสังคมก็เพิ่มขึ้นถึงสี่แสนล้านบาท แต่การบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมยังมิได้มีการพัฒนาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานเพื่อรองรับการเติบโตแต่อย่างใด


 


คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  อันประกอบด้วยสมาชิก ๒๗ องค์กร ได้มีการเคลื่อนไหวในวันพุธที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ เพื่อเร่งรัดให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมที่นำเสนอ และมีการเคลื่อนไหวติดตามต่อคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้มีการนำเสนอเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมเพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม ๒๕๓๓ โดยยึดเนื้อหาสาระตามฉบับที่ขบวนการแรงงานนำเสนอ เพื่อเป็นการเปิดช่องทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานในรูปแบบขององค์การมหาชน เพื่อความเป็นอิสระภายใต้กำกับดูแลของรัฐ เพื่อตอบสนองต่อสิ่งต่างๆเหล่านี้


 


๑.      ให้เกิดการบริหารที่คล่องตัว โปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ


๒.      ให้เกิดพัฒนาการที่ก้าวหน้าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน


๓.      ให้เกิดการขยายงาน ขยายกำลังคนให้เพียงพอต่อภารกิจที่เพิ่มขึ้น


๔.     เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูประบบราชการของรัฐที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบงานราชการ


 


อนึ่งความต้องการเร่งด่วนเฉพาะหน้าก่อนที่สำนักงานประกันสังคมจะเปลี่ยนสถานะเป็นองค์การมหาชน คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคมตามที่นำเสนอข้างต้น  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับดังกล่าวนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม ๒๕๓๓ ทั้งนี้หากมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าว  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยพร้อมที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมในคณะกรรมาธิการดังกล่าว ๒ คน เพื่อร่วมในการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย โดยรายละเอียดรายชื่อของผู้แทนจะแจ้งให้ทราบต่อไป


 



แถลงเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๐


คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net