บทความธเนศวร์ เจริญเมือง: คารวะ อาลัย นายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัย: การสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของท้องถิ่น

โดย ธเนศวร์ เจริญเมือง

ชื่อบทความเดิม: คารวะ อาลัย นายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัย: การสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของท้องถิ่น

ภาพหน้าแรก: นพ.ชาญชัย ศิลปอวยชัย ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ อบจ.แพร่

                                                                                     

 

 

"การดูแลเอาใจใส่ในชีวิตและความสุขของประชาชน, ไม่ใช่การทำลาย

เป็นเป้าหมายข้อแรกและข้อเดียวที่ชอบธรรมของการปกครองที่ดี."

Thomas Jefferson, speech, 31 March 1809 1

 

 

"ตั้งแต่มีการประดิษฐ์ปืนขึ้นมา ข้าพเจ้าได้แต่เฝ้าหวังว่าผู้คนจำนวนน้อยที่สุด

ที่จะค้นพบความลับบางอย่างที่จะบอกหนทางลัดในการทำลายล้างมนุษยชาติ,

เข่นฆ่าผู้คนและทำลายชาติทั้งมวล."

Montesquieu, Lettres Persanes, 1721 2

 

 

"การฆาตกรรมไม่เคยเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของโลกได้สักครั้ง."                           

Benjamin Disraeli, 1865 3

 

 

การสูญเสียของชาวแพร่และวงการปกครองท้องถิ่นทั้งประเทศ

 

การเสียชีวิตของนายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัยเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2550 ขณะกำลังวิ่งออกกำลังกายที่สนามกีฬากลางเมืองแพร่เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ไม่เฉพาะสำหรับครอบครัวศิลปอวยชัยและชาวเมืองแพร่ แต่เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของการปกครองท้องถิ่นไทย นับตั้งแต่การผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนับถึงเวลานี้ได้ 10 ปีพอดี ทั้งนี้ก็เพราะนายก อบจ. ผู้นี้คือนายกอบจ. ที่ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศนี้นับตั้งแต่เรามีองค์การบริหารงานส่วนจังหวัด และเรามีการเลือกตั้งนายก อบจ. โดยตรงจากประชาชนทั่วทั้งจังหวัดในวันที่ 14 มีนาคม 2547 พร้อมกันทั่วประเทศ

 

นายแพทย์ชาญชัยจบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยม เป็นนักเรียนตัวอย่างเพราะดีเด่นทั้งการเรียนและการทำกิจกรรมตลอดจนมีมนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศ ต่อจากนั้น ก็จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้น จึงเดินทางกลับบ้านเกิด ไปทำงานเป็นหมอรับใช้แผ่นดินแม่จนได้ก้าวเข้าสู่วงการเมืองเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว

 

จากการเป็นนักเรียนที่ดียอดเยี่ยม นักศึกษาแพทย์ที่ยอดเยี่ยม หมอที่ยอดเยี่ยม จึงไม่น่าแปลกใจว่าเขาจะเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เป็นแบบอย่าง และเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของประเทศ

 

นี่คือลูกที่ดีเลิศของคนแพร่ เป็นคนเมืองแป้ที่เปรียบเสมือนเพชรเม็ดงามในท้องถิ่น เป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นที่ยืนเทียบชั้นกับนักการเมืองระดับชาติได้อย่างสง่างาม ทุกครั้งที่เขาขึ้นพูดในเวทีระดับชาติ เขาคือความภาคภูมิใจของท้องถิ่น

 

ผมไม่ใช่คนเมืองแป้ แต่ทุกครั้งที่ผมได้ฟังเขาพูด ได้เห็นท่วงทำนองการทำงานและการพบปะผู้คน และได้เห็นความพยายามของเขาในการปรับปรุงงานบริการประชาชนและการเสริมสร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ผมรู้สึกชื่นชมคนเมืองแป้คนนี้ และรู้สึกภาคภูมิใจที่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้น ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ทุ่มเทและมุ่งมั่นทำงาน เพื่อท้องถิ่นจะได้ไม่ถูกคนในส่วนกลางจำนวนไม่น้อย และคนท้องถิ่นที่มีทัศนะนิยมส่วนกลาง (Centralism) ดูถูกดูแคลน

 

ในสถานการณ์ของสังคมไทยที่พลังท้องถิ่นยังไม่สามารถผลักดันให้ประเทศนี้มองเห็นความจำเป็นของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงจากประชาชน นายแพทย์ชาญชัย ในฐานะนายก อบจ. คนแรกของจังหวัดนั้นคือคนหนึ่งของประเทศนี้ที่ทำให้คนในจังหวัดเห็นว่า เขาเป็นแบบอย่างของผู้ว่าฯ ที่จะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในวันข้างหน้า

 

นายแพทย์ชาญชัยเป็นคนสุภาพ อ่อนน้อม แม้เขาจะเป็นคนพื้นที่ ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจากประชาชนในการบริหารเพื่อคนทั้งจังหวัด แต่เขาก็เคารพและให้เกียรติผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นคนของส่วนกลาง และทำงานในท้องถิ่นได้ไม่นาน

 

การเลือกตั้งนายก อบจ. โดยตรงจากประชาชนเพื่อให้บุคคลผู้นั้นเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของท้องถิ่นทั่วทั้งจังหวัดในสังคมไทยปัจจุบัน มีปัญหาที่ต้องเผชิญอย่างน้อยถึง 5 ประการ คือ

 

หนึ่ง ท้องถิ่นขาดคนที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบการบริหารท้องถิ่นตลอดจนขาดประสบการณ์ในการทำงานดังกล่าว ทั้งนี้เพราะรัฐไทยรวมศูนย์อำนาจอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2450 หรือ 100 ปีที่แล้ว คนท้องถิ่นในสมัยก่อนเป็นข้าราชการก็ไม่อาจเป็นปลัดอำเภอหรือสูงกว่านั้นได้ อยากทำงานพัฒนาก็ต้องถูกโยกย้ายไปตามคำสั่งเป็นประจำ มีคำสั่งแต่ละครั้งจากส่วนกลางแม้กระทั่งปัจจุบันก็มีแต่สั่งกับสั่ง ไม่เห็นท้องถิ่นในสายตา อยากจะพูด ก็ไม่กล้า เพราะกลัวถูกไล่ออก หรือหมดอนาคต งานบริหารอำเภอและจังหวัดเป็นของข้าราชการแต่งตั้งที่ไปๆ มาๆ อยู่ปี 2 ปีก็ย้าย คนท้องถิ่นแม้จะรู้ปัญหาเต็มอก ก็ได้แต่ยืนดู ดีที่สุดก็ได้เป็น ส.ส. นั่งในสภา แต่ไม่มีการทำงานรูปธรรม ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีสถาบันใดส่งเสริมคนท้องถิ่นอย่างจริงจัง

 

การเลือกตั้งนายก อบจ. เป็นของใหม่ เป็นเรื่องที่ต้องอดทนและให้เวลา เป็นเรื่องของการสร้างและให้โอกาสแก่คนท้องถิ่น ซึ่งแน่นอน ภารกิจแบบนี้ไม่เคยเป็นงานด่วนของส่วนกลาง

 

สังคมไทยล้าหลังญี่ปุ่นในด้านการปกครองท้องถิ่นถึง 60 ปีเพราะญี่ปุ่นไม่มีระบบบริหารส่วนภูมิภาค มีแต่จังหวัด เทศบาล และอบต. ซึ่งทั้งหมดเป็นการปกครองท้องถิ่น ญี่ปุ่นมีระบบผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งจังหวัดทั่วประเทศตั้งแต่พ.ศ. 2490 คนญี่ปุ่นมีประสบการณ์บริหารท้องถิ่นของตนมาแล้วถึง 60 ปี ไทยเราเพิ่งเริ่มได้ไม่กี่ปี

 

สอง เป็นการเริ่มต้นที่มีปัญหามากเพราะอบจ. มีภารกิจที่จำกัด เนื่องจากที่ผ่านมา งานทั้งหลายเป็นของหน่วยราชการส่วนภูมิภาค หลายปีมานี้ มีการโอนภารกิจส่วนหนึ่งให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) แต่หลายอย่างก็ยังไม่มีการโอนย้าย ข้าราชการส่วนไม่น้อยคุ้นเคยกับระบบราชการเช้าชามเย็นชาม เจ้านายอยู่ไกลถึงเมืองหลวง สามารถเข้ากับระบบเช้าชามเย็นชามได้ดี จึงรังเกียจที่จะไปอยู่กับท้องถิ่นเพราะต้องทำงานมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น ดังนั้น ระบบอบจ. กับระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคในปัจจุบันจึงเปรียบเสมือนเสือ 2 ตัวในถ้ำเดียวกัน ฝ่ายแรกเป็นเสือตัวใหม่ ฝ่ายหลังเป็นเสือตัวเก่าซึ่งมีเขี้ยวเล็บและผลประโยชน์มากมาย หากแบ่งงานให้เสือตัวใหม่ ตนเองก็เกรงจะสูญเสียอำนาจในอนาคต แต่ระบบเสือ 2 ตัวทำให้ท้องถิ่นกลับเป็นฝ่ายเสียเพราะประชาชนไม่ชัดเจนว่าใคร หน่วยงานใดดูแลรับผิดชอบปัญหาท้องถิ่นส่วนใด เป็นงานของส่วนภูมิภาคหรืออบจ. หรืออบต. เมื่อไม่รู้ ไม่ชัดเจน ประชาชนก็เลยไม่รู้จะกล่าวโทษใคร ปัญหาที่คั่งค้างจึงแก้ไขล่าช้า หรือปล่อยไว้เป็นปัญหายืดเยื้อตลอดมา

 

สาม หลายปีมานี้ น่าสังเกตว่าส่วนกลางต้องการส่งเสริมส่วนภูมิภาคให้เข้มแข็งกว่าเดิม (แทนที่จะเพิ่มงบประมาณ, บทบาทและภารกิจของ อปท. และค่อยๆ ลดบทบาทของส่วนภูมิภาคลงไป) มีการเพิ่มงบให้แก่ผู้ว่าฯ เพิ่มจำนวนอำเภอขึ้นไปอีก และเชื่องช้าในการลดภารกิจของส่วนภูมิภาค และการถ่ายโอนภารกิจให้แก่ อปท. สภาพเช่นนี้ก็คือ ความพยายามเหนี่ยวรั้งระบบการบริหารส่วนภูมิภาคต่อไปให้นานๆ และไม่สนับสนุนส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอย่างจริงจัง

 

สี่ ความสลับซับซ้อนของระบบการบริหารในสังคมไทย (โดยเฉพาะการมีเสือหลายตัวในถ้ำเดียวกัน) เป็นอาการของโรคเรื้อรังอย่างหนึ่งในประเทศที่รวมศูนย์อำนาจมานาน ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีโรคร้ายเช่นนี้ กระทรวงมหาดไทยมักอ้างเสมอว่าประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว มีพระ มหากษัตริย์ ผู้ว่าฯต้องมาจากการแต่งตั้ง ญี่ปุ่นก็เป็นรัฐเดี่ยว และมีระบบจักรพรรดิ แต่ทำไมเขาจึงมีระบบผู้ว่าฯเลือกตั้งมาแล้วถึง 60 ปี และท้องถิ่นเข้มแข็งและเจริญก้าวหน้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

ความซับซ้อนยิ่งมากขึ้นเมื่อมีระบบการเลือกตั้งส.ส. และส.ว. ที่ซับซ้อน การเป็นนายก อบจ.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยคนทั้งจังหวัดหมายถึงการต้องไปอาศัยและสัมพันธ์กับประชาชนทุกระดับและทุกวงการของจังหวัด ไหนจะต้องหาเสียงสนับสนุนจากอบต., เทศบาล, กำนันผู้ใหญ่บ้าน และข้าราชการส่วนภูมิภาคที่หลายส่วนเหล่านี้มีความขัดแย้งโดยธรรมชาติกับ อบจ. หรือสังกัดกลุ่มหรือพรรคการเมืองกระทั่งส่วนราชการคนละฝ่าย คนละขั้ว ฯลฯ

 

และ ห้า หลายปีก่อน สังคมไทยเคยชื่นชมระบบหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลมาจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะจังหวัดโออิตะ เราได้เพียง ผล อันโดดเด่นของเขามาเลียนแบบ แต่เราไม่ได้นำ เหตุ ของเขามาศึกษาวิเคราะห์และเจริญรอยตาม นั่นคือ ระบบผู้ว่าฯเลือกตั้งที่ทำให้ท้องถิ่นของญี่ปุ่นเข้มแข็ง สามารถจัดการให้บ้านเมืองน่าอยู่ทุกหนทุกแห่งทุกเมืองในประเทศของเขา

 

ท้องถิ่นและจังหวัดต่างๆ ในขณะนี้ยังต้องเผชิญกับกระแสโลกานุวัตร กระแสทุนจากชายแดน กระทั่งแม่น้ำนานาชาติที่เริ่มก่อปัญหา ภาวะโลกร้อน ร้านค้าขนาดใหญ่ยักษ์ที่เข้ามาทำร้ายพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่เป็นคนท้องถิ่นทั้งประเทศ หลายจังหวัดยังเผชิญสถาบันอุดมศึกษาที่หิวกระหายเปิดโครงการปริญญาโท-เอกแผ่ขยายออกไปข้ามจังหวัดราวกับประเทศล่าอาณานิคม เป็นการปั๊มปริญญาออกมา เน้นผลิตปริญญาชนในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ ถามว่าปริญญาเหล่านี้ตอบปัญหาต่างๆ ของท้องถิ่นได้จริง หรือเพียงแค่โฆษณาว่าเป็นสถาบันเพื่อคนท้องถิ่น ฯลฯ

 

ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ผมได้ทราบว่านายแพทย์ชาญชัยขึ้นล่องๆ กรุงเทพฯ เพื่อร่วมผลักดันการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ท้องถิ่นเข้มแข็งมากขึ้น ผมทราบดีว่าเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐที่ทุ่มเทสร้างความเจริญทุกอย่างไว้ที่เมืองเชียงใหม่ ที่บัดนี้มีสถาบันอุดมศึกษาถึง 10 กว่าแห่ง เป็นศูนย์กลางทุกด้านของภาคเหนือ แต่จังหวัดแพร่อยู่ห่างออกไปเพียง 200 กม. กลับแทบไม่มีอะไรเลย นักเรียนดีเด่นหรือไม่ดีเด่นของแพร่แห่กันไปที่เรียนที่เชียงใหม่ พิษณุโลกหรือกรุงเทพฯกันหมด เขาจึงทุ่มเทพัฒนาระบบการศึกษา ส่งเสริมการเรียนระดับมัธยม จะพัฒนาโรงเรียนที่ อบจ. ดูแลให้ครูของกระทรวงศึกษาฯ ได้รู้ว่าคนท้องถิ่นก็ทำได้ และจะทำให้ดู ฯลฯ

 

เขา ฝันที่จะสร้างมหาวิทยาลัยของชาวแพร่ให้เกิดขึ้นสักแห่งริมฝั่งน้ำยม เขาขอความช่วยเหลือจากจุฬาลงกรณ์ฯ และร่วมมือกับราชภัฏอุตรดิตถ์เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งลูกหลานคนเมืองแพร่จะไม่ต้องจากบ้านแต่เยาว์วัยไปเรียนหนังสือในต่างจังหวัด เขาสร้างสนามกีฬาและส่งเสริมการกีฬาให้เยาวชนและผู้ใหญ่ได้ดูแลพัฒนาร่างกายในภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาทั่วโลก นอกจากนี้ เขายังได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการเกษตร การส่งเสริมอาชีพ การตลาด ปัญหาป่าไม้ และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาน้ำใน อบต. ต่างๆ

            ก็เพราะการปกครองท้องถิ่นที่อ่อนแอและถูกส่วนกลางละเลยมานานเกือบศตวรรษ ระบบคมนาคมของประเทศจึงถูกครอบงำด้วยระบบทางหลวงและรถยนต์ ทั้งๆ ที่ประเทศเราขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ทางรถไฟที่ควรจะก้าวหน้า มีรถไฟวิ่งต่อจากสถานีเด่นชัยไปถึงงาว-พะเยา-เชียงราย-เชียงแสน-แม่สาย-ฝาง-เชียงใหม่ ฯลฯ บัดนี้เวลาล่วงไป 50 กว่าปี ทุกอย่างยังคงหยุดนิ่ง มีแต่รถไฟฟ้าที่กรุงเทพฯ ที่ใช้งบนับหมื่นๆ ล้านที่ก้าวรุดหน้า ก็เพราะทุกอย่างตัดสินที่ส่วนกลาง

           

การรถไฟของไทยที่เริ่มต้นก่อนใครเพื่อนในเอเชียในสมัยรัชกาลที่ 5 บัดนี้กลับล้าหลังที่สุดในทวีป ยกเว้นเพียงประเทศเพื่อนบ้านเพราะเขายังไม่มีรถไฟ

 

ท้องถิ่นต้องการคนที่มีฝีมือและจะต้องอยู่นานๆ ต้องการคนท้องถิ่นที่รักบ้านเกิดเมืองนอนของตน ทุ่มเททำงานเพื่อคนในจังหวัดของตน และต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 

