Skip to main content
sharethis

การยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลไต่สวนว่า การควบคุมตัวตามโครงการฝีกอาชีพ 4 เดือน เป็นการควบคุมโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


 


4 ตุลาคม 2550


โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา


 


ข้อเท็จจริงเบื้องต้น


นับแต่เจ้าหน้าที่ทหารได้ประกาศใช้ "แผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้" ซึ่งประกอบด้วยแผนย่อยจำนวนประมาณ 14 แผน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 ทำให้เกิดการกวาดจับประชาชนที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนหลายร้อยคน โดยนำพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นเครื่องมือในการจับกุมประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายจับและหมายค้น และเพื่อการควบคุมตัวเพื่อซักถามได้เป็นเวลา 7 วันตามกฎอัยการศึก และอีก 30 วันตามพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 37 วัน


 


ภายหลังการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยภายในกำหนดระยะเวลาของกฎหมายพิเศษทั้งสองฉบับแล้ว ได้ปรากฎข้อเท็จจริงว่า บุคคลผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าวกลับมิได้รับการปล่อยตัว หรือมิได้ถูกควบคุมตัวเพื่อดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากแต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐกลับจัดให้มีโครงการ "ฝึกอบรมอาชีพ" เป็นระยะเวลา 4 เดือน ณ ค่ายรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง, ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี และค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร โดยอ้างเหตุผลเพื่อความปลอดภัยและการสร้างโอกาสใหม่ให้ชีวิต พร้อมทั้งความหวังในการแยกสลาย "แนวร่วม" ของกลุ่มขบวนการ ทั้งนี้ มีการแจ้งผ่านข้อมูลผ่านสื่อมวลชนเป็นระยะๆ ว่าผู้ถูกควบคุมตัวเข้าร่วมโครงการฯ "โดยความสมัครใจ"


 


เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2550 คณะทนายความ องค์กรพัฒนาเอกชน และอาสาสมัคร จำนวนหลายกลุ่มได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และได้พบกับญาติของผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนหนึ่ง ได้ข้อสรุปว่า การจับกุมและควบคุมตัวภายใต้แผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้และการควบคุมตัวภายใต้โครงการฯ มิได้เป็นไปโดยเคารพต่อหลักนิติธรรม ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายทั้งกฎหมายภายในประเทศ และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าวคือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(1)โดยเฉพาะยิ่งกรณีของการควบคุมตัวภายใต้โครงการฯ นี้ มิได้มีกฎหมายฉบับใดรองรับให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถดำเนินการได้


 


นอกจากนี้ จากการร้องเรียนของผู้เข้าร่วมโครงการฯ พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการฯ "มิได้สมัครใจ" หากแต่ถูกบังคับให้ต้องเข้ารับการฝึกอบรม โดยได้รับการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ว่า หากปฏิเสธไม่เข้าร่วมโครงการฯ จะถูกส่งตัวให้พนักงานตำรวจดำเนินคดีอาญาต่อไป โดยจะไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี และกระบวนการพิจารณาคดีของศาลนั้น จะใช้ระยะเวลานานกว่า 1 ปี นอกจากนี้หากต้องกลับไปยังภูมิลำเนาของตนแล้ว ก็จะไม่ได้รับความปลอดภัย หากตัดสินใจเข้ารับการฝึกอบรมจะต้องลงลายมือชื่อแสดงเจตนาว่า "สมัครใจ" ยินยอมเข้ารับการอบรม โดยไม่มีใครบังคับ


 


คนทุกคนมีเสรีภาพที่จะไม่ถูกควบคุม /คุมขังโดยมิชอบ


หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่สำคัญภายใต้หลักนิติธรรม ก็คือ คนทุกคนย่อมเสรีภาพที่จะไม่ถูกควบคุม คุมขังโดยมิชอบ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยการควบคุม คุมขังบุคคลจะกระทำได้ ก็เฉพาะในกรณีที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น ซึ่งหลักการข้างต้นได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในมาตรา 29 และ 32(2)


 


โครงการฝึกอบรมอาชีพที่ไม่มีกฎหมายรองรับและบังคับให้บุคคลต้องเข้าร่วมโครงการฯ ย่อมหมายถึงการถูกควบคุมตัวที่มิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ระบุว่า หากมีข้อสงสัยว่าจะมีการควบคุมบุคคลในคดีอาญา หรือ "ในกรณีอื่นใด" โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกควบคุมตัว, ญาติ, พนักงานอัยการ หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ไต่สวนว่า การควบคุมตัวนั้นมีกฎหมายรองรับหรือไม่ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากการควบคุมตัวดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอาจมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุม(3)


 


การยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลไต่สวนว่าโครงการฝีกอบรมอาชีพ เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย


จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่าสองเดือนแล้ว ที่ผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพ 4 เดือน หรือ "ผู้ถูกควบคุมตัว" เข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว ปรากฎว่า "ผู้ถูกควบคุมตัว" ไม่ประสงค์ที่จะรับการฝึกอาชีพภายใต้โครงการฯ อีกต่อไป และต้องการกลับบ้าน รวมถึงสมาชิกในครอบครัวของผู้ถูกควบคุมตัว ก็ต้องการให้ผู้ถูกควบคุมตัวกลับบ้าน  เพื่อจะได้กลับมาร่วมประกอบพิธีตรุษอีดิ้ลฟิตรี้ ซึ่งเป็นวันสำคัญของศาสนาอิสลาม ภายหลังเสร็จการประกอบศาสนกิจเดือนแห่งการถือศีลอด (รอมฎอน)


 


ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนหนึ่งได้ยื่นคำร้องต่อผู้บังคับหน่วยของค่ายทั้ง  3 แห่ง ว่าไม่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกอบรมอีกต่อไป และต้องการจะกลับบ้าน แต่ก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว


 


ในวันที่ 5 ตุลาคม 2550 นี้ ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวจะเดินทางไปยังศาลจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และระนองเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลดำเนินการไต่สวนว่าโครงการฝึกอบรมอาชีพ 4 เดือน เป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (มาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) หากมีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง ก็ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว  ในครั้งนี้ คณะทนายความจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และศูนย์ทนายความมุสลิม จะเดินทางไปร่วมกับญาติเพื่อสนับสนุนการใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว


 


 






(1) ดูจดหมายเปิดผนึก ข้อสังเกตต่อการปฏิบัติการตามแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้และการควบคุมตัว 4 เดือน วันที่ 26 สิงหาคม 2550



(2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550


มาตรา 29  การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้


มาตรา 32 วรรคแรก บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิแลเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย


วรรคสาม การจับกุมและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ


และวรรคห้า ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหาย พนักงานอัยการ หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือ การเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้



(3) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  90  "เมื่อมีการอ้างว่า บุคคลใดถูกคุมขังในคดีอาญา หรือกรณีอื่นใด โดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา ขอให้ปล่อย คือ (1) ผู้ถูกคุมขังเอง (2) พนักงานอัยการ (3) พนักงานสอบสวน  (4) ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือ พัศดี (5) สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง


เมื่อได้รับคำร้อง ดังนั้น ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียว โดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่า คำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขัง ให้นำตัว ผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ ว่าการคุมขัง เป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ไปทันที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net