Skip to main content
sharethis

การชุมนุมใน วันรณรงค์สากลเพื่อพม่า (Global Day of Action for Burma) ใน 12 เมืองทั่วโลก 6 ตุลาคม 2550 ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยภาพรวมในทวีปเอเชียมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่มากนัก ทั้งนี้ มีการประกาศยกเลิกการชุมนุมในกรุงโตเกียว และในประเทศไทยมีผู้เข้าร่วมการเดินรณรงค์ที่กรุงเทพมหานครประมาณ 100 กว่าคน และมีคนประมาณ 20-30 คนประกอบไปด้วยพระสงฆ์ กลุ่มสตรี ประท้วงอยู่ภายนอกสถานทูตพม่าและจีนประจำกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ


 


 


ออสเตรเลีย


ที่ออสเตรเลียมีผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าประมาณ 250 คน ตั้งขบวนอยู่ที่โอเปราเฮ้าส์ กรุงซิดนีย์ และมีรายงานว่ามีประชาชนประมาณ 200 คนเดินขบวนที่เมืองเมลเบิร์น


 


"เราต้องการความสามัคคีในการต่อต้านเผด็จการทหารในพม่า บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเริ่มการปรองดอง" ผู้จัดการชุมนุมหม่อง หม่อง ถั่น (Maung Maung Than) กล่าวปราศรัยเพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยได้แก่ นางออง ซาน ซูจี และนักโทษการเมืองทั้งหมดได้รับอิสรภาพ


 


ถั่นกล่าวว่าผู้ชุมนุมต้องการกดดันให้นานาชาติมีมาตรการต่อพม่าเช่นกัน "แรงตอบสนองของนานาชาติกำลังเริ่มขึ้น หวังว่ามันจะเพิ่มมากขึ้น"


 


ป้ายประท้วงผืนหนึ่งมีข้อความเรียกร้องให้คว่ำบาตรโอลิมปิคที่กรุงปักกิ่งในปี 2008 อันหมายถึงการต้องการให้มหาอำนาจในภูมิภาคอย่างจีนมีมาตรการกดดันต่อรัฐบาลทหารพม่า


 


 


การยกเลิกที่โตเกียว และการชุมนุมที่ประเทศไทย


ขณะที่การประท้วงในกรุงโตเกียวถูกยกเลิก โดยผู้จัดการชุมนุมกล่าวว่าพวกเขาพอใจกับการที่สหประชาชาติร่างข้อเสนอต่อกรณีพม่าเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้ประณามการปราบปรามของรัฐบาลและเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและเรียกร้องให้เริ่มต้นกระบวนการเจรจากับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร


 


สำหรับการประท้วงในประเทศไทยนั้น ที่กรุงเทพฯ นักกิจกรรมประมาณ 100 คนตะโกนคำขวัญต่อต้านรัฐบาลทหารและถือป้ายอาทิ "อย่านองเลือดมากไปกว่านี้" และ "หยุดทำลายเสรีภาพ" ระหว่างที่เขาเดินขบวนไปตามถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ


 


นายบุญแทน วีระวงศ์ จากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้รัฐบาลไทยกดดันต่อนายทหารของพม่า "ถ้าไม่มีมาตรการแทรกแซงจากรัฐบาลไทยและหลายชาติในอาเซียน รัฐบาลทหารพม่าก็จะยังคงเข้มแข็งและกดขี่ประชาชนในประเทศ" เขากล่าว


 


นอกจากนี้ ที่เชียงใหม่ ช่วงเย็นวานนี้(6 ต.ค.50) กลุ่มศาสนาเพื่อสันติภาพในพม่า ประกอบไปด้วยศาสนิกชนจากศาสนาต่างๆ ทั้งชาวพุทธ คริสต์ และมุสลิม พร้อมกับสามเณรประมาณ 100 รูป ชาวต่างชาติ กลุ่มนักศึกษาพม่าในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินภาวนา "เดินเพื่อสันติภาพ" เริ่มต้นจากพุทธสถาน ถ.ท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ผ่านไปตามถนนช้างคลาน ย่านไนท์บาร์ซาร์ ไปยังมัสยิดช้างคลาน อาสนวิหารพระหฤทัย และวัดไชยมงคล ซึ่งเป็นศาสนสถานของแต่ละศาสนา เพื่อภาวนาให้เกิดสันติภาพขึ้นในพม่า และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการจับกุมคุมขังพระและประชาชน


 


 


ชุมนุมที่ลอนดอน


ประชาชนประมาณ 1,500 คนออกมาเดินขบวนย่านกลางกรุงลอนดอน หลังจากที่แคมเปญรณรงค์ทั่วโลกต่อต้านการปราบปรามประชาชนในพม่า ที่จัดในย่านเอเชียไม่ได้มีประชาชนออกมาร่วมเดินขบวนมากนัก


 


ที่กรุงลอนดอน หลังจากผู้จัดการชุมนุมได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษนายกอร์ดอน บราวน์ ผู้ชุมนุมประมาณ 1,500 คนได้เดินไปที่จตุรัสทัลฟัลการ์ (Trafalgar Square) พร้อมตะโกนคำขวัญ ถือป้ายประท้วง และคาดผ้าสีแดงเพื่อแสดงความสามัคคีกับพระสงฆ์ที่ถูกจับกุมตัว


 


ระหว่างทาง พวกเขาได้ลงโปรยกลีบดอกไม้ลงไปในแม่น้ำเทมส์ และผูกริบบิ้นและจีวรที่ประตูบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวน์นิ่งซึ่งเป็นบ้านของนายกอร์ดอนบราวน์ ทั้งนี้สหราชอาณาจักรอังกฤษถือเป็นเจ้าอาณานิคมของเมียนมาร์ (Myanmar) หรือชื่อเดิมคือเบอร์ม่า (Burma)


 


ทั้งนี้สินค้าส่งออกของพม่าที่มีมูลค่าสูงที่สุดคือก๊าซธรรมชาติที่ขายให้กับประเทศไทย โดยพม่ายังมีคู่ค้าก๊าซธรรมชาติที่สำคัญคือจีน อินเดีย และอีกหลายประเทศที่ต้องการสำรองปริมาณก๊าซธรรมชาติ


 


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อนบ้านของพม่าคือกลุ่มประเทศอาเซียน ได้ประณามการปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายของรัฐบาลทหารพม่า ที่ได้เปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วงบนท้องถนนเพื่อกวาดล้างผู้ชุมนุมที่ออกมาประท้วงกว่า 1 แสนคน ซึ่งนำโดยพระสงฆ์ แต่กลุ่มประเทศอาเซียนก็มิได้มีมาตรการคว่ำบาตรแต่อย่างใด


 


สื่อของรัฐบาลทหารพม่ากล่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 10 คนระหว่างการปราบปราม อย่างไรก็ตามแถลงการณ์ของนายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่า "เราเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่รัฐบาลพม่าระบุ"


 







ประมวลภาพ Global Day of Action for Burma


6 ตุลาคม 2550


 


 


ผู้ประท้วงที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (ที่มาของภาพ: REUTERS/Mick Tsikas)


 


 


ผู้ประท้วงสวมหน้ากากรูปนางอองซาน ซู จี ที่กรุงไทเป, ไต้หวัน โดยป้ายที่หน้าอกของเขาเขียนว่า "ประชาชน" (ที่มาของภาพ: REUTERS/Nicky Loh)


 


 


ผู้ชุมนุมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ที่มหาวิทยาลัยเกซอน กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: REUTERS/Cheryl Ravelo)


 



ผู้ชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย (ที่มาของภาพ: REUTERS/Chaiwat Subprasom)


 


 


เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังอ่านหนังสือพิมพ์กีฬา ระหว่างสังเกตการณ์การประท้วงที่หน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย วานนี้ (ที่มาของภาพ: REUTERS/Chaiwat Subprasom)


 


 


ผู้ชุมนุมที่ประกอบไปด้วยสามเณร ศาสนิกชนชาวไทยจากศาสนาต่างๆ ชาวต่างชาติ และนักศึกษาพม่าหลายร้อยคน เดินภาวนาเพื่อสันติภาพในพม่า ที่ จ.เชียงใหม่ วานนี้ (6 ต.ค. 50) (ที่มาของภาพ: ผู้จัดการออนไลน์)


 


 



ผู้ประท้วงที่กรุงกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ (ที่มาของภาพ: REUTERS/Rafiqur Rahman)


 


 


เด็กน้อยร่วมเดินขบวนที่กรุงนิวเดลี เพื่อสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า วานนี้ (ที่มาของภาพ: AFP/Manpreet Romana)


 


 


ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย วานนี้ (6 ต.ค.) พระสงฆ์และผู้สนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าร่วมกันจุดเทียนเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่า (ที่มาของภาพ: AP Photo/Gurinder Osan)


 


 


ผู้ประท้วงถือป้ายที่เขียนว่า "หยุดความรุนแรง" และ "หยุดฆ่าพระสงฆ์ในพม่า" ระหว่าง "การรณรงค์ทั่วโลกเพื่อพม่า" วานนี้ (6 ต.ค.) ที่แฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี (ที่มาของภาพ: REUTERS/Kai Pfaffenbach)


 


 


ผู้ประท้วงที่แฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี (ที่มาของภาพ: REUTERS/Kai Pfaffenbach)


 



พระอู อุตระ (ขวามือ) นำพระสงฆ์พม่าอาวุโส พระอู วิสุธะ ไปที่บ้านเลขที่ 10 ถนนดาว์นนิ่ง ซึ่งเป็นบ้านของนายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษก่อนที่พระอู อุตระจะนำการชุมนุมวานนี้ (ที่มาของภาพ: AP Photo/Alastair Grant)


 


 


ผู้ประท้วงถือป้ายเดินไปย่านกลางกรุงลอนดอน สนับสนุนฝ่ายนิยมประชาธิปไตยในพม่า ในวันรณรงค์สากลเพื่อพม่า 6 ตุลาคม 2550 (ที่มาของภาพ: REUTERS/Stephen Hird)



 


 


ผู้ประท้วงถือป้ายเดินไปย่านกลางกรุงลอนดอน สนับสนุนฝ่ายนิยมประชาธิปไตยในพม่า ในวันรณรงค์ทั่วโลกเพื่อพม่า 6 ตุลาคม 2550 (ที่มาของภาพ: REUTERS/Stephen Hird)


 




พระสงฆ์ชาวพม่าเดินขบวนไปตามท้องถนนในกรุงลอนดอน วานนี้ (ที่มาของภาพ: REUTERS/Stephen Hird)


หมายเหตุ: ภาพหน้าแรก การรณรงค์กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: AP Photo/Gurinder Osan)


 


ที่มาแปลและเรียบเรียงเพิ่มเติมจาก



Myanmar protest in London, Asia fails to spark, Reuters (Additional reporting by Mayumi Negishi in Tokyo, Arada Therdthammakun in Bangkok, Masud Karim in Dhaka and James Thornhill in Sydney), October 6, 2007. http://in.news.yahoo.com/071006/137/6lmmr.html


 


รายงาน : ประท้วงรัฐบาลทหารพม่าหน้าโอเปร่า เฮ้าส์ พร้อมกับการประท้วงทั่วโลก, มุกดาวรรณ ศักดิ์บุญ รายงาน, ประชาไท, 7 ตุลาคม 2550.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net