"มอญมหาชัย" อคติทางชาติพันธุ์ที่นำมาสู่การละเมิดชีวิตแรงงาน

สำนักข่าวชาวบ้าน

เมื่อวันที่23ต.ค.50 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ สำนักงานสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน สำนักข่าวชาวบ้าน ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ และโครงการก่อตั้งมูลนิธิสื่อสารสาธารณะ จัดเสวนาเรื่อง "อคติทางชาติพันธุ์ละเมิดชีวิตแรงงานมอญพม่ามหาชัย" ขึ้นที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

ตัวแทนคนมอญซึ่งทำงานในพื้นที่สมุทรสาครมานานกว่า 10 ปี กล่าวว่า สาเหตุที่คนมอญหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อพยพเข้ามาในประเทศไทยก็เพราะเพื่อหนีภัยการเมืองและปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่คนมอญรู้สึกแย่ หากถูกเหมารวมว่าเป็นพม่า เพราะแท้จริงแล้วพวกเขาเป็นคนมอญในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งมีคนพม่าเป็นชนชาติหนึ่งในสองร้อยกว่าชนชาติ

 

"คนไทยชอบเหมารวม อย่างเวลาทำบัตรประจำตัวคนต่างด้าว หากคนมอญบอกว่า ตัวเองเป็นคนมอญ เจ้าหน้าที่ก็จะแย้งว่า ไม่มีประเทศมอญ มีแต่ประเทศพม่า... คนไทยชอบมองว่า คนมอญจะมายึดพื้นที่มหาชัย แต่ความจริงถ้าสถานการณ์ในประเทศเราดีขึ้น เราก็อยากจะกลับไป"

 

นางสาวสุกัญญา เบาเนิด เลขาธิการชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ กล่าวว่า แรงงานมอญต่างด้าวในมหาชัยเข้ามาช่วยฟื้นฟูภาษา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ความเป็นมอญในเมืองไทยให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะความเป็นมอญดั้งเดิมกำลังจางหายไป

 

"อย่างตัวอักษรมอญ กลมๆ ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เป็นภาษาพม่านั้น ก็กลับมาเห็นตามป้าย ตามร้านค้า คนมอญดั้งเดิมกับมอญอพยพใหม่ กลับมาสื่อสารกันด้วยภาษามอญอีกครั้งหนึ่ง"

 

เลขาธิการเยาวชนมอญกรุงเทพฯ กล่าวว่า สังคมไทยควรให้ความสำคัญตัวตนของคน งานต่างด้าวในพื้นจังหวัดสมุทรสาครซึ่งไม่ได้มีสำนึกความเป็นพม่า ควรพิจารณาให้เห็นตัวตน วัฒนธรรม ของพวกเขาว่าเป็นอย่างไร 

 

"ภายในรัฐชาติประกอบด้วยหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เมื่อมีแรงงานข้ามชาติเข้ามา ทำไมสังคมกลับมองไม่เห็นความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเขา" สุกัญญา กล่าว

 

รศ.สุริชัย หวันแก้ว สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า การสำนึกในวัฒนธรรมหรือความเป็นรากเหง้าของตนเองนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ในเชิงนโยบายของรัฐกลับมองแบบกรอบเดิมๆ ไม่เข้าใจพรมแดนความหลากหลายทางวัฒนธรรม มองแต่พรมแดนที่ตายตัวในกรอบของความเป็นรัฐชาติ ทำให้นโยบายกับความจริงเกิดช่องว่างขึ้น

 

"นโยบายปัจจุบันที่เป็นอยู่ เป็นหลักเชิงเดี่ยวที่มองเรื่องความมั่นคงของรัฐมากกว่าความมั่นคงของชีวิต ผมมองว่าช่องว่างเหล่านี้จะขัดแย้งขึ้นเรื่อยๆ หากยังไม่สร้างเงื่อนไขในการอยู่ร่วมกัน" รศ.สุริชัย กล่าว

 

ดังนั้นเราคงจะต้องทบทวนกันทุกวงการ เพราะอาจจะไม่ทันกับสถานการณ์จริงที่เกิด ขึ้น และกลายเป็นการส่งเสริมกลไกความเข้าใจผิด ดังนั้นการสื่อสารที่จะทำให้เราเข้าใจความจริง ไม่เข้าใจผิดไปเรื่อยๆ เราต้องยอมรับว่า ความเป็นไทยก็มีพื้นฐานที่มาจากความหลาก หลายในหลายๆส่วน  นำข้อมูลมาคุยกัน และปรับตัวรวมถึงเรียนรู้ไปด้วยกัน ที่สำคัญภาคส่วนต่างๆ ควรจะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน

 

ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความเป็นอัตลักษณ์ และคงความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง ประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐเดี่ยว มองว่า แผ่นดินเป็นของไทยจึงมองไม่เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งสังคม ไทยควรจะยอมรับการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่แยกกันไม่ออกเหล่านี้

 

 การที่กลุ่มคนงานต่างด้าวลุกขึ้นมาค้นหารากเหง้าของตนเองนั้น ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทุกคนต้องการรากเหง้า เพื่อที่จะได้รู้ที่มาของตนเอง ฉะนั้นเรื่องการค้นหารากเหง้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรส่งเสริม เนื่องจากมีผลต่อสภาพจิตใจของเพื่อนมนุษยชาติด้วย

 

 "การค้นหาความเป็นรากเหง้าที่ทำเพื่อเรื่องการท่องเที่ยว ยังทำได้ โดยไม่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์เลย แล้วทำไมจะส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวค้นหารากเหง้าของตนเองไม่ได้" ศ.อมรา กล่าว

 

ดังนั้นกรอบของการมองเรื่องความมั่นคง จะต้องมามองและปรับกระบวนทัศน์กันใหม่  สำหรับในความอคติทางชาติพันธุ์ หรือ การตีตรา ล้วนเป็นปัญหาที่อยู่ในตำราชาติพันธุ์เสมอมา จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรจะช่วยกันทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นน้อยลง นำความคิดเรื่องความหลากหลายมาแทน ที่ความเป็นรัฐเดี่ยว ขยายความคิดเรื่องความแตกต่าง และส่งเสริมการฟื้นฟูความเป็นรากเหง้าของตนเอง

 

ทั้งนี้ หากสังคมไทยยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ แรงงานต่างด้าวหรือคนพลัดถิ่นเหล่านี้เขาก็จะได้ความภาคภูมิใจและมีความสุขมากขึ้น ซึ่งเป็นความจำเป็นของเพื่อนมนุษยชาติ อีกทั้งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นภัยต่อประเทศไทยแต่อย่างใด หากไม่มองเรื่องความมั่นคงแบบตรงไปตรงมาจนเกินไป

 

 อย่างไรก็ดี ช่วงที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรม พยายามส่งเสริมให้จังหวัดหันมาสนใจเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งมีความหลากหลายในตัวเอง รวมทั้งเป็นสายใยที่เชื่อมร้อยชุมชนเข้าด้วยกัน 

 

 นายอดิศร เกิดมงคล รองประธานมูลนิธิสันติวิธี เสนอว่า ควรสร้างการเรียนรู้ซึ่งกันและกันก่อน ระหว่างกลุ่มแรงงานต่างด้าวหรือคนพลัดถิ่นกับสังคมไทย และเลิกผลิตซ้ำวิธีคิดแบบ เดิมๆ ที่มีความอติทางชาติพันธุ์และการตีตราต่างๆ ผสมอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท