Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 18 ต.ค. 50 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) คณะทำงานยุติธรรมและสันติภาพภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนา (กป.อพช.) ออกจดหมายแสดงความเห็นต่อกรณีที่คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญัญัติแห่งชาติจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ...ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไปนั้นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการขขายบทบาทให้ทหารเข้ามามีบทบาทครอบงำสังคมมากขึ้น และอาจมีการใช้อำนาจล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550  


 


ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการจัดตั้งกองอำนวยการักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ให้มีอำนาจแทนหน่วยงานของรัฐเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติ โดย กอ.รมน. สามารถเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ ทุกฉบับ หรือหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ ให้ กอ.รมน.ดำเนินการแทนได้ในทุกสถานการณ์ ให้อำนาจ กอ.รมน.จัดตั้งหน่วยงานระดับภาคและระดับจังหวัดให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ กอ.รมน.ระดับชาติ จึงถือเป็นการถ่ายโอนอำนาจให้กองทัพหรือทหารมีอำนาจเหนือหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน ซี่งเป็นการรวบอำนาจให้ทหารหรือกองทัพ


 


ประการที่สอง เป็นการให้อำนาจกับผู้อำนวยการ กอ.รมน.สามารถออกข้อกำหนดที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การยุติการชุมนุมในที่สาธารณะ การห้ามใช้เส้นทาง การค้นอาคาร สถานที่ เป็นต้น


           


ประการที่สาม  การออกข้อกำหนด คำสั่งของผู้อำนวยการ กอ.รมน.ตามกฎหมายฉบับนี้ที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง อันเป็นการขัดกับหลักการทั่วไปของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม


           


ประการสุดท้าย  การยกเว้นความผิดของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ต้องรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางใดๆในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้ อาจก่อให้เกิดการลุแก่อำนาจและทำให้คนทำผิดลอยนวล  


           


นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ยุติการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ....เสนอต่อ สนช. เพราะ รัฐบาลชั่วคราวไม่ควรมีอำนาจในการพิจารณากฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง และเป็นการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นใหม่ที่มีผลเป็นการผูกพันกับรัฐบาลทั้งการใช้อำนาจต่อประชาชนและงบประมาณของรัฐในระยะยาว และสมควรเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่จะมีการจัดตั้งขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคมที่จะถึงนี้


 






ที่สสส. 029 /2550


                                                        วันที่ 18 ตุลาคม 2550


 


เรื่อง  ข้อเสนอต่อร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ....


 


เรียน  ประธานคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญัญัติแห่งชาติ


            


            ตามที่คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญัญัติแห่งชาติจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ...ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป นั้น


สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) คณะทำงานยุติธรรมและสันติภาพภายใต้


มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนา (กป.อพช.) มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการขขายบทบาทให้ทหารเข้ามามีบทบาทครอบงำสังคมมากขึ้น และอาจมีการใช้อำนาจล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ด้วยเหตุผล ดังนี้


ประการแรก  เป็นการจัดตั้งกองอำนวยการักษาความมั่นคงภายในให้มีอำนาจแทนหน่วยงานของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติ โดย กอ.รมน. สามารถเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ ทุกฉบับ หรือหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ ให้ กอ.รมน.ดำเนินการแทนได้ในทุกสถานการณ์ ตลอดจนการให้อำนาจ กอ.รมน.จัดตั้งหน่วยงานระดับภาคและระดับจังหวัดให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับกอ.รมน.ระดับชาติ จึงถือเป็นการถ่ายโอนอำนาจให้กองทัพหรือทหารมีอำนาจเหนือหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน ซี่งเป็นการรวบอำนาจให้ทหาร หรือกองทัพ ย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น


            ประการที่สอง  เป็นการให้อำนาจกับผู้อำนวยการ กอ.รมน.สามารถออกข้อกำหนดที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การยุติการชุมนุมในที่สาธารณะ การห้ามใช้เส้นทาง การค้นอาคาร สถานที่ เป็นต้น


            ประการที่สาม  การออกข้อกำหนด คำสั่งของผู้อำนวยการ กอ.รมน.ตามกฎหมายฉบับนี้ที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง อันเป็นการขัดกับหลักการทั่วไปของการปกครองในรอบประชาธิปไตยที่การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารจะต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการอยู่เสมอ อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม


            ประการที่สี่  การยกเว้นความผิดของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ต้องรับผิดทางอาญา ทางแพง หรือทางใดๆในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการลุแก่อำนาจและทำให้คนทำผิดลอยนวลดังเป็นที่ประจักษ์อยู่ในขณะนี้  


           


            ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงขอเรียกร้องให้ยุติการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ....เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพราะ รัฐบาลชั่วคราวไม่ควรมีอำนาจในการพิจารณากฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง และเป็นการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นใหม่ที่มีผลเป็นการผูกพันกับรัฐบาลทั้งการใช้อำนาจต่อประชาชนและงบประมาณของรัฐในระยะยาว ซึ่งสมควรเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่จะมีการจัดตั้งขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคมที่จะถึงนี้


 


            จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


 


                                                            ขอแสดงความนับถือ


                                                           


 


                                                         (นายไพโรจน์  พลเพชร)


                                    สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)


   คณะทำงานยุติธรรมและสันติภาพ


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net