Skip to main content
sharethis



เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล หรือ World Habitat Day ซึ่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยสากล เพื่อเป็นสัญลักษณ์กระตุ้นเตือนให้ประชาชาติต่างๆ ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาผู้ไร้ที่อยู่อาศัยหรืออยู่อาศัยในสภาพการตั้งถิ่นฐานที่ไม่เหมาะสม กลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงได้ออกมาเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย โดยได้เข้ายื่นหนังสือต่อองค์กรสหประชาชาติประจำประเทศไทย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายรัฐมนตรี และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร



 


 


เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ 5 ต.ค. เครือข่ายสลัม 4 ภาค กว่า 60 คน นำโดยนายนายสุชิน เอี่ยมอินทร์ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมคัดค้านการไล่รื้อที่อยู่อาศัยของชาวสลัมในชุมชนบริเวณแถบแม่น้ำพาซิง (the Pasig River) ประเทศฟิลิปปินส์อย่างไม่เป็นธรรม โดยเดินขบวนพร้อมชูป้ายประท้วงจากสวนสาธารณะเบญจสิริสู่สถานทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย และได้เข้ายื่นจดหมายต่อ Mr. Charles Jose กงศุลใหญ่ประจำสถานทูตฟิลิปปินส์ (Consul-General of the Philippine embassy in Bangkok)


 


ตามจดหมายระบุถึงความเดือดร้อนของชุมชนสลัมกว่า 94,000 ครัวเรือน ที่รัฐบาลท้องถิ่นแมนเอล่า (the Metro Manila Development Authority: MMDA) บังคับให้ต้องทำการรื้อถอดบ้านเรือนออกจากริมฝั่งแม่น้ำพาซิง (the Pasig River) ภายในสิ้นปีนี้ โดยอ้างเหตุผลการปรับปรุงภูมิทัศน์และรักษาสภาพแวดล้อมริมฝั่งลำน้ำ ทั้งที่ขัดต่อกฎหมาย 2 ฉบับ คือ กฎหมายพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัย (Urban Development and Housing Act of 1992) และคำสั่งของประธานาธิบดี (Executive Order 152) ซึ่งระบุเกี่ยวกับการจัดการปรับปรุงภูมิทัศน์ต่างๆ ว่าต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบร่วมด้วย


 



 


นายพงษ์อนันต์ ช่วงธรรม ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงข้อเสนอในซึ่งระบุในจดหมายว่า มี 3 หัวข้อใหญ่ตามข้อเสนอของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในฟิลิปปินส์ คือ 1.ให้ยุติการไล่รื้อที่อยู่อาศัย อันมาจากคำสั่งที่ผิดต่อกฎหมายของรัฐบาลท้องถิ่นแมนเอล่า 2.ตามที่มีการตกลงให้รื้อถอนบ้านเรือนริมชายฝั่งเป็นระยะ 3 เมตร ชาวบ้านยินดีปฏิบัติตาม แต่รัฐบาลกลับกำหนดให้มีการรื้อถอนในระยะ 10 เมตร ซึ่งทำให้เกิดความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังไม่มีการจัดหาที่อยู่อาศัยไว้รองรับ ให้มีการกำหนดเป็นระยะ 3 เมตรตามเดิม และข้อเสนอที่ 3.เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนในการรื้อย้ายและจัดตั้งที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ตามแผนที่วางเอาไว้เมื่อปี 2544


 


ภายหลังการรับมอบจดหมาย Mr. Charles Jose ได้กล่าวกับกลุ่มผู้มาชุมนุมว่า จะมีการส่งจดหมายฉบับดังกล่าวไปยังรัฐบาลท้องถิ่นแมนเอล่า และจะมีการส่งจดหมายไปยังทางกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ไขปัญหา โดยการดำเนินการทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกฎหมายของฟิลิปปินส์ ด้วยความเคารพต่อสิทธิของชาวฟิลิปปินส์


"เราชาวสลัมมีสายเลือดคนจนเหมือนกัน ถือว่าวันนี้เราเดินทางเพื่อมาช่วยเหลือพี่น้องของเรา" นายถวัลย์ บุญธรรม กรรมการบริหารเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวก่อนที่ผู้ร่วมชุมนุมจุสลายตัวจากบริเวณหน้าสถานทูตฟิลิปปินส์


 


รายงานข่าวก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายสลัม 4 ภาค กว่า 200 คน ได้มีการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงสัญญาการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยจากรัฐบาล ภายหลังที่นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับปากจะแก้ปัญหา โดยให้มารับฟังผลในเดียวกันนั้น ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันว่า หากนายไพบูลย์ ไม่สามารถแก้ปัญหาตามที่สัญญาไว้ได้ ขอให้นายไพบูลย์ ลาออกจาก รมว.พัฒนาสังคมฯ และให้ดำรงตำแหน่งเพียงรองนายกฯ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net