Skip to main content
sharethis

 


หลังจาก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 5 กระทรวง ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 คน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข องค์กรละ 1 คน ได้แก่ แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ และสภากายภาพบำบัด ผู้แทนคณะกรรมการวิชาชีพที่ตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ 1 คน ได้แก่ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ 6 คน ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร 13 คน รวมทั้งสิ้น 39 คน


 


 คสช. มีหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ จัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ติดตามและประเมินผลระบบสุขภาพและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ รวมถึงสนับสนุนการจัดสมัชชาสุขภาพด้วย ดังนั้น คสช. จึงเป็นผู้เชื่อมประสานให้ทุกฝ่ายในสังคมให้ร่วมกันพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ


 


            วันนี้ 29 กันยายน 2550 ที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช เผยว่า ในการประชุมเพื่อเลือกกันเองขององค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรเพื่อให้ได้ผู้แทนเขตละ 1 คน จาก 75 จังหวัด มีผู้แทนที่ได้รับเลือกจากจังหวัดต่างๆ มาเลือกกันเองเป็นผู้แทนเขตเข้าไปดำรงตำแหน่ง คสช. มีดังนี้


 


เขต 1    ได้แก่    รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จ. นนทบุรี


เขต 3    ได้แก่    นายสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา


เขต 5    ได้แก่    ผศ. ดร.วิรัติ ปานศิลา จากจังหวัดมหาสารคาม


เขต 6    ได้แก่    รศ.ดร.ศิริชัยย์ ชัยชนะวงศ์ จากจังหวัดขอนแก่น


เขต 8    ได้แก่    นายณรงค์ ตั้งศิริชัย จังหวัดนครสวรรค์


เขต 9    ได้แก่    นายสุรพงษ์ พรมเท้า จากจังหวัดเพชรบูรณ์


เขต 10 ได้แก่     นายสนั่น วุฒิ จากจังหวัดเชียงใหม่


เขต 11 ได้แก่     นางมาริษา เนตรใจบุญ จังหวัดระนอง


เขต 12 ได้แก่     นายคล่อง ชื่นอารมณ์ จังหวัดสตูล


เขต 13 ได้แก่     นายแพทย์ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิเด็กพิการ กทม.


 


ส่วนเขต 2 ,4 และ 7 ไม่สามารถเข้ามาเลือกได้เพราะผู้แทนจังหวัดที่ได้รับเลือกขาดคุณสมบัติ ต้องเลือกกันใหม่ในระดับจังหวัด แล้วจึงมาประชุมเพื่อเลือกกันเองในระดับเขตต่อไป


 


            ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิมีผู้สมัครทั้งสิ้น 161 คน แบ่งเป็น 6 กลุ่ม มีการเลือกกันเองทางไปรษณีย์ ได้มีการเปิดซองนับคะแนนในวันเดียว ผลการคัดเลือกปรากฏว่า


 


กลุ่ม 1 นโยบายสาธารณะ บริหาร รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ได้แก่ นายยรรยงชัย โควัฒนาภรณ์ ผู้จัดการบริษัท Meisei International จำกัด


 


กลุ่ม 2 สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร รองประธานกรรมการและกรรมการบริษัทองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย มหาชน จำกัด


 


 กลุ่ม 3 ธุรกิจ ได้แก่ นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา เจ้าของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งโรงงานทำเสื้อผ้าสำเร็จรูป


 


กลุ่ม 4 พัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ รศ.ดร.เสรี พงค์พิศ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน


 


กลุ่ม 5 พัฒนาประชาชนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ได้แก่ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์จากสถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


 


กลุ่ม 6 ผู้เคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการปฎิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ หรือคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หรืออนุกรรมการที่คณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้ง ได้แก่ นายสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์


 


            ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งกันเองทางไปรษณีย์เช่นกัน มีการเปิดซองนับคะแนน ผลปรากฏว่า มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีผู้สมัคร 6 คน ผู้ได้คะแนนสูงสุด ได้แก่ นายชัยพร ทองประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ นายกเทศมนตรี มีผู้สมัคร 31 คน ผู้ได้คะแนนสูงสุด ได้แก่ นายวิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพนัสนิคม จ.ชลบุรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีผู้สมัคร 63 คน ผู้ได้คะแนนสูงสุดได้แก่ นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ จังหวัดเพชรบุรี ส่วนผู้ว่า กทม.และนายกเมืองพัทยามีการเลือกกันเองไปแล้วเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับเลือกเป็น คสช.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net