ชาวระยองกลุ่มค้านโรงไฟฟ้าแจงข้อเท็จจริงถูกราชการปิดกั้น สื่อป้ายสีมีการเมือง-ทุน หนุนการประท้วง

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.50 เครือข่ายประชาชนชาวระยองออกจดหมายชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีความไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ของนายพลวัตร ชยานุวัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และนายสุนทร รัตนวราหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เนื่องจากไม่มีบทบาทในการสร้างความเข้าใจที่ดีต่อประชาชน ไม่ยอมตั้งกลไกประสานงานลดความขัดแย้ง ไม่ดูแลประชาชนชาวระยองที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าไออาร์พีซีและออกมาประท้วงใหญ่เมื่อวันที่ 3- 5 ก.ย. ที่ผ่านมาหน้าโรงงานไออาร์พีซี โดยไม่ให้ความช่วยเหลือแม้กระทั่งห้องสุขา อาหาร หรือน้ำดื่ม

 

เครือข่ายประชาชนชาวระยองระบุต่อว่า นอกจากนี้ในคืนวันที่ 4 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการชุมนุม เวลา 03.00 น. ผู้ว่าฯ กลับมีคำสั่งให้ตำรวจภูธรจังหวัดระยอง และทหารกองพันทหารราบที่ 7 นาวิกโยธิน (พันร.7 นย.) มาสลายผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้า ซึ่งชุมนุมอย่างสงบ แต่ทางตำรวจและทหาร ไม่เห็นด้วย จึงไม่มีการสลายผู้ชุมนุมในคืนดังกล่าว 

 

รวมถึงเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ก็มีการตั้งด่านไม่ให้ประชาชนชาวระยอง จำนวน 2,000 กว่าคน เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือและรายชื่อผู้คัดค้านให้กับรัฐบาลไว้พิจารณา ขณะที่ในวันเดียวกันนั้นทาง ผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ จังหวัดระยอง ได้ทำหนังสือและสั่งการทางวาจา ถึงนายอำเภอต่างๆ ในจังหวัดระยอง  ให้ระดมชาวบ้านมาให้กำลังใจผู้ว่าฯ โดยมีการจัดการปราศรัยซึ่งตัวแทนชาวบ้านระยองบางคน รวมถึงรองผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้พยายามพูดยั่วยุให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชนผู้มาคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้เกิดความขัดแย้งกันของประชาชนชาวระยอง                                                                                 

เครือข่ายประชาชนชาวระยองระบุอีกว่า ในวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงไปที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ทางเครือข่ายประชาชนชาวระยองฯ จึงได้เข้ายื่นข้อเสนอภาคประชาชนชาวระยองต่อทุกพรรคการเมือง เพื่อที่จะใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบายที่เกี่ยวกับจังหวัดระยองต่อไป แต่ทางผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ จังหวัดระยอง ก็ยังคงระดมประชาชนจำนวนหนึ่ง  มาที่ส่วนราชการ และปราศรัยโจมตีกลุ่มที่ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

                       

สุดท้าย มีการแถลงข้อเท็จจริงกรณีที่มีการตีพิมพ์เป็นบทความในหนังสือพิมพ์มติชน หน้า 11 คอลัมน์ปิดไม่ลับ  ฉบับวันที่ 3 ต.ค.50  และหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ต.ค.50 สกู๊ปหน้า 1 ระบุว่าผู้ชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท IRPC เป็นผู้ทำให้เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของจังหวัดระยองเสียหาย, การเมืองอยู่เบื้องหลัง, มีการแสดงออกเพื่อหวังงบประมาณจากต่างชาติ, โจมตีนายกรัฐมนตรี, กดดันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  และมีกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีอยู่เบื้องหลัง เครือข่าวประชาชนชาวระยอง ในนาม "เครือข่ายชาวระยองรักษ์สิ่งแวดล้อมและผืนแผ่นดินมาตุภูมิ" ชี้แจงว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง  ประชาชนแสดงออกด้วยความบริสุทธิ์ไม่มีการจัดจ้าง ไม่มีการเมือง และ นักธุรกิจคนใดอยู่เบื้องหลัง เป็นการแสดงพลังประชาชนตามสิทธิในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดระยองเสียหาย เพราะมีการชุมนุมเพียง 3 วัน คือเมื่อวันที่ 3-5 ก.ย.ที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ ยังมีการประเมินความเสียหายจาก สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดระยอง และสำนักงาน ททท.จังหวัดระยองว่าไม่ได้มีความเสียหายต่อธุรกิจท่องเที่ยว มียอดผู้มาท่องเที่ยวเท่าเดิม สภาหอการค้าจังหวัดระยองประเมินว่า เศรษฐกิจของจังหวัดระยองยังคงมีดุลทางการค้าที่ดีขึ้นต่อเนื่องไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของจังหวัดระยองทั้งระยะสั้นและระยะยาว สภาทนายความจังหวัดระยองก็นำข้อเท็จจริงถึงสิทธิในการกระทำภายใต้กรอบของกฎหมายและสิทธิอันชอบธรรมในการแสดงออกของประชาชนชาวระยอง  เป็นการแสดงออกที่สงบปราศจากอาวุธและสร้างสรรค์ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ 

 

"ชาวระยองกระทำไปด้วยเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องแสดงเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย ของลูกหลานชาวระยอง มิใช่เพื่อการอื่นใดทั้งสิ้น คำสาบานของผู้ชุมนุมที่ดังกึกก้องต่อหน้าศาลหลักเมืองระยอง, ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ, หอพระพุทธอังคีรส ถึง 3 วัน 3 เวลา เป็นคำประกาศแห่งความบริสุทธิ์ของชาวระยองทุกคนมาด้วยใจ" แถลงการณ์ระบุ

 

 





ข้อเสนอภาคประชาชนชาวระยองต่อทุกพรรคการเมือง

 


  1. การกำหนดนโยบายของรัฐทุกนโยบายต้องคำนึงถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550  โดยเฉพาะในด้านสิทธิชุมชน มาตรา 66 และ 67

  2. ปรับปรุงกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนรวมถึงกฎหมายอื่นๆให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ทุกกรณี

  3. ยึดหลัก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 มาเป็นหลักในการดำเนินโครงการของรัฐที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

  4. สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริงโดยการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกขั้นตอน

  5. สร้างความสุขและความอยู่ดีมีสุขร่วมกัน ของทุกฝ่าย ทุกภาคี ในจังหวัดระยองโดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง

  6. ปรับปรุงโครงสร้างข้าราชการในจังหวัดระยองใหม่ เพื่อความเหมาะสมสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาทุกปัญหาในจังหวัดระยอง อย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน

  7. ไม่พิจารณาอนุญาตการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่ม เพราะเนื่องจากระยองมีปัญหาในเรื่องมลพิษจากอุตสาหกรรมมากอยู่แล้ว

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท