Skip to main content
sharethis

วันที่ 9 ต.ค.50 มีการจัดงานสัมมนาเรื่อง "การแสดงเจตนาผูกพันความตกลง JTEPA : นิติรัฐภายใต้รัฐบาลสุรยุทธ์" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หลังจากที่รัฐบาลไฟเขียวให้มีการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ไปเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เสร็จสิ้น มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พ.ย.นี้


 


อย่างไรก็ตาม องค์กรพัฒนาเอกชนตลอดจนนักวิชาการบางส่วนยังคงไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว โดยเห็นว่ารัฐบาลควรปฏิบัติตาม มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุให้ความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา หรือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขณะนี้ โดยก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าภาคประชาชนอาจจะส่งเรื่องนี้สู่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญว่ารัฐบาลดำเนินการขัดกับ มาตรา190 หรือไม่


 


คมสัน โพธิ์คง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญผู้มีบทบาทในการนำเสนอมาตรา 190 กล่าวว่า JTEPA ถือว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ จึงต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ตามมาตรา 190 วรรค 2 หากจะยกเว้นได้ก็มีเพียงแต่การไม่ต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามวรรค 3 เท่านั้น


 


เมื่อถามถึงกรณีของเอฟทีเอไทย-สหรัฐที่หยุดชะงักไป คมสัน กล่าวว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวเห็นว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว กระบวนการเจรจาควรต้องเริ่มใหม่ทั้งหมดให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ แม้จะยังไม่มีกฎหมายลูกด้านความตกลงระหว่างประเทศออกมาก็ตาม


 


สมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า การดำเนินการในเรื่องนี้น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ และการที่นายกฯ ระบุต้องรีบดำเนินการ อาจเพราะไปรับปากญี่ปุ่นหรืออะไรก็ตาม โดยกรอบของกฎหมาย สนช.ก็ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วันอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะทันการเลือกตั้งพอดี อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ซึ่ง สนช.จะมีการเปิดอภิปรายนายกฯ นั้น เขาจะตั้งกระทู้สดสอบถามนายกฯ ถึงมติ ครม. ที่ระบุไม่ต้องนำ JTEPA เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 รวมทั้งต้องการให้มีการชี้แจงกรณีที่จดหมายของกระทรวงการต่างประเทศที่ส่งถึงเลขาฯ ครมาตราระบุให้นำ JTEPA เข้าสภา แล้วมีการเปลี่ยนแปลงยกเลิกจดหมายดังกล่าวพร้อมระบุว่าไม่ต้องนำ JTEPA เข้าสภาได้ภายในวันเดียว


 


ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเหมือนกฎหมายลูกของ มาตรา190 นั้น สมชายกล่าวว่า สมาชิก สนช. 40 คนได้นำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวและได้ผ่านวาระที่ 1 ของ สนช.ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตามขั้นตอนจะต้องรอให้รัฐบาลพิจารณาแล้วส่งกลับ สนช.ภายใน 30 วัน ซึ่งเขาคาดว่าทางกระทรวงการต่างประเทศจะส่งร่างของทางกระทรวงมาคู่กันเลย เพื่อจะได้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาต่อไป


 


รศ.ดร.ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า สนธิสัญญาบางฉบับอาจมีผลผูกพันทันที บางฉบับมีผลผูกพันต่อเมื่อมีวิธีการอื่นใดที่คู่ภาคีกำหนดไว้ ในกรณีของ JTEPA ระบุไว้อย่างชัดแจ้งใน มาตรา172 ของข้อตกลงว่าความตกลงฉบับนี้มีผลหลังจากแลกเปลี่ยนเอกสารทางการทูตแล้ว 30 วัน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะต้องการ เพื่อให้การดำเนินการกฎหมายภายในเสร็จสมบูรณ์ ถูกต้อง หรือไม่ก็กลับมาทบทวน โดยเฉพาะที่ตกลงกันเป็นความลับ ประชาชนไม่มีโอกาสได้รับรู้ ซึ่งจะได้ดูตัวบทก็ต่อเมื่อลงนามแล้ว ช่วงนี้ที่เว้นไว้ไม่ผูกพันทันทีนี้จึงเป็นช่วงที่จะได้ทบทวน ซึ่งที่ผ่านมามีประเด็นที่ภาคประชาชนแสดงความห่วงกังวลหลายประเด็น เช่น เรื่องการส่งขยะพิษข้ามแดน สิทธิบัตรจุลชีพ รวมถึงประเด็นการลงทุน แม้ทางกระทรวงการต่างประเทศจะทำจดหมายแนบท้ายทำความเข้าใจในปัญหาขยะพิษและสิทธิบัตรจุลชีพแล้ว แต่ก็ไม่มีผลลบล้างสิ่งที่อยู่ในความตกลง เพราะไม่ได้เอาสิ่งที่เป็นปัญหาออกจากความตกลงแต่อย่างใด


