Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 50 โครงการกำแพงประวัติศาสตร์ : ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับโครงการหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานรำลึก 31 ปี 6 ตุลาคม 2519 ณ สวนประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนายจอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "บทเรียน 6 ตุลา 2519 กับการปฏิรูปการเมืองไทย"


นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า เขาไม่ใช่คนเดือนตุลา ในช่วงเกิดเหตุการณ์ไม่ว่าจะ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ก็ไม่ได้เข้าร่วมในเหตุการณ์ ดังนั้น จึงอาจไม่ค่อยเหมาะเท่าไรในงานนี้


"ดังนั้น สิ่งที่ผมพูดในวันนี้ จะเป็นการพูดแบบไม่เกรงใจใคร คิดยังไงก็จะพูดแบบนั้น และก็เชื่อว่าหลายคนในนี้คงไม่เห็นด้วยกับผม ซึ่งนั่นก็เป็นสิทธิในระบอบประชาธิปไตย"


"ที่จริงๆ ไม่ชอบพูดปาฐกถาพิเศษ เพราะพูดคนเดียว คนที่ไม่เห็นด้วยแล้วอยากจะมาแย้งได้ยาก ผมไม่ชอบระบบที่มาพูดคนเดียวในตอนเช้า ไม่ว่าจะพูดคนเดียวในวันเสาร์ของคุณทักษิณ หรือของนายกฯ คนปัจจุบัน มันไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย" นายจอนกล่าว


เขาเล่าว่า แม้ว่าไม่ได้ร่วมในเหตุการณ์เดือนตุลา แต่เหตุการณ์เดือนตุลาก็มีผลกระทบชีวิตผมมากพอสมควร หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เขาได้สัมผัสความคิดสมัยใหม่ สมัยนั้นกระแสความคิดในหมู่นักศึกษาและอาจารย์คิดว่าต้องทบทวนหลักสูตรของมหาวิทยาลัยให้มีการมีส่วนร่วมของนักศึกษา ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ทันสมัย แต่มาสมัยนี้ ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนที่มีแนวคิดเช่นนี้


จอนกล่าวว่า นอกจากเรื่องแนวคิดในการทบทวนหลักสูตรแล้ว ยังได้เจอแนวคิดสองแนวทางคือ แนวทางแรกคือ อุดมการณ์ประชาธิปไตย แนวทางที่สองคือ อุดมการณ์ด้านสังคมนิยม


"ผมคิดว่าถ้าเราจะพูดถึงแก่นของขบวนการ 14 ตุลา 2516 เราจะต้องเน้นในประวัติศาสตร์ว่ามีอุดมการณ์ 2 ส่วน คืออุดมการณ์ประชาธิปไตย และสังคมนิยม สำหรับผมนั้น ความคิดเรื่องประชาธิปไตย และสังคมนิยม ยังมีความหมายและความสำคัญอยู่ในสังคมยุคปัจจุบัน"


"สิ่งที่ผมสัมผัสหลัง 14 ตุลาคือ ได้เรียนรู้วิธีคิดนักศึกษา และได้รวมกลุ่มกับอาจารย์มหาวิทยาลัย ร่วมงานกับอาจารย์มหาวิทยาลัย 6 สถาบัน และได้มีโอกาสเข้าไปดูงานในโรงงานฮาร่า ซึ่งมีการเรียกร้องของแรงงานหญิงที่เข้าไปยึดโรงงานแล้วเอาของมาขายที่ตรงนี้ (ชี้มือไปที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ก็ขายได้ ผมว่านั่นเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญอันหนึ่ง"


"ความคิดนักศึกษาตอนนั้นคือ ขอไปอยู่ชนบท ต้องพูดว่ากระแสความคิดตอนนั้น มาจากอิทธิพลของประธานเหมา (เหมาเจ๋อตุง) ผ่านพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ความคิดประธานเหมาในแง่ว่า ให้ปัญญาชนไปเรียนรู้ชีวิตกับผู

้ยากไร้ ชาวไร่ชาวนา ผมคิดว่าเป็นความคิดที่ดี เรามีอะไรหลายอย่างจากยุคนั้นมาใช้ในวันนี้ได้ แต่น่าเสียดายไม่มีใครประยุกต์ใช้"


"แม้เรื่องโรงงานฮาร่าที่ว่าคนงานไม่ควรเป็นแค่ลูกจ้างของนายทุน แต่ควรเป็นผู้ร่วมกิจการ มีส่วนในผลประโยชน์ของกิจการชัดเจน แนวคิดนี้ก็พบได้ในประเทศตะวันตกบางประเทศ เช่น เยอรมัน ผมคิดว่าเราก็มองอะไรจากฮาร่าได้ อย่ามองว่าเป็นเรื่องล้าสมัย"


"แต่ตอนนี้ อะไรๆ กลับตาลปัตร" นายจอนกล่าว


จอนเล่าถึงประเทศจีนที่เคยเข้าใจว่าน่าจะเป็นประเทศที่มีสวัสดิการสุขภาพฟรี แต่เมื่อทุกวันนี้ พบว่ามีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงมาก มีคนที่จนมาก สิ่งพื้นฐานต่างๆ ที่เคยเป็นสวัสดิการ มาวันนี้เก็บค่าใช้จ่ายทั้งหมด อาทิ ค่าเรียนหนังสือ ค่ารักษาพยาบาล เขากล่าวว่า จีนกลายเป็นประเทศที่ปฏิเสธแนวคิดดีๆ ของสังคมนิยมหมด


"ที่ผมคิดว่า ทุกอย่างมันกลับตาลปัตร ผมจำได้ว่า หลัง 6 ตุลา ตอนนั้นผมอยู่ต่างประเทศ ทำหน้าที่รณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมืองและเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย คุณสมัคร สุนทรเวช ไปอังกฤษแล้วพูดว่า เหตุการณ์ 6 ตุลานั้น ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแหล่งซ่อนอาวุธ เหตุการณ์ที่มีภาพถ่ายการแขวนคอ การฆ่าประชาชนที่สนามหลวง คุณสมัครบอกว่า ไม่ใช่ฝีมือคนไทย เป็นฝีมือคนญวน"


จอนกล่าวว่า นี่คือคนที่เป็นปรปักษ์กับเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ชัดเจน แต่ก็มาร่วมมือทางการเมืองกับคนเดือนตุลา


จอนเล่าว่า จากนั้น ในกรณีเหตุการณ์ที่ตากใบที่สื่อถูกปิดกั้น ไม่สามารถรายงานได้ จึงมีแต่ม้วนวิดีโอที่แจกไปทั่ว 'สุธรรม แสงประทุม' (อดีตคนเดือนตุลา และอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย) ก็บอกว่า นั่นเป็นของต้องห้าม พอได้เจอคุณสุธรรมอีกครั้ง จึงถามว่า แล้วภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา นี่ ห้ามแจกจ่ายไหม?


"อย่างน้อย เราอาจคาดหวังคน 14 ตุลา และ 6 ตุลา ว่าคงจะคงเส้นคงวาบ้าง แต่หลายคนก็เพี้ยนไปแล้ว นี่พูดตรงๆ ว่า เพี้ยนไปแล้ว"


"กระบวนการภาคประชาชนตั้งแต่ 14 ตุลา 6 ตุลา จนถึงพฤษภาโหด ผมคิดว่า กระบวนการภาคประชาชนโดยรวมคงเส้นคงวา ยังออกมาในลักษณะต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม แต่ความแตกแยกเริ่มเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ"


"ตอนจุดเริ่มต้นของรัฐบาลทักษิณ ผมจำได้ว่ามีคนตื่นเต้นมากๆ คนหนึ่งคือ พิภพ ธงไชย (ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่

่อประชาธิปไตย- ครป. และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ที่ตื่นเต้นมากว่ารัฐบาลนี้จะทำงานเพื่อประชาชน"


จอนกล่าวถึงโครงการเด่นของรัฐบาลทักษิณ คือเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่แท้จริงแล้ว มาจากการผลักดันของหมอก้าวหน้า คือ นพ.สงวน นิตยารัมพงษ์ ซึ่งก็เป็นคนเดือนตุลาที่ผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพ โดยเชื่อมกับภาคประชาชน 11 เครือข่าย ผ่านการร่วมกันล่าห้าหมื่นรายชื่อเสนอกฎหมายภาคประชาชน มิได้เริ่มมาจากรัฐบาลทักษิณ


"รัฐบาลทักษิณมีความสามารถมาก ต้องให้เครดิตหลายคนในเดือนตุลาที่มีความสามารถในการทำงานกับมวลชน การเริ่มต้นหลายอย่างเป็นการเริ่มต้นที่ดี เช่นเริ่มที่กินข้าวกับสมัชชาคนจน เราเห็นปรากฏการณ์น่าตื่นเต้นที่เห็นคนสองฝ่ายมาโต้กันออกทีวีเรื่องเปิดประตูเขื่อน แต่จากนั้นก็ไม่เกิดขึ้นอีกเลย"


นายจอนกล่าวว่า สิ่งที่ดีของพรรคไทยรักไทยคือ มีนโยบายที่ดี แล้วก็ปฏิบัติ ขณะที่พรรคอื่นไม่เคยทำอะไรให้ประชาชน เช่นพรรคประชาธิปัตย์ แต่หลายอย่างของไทยรักไทยก็ไม่ดี เช่นการยกเลิกเงินกู้เพื่อการศึกษาของคนยากจน เรื่องนี้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลสุรยุทธ์เช่นกัน หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จริงใจกับประชาชน


เขากล่าวถึงการจัดการพรรคไทยรักไทยในทุกวันนี้ว่า ส่วนใหญ่จะพูดกันแต่เรื่องคอรัปชั่น ซึ่งนายจอนกล่าวว่า ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่เด่น เพราะเกิดกับทุกๆ รัฐบาล แต่ที่เด่นคือ คอรัปชั่นเชิงนโยบาย ซึ่งตรวจสอบได้ยาก และพูดตรงๆ ว่า ผมไม่เชื่อในคุณธรรม


"ผมคิดว่าคำว่า 'คุณธรรม' เป็นคำน่าอ้วก ที่เรียกร้องคนอื่น สิ่งที่เราเรียกร้องไม่ใช่เรื่องคุณธรรม แต่เป็นเรื่องจริยธรรมที่ต้องชัดเจนในการตรวจสอบผู้กระทำผิด แต่สังคมไทยมันไร้จริยธรรมหมดแล้ว ทุกอย่างมันซื้อได้ด้วยเงิน"


"รัฐบาลทักษิณ อาจดูเป็นรัฐบาลสมัยใหม่ แต่ใช้กลไกเก่าคือ ซื้อคน และใช้กลไกอุปถัมภ์ หลัง 19 กันยา กลไกอุปถัมภ์ก็ยังอยู่ แล้วคนจำนวนมากไปร่วม ขณะที่รัฐบาลทักษิณทำลายระบบตรวจสอบ ก็เกิดกระบวนการล้มรัฐบาลทักษิณ นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตรงนี้ล่ะ ที่เริ่มเกิดรอยร้าวในภาคประชาชน"


"ผมมีคำถามว่า ทำไมคนเดือนตุลาจึงอยู่กับรัฐบาลทักษิณมาตลอด จนกระทั่งเห็นการฆ่าคนในยุครัฐบาลทักษิณ ก็ยังอยู่ต่อ จนกระทั่งรัฐบาลทักษิณเขาฆ่าสมชาย นีละไพจิตร ก็ยังอยู่ต่อ ฆ่าคนใต้ ก็อยู่ต่อ แต่คนเดือนตุลาก็ยังทำงานกับเขาต่อ ส่วนใหญ่เมื่อถามว่าทำไมถึงอยู่ต่อ ก็จะได้คำตอบว่า ถ้าเขาไม่อยู่ตรงนั้น เหตุการณ์จะยิ่งเลวร้าย คนอย่างเนวิน (ชิดชอบ) และยุทธ์ ตู้เย็น (ยงยุทธ์ ติยะไพรัช) ก็จะขึ้นมา"


เขากล่าวว่า คนก็จะตอบแบบเดียวกันว่า ถ้าไม่อยู่กับ คมช. ก็จะเลวร้ายกว่านี้ นักวิชาการจำนวนมากจึงไปอยู่กับ คมช. การที่เสือสิงห์กระทิงแรดไปรวมอยู่ด้วยกันได้ การผลักดันกระบวนการมาตรา 7 การแก้สถานการณ์โดยสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น ก็เข้าใจว่าคนธรรมดาไม่สามารถเอาทักษิณออกได้ จนเกิดกระบวนการอย่างที่ผ่านมา


นายจอนกล่าวว่า ผมเองก็ไม่ได้บริสุทธิ์ในเรื่องนี้ เพราะก็รู้สึกโล่งใจเมื่อทักษิณออกไป คิดว่ารัฐบาลทักษิณอันตราย เพราะมาจากการเลือกตั้ง ได้รับความนิยม และมีความแนบเนียนในการจัดการปัญหา


เขากล่าวต่อว่า ทุกคนไม่มีใครคิดเลยว่า การแก้ปัญหาทักษิณ โดย คมช. ก็คือการกลั่นแกล้งจนเขาเป็นฮีโร่ ใครทำเขาเป็นฮีโร่ ก็คือ คมช. ทุกอย่างที่ทำกับเขา ไม่ชอบธรรม เช่นการถอนสิทธิ์ทางการเมืองของผู้บริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ก็ไม่ชอบธรรม


"หลังเลือกตั้ง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ล่าหนึ่งหมื่นรายชื่อเพื่อยกเลิกประกาศ คมช.ทุกฉบับ" นายจอนกล่าว


"แทนที่จะเกิดรัฐประหาร ผมเชื่อว่าถ้าประชาชนต่อสู้กับทักษิณไปเรื่อยๆ เชื่อว่า ถ้ามีเลือกตั้งอีกครั้ง แม้จะได้รับเลือก แต่คะแนนจะลดลงไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน การแก้ปัญหา มันแก้ด้วยการรัฐประหารไม่ได้ มันแก้ได้ด้วยประชาธิปไตย"


"แต่แม้แต่ผู้นำพันธมิตรก็มีค่ายแล้ว จึงต้องสนับสนุนรัฐธรรมนูญเฮงซวย ใจเขาไม่ได้สนับสนุนหรอก แต่เขามีค่ายแล้ว ต้องบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สวนทางกับประชาธิปไตย ไม่ไว้ใจประชาชน ต่อไปตำแหน่งตุลาการจะมีราคาสูงสุด แล้วอย่าคิดว่าซื้อไม่ได้ คดีซุกหุ้นก็ซื้อมาแล้ว"


"สิ่งเลวร้ายที่รัฐบาลทักษิณทำ คมช.ก็ทำ จำได้ไหมว่าทักษิณชอบย้ายผู้ว่าฯ ในพื้นที่ที่เสียงไทยรักไทยไม่ขึ้น คมช.ก็ย้ายผู้ว่าฯ ในพื้นที่ที่ไม่รับรัฐธรรมนูญ"


นายจอน สรุปว่า เราอยู่ในวิกฤตสามวิกฤต คือ วิกฤตการเมือง วิกฤตการศึกษา ที่มุ่งผลิตมนุษย์ออกมาทำงานเฉพาะด้านในอาชีพต่างๆ แต่ไม่มีส่วนร่วมกับสังคม และวิกฤตสื่อ ที่สื่อไม่ยอมเป็นอิสระเสียที


จอนกล่าวว่า ภาคประชาชนต้องเป็นตัวของตัวเอง และอุดมการณ์เดือนตุลามีความหมาย

มาก คืออุดมการณ์ประชาธิปไตย และอุดมการณ์สังคมนิยม


ทั้งนี้ สิ่งที่เราต้องร่วมกันต่อสู้คือ


หนึ่ง ทำให้เกิดประชาธิปไตยแบบรากหญ้า ไม่ใช่แค่สิทธิของชุมชนที่จะไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่เราต้องคิดเรื่องสิทธิชุมชนในการกระจายทรัพยากร และสังคมไทยต้องเลิกเป็นอาณานิคมจากกรุงเทพฯ


สอง ทำให้เกิดระบบรัฐสวัสดิการ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้ ซึ่งไม่ต้องถามว่าเงินจะมาจากไหน เพราะต้องเก็บภาษีประชาชน เพื่อสวัสดิการด้านต่างๆ อาทิ การศึกษาเรียนฟรี ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกด้าน ไม่เฉพาะแค่ค่าเรียน มีหลักประกันสุขภาพ ที่แม้มีอยู่แล้ว แต่ต้องพัฒนาคุณภาพถึงในจุดที่คนชนชั้นกลางยอมมาใช้บริการ ประชาชนทุกคนต้องได้รับบำนาญ ต้องมีการปฏิรูปที่อยู่อาศัย รวมถึงต้องมีหลักประกันการมีงานทำ หรือที่ อ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เคยเสนอว่าต้องมีหลักประกันรายได้ขั้นต่ำ


สาม ต้องปรับปรุงโครงสร้าง ได้แก่ โครงสร้างสถาบัน หน่วยงานภาคประชาชน โดยเฉพาะระบบสหภาพแรงงาน ซึ่งแบบที่เป็นอยู่นั้น ทำให้คนแตกแยก จะต้องสร้างระบบสหภาพที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ นอกจากนี้ ยังต้องปฏิรูปการศึกษาและสื่ออย่างจริงจัง โดยเฉพาะสื่อภาคประชาชน


ทั้งหมดนี้ คือวาระภาคประชาชนที่เชื่อในอุดมการณ์เดือนตุลา และเชื่อในสังคมที่เป็นธรรม


ก่อนจบปาฐกถา จอน อึ๊งภากรณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ความจริงแล้วต้องมีพรรคการเมืองภาคประชาชน คือไม่มีนายทุน แต่เรื่องนี้ ต้องเริ่มและใช้เวลา ไม่สามารถใช้เวลาเพียงข้ามคืนได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net