ลี กวน ยู วิจารณ์เผด็จการพม่า "พวกนายพลเหล่านี้ค่อนข้างโง่ สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ"

ประชาไท - ลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) รัฐบุรุษแห่งสิงคโปร์ ได้ออกมาวิจารณ์ว่าคณะเผด็จการทหารพม่าชุดนี้บริหารทางด้านเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ไม่สามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยการกระจายความมั่งคั่งได้อย่างทั่วถึง และจะเป็นชนวนของการลุกฮือของประชาชนในการโค่นอำนาจ

 

หนังสือพิมพ์สิงคโปร์ สเตรท ไทม์ (Singapore's Straits Times)ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์นี้อีกครั้ง จากการสัมภาษณ์โดยทอม เพลท (Tom Plate) เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา โดยเขา ได้ให้ความเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในพม่าขณะนี้เกิดจาก "ความไม่ฉลาดในการบริหารงาน" ของคณะเผด็จการทหารพม่า

 

"พวกนายพลเหล่านี้ค่อนข้างโง่ สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ" --- รัฐบุรุษของสิงคโปร์วัย 84 ปี พูดถึงวิสัยทัศน์การบริหารของเผด็จการทหารพม่า "พวกเขาจัดการกับระบบเศรษฐกิจมาถึงขั้นนี้ได้อย่างไรกัน? ในเมื่อประเทศของเขามีทรัพยากรมากมาย"

ลี กวน ยู เป็นนายกรับมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ หลังจากที่ประเทศประกาศเอกราชเทื่อปี ค.. 1965 และได้ลงจากตำแหน่งเมื่อปี ค.. 1990 แต่เขาก็ยังคงเป็นผู้ที่มีอำนาจเบื้องหลังในสิงคโปร์สืบมาจนปัจจุบัน

ลี กวน ยู วิจารณ์ว่าคณะทหารพม่าที่เรืองอำนาจสืบทอดกันมาตลอด 45 นั้นไม่ได้ทำให้ประเทศดีขึ้นในเรื่องการกระจายความมั่งคั่ง

รวมถึงการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้ง (Yangon) ไปสู่เนย์ปิดอว์ (Naypyidaw) และการสร้างสาธารณูปโภคที่หรูหราสำหรับพวกเขาเองอย่างสนามกอล์ฟ นั้นไม่ได้สร้างผลดีอะไรให้เกิดขึ้น อีกทั้งการเผยแพร่วีดีโองานแต่งงานลูกสาวของ ตาน ฉ่วย (Tan Shwe) ที่มีแต่ความหรูหราฟุ่มเฟือย --- สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนผู้หิวโหยและแร้นแค้นกำลังมุ่งไปสู่การปฏิวัติ

ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เห็นแล้วเมื่อประชาชนและพระออกมาประท้วงตามท้องถนน

แต่ก่อนหน้านั้น นายลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ได้กล่าวว่า การคว่ำบาตรอย่างรุนแรงต่อพม่า อันเนื่องมาจากการปราบปรามอย่างหนักต่อกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น อาจส่งผลกระทบในเชิงลบ เพราะรัฐบาลทหารพม่าเป็นองค์กรหลักที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความปรองดองแห่งชาติ

โดยลี เซียน ลุง ยังกล่าวว่า จีน กำลังพยายามใช้อิทธิพลในเชิงบวกอย่างเงียบๆ ต่อรัฐบาลทหารพม่าเพื่อที่จะทำให้การเดินทางเยือนพม่าของนายอิบราฮิม กัมบารี (Ibrahim Gambari) ทูตพิเศษยูเอ็น ในสัปดาห์นี้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้จีนและอินเดียมีความสำคัญต่อวิธีการที่นานาประเทศจะเข้าถึงพม่า โดยทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดกับพม่า ทั้งนี้เขายังได้ความเห็นว่า เป็นการดีกว่าสำหรับพม่าในการที่จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน เนื่องจากอาเซียนอาจมีส่วนช่วยเหลือพม่าในการเดินหน้าต่อไป

ทั้งนี้สิงคโปร์เองก็เป็นประเทศสำคัญที่เข้าไปลงทุนค้าขายกับพม่า ซึ่งปีที่แล้วมีมูลค่าถึง 679.3 ล้านดอลลาร์

 

ที่มา:

Sanctions against Myanmar will be counter—productive: PM Lee

Singapore's Lee says Myanmar's generals can't survive 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท