Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2550 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ มีการเสวนาเรื่อง "ทิศทางร่างกฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน" จัดโดยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน คณะกรรมาธิการการแรงงาน และสวัสดิการสังคม สนช.ร่วมกับ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เพื่อติดตามความคืบหน้าของการทบทวนพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ฉบับรัฐบาล และฉบับคณะกรรมาธิการการแรงงานฯ สนช.


 


โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ได้เสนอ ว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ... ของกระทรวงแรงงานนั้น น่าจะได้รับพิจารณาทบทวนในหลักการ โดยเห็นควรกำหนดความคุ้มครองสำหรับผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน ให้เท่าเทียมกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานอื่น อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้ยืนยันหลักการร่างกฎหมายตามที่เสนอ ครม.ไป


 


ขณะเดียวกัน ด้านคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณายกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ตามข้อเสนอบางส่วนของเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ โดยคาดว่าจะเสนอต่อ สนช.ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้


 


ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ อนุกรรมการสิทธิแรงงาน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตถึงร่างกฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านว่า เหตุใดจึงบังคับใช้เฉพาะกับการจ้างโดยเอกชน แต่ไม่รวมถึงการจ้างโดยรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐ เช่น กทม. หรือกระทรวง โดยให้งานเหล่านั้น เป็นการจ้างงานอื่นตามกฎกระทรวง ซึ่งรัฐมนตรีจะใช้ดุลยพินิจตรากฎหมายใช้แทน ทำเช่นนี้ แปลว่าเราอนุญาตให้มีการปฏิบัติต่ำกว่ากฎหมายหรือไม่


 


ชฤทธิ์ กล่าวว่า สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเขียนให้กฎหมายนี้บังคับใช้กับการจ้างโดยรัฐวิสาหกิจหรือรัฐ หรือไม่นั้น ยังต้องคงหลักการว่า จะไม่ปฏิบัติกับผู้รับงานจากรัฐวิสาหกิจหรือรัฐต่ำกว่ามาตรฐานกฎหมายอื่น


 


ทั้งนี้ อย่างที่ทราบกันว่า งานที่รับไปทำที่บ้าน เป็นการจ้างเหมาช่วง หรือจ้างเป็นทอดๆ ไป ซึ่งไม่แน่ใจว่า มาตรา 4 ในร่างทั้งฉบับของกระทรวงแรงงานและ สนช.ที่ระบุว่า ถ้าผู้ประกอบการ จ้างให้ใครรับงานไปทำที่บ้าน แล้วคนนั้นไปจ้างต่อ จะถือว่าตั้งแต่ผู้ประกอบการตลอดจนผู้รับจ้างช่วงเป็นผู้จ้างงานนั้น ชฤทธิ์ เกรงว่าจะกระทบไปถึงชาวบ้านที่แบ่งงานกันทำ ทำให้กลายเป็นผู้รับเหมาช่วงไปด้วย จึงเสนอให้มีเกณฑ์ให้ชัดเจน ว่าอะไรคือการจ้างช่วง อะไรคือการรับเหมาช่วง เพื่อจะได้ไม่ปนกัน ไม่ทำให้คนที่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นผู้จ้าง แต่ต้องกลายเป็นผู้จ้างตามนิยามกฎหมาย ซึ่งคิดว่าไม่เป็นธรรม และจะเกิดการหลบเลี่ยงไปใต้ดิน จนดูแลไม่ทั่วถึง


 


ด้านคณะกรรมการระดับชาติ ที่จะกำกับดูแลออกกฎหมายนั้น อยากให้มีเครือข่ายภาคประชาชน เอ็นจีโอที่ปฏิบัติงานด้านนี้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เนื่องจากมีประสบการณ์เรื่องนี้มานาน


 


ส่วนเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงานของผู้รับงานไปทำที่บ้านนั้น แม้ร่าง พ.ร.บ.ของกระทรวง จะระบุว่า ให้การส่งเสริมเป็นมาตรการเชิงบริหารของคณะกรรมการ แต่เขาเห็นว่า เรื่องนี้ควรเป็นสิทธิของผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จะได้รับการส่งเสริมพัฒนา เพราะลักษณะพิเศษของงานที่ต่างจากงานในระบบ ที่มีงานและอุปกรณ์ แต่ผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องรอรับงาน รวมถึงซื้ออุปกรณ์เอง


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net