 


รศ.ดร.ลาวัณย์ กล่าวต่อว่า เมื่อภาคประชาชนเห็นว่า รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายภายใน คือยังไม่ได้ดำเนินการตาม มาตรา190 ของรัฐธรรมนูญในการนำเข้าสู่ สนช. ก็สามารถอ้าง มาตรา172 ของ JTEPA ได้ว่า ยังไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายภายในให้เสร็จสมบูรณ์ ถูกต้อง เท่ากับว่า JTEPA นี้ยังเป็นแค่ร่างข้อตกลง ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นที่ยืนยันตลอดว่าจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรหลังบรรลุข้อตกลงแล้ว และยอมรับข้อขัดของไทยดังกล่าว ก็อาจจะต้องนำไปสู่การเจรจาใหม่


 


เมื่อถามว่า กรณีที่ภาคประชาชนอาจจะยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความว่ารัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องนี้ขัดกับ มาตรา190 หรือไม่นั้น รศ.ดร.ลาวัณย์ ให้ความเห็นว่า หากศาลตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญแปลว่ากระบวนการภายในนั้นสมบูรณ์หมด ไม่มีข้อโต้แย้งได้เลย อนุสัญญากรุงเวียนนาที่ระบุว่าหากขัดกับกฎหมายภายในอย่างรัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้นั้นก็ไม่สามารถยกมาเป็นข้ออ้างได้ แต่หากศาลตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญก็จะเข้าข่าย มาตรา172 ดังที่กล่าวไปว่ากระบวนการทางกฎหมายภายในยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความจึงเป็นดาบสองคม


 


เจริญ คัมภีรภาพ กล่าวว่า มาตรา 190 นั้นชัดเจนยิ่งว่า ความตกลงอย่าง JTEPA ต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และหาก พล.อ สุรยุทธ์ ในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลปฏิบัติโดยให้มีการพักใช้รัฐธรรมนูญ มาตรานี้ได้ จะเกิดผลกระทบที่รุนแรงทางกฎหมายไทย เพราะกำลังจะเปลี่ยนวิธีการใช้กฎหมายของประเทศไทย เข้าสู่ระบบทฤษฎีเอกนิยม (Monism Theory) ที่ถือว่ากฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกันอันจะส่งผลกระทบต่ออธิปไตยของประเทศ รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธกำลังสร้างหลักการทางกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นมาอย่างหนึ่งที่รู้จักกันคือ หลักปฏิบัติของประเทศ หรือ state practices ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับข้อพิพาทระหว่างประเทศ


 


คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เมื่อมาตรา 190 บังคับใช้ ฝ่ายบริหารต้องปฏิบัติตาม ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็ต้องทำขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ และนายกฯ จะต้องรับผิดชอบต่อสภา หากทำอะไรขัดรัฐธรรมนูญ


 


บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กล่าวว่า เขาไม่กังวลหากมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วศาลตีความว่ารัฐบาลดำเนินการไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะจะได้รู้ว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างน้อยใน 1 มาตรา (มาตรา190) ไม่เป็นไปตามนั้น และต้องมีการปรับแก้ต่อไป


 


 


 


 


เส้นทาง เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น หรือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)


 


 


JTEPA เริ่มเจรจาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2547 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เจรจา 9 รอบจนบรรลุข้อตกลงหลักเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 นายกรัฐมนตรีทั้งสองคาดว่าจะสามารถลงนามความตกลง JTEPA ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างหนักจากเอ็นจีโอและนักวิชาการ


