Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานคณะกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) นายชัยอนันต์ สมุทรวณิช ศ.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา และนายสรรเสริญ มิลินทสูตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เปิดแถลงข่าวการควบรวมศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI)


 


สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) เป็นการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาวาระสำคัญ โดยมีมติเห็นชอบการยุบรวมศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC-ทีซีดีซี) เข้ากับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI) เป็นศูนย์การเรียนรู้และสร้างสรรค์แห่งชาติ (Thailand Discovery and Creative Center) และยังมีมติให้ควบรวมสถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (NBL) กับศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ (NGT) เป็น สถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (IGIL)


 


ที่ประชุมยังมีมติให้ปลดนายไชยยง รัตนอังกูร ผู้อำนวยการทีซีดีซี และยุบเลิกคณะกรรมการทีซีดีซี ให้เหลือเพียงคณะกรรมการของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติชุดเดียว เห็นชอบตั้งนายชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นประธานกรรมการ และให้นายสุรพล วิรุฬห์รักษ์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ที่จะหมดวาระในสิ้น เดือน ต.ค. 2550 กลับมาเป็นผู้อำนวยการของหน่วยงานที่ควบรวมใหม่


 


โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินรายงานการตรวจสอบประเมินผลการดำเนินงานของ สบร. และหน่วยงานเฉพาะด้าน พบปัญหาการใช้จ่ายเงินไม่ประหยัดและไม่คุ้มค่า การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ การกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้บริหารไม่เหมาะสม รวมถึงค่าเช่าพื้นที่สูงมาก


 


ในส่วนของ TCDC นั้น พบว่า ผลงานส่วนใหญ่เป็นงานจัดนิทรรศการที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ค่าเช่าสถานที่และงบประมาณในส่วนของบุคลากรสูงมาก โดยเฉพาะเงินเดือนของผู้บริหาร ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้เสนอให้พิจารณาตัดงบประมาณของ TCDC ลง โดยพิจารณาอนุมัติงบประมาณให้กับ TCDC จำนวน 75 ล้านบาท และให้ดำเนินการปรับลดค่าเช่าพื้นที่ลงร้อยละ 50 และลดเงินเดือนของบุคลากรลง ร้อยละ 30


 


ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 50 นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2551 ได้ออกมาชี้แจงกรณีตัดงบประมาณสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ลงเหลือ 742 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือ 8.2% ทั้งนี้ ในส่วนที่มีการปรับลดมากที่สุดคือ ศูนย์สร้างสรรค์งานการออกแบบ หรือ ทีซีดีซี ที่มีการปรับลดเงินเดือนในส่วนของผู้บริหารลงร้อยละ 30 โดยการปรับลดในเรื่องค่าเช่าสถานที่ ร้อยละ 50 เพื่อให้มีการย้ายออกจากศูนย์การค้าดิ เอ็มโพเรี่ยม ไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 


ปากคำบอร์ดสบร. ทำไมต้องแปลงสภาพ TCDC


ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานและคณะกรรมการสำนักงานบริหารงานและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากการพิจารณาผลการตรวจสอบประเมินการดำเนินงานของสบร.และหน่วยงานเฉพาะด้านตั้งแต่ปี 2547 - 2549 พบว่า การจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะด้านของสบร. เช่น ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ดำเนินงานซ้ำซ้อน และขาดประสิทธิภาพ มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่คุ้มค่า การกำหนดอัตราเงินเดือนของผอ.สบร.และหัวหน้าหน่วยงานเฉพาะด้านไม่เหมาะสม


 


"เพื่อความอยู่รอดของหน่วยงานใน สบร.จึงจำเป็นต้องหลอมรวม TCDC กับ NDMI เข้าด้วยกัน โดยสัญญาการเช่าพื้นที่ของ TCDC ที่ทำไว้กับดิ เอ็มโพเรี่ยมฯ ก็จะหมดลงในเดือนพฤษภาคมปี 2551 ด้วย และเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณที่ต้องจ่ายให้กับ ดิ เอ็มโพเรี่ยมฯ ประมาณเดือนละ 5 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องหาสถานที่ตั้งใหม่ที่จะเปิดดำเนินการเป็น 'ศูนย์การเรียนรู้และสร้างสรรค์แห่งชาติ' โดยให้สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวนมากยิ่งขึ้นด้วย จึงมีมติที่จะเข้าไปใช้พื้นที่จัตุรัสจามจุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน โดยทางจุฬาฯ ระบุว่าในการทำสัญญา 6 ปี ใน 3 ปีแรกจะไม่เก็บค่าเช่า แต่จะเก็บเฉพาะค่าส่วนกลาง 250 บาทต่อตารางเมตร และในปีที่ 4 จะคิดค่าเช่าในอัตราราชการ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก"