100 ปีมานี้ ไม่ว่าจังหวัดไหนจะมีข้าราชการที่ว่ากันว่าเก่งเพียงใด ก็มีแต่คำชม และคำคุย เพราะที่เห็นมาตลอด ก็คือเห็นเขาคอยรับนายที่สนามบิน เป็นประธานเปิดงานต่างๆ ในจังหวัด หรือเห็นเดินทางไปประชุมที่กรุงเทพฯบ่อยๆ แล้วต่อจากนั้น อีก 1-2 ปีเขาก็ย้ายไปกินตำแหน่งใหญ่ที่เมืองหลวง ส่วนปัญหาที่มีอยู่ในจังหวัด นอกจากจะไม่ได้แก้ กลับกองสุมใหญ่ยิ่งขึ้นๆ

 

000

 

 

8 นัดที่หมายดับฝันของคนเมืองแพร่

           

ทำไมต้องฆ่านายแพทย์ชาญชัย ทำไมต้องรัวถึง 8 นัด โกรธแค้นกันมากี่สิบชาติ

           

ด้วยระบบรวมศูนย์อำนาจที่มีมานานในสังคมนี้ เราจึงได้อ่านแต่ข่าวที่รายงานหน้าหนึ่งจากหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง ที่รายงานว่าเกิดอะไรขึ้นในเช้าวันนั้น และตำรวจวิเคราะห์ความขัดแย้งไว้กี่ทาง พูดถึงธุรกิจหลายอย่างของหมอ และปมชู้สาวที่มีหรือไม่อาจมี

 

ก็เพราะระบบรวมศูนย์อำนาจเช่นนี้ ระบบข่าวสารก็รวมศูนย์เช่นกัน เราจึงไม่มีและไม่เห็นหนังสือพิมพ์หรือสถานีโทรทัศน์ของภาคเหนือโดยเฉพาะของเมืองแพร่ที่รินน้ำตาออกมา และโศกเศร้าอย่างยิ่งกับการจากไปครั้งนี้

 

ระบบรวมศูนย์ข่าวสารไว้ที่กรุงเทพฯ ที่ทำให้ข่าวทุกชิ้นต้องกระชับ ขาดรายละเอียด สังคมนี้จึงไม่รู้ว่าคนเมืองแพร่ร้องไห้เกือบจะทั้งจังหวัด ร้องไห้ให้กับการจากไปของคนท้องถิ่นคนหนึ่งที่ทุ่มเททำงานเพื่อท้องถิ่นมา 10 ปีพอดีในฐานะนายก อบจ.

 

ถามว่ามีคนเมืองเหนือกี่คนที่มีความรู้ความสามารถและฐานะเช่นเขาและก้าวลงมาทำงานให้ท้องถิ่น ถามว่ามีนายก อบจ. ที่โดดเด่นและทุ่มเททำงานสร้างจังหวัดเช่นนายแพทย์ชาญชัยกี่คน แน่นอน ในภาคเหนือและในประเทศนี้ มีคนเมืองแบบนี้ และนายก อบจ. เช่นนี้ไม่กี่คน

 

การจากไปของนายแพทย์ชาญชัยจึงเป็นการสูญเสียที่ใหญ่หลวง สำหรับเมืองแพร่, สำหรับภาคเหนือ และต่อวงการปกครองท้องถิ่นทั้งประเทศ. สังคมไทยต้องสูญเสียบุคลากรท้องถิ่นที่ดีเด่นไปอีกหนึ่งคน

 

ยิ่งในยามที่การเมืองระดับชาติไร้ความหวัง เล่นเกมผสมพรรคราวกับเด็กเล่นขายขนมครก การเมืองการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งคือรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยระดับชาติในอนาคต

 

แต่นายแพทย์ชาญชัยเป็นคนดีพร้อม ทำอะไรไม่ผิดเลยใช่ไหม เขาเป็นเทวดาหรือ เปล่า เขาก็เป็นปุถุชนคนหนึ่งที่ย่อมมีจุดอ่อน ซึ่งก็ต้องสำรวจค้นหา และหากพบว่าเป็นความผิดในการทำงานในฐานะนายก อบจ. หรืออย่างอื่น ก็ฟ้องร้องขึ้นศาล นำตัวคนกระทำผิดไปลงโทษ ฯลฯ

 

000

 

 

อย่าให้ความตายของนายแพทย์ชาญชัยสูญเปล่า

           

มีคนเขียนในเน็ตว่า "ดี ตายเสียได้ ชอบสร้างปัญหาดีนัก" ฯลฯ อีกเน็ตหนึ่งก็บอกว่า "มีเมียน้อยที่อำเภอหนึ่ง" ฯลฯ คำถามมีว่า ก็ถ้าทำอะไรผิดไว้ ทำไมต้องตัดสินปัญหาเช่นนี้ คิดหรือว่าความรุนแรงจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคมได้

 

การใช้รถถัง ปืนและกำลังทหารเต็มอัตราศึกขับไล่รัฐบาลออกไป ทำลายรัฐธรรมนูญ ทำลายระบบการเลือกตั้ง และทำลายพรรคการเมือง ฯลฯ แล้วเรียกหาความสมานฉันท์ จนบัดนี้ บ้านเมืองก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสมานฉันท์กันอย่างไร และยังคิดอีกหรือว่าต่อไปจะแก้ปัญหาได้

 

การยิงคนที่เป็นเป้าหมายหลายๆ นัด แปลว่าอะไร ให้คนทั้งจังหวัดรับรู้ความเคียดแค้นนั้น หรือให้รู้ว่า "อย่าทำแบบนั้นนะ" "อย่าเลือกพรรคนั้นนะ" อย่างนั้นหรือ หรือว่าต้องการบอกอย่างอื่น ฯลฯ

 

การออกมาเคลื่อนไหวของสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย และการเคลื่อนไหวของกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาปรับปรุงมาตรการคุ้มครองรักษาความปลอดภัย และเร่งตามจับคนร้าย กระทั่งจะพิจารณาทบทวนงบประมาณของ อปท. ที่สนับสนุนตำรวจภูธรในแต่ละจังหวัดถือเป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง แต่ก็ยังไม่พอ

 

สังคมไทยต้องยกระดับวัฒนธรรมทางการเมืองเพื่อให้คนไทยทุกระดับคัดค้านความรุนแรงทุกชนิด ให้ทุกคนเห็นว่าไม่ควรตัดสินปัญหาใดๆ ด้วยความรุนแรง แต่จะต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยกฎกติกาที่มีอยู่ หากเห็นว่ากฎกติกานั้นมีปัญหา ก็รณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎกติกาเหล่านั้น

 

สมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย, สันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, สมาคม อบต. แห่งประเทศไทย ควรใช้โอกาสนี้จัดการประชุมสัมมนานำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่าง ส่งเสริมคุณธรรมที่คนไทยควรให้ความสำคัญและนำไปปฏิบัติ มิใช่รู้ไว้เพื่อการสอบหรือเพียงเพื่อใช้ในการบรรยาย ได้แก่ การเสียสละเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ความเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่เอาเปรียบสังคม ไม่กดขี่ข่มเหงผู้อื่น ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความซื่อสัตย์ ความอดกลั้น ความสุภาพ ความยุติธรรม ความเมตตาปรานี ความกล้าหาญ กล้าที่จะทำดี กล้ารับผิด กล้าพูดความจริงและเป็นตัวของตัวเอง

 

บนเส้นทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นภารกิจอย่างหนึ่งขององค์กรปกครองท้องถิ่น ไม่ควรจะเป็นงานที่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางดังที่ผ่านมา ทำให้ท้องถิ่นต้องรอคอยความช่วยเหลือจากส่วนกลาง ทิศทางของการบริหารงานตำรวจและภารกิจของตำรวจคือ ควรเพิ่มอำนาจและบทบาทด้านนี้ให้แก่ท้องถิ่นเสียที

 

และสำหรับคนเมืองแพร่ ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวศิลปอวยชัย และคนเมืองแพร่ทั้งจังหวัด

 

ท่านจะแปรน้ำตาและความเศร้าโศกครั้งนี้ไปสู่คุณธรรมข้อใด เพื่อมิให้การจากไปของนายแพทย์ชาญชัยต้องสูญเปล่า

 

ให้เกิดบทเรียนครั้งสำคัญว่าคนเมืองแพร่ (และไม่ว่าคนท้องถิ่นจังหวัดไหนของประเทศนี้) ไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เกิดขึ้น รวมพลังกันและลงคะแนนครั้งต่อๆ ไปให้ผู้กระทำผิดรู้ว่าเขาจะต้องได้รับการลงโทษ และการกระทำอันชั่วร้ายเช่นนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก.

 

25 ตุลาคม 2550.

 

เชิงอรรถ

1 Thomas Jefferson, 1743-1826, speech at the Republican Citizens of Washington County, Maryland, quoted in A. Jay, Dictionary of Political Quotations. Oxford: Oxford University Press, 1999 p. 193

2 Montesquieu, Lettres Persanes. (Personal Letters), 1721, quoted in A. Jay, ibid., p. 263

3 Benjamin Disraeli, speech in the House of Commons, May 1, 1865, quoted in A. Jay, ibid., p. 119

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท