Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ : ชื่อบทความเดิม "สื่อสมัยใหม่กับบทบาทการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า"


 


 


 


2 ตุลาคม 2550


 


ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมใหญ่ของพระสงฆ์และประชาชนชาวพม่าตลอดสองอาทิตย์ที่ผ่านมา เราได้เห็นภาพและวีดีโอ ที่สร้างความรู้สึกตื้นตันใจที่เห็นพลังของพระสงฆ์และประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย และสะเทือนใจกับภาพความโหดเหี้ยมของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ป่าเถื่อน ที่เข่นฆ่าพระและประชาชน โดยไม่เลือกว่าจะเป็นชนชาติไหน


 


ภาพเหล่านี้ถูกเผยแพร่ทั้งสำนักข่าวระดับโลก อาทิ BBC CNN และสำนักข่าวภายในประเทศต่างๆ แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของภาพนั้นส่วนใหญ่คือเหล่า บล็อกเกอร์ ทั้งภายนอกและภายในประเทศพม่า โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ท่ามกลางเหตุการณ์การประท้วง ทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวภาคประชาชน ส่งภาพและข้อมูลออกมาโดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต


 


เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าควบคุมสื่อมวลชนและการสื่อสารภายในประเทศทั้งหมดเรียกได้ว่า พม่าเกือบจะเป็นประเทศสุดท้ายของโลกที่เชื่อมตัวเองเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แม้ว่าสื่อมวลชนภายนอกพม่า ยกเว้นจีน จะเผยแพร่และให้ความสำคัญกับเหตุการณ์การณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า แต่สื่อมวลชนของพม่าที่ควบคุมโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร แทบจะไม่มีข่าวการประท้วงในประเทศตัวเองเลย ซ้ำยังเป็นกระบอกเสียงของเผด็จการ โจมตีสื่อต่างประเทศว่าบิดเบือนข่าว และออกข่าวใส่ร้ายแกนนำผู้ชุมนุมและพรรคฝ่ายค้าน


 


ซึ่งการกระทำดังกล่าวของสื่อมวลชนภายใต้รัฐบาลเผด็จการพม่า มิใช่เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะสำนักข่าวของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ใช้วิธีการเช่นนี้มาตลอดในทุกครั้งที่มีเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมือง ดังนั้นจึงเกิดสำนักข่าวทางเลือกของพม่า ที่ดำเนินการโดยสื่อมวลชน นักศึกษา และนักกิจกรรม ขึ้นมากมาย ตั้งแต่ยุคก่อนที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะเฟื่องฟูด้วยซ้ำ


 


และเมื่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแพร่ขยาย และประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น จึงเกิดเว็บไซต์ของสำนักข่าวทางเลือกเหล่านี้ อาทิ freeburma.org, irrawaddy.org หรือ mizzima.com เป็นต้น ที่นำเสนอเรื่องราวข้อเท็จจริงในแผ่นดินพม่า และเมื่อเผด็จการทหารพม่าไม่อาจต้านทางกระแสของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ได้ โดยยอมให้เกิดร้านอินเทอร์เน็ตขึ้นในร่างกุ้งและตามเมืองใหญ่ต่างๆ จากนั้น เว็บไซต์ อีเมล์ โทรศัพท์มือถือ และกล้องดิจิตอล จึงเป็นที่แพร่หลายของประชาชนคนชั้นกลางในเมืองใหญ่ต่างๆ ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์การชุมนุมครั้งใหญ่ ประชาชนหรือแม้แต่พระสงฆ์ที่เข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ จึงทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวภาคประชาชน นำเสนอภาพความป่าเถื่อนที่เป็นจริงในประเทศที่แนวชายแดนห่างจากกรุงเทพเพียง 150 กิโลเมตร


 


แม้ว่าปรากฏการณ์ บล็อกเกอร์ จะเกิดขึ้นอีกครั้งในเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เพราะรัฐบาลเผด็จการได้ปิดการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตทั้งหมด และ โทรศัพท์มือถือบางเครือข่าย จึงทำให้หลังจากวันที่ 27 กันยายน เป็นต้นมาจึงไม่ค่อยมีภาพหรือวีดีโอ ส่งมาจากในประเทศพม่ามากนัก


 


รายงานจากผู้สื่อข่าวของเว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซี ได้สัมภาษณ์ บล็อกเกอร์ ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในลอนดอนว่า เค้าไม่ได้รับข้อมูลที่ส่งผ่านเพื่อนของเขาในพม่าเลย รัฐบาลพม่าตัดการการสื่อสารเกือบทุกอย่าง ที่อาจทำได้คือการใช้โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม ซึ่งก็มีบทลงโทษรุนแรงมากในพม่า คือ จำคุกถึงสามปีครึ่ง อย่างไรก็ตาม เว็บบล็อกที่ดำเนินการโดย บล็อกเกอร์ ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ภายนอกประเทศ ก็พยายามอัปเดตข่าวและเหตุการณ์ รวมทั้งระดมความช่วยเหลือพระสงฆ์ และพี่น้องประชาชนที่เคลื่อนไหวอยู่ในประเทศพม่าในขณะนี้


 


เว็บบล็อกที่มีข่าวสารเหตุการณ์ในพม่าที่ได้รับความนิยม อาทิ ko-htike.blogspot.com หรือ mmedwatch.blogspot.com โดยเว็บบล็อกทั้งสองนำข่าวเหตุการณ์เป็นรายชั่วโมงก็ว่าได้ นอกจากนั้นยังมีภาพและวีดีโอ และลิงค์เชื่อมโยงไปยังเว็บบล็อกอื่นๆ ที่น่าสนใจคือเว็บบล็อกเหล่านี้ เป็นช่องทางให้ประชาชนทั้งชาวพม่าเองที่อยู่ในที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศได้สื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกันตลอดเวลา รวมทั้งเป็นเวทีที่ให้ประชาชนได้แสดงออกทางการเมือง โดยที่รัฐบาลเผด็จการพม่าไม่อาจควบคุมได้ทั้งหมด


 


ขณะที่ข่าวเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยของพระสงฆ์และประชาชนในเมืองต่างๆ การกระทำอันป่าเถื่อนของรัฐบาลเผด็จการทหาร และความสูญเสีย รวมทั้งข่าวการเคลื่อนไหวของประชาชนหน้าสถานทูตพม่าในประเทศต่างๆ ยังได้รับความสำคัญจากสื่อมวลชนอยู่


 


แต่หากวิเคราะห์สถานการณ์โดยรวมแล้ว จะเห็นว่าเหตุการณ์ในพม่าจะเพิ่มความรุนแรงและขยายระยะเวลายาวนานต่อไป โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่เริ่มผนึกกำลังกันต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการพม่า บทบาทของอาเซียน และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะในส่วนของจีนกับรัสเซียที่มีต่อสถานการณ์ในพม่า กระทั่งการอพยพข้ามพรมแดนครั้งใหญ่ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ยังเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนยังต้องจับตามอง เพื่อสะท้อนภาพความเป็นจริงให้กับประชาคมโลก หาทางกดดัน หรือ จัดการอย่างใดอย่างหนึ่งให้รัฐบาลเผด็จการทหารที่ป่าเถื่อนนี้หมดอำนาจไป และเป็นกำลังใจให้กับประชาชนชาวพม่าที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องเสรีภาพจากความป่าเถื่อนที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของตัวเอง


 


 


 


 


Burma Peace Group : เพื่อสันติภาพของประชาชนในพม่า


 


burmapeacegroup@gmail.com


 


Burma Peace Group เป็น คณะทำงานเฉพาะกิจที่เกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการ สื่อมวลชน นักพัฒนา ที่คลุกคลีกับประเด็นพม่ามาโดยตลอด พวกเรามีความคิดเห็นว่าท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมในประเทศพม่าที่เริ่มมา ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2550 เป็นต้น มา สามารถรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤติได้ในอนาคต ทำให้มีความจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องรับรู้ข้อมูลประเด็นพม่าในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่จะรับมือกับสถานการณ์อย่างเท่าทัน


 


คณะทำงาน : พรพิมล ตรีโชติ งามศุกร์ รัตนเสถียร วสุ ศรียาภัย วันดี สันติวุฒิเมธี


                  อดิศร เกิดมงคล ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ สุชาดา สายหยุด


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net