Skip to main content
sharethis




หมายเหตุ : โปรดอ่าน รายงาน แรงงานข้ามชาติในสังคมไทย (1): การย้ายถิ่นของผู้ลี้ภัย ความผูกพันกับสังคมไทย


 


 


 


อดิศร เกิดมงคล


Advocacy and Research Officer


International Rescue Committee-Thailand


 


 


ตัวอย่างการละเมิดสิทธิต่อแรงงานข้ามชาติ : การออกประกาศจังหวัด


จากประกาศจังหวัด เรื่อง กำหนดมาตรการจัดระเบียบคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่จดทะเบียนขออนุญาตทำงานกับนายจ้างในกิจการต่างๆ ลงวันที่ 19 เดือนธ.ค. 49 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 16 ก.พ. 50 ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ลงวันที่ 27 ก.พ. 50 ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองและผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ลงวันที่ 9 มิ.ย. 50 เพื่อจัดระบบในการควบคุมแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงานในจังหวัดดังที่มีประกาศข้างต้น และได้กำหนดมาตรการบางประเภทให้นายจ้าง แรงงานข้ามชาติ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม เช่น


 


·         หลังเวลา 20.00 น. ห้ามแรงงานข้ามชาติออกนอกสถานที่ทำงานหรือสถานที่พักอาศัย หากมีความจำเป็นต้องทำงานหลังเวลาห้ามหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง


 


·         ห้ามแรงงานข้ามชาติขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ และห้ามเจ้าของกรรมสิทธิ์


 


·         รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ อนุญาตให้แรงงานขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ของตนเอง


 


·         หากแรงงานข้ามชาติมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือ ให้นายจ้างจัดทำบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติผู้ใช้โทรศัพท์พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ และชื่อนามสกุลเจ้าของเครื่องและซิมการ์ดส่งให้จังหวัดทุกคน


 


·         ห้ามแรงงานข้ามชาติเข้าร่วมชุมนุมนอกที่พักอาศัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรม นายจ้างของแรงงานข้ามชาติต้องออกหนังสือรับรองและแจ้งบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติที่จะเข้าร่วมกิจกรรมโดยมีรายละเอียดวัน เวลา และสถานที่ชุมนุม ชื่อและหมายเลขประจำตัวแรงงานข้ามชาติให้ชัดเจน ให้จังหวัดทราบเป็นลายลักษณ์อักษร


 


·         การอนุญาตให้ออกนอกเขตจังหวัดทำได้ 3 กรณี คือไปเป็นพยานศาลหรือถูกหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน มีเหตุเจ็บป่วยต้องรักษานอกพื้นที่โดยความเห็นของแพทย์ และได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนท้องที่ทำงานจากจัดหางานจังหวัดแล้ว


 


ประกาศจังหวัดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ตระหนักว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติและตอกย้ำอคติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ เป็นการนำไปสู่ความขัดแย้งและเพิ่มความเกลียดชังกลุ่มที่แตกต่างจากคนไทย อันขัดแย้งกับความต้องการและการประกาศแนวนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้มีความปรองดองสมานฉันท์ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ 


 


ประกาศจังหวัดแสดงถึงรากฐานของความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติของรัฐราชการไทยที่มีต่อคนข้ามชาติ คนด้อยโอกาส หรือบุคคลที่ถูกถือว่าเป็น "คนอื่น" สำหรับสังคมไทย ได้สร้างทัศนคติในแง่ลบและสร้างความหวาดกลัวต่อแรงงานข้ามชาติมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นประกาศจังหวัดยังขัดแย้งกับหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและอนุสัญญาต่างๆที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองและเป็นสมาชิก เป็นนโยบายเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติหรือคนต่างชาติเพียงกลุ่มเดียว คือ พม่า ลาวและกัมพูชา


 


มายาคติที่กดทับตัวตนแรงงานข้ามชาติ


 


"ไม่กลัวเหรอ เขาชอบฆ่านายจ้าง ชิงทรัพย์ น่ากลัวนะ คนไทยชอบจ้างแรงงานต่างด้าว อันตราย"


 


ลองสังเกตบ้างไหม เรามักจะได้ยินคำพูดในทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง คำเหล่านี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันพวกเราโดยบางครั้งเราหยุดที่จะตั้งคำถามกับคำพูดที่เราสื่อออกไป เรายอมรับให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และสุดท้าย "เรา" กำลังทำร้าย "เขา" โดยไม่ได้ใส่ใจถึงกระบวนการที่รัฐหล่อหลอมให้เราเชื่อเช่นนั้น หลายเรื่องมันคือมายาคติที่ฝังแน่นในหัวใจเราจนยากจะลบออก ไม่ได้หมายความว่ามายาคตินี้ไม่เป็นจริง แต่ความจริงมีหลายชุด ผู้เขียนขยาดเกินไปที่สังคมไทยจะเหมารวมว่าพวกเขาและเธอเป็นดั่งมายาคติเหล่านั้นทุกคน


 


คำว่า "หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย แย่งงานคนไทย แพร่เชื้อโรคร้าย ภัยต่อความมั่นคง" ดูเหมือนว่าคำๆ นี้ได้ทำให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นคนที่ทำผิดร้ายแรง เป็นตัวอันตราย ไม่สามารถอยู่ร่วมกับเราได้ และยิ่งกว่านั้นควรต้องกำจัดคนเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปจากรัฐไทย แท้จริงคำเหล่านี้ถ้าพูดในภาษาฟูโกต์ คือ วาทกรรมทางภาษาหรือปฏิบัติการทางภาษา ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยระบบ ระเบียบ กฏเกณฑ์ ที่รองรับด้วยจารีตปฏิบัติ ความคิด ความเชื่อ คุณค่าและสถาบันต่างๆในสังคมไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นเหล่านี้มาในนามของความรู้ว่าด้วยเรื่องนั้นๆ ที่ส่งผลให้ผู้ได้รับการปฏิบัติเข้าใจว่าตนเองกลายเป็นเช่นนั้นจริงๆ มีอะไรที่อยู่เบื้องหลังคอยเป็นกลไกให้ความชอบธรรมหรือค้ำจุนกับมายาคติเหล่านั้น?


 


คำว่ามายาคติ (Myth) ในที่นี้หมายถึงการสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรมซึ่งถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือกระบวนการลวงให้หลงชนิดหนึ่ง แต่มายาคติในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นการโกหก หลอกลวง และไม่ได้ปกปิดซ่อนเร้นสิ่งใดไว้ แต่มันปรากฏอยู่เบื้องหน้า เราเองต่างหากที่คุ้นเคยกับมันจนไม่ได้สังเกตว่ามันเป็นสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรมและคิดว่ามันเป็นธรรมชาติ เรื่องแรงงานข้ามชาติก็เช่นกัน หลายสิ่งที่เราเข้าใจและคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นความจริงแท้ เอาเข้าจริงๆแล้วเราอาจจะคุ้นเคยกับวิธีแบบเรามากเกินไป จนมองข้ามความจริงประเภทอื่นๆ ที่ปรากฏตรงหน้าของเรา


 


1) มายาคติเรื่องผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย


คำว่า "ผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย" เกี่ยวโยงกับคำว่า "พรมแดนของรัฐ" โดยตรง เนื่องจากพัฒนาการของรัฐชาติของแต่ละประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก พรมแดนถูกกำหนดอย่างแน่นอนตายตัว ทำให้คนที่เคยย้ายถิ่น เคลื่อนย้ายถิ่น หรือเคลื่อนย้ายอย่างอิสระดำเนินชีวิตไปด้วยความยากลำบากและต้องห้าม เพราะถือว่าเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์และอธิปไตยของชาติ


 


ภาวะของผู้อพยพย้ายถิ่น โดยเฉพาะการย้ายถิ่นข้ามเขตแดนของประเทศ จึงนำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดอธิปไตยของรัฐ และกลายเป็น "ปัญหา" ทั้งปัญหาของรัฐและปัญหาในตัวตนผู้ย้ายถิ่น เช่น ปัญหาทางการเมือง ปัญหาการกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ปัญหาการตั้งถิ่นที่อยู่อาศัย ปัญหาการถูกกีดกันในการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการยังชีพและปัญหาการยอมรับการมีตัวตน การมาถึงของผู้อพยพย้ายถิ่นโดยที่รัฐไม่ได้อนุญาต มักจะทำให้รัฐเกิดอาการหวาดระแวง/กังวล/วิตกกับการมาถึงของ"บุคคลอื่น"


 


ผลที่ตามมา คือ ความรู้สึกรังเกียจและสงสัย และนำไปสู่การไม่ยอมรับผู้เดินทางมาใหม่เป็นสมาชิกในรัฐของตนเอง


 


การย้ายถิ่นของคนจากประเทศพม่า เกี่ยวโยงกับสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศพม่าโดยตรง เพราะในประเทศพม่าประกอบไปด้วยคนที่รัฐพม่าให้การรับรองว่าเป็นพลเมืองของประเทศพม่า และคนที่รัฐพม่าไม่ให้การรับรอง โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทำให้บุคคลกลุ่มหลังนี้ เมื่อต้องเผชิญกับเหตุที่ทำให้จำต้องอพยพเคลื่อนย้ายมายังประเทศไทย ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายรัฐไทยโดยทันที


 


การเดินทางออกจากประเทศพม่านั้นเป็นเรื่องยุ่งยากมาก เพราะโดยปกติแล้วประชาชนพม่าและชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่สามารถมีหนังสือเดินทางได้ หากพวกเขาและเธอต้องการเดินทางออกนอกประเทศ เขาต้องยืมหนังสือเดินทางจากรัฐบาล และเมื่อเดินทางกลับประเทศก็จะต้องคืนหนังสือเดินทางให้กับรัฐบาล ดังนั้นจึงเป็นการยากมากที่จะมีเอกสารการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้


 


นอกจากเหตุผลที่รัฐพม่าไม่ให้การรับรองกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลไทยทุกยุคสมัยก็ไม่มีนโยบายให้สถานะผู้ลี้ภัยกับผู้พลัดถิ่นจากประเทศพม่าด้วยเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ลงนามให้สัตยาบันตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 (พ.ศ.2494) พวกเขาจึงไม่ได้สถานภาพผู้ลี้ภัย เป็นเพียงผู้เข้ามาพักพิงอยู่ในเขตประเทศไทยตามที่รัฐจัดพื้นที่พักพิงให้เพียงเท่านั้น ดังนั้นเมื่อผู้หนีภัยจากการสู้รบไม่มีฐานะเป็นผู้ลี้ภัย พวกเขาและเธอจึงกลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายภายใต้ข้อบังคับแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองของไทย พ.ศ. 2522 ที่ถือว่าผู้เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารการเดินทางที่มีการตรวจลงตราถูกต้อง เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายทั้งสิ้น


 


จากการที่ไม่มีฐานะเป็นผู้ลี้ภัย พวกเขาและเธอจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับการปฏิบัติหรือมีผลผูกพันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และตามเอกสารกระทรวงมหาดไทย ระบุว่าเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายก็อาจผลักดันกลับประเทศได้ แม้ไม่สมัครใจและไม่ต้องผ่านกระบวนการสอบสวนแยกประเภทหรือมิอาจเรียกร้องสิทธิเดินทางไปตั้งหลักแหล่งในประเทศที่สาม ฉะนั้นรัฐไทยสามารถสงวนสิทธิในการตัดสินใจได้เองว่าผู้ใดเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่เป็นผู้ลี้ภัยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองของไทย พ.ศ. 2522 หรือขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพียงเท่านั้น


 


