Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 58 ปี การสถานปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีนักศึกษาโครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยชาวพม่าในประเทศไทย ได้จัดการประท้วงหน้าสถานทูตจีนประจำประเทศไทย กรุงเทพฯ เรียกร้องให้รัฐบาลจีนกดดันรัฐบาลทหารพม่าเพื่อให้มีการยุติการสังหารผู้ประท้วง และเพื่อให้มีการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในพม่า


 


โดยพวกเขายังออกแถลงการณ์ "การไม่แทรกแซงไม่แตกต่างจากการยืมมือให้แก่ทรราช (Non-intervention is No Different from Lending a Hand to the Tyranny)" ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษออกมาด้วย โดยเรียกร้องให้รัฐบาลจีนไม่ใช่สิทธิวีโต้ หากสหประชาชาตินำเรื่องพม่าเข้าสู่วาระการประชุม กดดันรัฐบาลทหารพม่าให้ปลดปล่อยนักโทษการเมืองรวมทั้งนางอองซานซูจี ประสานให้เกิดการเจรจาระหว่างฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและฝ่ายทหาร และยุติการสนับสนุนรัฐบาลทหารในพม่าด้วยกำลังอาวุธและการเงิน (อ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษได้ที่นี่)


 






ารไม่แทรกแซงไม่แตกต่างจากการยืมมือให้แก่ทรราช


 


                                                                                   


๑ ตุลาคม ๒๕๕๐


             


            วันนี้เป็นวันครบรอบปีที่ ๕๘ แห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ ๕๘ ปีที่แล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับการรับรองทางกฎหมายโดยการ "ปลดปล่อย" ประชาชนจากรัฐบาลที่กดขี่และฉ้อราษฎร์บังหลวงภายใต้สาธารณรัฐจีน และมีวิสัยทัศน์ในการสร้างประเทศเพื่อประชาชนเผ่าต่างๆ อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประชาชนต่อสู้เพื่อต่อต้านระบอบการปกครองที่โหดเหี้ยมในประเทศพม่า ขณะที่ผู้ประท้วงถูกฆ่าตายและทรมานโดยรัฐทหาร รัฐบาลจีนได้ตอกย้ำอีกครั้งต่อสถานะของนโยบายการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของรัฐอื่นๆ ดูเหมือนรัฐบาลจีนได้ลืมประวัติศาสตร์ของตนเองว่า รัฐบาลได้รับอำนาจมาอย่างไร


            รัฐบาลจีนได้กล่าวย้ำถึงนโยบายการไม่แทรกแซงในกิจการต่างประเทศในลักษณะที่ขัดกับความประสงค์ของรัฐธรรมนูญ อารัมภกถาของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศว่า "[จีน] สนับสนุนชาติที่ถูกกดขี่และประเทศกำลังพัฒนาในการต่อสู้ที่เป็นธรรม เพื่อให้ได้รับชัยชนะและรักษาอิสรภาพแห่งชาติ.....และต่อสู้เพื่อปกป้องสันติภาพในโลกและส่งเสริมความมุ่งหมายเพื่อความก้าวหน้าแห่งมนุษยชาติ" ชาติต่างๆ ได้รับการจัดตั้งโดยประชาชนและเพื่อประชาชน เมื่อประชาชนถูกกดขี่ ประชาชนควรมีสิทธิที่จะโค่นล้มระบอบที่โหดร้ายนั้น เรื่องนี้ก็เป็นดั่งที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้ดำเนินการมา รัฐบาลจีนควรสนับสนุนความมุ่งหมายเพื่อความเป็นธรรมของผู้ประท้วงในประเทศพม่าตามวิสัยทัศน์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ


            ตามข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ประเทศจีนได้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารให้แก่กองทัพพม่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 และได้กลายเป็นคู่การค้าที่สำคัญที่สุดในระหว่างทศวรรษ 1990 ในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อรัฐบาลจีนสนับสนุนรัฐทหารของพม่าด้วยกำลังอาวุธ ประชาชนชาวพม่าได้ทนทุกข์ทรมานมามากกว่า ๔๐ ปีแล้ว มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นความห่วงใยอย่างใหญ่หลวงเกิดขึ้น เช่น ได้เกิดทาสรูปแบบใหม่ในนามของการบังคับใช้แรงงาน การประหารชีวิตอย่างเบ็ดเสร็จโดยปราศจากเหตุผลใดๆ ยิ่งกว่านั้น มีรายงานว่าทหารได้เข้าปล้นสะดมพืชผลของชาวบ้านทุกๆวัน ขณะนี้เป็นโอกาสของประชาชนในประเทศพม่าที่จะเปลี่ยนชะตากรรมของตน เราจำเป็นต้องกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า ผู้ประท้วงในประเทศพม่ากำลังทำสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้เคยกระทำมา เมื่อพวกเขาได้โค่นล้มสาธารณรัฐจีนลง ประชาชนในประเทศพม่าต้องการสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพ!


