Skip to main content
sharethis


 


 


วันที่ 2 ต.ค.50 ชาวบ้านสมัชชาคนจน ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา กว่า 3,000 คน จาก 6 อำเภอ 3 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และศรีสะเกษ ปักหลักยึดหัวงานเขื่อนราษีไศล หลังกรมชลประทานเบี้ยว ไม่ดำเนินการตามผลการเจรจา แกนนำยืนยันไม่เสร็จไม่กลับ


 


นายไพทูรย์ โถทอง อายุ 47 ปี แกนนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล บ้านผึ้ง ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้มีผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล-หัวนา จาก 6 อำเภอ 3 จังหวัด และชาวบ้านผึ้งก็มาชุมนุมด้วยกว่า 300 คน


 


"สำหรับข้อเรียกร้องในการชุมนุมครั้งนี้ คือ ให้มีการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ที่ยังไม่ดำเนินการเรียกประชุมคณะทำงานระดับอำเภอ แม้ว่าจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมาแล้ว ที่ผ่านมากรมชลประทานก็ไม่เข้ามาแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด ชาวบ้านจึงต้องมาชุมนุมเรียกร้องกันในวันนี้ เพื่อให้กรมชลฯ เรียกประชุมคณะทำงานระดับอำเภอพร้อมกันทั้ง 6 อำเภอ จะได้กำหนดและวางกรอบการทำงานเป็นรูปแบบเดียวกันในการแก้ไขปัญหา เพราะที่ผ่านมากรมชลฯ ใช้กลโกง นัดประชุมคณะทำงานแยกแต่ละอำเภอ แยกขบวนชาวบ้านให้ขัดแย้ง เข้าใจผิดกัน" นายไพทูรย์ กล่าว


 


ทั้งนี้ เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนานั้นเป็น 2 ใน 14 เขื่อนภายใต้โครงการโขง -ชี-มูล ซึ่งจะก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำชีและมูล เริ่มต้นเมื่อปี 2532 และชาวบ้านในพื้นที่เริ่มต่อสู้เรื่องผลกระทบที่ได้รับมาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน ความคืบหน้าในการแก้ปัญหามีการพิสูจน์สิทธิและรังวัดพื้นที่อ่างเก็บน้ำราศีไศลกว่า 100,000 ไร่แล้ว และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ให้จ่ายค่าชดเชยแก่ชาวบ้านอีกครั้งเป็นจำนวน 200 กว่าล้านบาท


 


อย่างไรก็ดี นายสมัย หงส์คำ ชาวบ้านราศีไศลกล่าวว่า กรมชลประทานได้ใช้ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อเดือนธันวาคม 2530 เทียบกับการรังวัดในพื้นที่ ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงน้ำหลากตามสภาพภูมินิเวศแบบป่าทาม ทำให้ชาวบ้านบางคนที่เคยมีที่ดินทำกิน 10 ไร่ก็ปรากฏว่าในภาพถ่ายทางอากาศเหลือไม่ถึงไร่


 


"เราต้องการให้มีหลักเกณฑ์ในการพิสูจน์สิทธิการทำประโยชน์ ขบวนการของกรมชล ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะเอาเปรียบชาวบ้าน จึงเสนอให้สร้างหลักการใหม่ โดยยึดมติ ครม.ที ่เคยออกมาแล้วเมื่อ 1 ก.พ.43" นายสมัยกล่าว


 


นายไพทูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมชลฯ ทำงานตามอำเภอใจ ไม่ยึดหลักเกณฑ์ ตามมติ ครม. 1 กุมภาพันธ์ 2543 ทำให้เกิดความขัดแย้งไม่รู้จบ เป้าหมายการชุมนุมครั้งนี้คือ การให้กรมชลประประทานยอมรับหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และ คณะทำงานระดับอำเภอ ต้องพิจารณาตามเอกสารที่ราชการทำร่วมกับชาวบ้าน มาใช้ในการพิจารณาตั้งแต่คำร้องที่ยื่นกับกรมชลประทาน ผลการแจ้งการครอบครองเพิ่มเติม ผลการรังวัดตาม รว. 43 ก ผลการตรวจสอบของคณะทำงานระดับตำบล ซึ่งเป็นหลักฐานที่คณะทำงานต้องนำมาพิจารณาประกอบกับผลการอ่านแปรภาพถ่ายทางอากาศ ไม่ใช่ลักไก่เอาผลการรังวัดมาอ่านแปรภาพถ่ายอากาศตามแนวทางของกรมชลประทาน ส่วนการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสังคม โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น กรมชลประทานก็ไม่ได้ใส่ใจและให้ความสำคัญใดๆ เลย


 



 


ด้านนายสำราญ หอกระโทก อายุ 55 ปี ชาวบ้านบ้านนาแปะ ตำบลหนองอึ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ แกนนำชาวบ้านเขื่อนหัวนา กล่าวว่า หมู่บ้านของตนมีผู้มาชุมนุมกว่า 100 คน และจะมีชาวบ้านเดินทางมาสมทบอีก มาครั้งนี้รู้แต่วันมา แต่ไม่รู้วันกลับ ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาแก้ไขปัญหา ว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ ถ้าตกลงกันได้ก็กลับ หากตกลงกันไม่ได้ชาวบ้านก็ยืนยันว่า จะยืนหยัดปักหลักชุมนุมยืดเยื้อต่อไป จนกว่าการแก้ปัญหาจะได้ข้อยุติที่น่าพอใจ


 


สำหรับชาวบ้านเขื่อนหัวนาอยากให้มีการรับรองการรังวัด รว. 43 ก ที่ได้ทำเป็นหลักฐาน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รับรองผลการรังวัด เพื่อนำไปศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป


 


ทางด้านนายจรรยา สุคนธชาติ นายอำเภอราษีไศล กล่าวว่า ในฐานะฝ่ายปกครองในพื้นที่ได้ประสานงาน และอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม เช่น น้ำกินน้ำใช้ ยา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย สำหรับการแก้ไขปัญหานั้นคาดว่า ในช่วงบ่ายท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ จะเดินทางมาพบปะผู้ชุมนุม ส่วนการแก้ไขปัญหาของกรมชลฯนั้น นายจรรยา คิดว่าทางผู้ชุมนุมก็น่าจะเข้าใจเพราะกรมชลฯ รับงานต่อมาจากกรมพัฒนาพลังงานด้วย นายจรรยา กล่าว


 


ทั้งนี้ ในวันที่ 4 ต.ค.จะมีหน่วยงานต่างๆ ลงไปรับฟังปัญหาของชาวบ้าน ทั้งกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมเป็นพยาน


 


 


 


0000


 


 


 


 


 


 


แถลงการณ์ ฉบับที่ 1


 


สมัชชาคนจน เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา


 


ปัญหาเขื่อนราษีไศล - เขื่อนหัวนา ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม


 


 


 เป็นเวลา 15 ปีผ่านมาแล้ว ที่มีการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา บริษัทรับเหมาก่อสร้างก็ร่ำรวยและกลับบ้านไปแล้ว ข้าราชการก็ได้รับการเลื่อนขั้นได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า เปลี่ยนรัฐบาลมา 8 รัฐบาล เหลือไว้เพียงความทุกข์และผลกระทบให้กับชาวบ้านในพื้นที่ทั้งสองเขื่อนกว่าหมื่นครอบครัว


 


 ทุกวันนี้ ชาวบ้านราษี ฯ - หัวนา ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้แก้ปัญหาก็ยังคงเจอกับกลเกมและกลโกงของหน่วยงานราชการ ด้วยการสร้างเงื่อนไขอุปสรรคต่างๆนานาในการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์ของผู้เดือดร้อน เตะถ่วงเวลา ทั้งใช้กลวิธีแยกสลายให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนแตกแยกสามัคคีกันเอง


 


 ภายหลังที่สมัชชาคนจนได้ชุมนุมเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาของเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา มีแนวทางปฏิบัติและความคืบหน้าในระดับนโยบายพอสมควร แต่ในพื้นที่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานพยายามบ่ายเบี่ยงการแก้ไขปัญหา ดึงการแก้ไขปัญหาให้ช้าลงไปอีก เช่น กรณีเขื่อนหัวนา เจ้าหน้าที่กรมชลประทานอ้างว่า ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ต้องรอตรวจสอบผู้เดือดร้อนที่ยังไม่ได้เรียกร้อง และรอผลการศึกษารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมก่อน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกกังวลใจเป็นอย่างยิ่งเพราะกระบวนการแก้ไขปัญหาต้องหยุดชะงัก เหมือนกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ กรณีเขื่อนราษีไศล เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ไม่ประสานให้เกิดการประชุมในระดับอำเภอ อ้างว่าไม่มีอำนาจสั่งการ และยังประกาศให้สลายการเป็นสมัชชาคนจน ให้มาลงทะเบียนกับกรมชลประทานจึงจะได้รับการแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้น


 


 วันนี้ พวกเราสมัชชาคนจน เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ไม่สามารถทนการ เบี้ยวและกลโกงนี้ได้อีกต่อไป จึงขอประกาศใช้สิทธิชุมนุมใหญ่ที่หัวงานเขื่อนราษีไศล ในวันที่ 2 ตุลาคม 2550 เป็นต้นไป โดยเรียกร้องให้มีการเปิดเจรจาเพื่อให้แก้ไขปัญหา ดังนี้


 


 กรณีเขื่อนราษีไศล ให้ได้หลักการ ขั้นตอนและแผนงานของคณะกรรมการระดับอำเภอทั้ง 6 อำเภอในการพิจารณาการทำประโยชน์ในที่ดินทำกินของราษฎร และให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนงานและงบประมาณการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสังคม ของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 กรณีเขื่อนหัวนา ให้มีการรับรองผลการรังวัดตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ในเขตอำเภอราษีไศลและอำเภอกันทรารมย์ และขอให้จ่ายงบประมาณในการทำงานรังวัดที่ดินส่วนของราษฎร จำนวน 117,000 บาท และให้มีการเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม


 


 เราขอประกาศว่า เราจะชุมนุมอย่างสงบและยาวนาน จนกว่าจะบรรลุผลข้อเรียกร้องและได้รับความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของเรา


 


 สมัชชาคนจน เขื่อนราษีไศล - เขื่อนหัวนา


 


 2 ตุลาคม 2550


 


 หัวงานเขื่อนราษีไศล


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net