รัฐมีมุมมองการใช้ทัศนคติของความเป็นชาติแบบหนึ่งเดียวที่ไม่ยอมรับลักษณะพลเมืองของรัฐที่นอกเหนือกรอบกติกาของรัฐที่กำหนดไว้ วิธีคิดแบบนี้ได้กลายเป็นโครงสร้างวัฒนธรรมความคิด ที่กำหนดระบบวัฒนธรรมหรืออำนาจในการจัดการชีวิตของคนกลุ่มต่างๆ ผ่านรูปธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม หรือมีความจำเป็นสำหรับกลุ่มคนที่อยู่อาศัยร่วมกันเป็นชุมชน สังคมในรัฐฎาธิปัตย์ที่มีอธิปไตยเป็นของตนเองอย่างสมบูรณ์


 


2) มายาคติเรื่องแย่งงานคนไทย


มายาคติเรื่องแย่งงานคนไทย สัมพันธ์อยู่กับตัวเลขภาวะคนตกงานของระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ประเทศไทยได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ซึ่งเป็นช่วงแรกของการเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกิดขึ้น นโยบายของรัฐที่ออกมาส่วนใหญ่มีเศรษฐกิจเป็นตัวนำเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิต โดยในระยะเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนั้นอารยธรรมแบบตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาดูจะเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดี แต่เมื่อการพัฒนาที่ผ่านพ้นมาราว 40 กว่าปี จึงทำให้มองเห็นความสูญเสียทางสังคมเกิดขึ้นอย่างชัดเจน จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-5 นั้นเริ่มจะส่งผลให้เกิดปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถโดยเฉพาะ ในการเริ่มต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 6 ประเทศไทยจึงเริ่มมีการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรมจนกระทั่งปัจจุบัน


 


จากแผนการพัฒนาประเทศเพื่อเร่งการแข่งขันระหว่างภูมิภาค คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นได้ขยายตัวแทรกเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของสังคม การขยายตัวของระบบทุนนิยมเป็นการเปลี่ยนจุดเน้นจากการสะสมทุนมาสู่การกระจายทุนจากการผลิต(production) และไปสู่การบริโภค(consumption) ด้วยความพยายามที่จะถ่ายทอดการบริโภคนิยมลงไปสู่คนอย่างทั่วถึงระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ก่อให้เกิดการรับรู้และพิจารณา แรงงานเป็นสิ่งที่สามารถซื้อขายกันได้ แรงงานถูกพิจารณาเป็นสินค้าชนิดหนึ่งหรือเป็นที่เหมือนวัตถุสินค้าอื่นๆ


 


สอดคล้องกับงานวิจัยที่สำนักงานสภาความมั่งคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี สนับสนุนโครงการวิจัยในหัวข้อ "การศึกษาความต้องการ จ้างแรงงานอพยพต่างชาติ ในประเทศไทย ในช่วงปี 2546-2548" โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า เหตุที่เกิดช่องว่างให้เกิดแรงงานต่างชาติอพยพโดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากคนไทยเลือกงานและรังเกียจงานบางประเภท  ซึ่งตลาดแรงงานระดับล่างซึ่งอยู่ในข่ายจ้างแรงงานต่างด้าวอยู่ในภาวะตึงตัวจนถึงขาดแคลน นอกจากนี้จากการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว พบว่าการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาในสาขาที่ขาดแคลนจะเกิดผลดีมากกว่า เพราะสาขาที่ขาดแคลนคนไทยทำงานไม่มากนัก แม้ว่ามีการปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้นจะมีคนไทยกลับมาทำงานแต่เชื่อว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก  ดังนั้นจึงควรกำหนดรูปแบบการผ่อนผันที่เหมาะสม คือ ตามลักษณะความต้องการที่แท้จริง โดยเสนอให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา และพม่า ได้มีการเสนอแยกไว้ 3 รูปแบบ คือ กรณีไปเช้า-เย็นกลับ กรณีอนุญาตเป็นฤดูกาลและกรณีอนุญาตเป็นรายปี  ลักษณะดังกล่าวจะไม่กระทบกับแรงงานไทยมากนัก เนื่องจากงานที่คนงานต่างด้าวทำเป็นคนละตลาดกับแรงงานไทย


 


3) มายาคติเรื่องตัวแพร่เชื้อโรคร้าย


มายาคติด้านสาธารณสุขที่สำคัญและเกี่ยวโยงกับการทำให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นแพะรับบาปตลอดเวลา คือ มายาคติที่สำคัญ 2 ประการ


 


            1. แรงงานข้ามชาติเป็นภาระด้านงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขปีละหลายล้านบาท เพราะเมื่อเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ก็จะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล


 


            2. แรงงานข้ามชาติเป็นพาหะของโรคบางอย่างที่กระทรวงสาธารณสุขปราบหมดสิ้นไปจากประเทศแล้วกลับเข้ามาสู่สังคมไทยอีก เช่น มาเลเรีย เท้าช้าง วัณโรค ซึ่งโรคเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสาธารณสุข โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติผู้หญิงที่ลักลอบเข้ามาประกอบอาชีพเป็นแม่บ้านและคนรับใช้จะนำโรคเข้ามาสู่ลูกหลานเจ้าของบ้าน ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องย้อนกลับไปควบคุมโรคติดต่อต่างๆซึ่งสามารถควบคุมได้มานานแล้ว และในขณะเดียวกันก็ยังต้องทุ่มเทปัจจัยต่างๆพัฒนาสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง อุบัติเหตุ และโรคเอดส์ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของการตายอันดับต้นๆของคนไทย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องมีภาระมากขึ้นเพราะต้องดูแลทั้งคนไทยและคนต่างชาติ


 


            ต่อกรณีดังกล่าวมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่ามายาคติดังกล่าวเป็นเพียงปลายทางของนโยบายและกระบวนการปฏิบัติที่ข้ามไม่พ้นการกดทับจากมายาคติดังกล่าว ซึ่งมายาคติดังที่เกิดขึ้นนั้น ไปสอดรับกับสภาพการณ์จริงในด้านการรักษาสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมและการทำงาน ที่ขาดการดูแลด้านสุขอนามัยบริเวณที่พักคนงาน วิถีชีวิตมีการเป็นอยู่ที่แออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงาน


 


สภาพที่เกิดขึ้นเช่นนี้มาจากสาเหตุหลักๆ เช่น นายจ้างไม่พาแรงงานมารักษาโรคอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการระบาดของโรค , นโยบายการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติล่าช้าทำให้การตรวจสุขภาพล่าช้า ระบบสาธารณสุขจังหวัดมีเวลาเตรียมตัวน้อย, การนำแรงงานข้ามชาติมาตรวจสุขภาพไม่มีการประสานนัดเวลามาตรวจ ทั้งจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดและนายจ้าง ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถจัดเตรียมการได้ทันเวลา, ขาดบุคลากรปฏิบัติงานประจำที่ด่านผ่อนปรนเข้าออก, การดำเนินงานด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมยังไม่มีระบบและรูปแบบ, สถานที่ตรวจโรคมีไม่เพียงพอ และโรงพยาบาลขาดน้ำยาทดสอบโรคเท้าช้าง


 


โดยข้อเท็จจริงแล้ว รัฐไทยได้กำหนดไว้เป็นนโยบายทุกปีว่าแรงงานข้ามชาติที่มาขึ้นทะเบียน และประสงค์จะทำงานต้องเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพทุกคน โดยเสียค่าใช้จ่ายให้รัฐไทยคนละ 1,900 บาทแบ่งเป็นค่าบริการในการตรวจและประเมินสุขภาพ 600 บาท และค่าประกันสุขภาพ 1,300 บาท (แบ่งเป็น (1) ค่ารักษาพยาบาล 964 บาท จำแนกเป็นผู้ป่วยนอก 499 บาท , ผู้ป่วยใน 415 บาท ,ค่ารักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูง 50 บาท (2) ค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 206 บาท (3) ค่าบริหารจัดการ 130   บาท) มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี โดยแรงงานข้ามชาติจะต้องร่วมจ่ายในการรับบริการครั้งละ 30 บาท ร่วมด้วยทุกครั้ง ทั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อให้มีการควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบและเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงจะเป็นการประกันค่ารักษาพยาบาลให้กับสถานพยาบาลผู้ให้การรักษาพยาบาลอีกทางหนึ่ง


 


ข้อมูลนี้คืออีกประเด็นหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงน้อยและให้ความสำคัญกับการจัดการน้อยมากในเชิงนโยบาย นอกจากนั้นแล้วความเป็นแรงงานข้ามชาติที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา สถานะภาพทางกฎหมาย ทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่กล้าที่จะมาปรากฎตัวให้เราได้เห็นได้พูดคุย ได้ไถ่ถาม หรือแม้กระทั่งได้ตรวจดูแลรักษาสุขภาพ ความหวาดกลัวที่จะถูกจับกุม การไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่หรือคนไทยให้เข้าใจสิ่งที่ตนเองต้องการสื่อสาร ความกลัวที่จะถูกมองว่าเป็นภาระ การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ก็กีดกันพวกเขาไปจากกระบวนการในการดูแลรักษา และป้องกันโรคติดต่อ


 


ดังนั้นแล้วการจัดการและนโยบายที่มองไม่เห็นลักษณะเฉพาะของแรงงานข้ามชาติหรือการย้ายถิ่นข้ามชาติ มุ่งเน้นไปที่การจัดการเรื่องความมั่นคงเชิงกฎหมายและการเมือง มากกว่าการมองเห็นผลกระทบทางสุขภาพ การเข้าไม่ถึงการบริการด้านสุขภาพ เพราะข้อจำกัดของภาวะความเป็นแรงงานข้ามชาติ และอคติที่ผู้ให้บริการ หรือสังคมไทยที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ เป็นความจริงอีกชุดหนึ่งที่พวกเรามองข้ามไป


 


4) มายาคติเรื่องภัยต่อความมั่นคง


มีงานวิจัยจำนวนมากในประเทศไทยที่ชี้ให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติ คือ ภัยต่อความมั่นคงของสังคมไทย อันเนื่องมาจากประชาชนในรัฐไทยรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเองเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนกลุ่มนี้ พวกเขาและเธอเห็นว่าแรงงานข้ามชาติสามารถก่ออาชญากรรมกับตน เช่น การลักเล็กขโมยน้อย กินเหล้าเมาอาละวาด ชิงทรัพย์และปล้น หรือบางคนเกี่ยวข้องกับการลักทรัพย์ ค้ายาเสพติด ขบวนการค้ามนุษย์ อีกหลายคนมองไปไกลถึงประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาชนกลุ่มน้อย การเรียกร้องสิทธิต่างๆ การใช้ประเทศไทยเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกดินแดงภายในประเทศพม่า เป็นฐานในการต่อต้านรัฐบาลพม่า


 


ตรรกะเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นความจริง  ว่ากันตามจริงแล้วความมั่นคงของมนุษย์เกี่ยวโยงกับความมั่นคงในจิตใจที่ปราศจากความกลัว เพราะเรากลัวแรงงานข้ามชาติ เราจึงรู้สึกไม่ปลอดภัย รัฐไทยไม่เคยสร้างพื้นที่หรือมีที่ทางให้เรากับเขาได้รู้จักกันและกัน บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมในสังคมไทยที่วันนี้มีคนงานข้ามชาติอยู่ร่วมกับเรานับล้านคน


 


สิ่งสำคัญคือ วันนี้สังคมไทยมีทั้งคนดีและไม่ดี ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติเท่านั้น ทำอย่างไรเราจะสามารถสร้างดุลยภาพที่เหมาะสม ทั้งประโยชน์เฉพาะหน้าและประโยชน์ในอนาคต นี้คือความท้าทายในวันนี้ของสังคมไทยที่เราจะสร้างความมั่นคงของประเทศผ่านฐานของมิตรภาพ ความมั่นคงไม่ใช่เรื่องของนโยบายที่ปล่อยให้ผู้ชำนาญการความมั่นคงมากำหนด ความมั่นคงคือเรื่องของหัวใจที่มนุษย์เกี่ยวโยงกับมนุษย์ ที่มนุษย์สัมผัสกับมนุษย์ผ่านความสัมพันธ์ ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เราพึงมีต่อกัน ทำอย่างไรมนุษย์จะเห็นคุณค่ามนุษย์


จะว่าไปแล้วประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติสามารถมองได้เหมือนกับเหรียญสองด้านที่เป็นปัญหา อุปสรรคหรืออาจเป็นโอกาสและความท้าทาย การทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ เราจะพบกับปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เช่น ปัญหาที่ตัวแรงงานข้ามชาติต้องเผชิญ ปัญหาที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือมายาคติต่างๆที่ดำรงอยู่ในสังคมที่แรงงานข้ามชาติเดินทางเข้ามาทำงาน แต่ภายใต้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เองกลับเป็นความท้าทายของคนที่เกี่ยวข้องที่จะฝ่าฟันและเผชิญกับอุปสรรคต่างๆให้สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยมุมมองใหม่ๆ มิติใหม่ๆที่หลุดไปจากกรอบเดิมๆในการทำงาน  ที่สามารถก้าวข้ามพ้นความเป็นพรมแดน เชื้อชาติ ชนชั้น ชาติพันธุ์ ให้ได้


 


 


เราจะอยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติได้อย่างไร ?


สิ่งสำคัญในการที่จะอยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติให้ได้ เราจะต้องเดินสวนกระแสสังคมที่สังคมไทยมองว่าแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นเหมือนคนที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้า เป็นศัตรูของชาติไทย เป็นดั่งอาชญากรที่โหดร้าย คือความเสี่ยงอันน่าสะพรึงกลัวที่ต้องเผชิญ เราต้องกล้าที่จะเปิดพื้นที่ทางสังคมท่ามกลางความเสี่ยง ผ่านการสร้างความไว้วางใจให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต บนความเสี่ยงเช่นนี้จึงเป็นความท้าทาย เป็นการทำให้สำนึกของมนุษย์เกิดการเอื้อเฟื้อต่อมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง ทำให้มนุษย์มองเห็นถึงความเกี่ยวข้องของผู้คนในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมโลก/ร่วมสังคมใบเดียวกัน ที่มนุษย์ต้องไม่เพิกเฉยหรือต้องเอาธุระกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น มนุษย์ต้องไม่คิดว่ามนุษย์ด้วยกันเป็นคนอื่นของสังคม เป็นคนอื่นคนไกลจากเรา


 


สังคมไทยและแรงงานข้ามชาติต่างก็ต้องกล้าหาญที่จะเปิดพื้นที่ให้แก่ความไว้วางใจ และอาศัยความกล้าหาญทางจิตใจไม่น้อย หากมองมุมของแรงงาน พวกเขาต้องกล้าเสี่ยงว่าพวกเราจะไม่เหมือนคนไทยจำนวนหนึ่งที่คอยเอาเปรียบพวกเขา ไม่เหมือนกับคนไทยกลุ่มหนึ่งที่คอยไล่จับพวกเขา ขณะเดียวกันทางด้านพวกเราเองก็ต้องยอมเสี่ยงที่จะอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ไม่รู้จักชื่อ ที่มา พูดคนละภาษา คนละชาติพันธุ์ จนในที่สุดเปลี่ยนความเสี่ยงให้กลายเป็นความไว้วางใจและกลายเป็นคนในพื้นที่เดียวกันได้


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net