            ขณะนี้ทั่วโลกต่างกำลังจ้องดูการกระทำของรัฐทหารของพม่าพร้อมๆ กับปฏิกิริยาของรัฐบาลจีน ในชั่วขณะวิกฤตนี้ ชาวพม่า ชาวจีน และชุมชนนานาชาตินับล้านๆ คน กำลังเฝ้าดูจีนในการที่จะเข้าแทรกแซง เราจึงขอเรียกร้องรัฐบาลจีนอย่างเข้มแข็ง ดังนี้


            ๑. จะต้องไม่ใช้สิทธิวีโต้ประท้วงอีก เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินำประเด็นพม่าเข้าสู่วาระการประชุม


            ๒. ประณามการปราบปรามอย่างนองเลือดต่อพระสงฆ์ ผู้นำและสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของชาวพุทธ ต่อพลเรือนทั้งหญิงและชาย และการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในประเทศพม่า


            ๓. กดดันรัฐทหารพม่าให้ปลดปล่อยนักโทษการเมืองรวมทั้งนางอองซานซูจี


            ๔. ช่วยประสานอำนวยความสะดวกในการเจรจาระหว่างทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและฝ่ายทหาร เพื่อกลับคืนสู่สันติภาพในประเทศพม่า


            ๕. ยุติการสนับสนุนรัฐทหารในพม่าด้วยกำลังอาวุธและการเงิน


 


            เมื่อรัฐบาลจีนใช้กำลังปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยอย่างโหดร้ายในปี 1989 ความเสียใจอย่างใหญ่หลวงนี้ยังคงดำรงอยู่ในหัวใจของชาวจีนนับล้านๆ คน หากรัฐบาลจีนยังคงปิดตาต่อความทุกข์ทรมานของประชาชนในประเทศพม่า เรื่องนี้จะเป็นความผิดพลาดอย่างที่ไม่ควรจะเป็นที่ทั่วโลกจะไม่ยอมลืมเลือน


           


                        กลุ่มห่วงใยต่อประชาธิปไตยในประเทศพม่า


                        โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา


                        มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย


 


                        ซื่อวาน ชาน (จีน) นักศึกษาปริญญาโท ปีการศึกษา ๒๕๕๐


                        นูฟาล อับบุด (สวีเดน) นักศึกษาปริญญาโทปีการศึกษา ๒๕๕๐


                        อานิส ฮามิน (อินโดนีเซีย) นักศึกษาปริญญาโท ปีการศึกษา ๒๕๕๐


                        สัญชัย อารยาล (เนปาล) นักศึกษาปริญญาโท ปีการศึกษา ๒๕๕๐


                        วณี บางประภา ธิติประเสริฐ (ไทย) นักศึกษาปริญญาเอก ปีการศึกษา ๒๕๕๐


                        เมธาพันธุ์ สุนทรเดช (ไทย) นักศึกษาปริญญาโท ปีการศึกษา ๒๕๕๐


                        สุทธิดา มาลีแก้ว (ไทย) นักศึกษาปริญญาโท ปีการศึกษา ๒๕๕๐


บงกช นภาอัมพร (ไทย) นักศึกษาปริญญาโท ปีการศึกษา ๒๕๕๐


                        สุภิญญา กลางณรงค์ (ไทย) อาจารย์โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา


                        ยูยุน วายุนินกรุม (อินโดนีเซีย) นักศึกษาปริญญาโท ปีการศึกษา ๒๕๔๙


                        มาเจอรี เลีย ลาร์นีย์ (สหรัฐอเมริกา) ปริญญาโทสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา ๒๕๔๖


 


 


อ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษได้ที่นี่


Non-intervention is No Different from Lending a Hand to the Tyranny


Prachatai - 01 October 2007

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net