Skip to main content
sharethis

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ "มะริด ทะวาย และตะนาวศรี"


 



 


เมื่อย้อนดู "ประวัติศาสตร์ มะริด ทะวาย และตะนาวศรี" ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไทยและพม่า ได้ผลัดกันเข้าครอบครองดินแดนทั้งสามนี้


 


ในหลักศิลาจารึกมีบันทึกว่า ดินแดนของอาณาจักรไทยทางฝั่งตะวันตกในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ได้แผ่ขยายไปจนถึงหงสาวดีจดอ่าวเบงกอล และในบันทึกของมิชชันนารีที่เข้ามาติดต่อกับไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ได้บันทึกชื่อของเมืองทะวายและตะนาวศรีว่าเป็นเมืองในอาณาจักรสยาม ตามปรากฏในพงศาวดาร


 


ในอดีตที่ผ่านมา เช่นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมืองมะริด และตะนาวศรี ถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากของไทย เนื่องจากเป็นเมืองที่พ่อค้าต่างประเทศทางอินเดีย และยุโรปนำสินค้าจากทางเรือขึ้นมาค้าขายในเมืองไทย ถึงกับมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองที่มีความรู้ความสามารถให้ปกครองดูแล และด้วยความสำคัญทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ ในอดีตไทยกับพม่าจึงมักมีศึกชิงเมืองมะริด ตะนาวศรี กันบ่อยครั้ง


 


ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไทยและพม่า ได้ผลัดกันเข้าครอบครองดินแดนทั้ง ๓ นี้ แม้บางช่วงจะอยู่ในฐานะหัวเมืองที่ไม่ขึ้นกับใครโดยตรง เช่นในปี พ.ศ.1883 ที่พระเจ้าเลอไทย ราชโอรสของพระเจ้ารามคำแหงได้ขึ้นครองราชย์สมบัติแทน หัวเมืองมอญได้ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับไทย และได้มาตีเอาเมืองทะวายและตะนาวศรีจากไทยไปได้


 


หรือในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อปี พ.ศ.2302 สมัยพระเจ้าเอกทัศ พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าได้ยกกองทัพมาตีเมืองทวายซึ่งขณะนั้นแข็งเมืองอยู่ และได้ยกพลตามมาตีเมืองมะริดและตะนาวศรีของไทยไปได้ด้วย หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2330 สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พยายามยกทัพไปตีเมืองทะวายคืนจากพม่า แม้จะไม่สำเร็จ แต่ในอีก 4 ปีต่อมา คือ พ.ศ.2334 เมืองทะวาย ตะนาวศรี และมะริด ก็มาสามิภักดิ์ขอขึ้นกับไทย


 


ในปี พ.ศ.2366 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อังกฤษเริ่มเข้ายึดหัวเมืองชายฝั่งทะเลของพม่า รวมทั้งตะนาวศรี มะริด และทะวาย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของภาคตะนาวศรี พร้อมทั้งได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจทำแผนที่ เพื่อจะได้รู้จักสภาพภูมิประเทศ ทรัพยากร และขอบเขตของเมืองที่ตนยึดได้ เมื่อมาถึงทิวเขาตะนาวศรีจึงได้ทราบว่าฝั่งตะวันออกของทิวเขาตะนาวศรีเป็นอาณาเขตของประเทศไทย


 


ภายหลังในปี พ.ศ.2408 จึงได้ส่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียมาติดต่อกับรัฐบาลไทยเพื่อขอให้มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษเป็นการถาวร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


 


 


ทบทวนเหตุการณ์ที่มาการปักปันเขตแดนไทยในอดีต


 


ทีมวิจัยปัญหาสถานะและสิทธิในพื้นที่สึนามิ ชุมชนศึกษา : กรณีคนไทยพลัดถิ่น ระบุว่า การปักปันเขตแดนไทย-พม่าอย่างเป็นทางการครั้งแรกของไทย ในการให้สัตยาบันครั้งนี้ถือเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ว่าเมืองมะริด ทะวาย และตะนาวศรี เป็นดินแดนของประเทศพม่าที่อยู่ในบังคับของอังกฤษ นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2411 เป็นต้นมา


 


ในช่วงปี พ.ศ.2408 - 2410 มีการตั้งคณะข้าหลวงปักปันเขตแดน เพื่อดำเนินการร่วมสำรวจและชี้แนวเขตแดนของตนตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนถึงจังหวัดระนอง โดยฝ่ายไทยได้แต่งตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหกลาโหม ผู้บังคับหัวเมืองฝ่ายใต้เฉียงตะวันตก เป็นข้าหลวงมีอำนาจเต็ม รับผิดชอบตั้งแต่เขตจังหวัดกาญจนบุรี ถึงจังหวัดระนอง ส่วนอังกฤษได้ตั้ง Lieutenant Arthur Herbert Bagge เป็นข้าหลวงมีอำนาจเต็ม


 


เมื่อการสำรวจทำแผนที่ และทำบัญชีรายละเอียดเกี่ยวกับที่หมายเขตแดนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการประชุมจัดทำอนุสัญญา (Convention) ขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2411 และได้มีการให้สัตยาบันกัน ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2411ภายหลังจากฝ่ายไทยได้ตรวจสอบเห็นว่าแผนที่ The Map of Tenasserim and the adjacent provinces of the Kingdom of Siam ที่อังกฤษจัดทำขึ้นใหม่นั้นถูกต้องแล้ว นับแต่นั้นแนวพรมแดนระหว่างไทยพม่าตั้งแต่สบเมยถึงปากแม่น้ำกระบุรี จึงได้เปลี่ยนจากเส้นเขตแดนที่ยอมรับโดยพฤตินัย มาเป็นเส้นเขตแดนที่กำหนดขึ้นโดยอนุสัญญา บัญชีที่หมายเขตแดนแนบท้ายอนุสัญญา และแผนที่แนบท้ายอนุสัญญา


 


ในอนุสัญญา ได้ระบุเส้นเขตแดนตรงแม่น้ำกระบุรีว่า "..ตั้งแต่เขาถ้ำแดงตามเขาแดนใหญ่มาจนถึงปลายน้ำกระใน เป็นเขตแดนจนถึงปากน้ำปากจั่น ลำแม่น้ำเป็นกลาง เขตแดนฝ่ายละฟาก เกาะในแม่น้ำปากจั่นริมฝั่งข้างอังกฤษเป็นของอังกฤษ ริมฝั่งข้างไทยเป็นของไทย เกาะขวางหน้ามลิวันเป็นของไทย แม่น้ำปากจั่นฝั่งตะวันตกเป็นของอังกฤษ ตลอดจนถึงปลายแหลมวิคตอเรีย ฝั่งตะวันออกตลอดไปเป็นของไทยทั้งสิ้น..."


 


สรุปว่า ในครั้งนั้นกำหนดให้แม่น้ำเป็นกลาง ให้ฝั่งเป็นเขตแดน ฝั่งด้านตะวันตกเป็นของพม่า ฝั่งด้านตะวันออกเป็นของไทย สำหรับเกาะในแม่น้ำถ้าชิดฝั่งตะวันตกก็ให้เป็นของอังกฤษ ถ้าชิดฝั่งตะวันออกก็ให้เป็นของไทย สำหรับเกาะขวางให้เป็นของไทย


                                                           


กล่าวได้ว่า ในการให้สัตยาบันครั้งนี้ถือเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ว่าเมืองมะริด ทะวาย และตะนาวศรี เป็นดินแดนของประเทศพม่าที่อยู่ในบังคับของอังกฤษ นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2411 เป็นต้นมา


 


 



 


ย้อนมาดูความจริงที่ถูกทอดทิ้งในปัจจุบัน


โวยเจ้าหน้าที่รัฐไทยสั่งทำบัตรห้อยคอคนไทยพลัดถิ่น!



 


สุทิน กิ่งแก้ว ประธานเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวกับ "ประชาไท" ว่า ล่าสุด หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพม่า ทางจังหวัดได้มีการทำป้ายห้อยคอให้กับคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งทำอย่างกับว่าพวกตนเป็นเหมือนกับแรงงานพม่า ทั้งๆ ที่เป็นคนไทย โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นเพียงมาตรการควบคุมจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง เพื่อให้คนเข้าเมืองไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่นิ่งกับที่


 


"เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ อยู่ๆ ก็มาบีบบังคับให้เรายอมรับให้เป็นคนพม่าแบบนี้..." เขาโอดครวญกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่ไทยทำกับพวกเขาแบบนี้


 


เขาบอกอีกว่า "ถ้าจะให้เรายอมรับเป็นคนพม่า เราจะมาทำไมที่นี่ เราอยู่ที่โน่นไม่ดีกว่าหรือ ดังนั้น จึงอยากจะเรียกร้องให้รัฐไทยแยกแยะให้ชัดว่า เราเป็นคนไทย ไม่ใช่มาเอาป้ายมาแขวนคอบอกว่าเราเป็นคนพม่าอย่างนี้"


 


 


เมื่อนักวิชาการและรัฐไทย พยายามแก้ปัญหาคนไทยพลัดถิ่น
ด้วยการให้ยอมรับเป็นคนพม่า ก่อนแปลงสัญชาติเป็นคนไทย


 


เป็นที่ทราบกันดีว่า ได้มีการพยายามหาวิธีการแก้ไขปัญหา กรณี คนไทยพลัดถิ่น ที่ไม่ได้รับสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ ประมาณ 20,000 กว่าคน ซึ่งรัฐบาลและนักวิชาการบางกลุ่ม และอีกหลายองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างออกมาพูดกันว่า ปัญหาของคนไทยพลัดถิ่น ต่างพยายามหาทางออกว่ามีทางเดียวที่จะแก้ไขได้ ก็คือ ต้องแก้ที่ "กฎหมาย" เท่านั้น


ซึ่งต่อมา รัฐบาลไทยมีนโยบายให้สัญชาติไทยแก่คนไทยเหล่านี้ โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2519 ให้แปลงสัญชาติเหมือนกับคนต่างด้าวกลุ่มอื่นๆ โดยยึดเอาวันที่ 9 มีนาคม 2519 เป็นวันสิ้นสุดการอพยพกลับของคนไทยพลัดถิ่น


 


อย่างไรก็ตาม จนถึงบัดนี้ ยกตัวอย่าง เฉพาะในส่วนของ จ.ระนอง มีคนไทยพลัดถิ่นได้รับการพิจารณาให้ได้รับสัญชาติไทยจำนวน 671 คนเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงมีคนไทยพลัดถิ่นอีกมากกว่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่เข้าประเทศไทยหลังวันที่ 9 มีนาคม 2519 ซึ่งรัฐบาลไม่มีนโยบายให้สัญชาติ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมลูกหลานของคนไทยพลัดถิ่นที่มาเกิดในประเทศไทย


 


แน่นอน ย่อมทำให้คนไทยเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์ได้รับการบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐ นับแต่การแจ้งเกิด การเรียน การทำงาน การเดินทาง การสมรส การตั้งครอบครัว การเป็นเจ้าของสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนถึงการแจ้งตาย ฯลฯ ทำให้คนไทยพลัดถิ่นไม่สามารถพัฒนาชีวิตตนเองได้อย่างเท่าเทียมคนทั่วไป ตลอดจนถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในรูปแบบต่างๆ มาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา


 


"สรินยา กิจประยูร" รายงานว่า จากผลงานวิจัย "โครงการศึกษาวิจัยเพื่อสำรวจสถานการณ์และศึกษาความเป็นไปได้ ในการขจัดปัญหาการจดทะเบียนการเกิดและปัญหาสถานะบุคคลของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ" ภายใต้มูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก และองค์การแพลน ประเทศไทย ซึ่งได้วิเคราะห์สถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของบังหมาด พบว่าบังหมาด และบุคคลในสถานการณ์เดียวกัน รวมถึงลูกหลานคนไทยที่เข้าไปทำมาหากินในดินแดนมะริด ทะวาย ตะนาวศรี ภายหลังวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2411 อันเป็นวันที่ประเทศไทยและอังกฤษได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาปักปันเขตแดนไทยพม่าแถบนี้อย่างเป็นทางการครั้งแรก


 


ผลการวิจัย ระบุว่า คนไทยกลุ่มนี้ไม่เคยเสียสัญชาติไทย แม้เมื่อกลับมาแล้วไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย ก็สามารถพิสูจน์ตนและขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรไทย (หรือ ท.ร.14) ได้


 


แต่ปัญหาอยู่ที่การสืบค้นพยานหลักฐานซึ่งเป็นไปได้ยาก หรือไม่ได้มีการสืบค้นอย่างชัดเจน ทำให้การแก้ไขปัญหาล่าช้าหรือเป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง


 


เช่น กรณีบังหมาด หรือนายหมาด เจริญฤทธิ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2490 ที่บ้านหินช้าง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จนเมื่ออายุ 11 ปี ได้ไปเรียนศาสนาอิสลามที่เกาะสอง ประเทศพม่า จากนั้นได้อาศัยอยู่ที่นั่นต่อ เนื่องจากบิดามารดาได้ย้ายเข้าไปทำสวน ที่บ้านสิบไม้ ตำบลเกาะสอง จังหวัดมะริด จนกระทั่งแต่งงานกับภรรยาคนแรก มีบุตร 3 คน ต่อมาเมื่อแต่งงานกับภรรยาคนที่สอง จึงได้พาภรรยาย้ายกลับมาอยู่ประเทศไทยที่บ้านกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง แต่ในขณะนั้นนายหมาดก็ยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างเกาะสอง ตามวิถีของชาวประมงฝั่งอันดามัน จนกระทั่งปี พ.ศ.2530 จึงได้ปักหลักอยู่ที่หมู่บ้านหินช้างอันเป็นที่อยู่ในปัจจุบัน หลังจากนั้นก็เริ่มได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อยต่างๆ จากทางการไทย และถูกระบุว่ามาจากประเทศพม่า


 


ความรู้สึกเจ็บปวดนี้ร้าวลึกกว่าคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั่วไป ด้วยความเป็น "คนไทยพลัดถิ่น" ที่สำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าตนเป็นลูกหลานไทย


 


นอกจากนั้น ต่อมา ทางรัฐและนักวิชาการบางกลุ่มก็ได้มีการพยายามแก้ไขปัญหา โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิและสถานะบุคคล ภายใต้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ซึ่งกำหนดให้ยอมรับให้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ


 


ซึ่งเป็นเรื่องที่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น รับไม่ได้ และทำใจไม่ได้ ที่มติครม.ดังกล่าว เป็นการตอกย้ำและทำให้คนไทยพลัดถิ่น จากเป็นคนไทยดั้งเดิมต้องกลายเป็นคนต่างด้าว โดยต้องยอมรับเป็นคนพม่าก่อน แล้วค่อยแปลงสัญชาติเป็นไทยในภายหลัง


 


ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกับความรู้สึกของพวกเขาอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับหญิงคนหนึ่งที่กล่าวด้วยน้ำเสียงน้อยใจว่า "ให้ฉันตาย ฉันก็ขอตายแบบไม่มีสัญชาติ ดีกว่าต้องยอมรับว่ามีสัญชาติพม่า ทั้งๆ ที่ฉันเป็นคนไทย บรรพบุรุษเป็นคนไทย"


 


"การแปลงสัญชาติ เหมือนการตัดรากเหง้าของพวกเรา เพราะต้องยอมรับว่าสัญชาติพม่า ทั้งๆ ที่เมื่อสืบสาวย้อนไปบรรพบุรุษของเราเป็นไทย"


 


มีการวิเคราะห์กันว่า หากมีการยอมรับ มติครม.18 ม.ค.2548 และได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ แล้ว ใช่ว่าจะเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ แต่ในความเป็นจริงนอกจากการแปลงสัญชาติจะทำให้เสียสิทธิบางประการ เช่น สิทธิทางการเมืองอีกด้วย


 


อย่างไรก็ตาม ก็มีการพยายามเสนอทางออกเพื่อความสมานฉันท์ คือการมีทางเลือกให้ภาคประชาชน ซึ่งในทางกฎหมายอาจเป็นไปได้โดยการเสนอขอ "พระราชบัญญัติคืนสัญชาติไทยให้บรรพบุรุษของคนไทยพลัดถิ่น"เหล่านี้


 


แต่มาจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหานี้แต่อย่างใด หนำซ้ำล่าสุดยังถูกเจ้าหน้าที่ให้สวมป้ายคนไทยพลัดถิ่นห้อยคอ เพื่อตอกย้ำการมีอคติอย่างเห็นได้อย่างเด่นชัด


 



 



ภาพจากแฟ้มภาพ ไทยพลัดถิ่น: www.thaipladthin.org


 


ย้ำปัญหาไทยพลัดถิ่นเป็นความผิดพลาดในอดีต


รัฐไทยยังมีอคติมองคนไทยพลัดถิ่นเป็นภัยต่อความมั่นคง


 


"ภควินทร์ แสงคม" ผู้ประสานงานโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ที่ดูแลและให้การช่วยเหลือกลุ่มชุมชนไทยพลัดถิ่นนี้ ได้กล่าวถึงมุมมองในด้านปัญหาของไทยพลัดถิ่นในสังคมไทยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เพราะกลุ่มคนที่มีอำนาจยังมีมุมมองต่อคนกลุ่มนี้ว่า เป็นกลุ่มที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และควบคุมได้ยาก แต่หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์และทำความเข้าใจกับมัน และมองในมุมมองของความเป็นมนุษย์ที่จะต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องกิน ต้องอยู่ ต้องดำเนินชีวิต สังคมคงต้องยอมรับประวัติศาสตร์ และความผิดพลาดในอดีต


 


"ปัญหาไทยพลัดถิ่นเป็นความผิดพลาดในอดีต ที่ใช้การแบ่งเส้นเขตแดนตามสภาพภูมิศาสตร์ แต่ไม่ได้คำนึงถึงการตั้งถิ่นฐาน กลุ่มคน และความเป็นมนุษย์ ฉะนั้น หากสังคมปัจจุบันยอมรับความผิดพลาดในอดีต โดยการยกเลิกกฎหมายหรือคำสั่งต่างๆ ที่ผ่านมา หันมาพิจารณาประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง มองสิทธิของความเป็นมนุษย์ ก็สามารถผ่อนคลายปัญหาและแก้ปัญหาได้ในที่สุด" ภควินทร์ กล่าว


 


 


รวมพลังจัดงาน "5 ปี เครือข่ายฯ คนไทยคืนถิ่น" 28-29 ต.ค.นี้ที่ระนอง


เตรียมถก "คนไทยพลัดถิ่นคือใคร...ทำไมต้องคืนถิ่น"


 


อย่างไรก็ตาม คนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้ นอกจากพวกเขาจะรวมกลุ่มกันเป็น "เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์" เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของตนเองแล้ว คนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้ก็ได้พยายามแสดงพลังในการจัดทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับสังคมภายนอกในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ การพัฒนาเมืองตามโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ จัดตั้งเครือข่ายเยาวชนรักษ์เมืองระนองและอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับจากสังคมในการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีและการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่นจากรัฐบาล


ล่าสุด จะมีการจัดงานครบรอบ "5 ปี เครือข่ายฯ คนไทยคืนถิ่น" ในระหว่างวันที่ 28-29 ต.ค. นี้


ณ โรงยิมเนเซี่ยม สนามกีฬาจังหวัดระนอง อ.เมือง จ.ระนอง เพื่อร่วมกันสรุปบทเรียนและเสนอทางออกร่วมกันอีกครั้ง


 


โดยในวันแรกของงาน จะมีเวทีเสวนาหัวข้อ "คนไทยพลัดถิ่นคือใคร...ทำไมต้องคืนถิ่น" โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง, ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสืบเนื่องจากพื้นที่ธรณีพิบัติ 6 จังหวัด, นางปรีดา คงแป้น คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสืบเนื่องจากพื้นที่ธรณีพิบัติ 6 จังหวัด, ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), ดร.ฐิรวุฒิ เสนาคำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และตัวแทนชาวบ้านคนไทยพลัดถิ่นเข้าร่วมเวทีดังกล่าว


 







 


ข้อเสนอของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ต้องการเรียกร้องต่อรัฐบาล


• รัฐบาลต้องยกเลิกมติครม. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2519 และ 18 มกราคม 2548 ที่เป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยพลัดถิ่นที่เป็นคนไทยต้องกลายเป็นคนต่างด้าว
• ขอให้รัฐบาลคืนสัญชาติให้แก่เหล่าคนไทยพลัดถิ่นโดยใช้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ประเพณีและวัฒนธรรม
• ให้แต่งตั้งคณะกรรมการ การคืนสัญชาติ โดยประกอบด้วย นักวิชาการ สาขากฎหมาย สิทธิมนุษยชน นักประวัติศาสตร์ และเป็นคนที่สังคมยอมรับ
• ให้ยกเลิกการจับกุมคนไทยพลัดถิ่น เพราะไทยพลัดถิ่นเป็นคนไทย ที่มีทุกอย่างเป็นไทย แต่เพียงแค่ไม่มีบัตรประชาชนเท่านั้น
• ให้สิทธิในการศึกษา การรักษาพยาบาล การได้รับการคุ้มครองทางด้านกฎหมาย การครอบครองทรัพย์สิน การแจ้งเกิด-แจ้งตาย ที่เป็นสิทธิโดยทั่วไปที่คนไทยควรได้รับ


 


 







กำหนดการ


งาน "5 ปี เครือข่ายฯ คนไทยคืนถิ่น"


28-29 ตุลาคม 2550


ณ โรงยิมเนเซี่ยม สนามกีฬาจังหวัดระนอง อ.เมือง จ.ระนอง


 


วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม 2550


 


08.30 - 09.00 น. ลงทะเบียนผู้เข้าร่วมงาน


ชมรำวงโบราณคนไทยสิงขร จากชุมชนบ้านหนองกลางและบ้านหินเทิน


09.00 - 09.15 น. ผู้แทนเครือข่ายฯ กล่าวรายงานต่อประธานในพิธี


09.15 - 09.30 น. ประธานกล่าวเปิดงาน โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง


09.30 - 12.00 น. เวทีเสวนาหัวข้อ "คนไทยพลัดถิ่นคือใคร...ทำไมต้องคืนถิ่น"


โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง


ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์


พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสืบเนื่องจากพื้นที่ธรณีพิบัติ 6 จังหวัด


นางปรีดา คงแป้น คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสืบเนื่องจากพื้นที่ธรณีพิบัติ 6 จังหวัด


ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)


ดร.ฐิรวุฒิ เสนาคำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


นายภควินท์ แสงคง ผู้ประสานงานเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพรประจวบคีรีขันธ์


นางพิชยา แก้วขาว โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่


นายสุทิน กิ่งแก้ว ประธานเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์


นายถนอม ชูแก้ว ตัวแทนเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์


นางรสิตา ซุยยัง ตัวแทนเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์


น.ส.สุภาพร ศรีสง่า ตัวแทนเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์


ด.ญ.นิสาชล ชูแก้ว ตัวแทนเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์


12.00 - 13.00 น. รับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน


13.00 - 13.30 น. จัดขบวนรณรงค์หน้าบริเวณงาน


13.30 - 15.30 น. เดินรณรงค์รอบเมืองระนองถึงหน้าศาลากลางจังหวัดระนอง  


15.30 - 16.00 น. อ่านคำแถลงการณ์และยื่นหนังสือเครือข่ายฯ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง


16.00 - 17.00 น. ขบวนเดินรณรงค์กลับสู่บริเวณงาน


19.00 - 24.00 น. ชมการแสดงพื้นถิ่นอันดามัน


"รำวงโบราณ" ชุมชนหนองกลาง จ.ประจวบคีรีขันธ์


"กาหยง" ศิลปะป้องกันตัวคนไทยมุสลิม ชุมชนเกาะสินไห จ.ระนอง


หนังตะลุงพลัดถิ่น ชุมชนบ้านทุ่งพุฒิ จ.ประจวบคีรีขันธ์


มโนราห์คนไทยสิงขร ชุมชนบ้านหินเทิน จ.ประจวบคีรีขันธ์


ลิเกป่า ชุมชนบ้านหินช้าง จ.ระนอง


วงดนตรีเพื่อชีวิต "วงน้ำแดง" และ "วงฅนระวิ"


 


วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2550


 


08.00 - 09.00 น. ลงทะเบียนผู้เข้าร่วมงาน


09.00 - 12.00 น. พิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม สวดขอพร ดูอาร์


พิธีกรรมทางศาสนาพุทธ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา


พิธีรับขวัญกลับสู่บ้านเกิด โดยชุมชนมอร์แกนเกาะเหลา เพื่อต้อนรับมอร์แกนที่ถูก ปล่อยตัวจากการจับกุมที่ระเทศอินเดีย


พิธีมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนในเครือข่ายฯ โดยพระอาจารย์จำเนียร ศิลเสฎโฐ เจ้าอาวาสวัดถ้ำเสือ จ.กระบี่ และกล่าวให้โอวาท แก่ผู้ที่มาร่วมงาน


ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง


นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง


หน่วยงานอื่นๆ (รอประสานงาน)


12.00 - 12.30 น. ประธานกล่าวปิดงาน


12.30 - 13.30 น. รับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน


 


หมายเหตุ        - เลือกชม เลือกซื้อสินค้าพื้นเมืองอาหารพื้นถิ่น ซุ้มนิทรรศการเครือข่ายฯ ซุ้มภูมิปัญญา และลานกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน ตลอดงาน


                     - รับบริจาคโลหิตตลอดงาน


 


ข้อมูลประกอบ


 


ชุมชนศึกษา :กรณีคนไทยพลัดถิ่น,ทีมวิจัยปัญหาสถานะและสิทธิในพื้นที่สึนามิhttp://gotoknow.org/blog/thai-in-burma/54845


สรินยา กิจประยูร,ความวังเวงของคนไทยพลัดถิ่น, 27 พ.ค. 2550


อธิคม ภูเก้าล้วน,"คนไทยพลัดถิ่น" บาดแผลที่ยังรอการรักษา" สถาบันข่าวอิศรา, 22 สิงหาคม 2550


ศึกภายในพม่ากระฉอก ระนองสั่งทำบัตรห้อยคอ"ไทยพลัดถิ่น, มติชน 15 ต.ค. 2550


 


อ่านข่าวต่อเนื่อง


"คนไทยพลัดถิ่น" ชะตากรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ ต้นตอปัญหาเกิดจากรัฐไทย - พม่า หรือนักล่าอาณานิคม!? (1) ประชาไท, 15 ตุลาคม 2550


 


"คนไทยพลัดถิ่น" ชะตากรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ ต้นตอปัญหาเกิดจากรัฐไทย - พม่า หรือนักล่าอาณานิคม!? (2) ประชาไท, 18 ตุลาคม 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net