 


ประเด็นห่วงใยสำคัญได้แก่ สิทธิบัตรจุลชีพซึ่งกฎหมายไทยไม่ยินยอมให้จดสิทธิบัตร แต่ JTEPA เปิดช่องให้กระทำได้ JTEPA ให้คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ภายใต้ UPOV1991 ซึ่งอาจจะสร้างปัญหากับเกษตรกรไทยแต่ไทยให้การคุ้มครองพันธุ์พืชตามกฎหมายภายใน JTEPA ส่งเสริมการค้าขยะและของเสียอันตรายอย่างชัดเจน บทการลงทุนซึ่งมีนิยามกว้างมาก และมีการคุ้มครองการลงทุนที่กว้างขวาง การระงับข้อพิพาทที่มุ่งประโยชน์ของนักลงทุนเป็นหลัก เป็นต้น


 


มีการเรียกร้องให้เปิดเผยตัวบทความตกลง และนำความตกลงนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยอ้างมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่รัฐบาลตีความว่าอำนาจในการลงนามนั้นเป็นของฝ่ายบริหาร


 


ยังไม่ทันได้ลงนาม เกิดการรัฐประหาร ครม.ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีมติให้กระทรวงการต่างประเทศทำการประชาพิจารณ์ JTEPA ซึ่งต่อมามีการจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 22 ธ.ค.49 ซึ่งในภายหลังกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าเป็น "การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน"


 


ก่อนหน้านั้นมูลนิธิเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดรายงานการประเมินประโยชน์และผลกระทบจาก JTEPA โดยระบุว่า การลงนามเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นไม่มีความเสียหายร้ายแรงใดๆ แต่ประโยชน์ที่ได้รับนั้นขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการภายในของไทยเอง


 


15 ก.พ.50 รัฐบาลนำ JTEPA เข้าขอรับฟังความคิดเห็นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยส่วนใหญ่อภิปรายใน 2 เรื่องสำคัญ คือ ผลกระทบจากเรื่องของเสียข้ามแดน และการจดสิทธิบัตรจุลชีพ กระทั่งร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระดับรัฐมนตรี


 


อย่างไรก็ดี สมาคมภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ JTEPA ต่อไป ขณะที่ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้เข้าพบนายกฯ เพื่อชี้แจงข้อห่วงกังวลและขอให้รัฐบาลศึกษาให้รอบด้าน


 


3 เม.ย. 50 พล.อ.สุรยุทธ์ นายกรัฐมนตรีเดินทางไปลงนาม JTEPA ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีการแลกหนังสือระดับรัฐมนตรีระหว่างกันเพื่อทำความเข้าใจร่วมใน 2 ประเด็นว่าจะไม่มีผลผูกพันให้ต้องเห็นชอบในการนำเข้าหรือส่งออกของเสียอันตรายระหว่างกัน และทั้งสองฝ่ายมีสิทธิในการพิจารณาให้หรือไม่สิทธิบัตรจุลชีพ อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุที่รัฐบาลต้องรีบดำเนินการเรื่อง JTEPA เนื่องจากเกรงจะกระทบการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น และเกรงว่าจะไม่ได้เงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่ญี่ปุ่น (เจบิค)


 


17 ก.ย. 50 กระทรวงการต่างประเทศส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอให้รัฐบาลนำ JTEPA เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


18 ก.ย.50 กระทรวงการต่างประเทศส่งหนังสือฉบับใหม่ยกเลิกฉบับเดิม โดยระบุว่า JTEPA สามารถดำเนินการต่อได้เลยโดยไม่ต้องเข้า สนช. ทั้งนี้ ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลการเปลี่ยนแปลงข้อเสนอแต่อย่างใด


 


2 ต.ค.50 มีการแลกหนังสือทางการทูตที่ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ JTEPA จะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้นอีก 30 วัน


 


หลังจากนั้นภาคประชาชนเริ่มหารือว่าอาจจะมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า รัฐบาลดำเนินการขัดกับมาตรา 190 หรือไม่ เนื่องจากไม่มีการนำข้อตกลงดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net