 


ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวต่อไปอีกว่า ขอยืนยันว่าการหลอมรวมหน่วยงานทั้ง 2 เข้าด้วยกัน ไม่ต้องการทำลาย หรือยกเลิกสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ โดยในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหาร สบร.เพื่อหารือถึงแนวทางการประกาศจัดตั้งหน่วยงานใหม่และรายละเอียดภายหลังการควบรวมหน่วยงานทั้ง 2 ด้วย


 


"ผมขอย้ำด้วยว่า สำหรับบุคลากรและคนทำงานของทั้ง 2 หน่วยงานนี้ โดยเฉพาะกลุ่มกลาง และกลุ่มล่างจะไม่มีการให้ออกหรือไล่ออก หรือลดเงินเดือนอย่างแน่นอน โดยต่อไปจะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานทุกๆ 6 เดือนตามหลักเกณฑ์ขององค์กรมหาชน ซึ่งทุกหน่วยงานภายใต้ สบร.ก็จะต้องดำเนินการเหมือนกัน"


 


ด้านนายชัยอนันต์ กล่าวว่า การควบรวมหน่วยงานใน สบร.เพื่อให้เกิดการประสานงานที่ดียิ่งขึ้น ที่ผ่านมามีการพูดกันมากว่า หน่วยงานภายใต้ สบร.ใช้งบประมาณไปจำนวนมาก และทำงานใกล้เคียงกัน เมื่อมีการควบรวมกันแล้วก็ต้องมาพิจารณาร่วมกันว่า ในงบประมาณที่มีอยู่จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นการเสริมเติมเต็มที่ดี เพราะเมื่อเริ่มก่อตั้งสบร.บุคลากรต่างๆ ก็เป็นการยืมตัวมาช่วยงาน ซึ่งก็ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไปอีก


 


 


ยุบรวม เปลี่ยนบอร์ด ปรับเงินเดือน ย้ายที่


ปัจจุบัน TCDC เช่าอาคารเอ็มโพเรียมทาวเวอร์ ชั้น 24 และชั้น 6 ในส่วนบริการห้องสมุด/นิทรรศการและสำนักงานในอัตราค่าเช่าสูงถึง 47.5 ล้านบาท/ปี และค่าสาธารณูปโภค 6.8 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งหลังสิ้นสุดสัญญาเช่าในเดือนพ.ค.ปีหน้า ทั้ง สบร. และ TCDC รวมทั้งบางหน่วยงานในสังกัด จะเตรียมย้ายสำนักงานทั้งหมดไปยังอาคารจัตุรัส จามจุรี เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง ส่วนของ NDMI นั้น เมื่อสัญญาเช่าสำนักงานที่อาคารทิปโก้สิ้นสุดลงในเดือนม.ค. 2551 จะย้ายที่ทำการทั้งหมดไปยังอาคารพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ที่กระทรวงพาณิชย์เดิมซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ


 


การควบรวมนี้ ทำให้การประชุมคณะกรรมการจาก 2 ชุด เหลือเพียงชุดเดียว และลดค่าใช้จ่ายเงินเดือนผู้อำนวยการ โดยปัจจุบัน ผอ. TCDC รับเงินเดือนสูงสุดในหน่วยงานสังกัด สบร. คือ 3 แสนบาท บวกผลประโยชน์ตอบแทนอื่นอีกร้อยละ 25 และรองผอ.อีก 3 คนนั้น คนแรกรับเงินเดือนๆ ละ 262,500 บาท และอีก 2 คนๆ ละ 189,000 บาท ส่วน NDMI ยังไม่มีผอ.แต่มีรักษาการ ผอ.รับเงินเดือนๆ ละ 125,000 บาท/เดือน มีรองผอ. 2 คน รับเงินเดือนๆ ละ 1.9 แสนบาท


 


ทั้งนี้ ที่ผ่านมา นับแต่รัฐประหารมานั้น มีกระแสการยุบทีซีดีซีโดยตลอด เพราะเป็นองค์กรที่ถูกวิพากษ์อย่างหนักว่า เกิดขึ้นในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่นโยบายและโครงการอื่นๆ ก็ไดถูกยกเลิกปรับเปลี่ยนชื่อโครงการหรือตัดงบประมาณไปก่อนหน้านี้ เช่น โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการโอทอป และโครงการหวยบนดิน เป็นต้น


 


โดยที่ผ่านมา คุณหญิงทิพาวดีได้สั่งเปลี่ยนบอร์ด สบร.และเปลี่ยนบอร์ดชุดก่อตั้งทีซีดีซี ซึ่งมีนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ เป็นประธาน ตามด้วยการปลดนางสิริกร มณีรินทร์ และคณะกรรมการของอุทยานการเรียนรู้ (TK park) และหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้ สบร. รวมทั้งได้สั่งยุบรวมศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติและสถาบัน พัฒนาการเรียนรู้แห่งชาติ ก่อนที่จะมาสั่งยุบทีซีดีซีเป็นองค์กรสุดท้าย


 


โดยทีซีดีซี เป็นองค์กรรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับงานความคิดสร้างสรรค์ และงานด้านการออกแบบ โดยหวังที่จะพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ ส่วนสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เน้นจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์


 


สำหรับโครงการจามจุรี สแควร์ เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของสำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท โดยได้จัดส่วนที่หนึ่งเป็นพื้นที่ส่วนการค้าปลีก อีกส่วนเป็นพื้นที่ดัดแปลงจากลานจอดรถ ใน "เว็บไซต์ไทยรัฐ" รายงานว่า การย้ายทีซีดีซีไปอยู่ที่อาคารจามจุรี สแควร์ครั้งนี้ สอดคล้อง กับความต้องการของจุฬาฯ ที่ต้องการให้ทีซีดีซีเป็นหนึ่งในผู้เช่ารายใหญ่เพื่อเสริมแผนการตลาด และเป็นจุดขายพื้นที่ของโครงการที่ปัจจุบันยังมีปัญหาในเรื่องการขายพื้นที่ โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาสรรหาสถานที่ทำการแห่งใหม่ ประกอบด้วย นายสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา และนายนิธิ สถาปิตานนท์ ได้เลือกพื้นที่จากเอกชนรายเดียว ขณะที่โครงการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จและขายพื้นที่ไม่ได้ นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกผู้บริหารโครงการ จากบริษัทสถาปนิก 49 (A49) ที่นายนิธิมีหุ้นส่วนอยู่


 


 


แถลงผลงาน 6 เดือน บอร์ดสบร.ชุดใหม่


แม้เหตุผลหลักของการยุบรวมและปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ที่ทั้งคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี และศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานและคณะกรรมการสำนักงานบริหารงานและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ได้แถลงเหตุผลไว้ จะมีประเด็นหลักคือเรื่องงบประมาณและความอยู่รอดก็ตาม แต่ดูเหมือนการแปลงสภาพองค์กรของอดีตนายกฯในครั้งนี้ ยังมิได้ตอบคำถามเกี่ยวกับคุณภาพและวัตถุประสงค์ของการมีองค์กรด้านความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะจากผลงานการทำงานที่ผ่านมา และวิสัยทัศน์การดำเนินงานในอนาคต


 


 


โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 50 ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานกรรมการสบร. และนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สบร. ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการทำงานในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ต่อทิศทางการทำงานในอนาคตของสบร.


 


โดยศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ กล่าวว่า มีการวิพากษ์กันมากว่า การทำงานของหน่วยงานใน สบร. โดยเฉพาะทีซีดีซีนั้น กระจุกตัวอยู่ที่เมืองหลวง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องพยายามขยายออกไป เช่น ทีเคพาร์ค ก็มีสาขาที่จ.ยะลา และมีโครงการมินิทีซีดีซีตามจังหวัดต่างๆ อาทิ ลำปาง เชียงใหม่ ขอนแก่น นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างการทำงานใน 6 เดือนที่ผ่านมา ที่เน้นส่งเสริมนโยบายของรัฐบาล อาทิ การตั้งศูนย์คุณธรรม อันเป็นกิจกรรมที่ทำในภูมิภาค การเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ให้การสนับสนุนการวิจัยด้านเศรษฐกิจพอเพียงกระจายโอกาสในการสร้างแหล่งเรียนรู้ไปสู่ภูมิภาค ดำเนินการส่งมอบต้นแบบองค์ความรู้ และการสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ๆ


 


ในอีกด้านหนึ่ง นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาไม่ดีนัก โดยเฉพาะผลด้านการศึกษา ที่สบร. มีเป้าหมายที่จะฝ่าฟันปัญหาด้านการศึกษาระดับชาติซึ่งกระทรวงไม่สามารถทำได้ แต่ผลก็ปรากฏว่า สบร.ก็กลายเป็นองค์กรของอภิสิทธิชนไป


 


เขากล่าวว่า ในเรื่องการจะล้างภาพพจน์ว่าเป็นองค์กรของเล่นของคุณทักษิณ หรือเป็นของคนใกล้ชิดทางการเมืองของคุณทักษิณ สบร. ก็พยายามจะทำให้มันถูกต้องตามกฎหมาย โดยบอร์ดของสบร.เอง ครึ่งหนึ่งยังเป็นคนของอดีต ซึ่งต้องพยายามทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงาน ว่าการเข้ามาของบอร์ดใหม่ไม่ใช่การปฏิวัติฝรั่งเศส ทว่า สบร.ต้องเลิกเป็นแหล่งของขุนนาง บวก ซีอีโอ เสียที


 


นอกจากนี้ ภาพที่ใช้เงินทำงานวิจัยออกมา สวยหรู หนาเตอะ แต่ไม่มีคนอ่านนั้น ต้องเลิกกันเสียที เพราะฉะนั้น ด้วยความไม่ยากลำบากเลย ในการปรับการทำงานในสบร. เพราะคุณภาพของข้าราชการที่ทำงานที่นี่มีคุณภาพสูงอยู่แล้ว ดังนั้น การปรับบทบาท มุมมองให้เกี่ยวโยงกับองค์ความรู้ต่อไป จึงไม่ยาก


 


นายไกรศักดิ์ กล่าวถึงโครงการ 7 โครงการที่รับผิดชอบ ซึ่งเปลี่ยนโฉมจากสบร. ยุคทักษิณมาเป็นสบร.ยุคสุรยุทธ์เอาไว้ว่า จากเดิมที่งานวิจัยของสบร.ในยุครัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณที่มีออกมา 2-3 เรื่อง โดยเน้นแต่หัวข้อด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเช่น กลยุทธ์บุกตลาดจีน และอินเดีย เพราะต้องการขายสินค้าส่งออกของประเทศเป็นหลักนั้น แต่ไม่มีมีการศึกษาเจาะลึก มีเพียงเสวนาวันเดียวแล้วพิมพ์หนังสือออกมาหนาเตอะ


 


ทั้งนี้งานวิจัย 7 หัวข้อ ประกอบด้วย 1.วิจัยผลกระทบจากการเซ็นสัญญาเอฟทีเอ โดยเริ่มจากที่ภาคเกษตร ว่าการเซ็นสัญญากับจีน ส่งผลต่อชาวไร่ชาวนาทั้งในภาคเหนือและอีสานอย่างไร ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีผลกระทบต่อโครงการพระราชดำริที่มีชาวบ้านเกี่ยวข้องหนึ่งแสนกว่าครอบครัวหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นชี้ว่ามีผลกระทบ


 


2.วิจัยเครือข่ายชุมชนที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีลุ่มแม่น้ำปิงซึ่งมีองค์กรมากมายมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อมการโครงการสร้างเขื่อนคอนกรีตมาเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งมีองค์ความรู้ที่มีประโยชน์อยู่จำนวนมาก แต่ขาดการบันทึกรวบรวม


 


3.ศึกษาปัญหาอาชีพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในจังหวัดภาคใต้ เช่น รายได้ของชาวประมงขนาดเล็กที่ลดลงทุกวัน ซึ่งจำนวนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีถึง 300,000 ครอบครัว ทั้งที่ประชาชนทั้งประเทศอาศัยแหล่งประมงขนาดเล็กเป็นแหล่งอาหาร แต่ทำไมรายได้ชาวบ้านจึงลดลง ทำไมชาวบ้านจึงต้องปกป้องผืนป่า ปกป้องสิ่งแวดล้อม ต่อต้านโรงไฟฟ้า ฯลฯ โดยรัฐไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ


 


4.ตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานอื่นๆ ไม่กล้าทำกัน ทำไมศาลไม่ค่อยเป็นธรรม ทำไมประชาชนมักจะแพ้คดี ทำไมศาลมักจะเข้าข้างบรรษัท เช่น มีงานวิจัยที่บอกว่า เราจะต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมของศาล ให้หลุดกรอบจากที่เป็นอยู่ และเราต้องผลักดันให้มีการเปลี่ยนโครงสร้างและตรรกะในวัฒนธรรมไทย เพื่อให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ต้องเปลี่ยนแนวคิดที่มัวแต่คิดว่าศาลแตะต้องไม่ได้


 


5.โครงการศึกษาสังคมเศรษฐกิจพอเพียงของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ให้ปริญญาตรีและโทกับนักศึกษาด้วย เพื่อนำหลักสูตรไปเปิดในมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยนายไกรศักดิ์ระบุว่า ไม่อยากเรียกว่าพอเพียง แต่อยากเรียกว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่า


 


 


6.ศึกษาการคอรัปชั่นในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เนื่องจากที่ผ่านมายิ่งงบประมาณถูกกระจายไปสู่องค์กรส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น แต่ความรับผิดชอบดูเหมือนจะคงที่หรือต่ำลง ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาว่า ต้นเหตุของการคอรัปชั่นมาจากไหน โดยศึกษาหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง อาทิ เศรษฐกิจ มานุษยวิทยา ฯลฯ


 


7.ศึกษาสภาพของสิ่งแวดล้อม ภาวะมลพิษที่เกิดขึ้นจากโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด ซึ่งรัฐบาลชุดนี้สั้งให้มีการเพิ่มทุน ทั้งที่ภาวะที่เป็นอยู่นั้นเต็มไปด้วยปัญหามลพิษ งานวิจัยรี้ จะสำรวจดิน น้ำ อากาศ สารเคมี และศึกษาข้อมูลจากโรงพยาบาลในละแวกนั้นว่ารายงานด้านสุขภาพของคนในพื้นที่เป็นอย่างไร


 


ทั้งนี้การวิจัยทั้ง 7 หัวข้อ จะต้องไม่ใช่กองกระดาษหนาเตอะ แต่ต้องบอกทางออก เป็นองค์ความรู้ทั้งในทางเทคนิคและกฎหมาย โดยงานวิจัยทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนพ.ย.50 จากนั้นจะมีการจัดสัมมนาใหญ่ในเดือนธันวาคม เพื่อรวบรวมความคิดเห็นนำเสนอในรัฐบาลนำไปใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา


 


ส่วนหัวข้อวิจัยในปีงบประมาณ 51 ซึ่งคณะกรรมการตกลงไว้แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการวิจัยเหตุการณ์ฆ่าตัดตอนในธุรกิจค้ายาเสพติดในรัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อต้องการศึกษาต้นเหตุของเกิดจากอะไร เพราะชีวิตประชาชนล้มตายลงเป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลานั้น เพื่อเป็นบทเรียนสำคัญในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดต่อไป


 


ทั้งนี้ นายไกรศักดิ์ระบุไว้ว่า ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการทำวิจัยคือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ประชาชนต้องมาบอกรายละเอียดเรา เพราะเครือข่ายประชาชน เป็นคนที่มีข้อมูลและสัมพันธ์กับโครงการเหล่านี้มากที่สุด ต้องใช้องค์ความรู้ของประชาชนในการให้บทเรียนกับรัฐบ้าง


 


 


อ่านประกอบ :


การเมืองย้อนกลับใน TCDC


TCDC จะตายได้อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net