Skip to main content
sharethis

มุทิตา เชื้อชั่ง


 


 


 


ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา หากยังจำกันได้จะเห็นข่าวชาวบ้านรวมกลุ่มกันต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าไออาร์พีซี ของบริษัทลูกของ ปตท.ที่ จ.ระยอง และโรงไฟฟ้าของบริษัทล็อกซ์เล่ย์ ที่ จ.สมุทรสงคราม เป็นการรวมตัวของประชาชนในพื้นที่ครั้งใหญ่นับหมื่นคนแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และเป็นข่าวหน้าหนึ่งอยู่หลายวัน


 


ที่ จ.ระยอง ชาวบ้านรวมตัวชุมนุมปิดหน้าโรงงานไออาร์พีซีกัน 3 วัน จนกระทั่งผู้บริหารเจ้าของโครงการขนาด 1,600 เมกะวัตต์รับปากจะไม่ยื่นซองประกวดราคาไอพีพี (โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่) ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่รัฐเปิดรับโครงการโรงไฟฟ้าของเอกชน 3,200 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนาพลังงาน 2007 หรือ พีดีพี 2007


 


นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ประกาศชัดโดยตัวมันเองว่า เรื่องของชาวบ้านจะไม่ใช่ผงฝุ่นอีกต่อไป เพราะในขณะที่ภาครัฐยังคงยืนยันว่าต้องจัดหาไฟฟ้าให้ประเทศในช่วง 15 ปีข้างหน้า ถึง 39,676.25 เมกะวัตต์ โดยแบ่งสัดส่วนที่จะต้องสร้างใหม่เพิ่มเป็นถ่านหิน 2,800 เมกะวัตต์ ก๊าซ 18,200 เมกะวัตต์ นิวเคลียร์ 4,000 เมกะวัตต์  "พื้นที่เป้าหมาย" ต่างๆ กลับมีปฏิกิริยาที่ทำให้นักลงทุนและรัฐปวดหัว 


 


อันที่จริงมีการต่อต้านของชาวบ้าน อย่างน้อยก็กลุ่มอนุรักษ์สายแข็งจาก จ.ประจวบฯ ตั้งแต่ตอนทำร่างพีดีพีแล้ว ถ้าจำได้ มีการประท้วงกันจนการรับฟังความเห็นล่มไปครั้งหนึ่งเมื่อช่วงต้นปี โดยปัญหาสำคัญที่เอ็นจีโอและประชาชนโวยหนักคือ ขาดการมีส่วนร่วมของส่วนอื่นๆ ในการกำหนดแผน และขาดความโปร่งใสเนื่องจากไม่มีการเปิดเผยแผนให้มีเวลาได้ศึกษาอย่างเพียงพอ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรพีดีพีก็คลอดออกมามีรูปร่างหน้าตาอย่างที่เห็น และทำให้ "ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์" ได้รับการพูดถึงไปอีกนาน ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีพลังงานคนแรกที่ใส่ "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ไว้ใน "แผน" ได้สำเร็จ ถึง 4,000 เมกะวัตต์ มูลค่า 204,000 ล้านบาท ตั้งใจให้แล้วเสร็จในปี 2563


 


แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์ดูเหมือนจะซาลงไปแล้ว แต่ไม่ต้องเป็น "หมอลักษณ์" ก็ฟันธงได้เลยว่า งานนี้ไม่จบง่ายๆ จึงน่าที่จะทำความรู้จักพลังมวลชนอย่างน้อยใน 2 พื้นที่ที่เป็นข่าว ซึ่งไม่มีประวัติการต่อสู้ดุดันเหมือนอย่างชาวประจวบฯ และก่อนหน้านี้ไม่มีวี่แววว่าจะรวมกลุ่มกันได้มากขนาดนี้


 


เมื่อคนระยองร้อง...ไม่ไหวแล้วฮิ !


ระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีปัญหามลพิษขึ้นชื่อ โดยเฉพาะที่มาบตาพุด จนเกิดกระแสร่ำๆ ว่าจะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเมื่อต้นปี แต่แล้วก็ไม่สำเร็จ เพราะเหตุสารพัด แต่ที่แน่ๆ ที่นั่นต้องรองรับโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 3 มูลค่ากว่า 400,000 ล้านบาท


 


คนมาบตาพุดออกมาแถลงข่าวครั้งแล้วครั้งเล่า ที่จะเห็นหน้าบ่อยๆ คือ ลุงเจริญ เดชคุ้ม ตั้งแต่ครั้งแกยังมีอารมณ์เขียนกลอนสะท้อนหัวอกคนในพื้นที่ จนตอนนี้แกเลิกเขียนกลอนไปแล้ว และโรงไฟฟ้าถ่านหิน "บีแอลซีพี" ของบริษัทบ้านปู ในพื้นที่มาบตาพุด กำลังการผลิตถึง 1,434 เมกกะวัตต์ ก็ถมทะเลสร้างกันแล้วเรียบร้อย แต่ทำไมถึงคราว "ไออาร์พีซี" ชาวบ้านไหลมาเทมาเป็นหมื่นๆ จนมีผลให้โครงการชะงัก เจ้าของโครงการรับปากจะไม่ยื่นซองประมูลไอพีพีไปได้ ?


 


แกนในการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งในภายหลังได้แยกกลุ่มออกมาเพื่อต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้านี้โดยเฉพาะชื่อว่า "เครือข่ายชาวระยองรักษ์สิ่งแวดล้อมและผืนแผ่นดินมาตุภูมิ" มีแกนนำเด่นๆ คือ "สุทธิ อัชฌาสัย" และพรรคพวก ซึ่งเริ่มตั้งกลุ่มทำงานเย็นอย่างการอนุรักษ์เมืองเก่า ตลาดเก่า จนต่อมาต้องมาจับงานร้อน ตอนปี 2548 ที่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำที่ภาคตะวันออก ถ้าจำได้ ตอนนั้น ชาวบ้านกับอุตสาหกรรมแย่งน้ำกันอุตลุด โดยมีภาครัฐที่คอยจัดการแบบเอียงข้างเข้าหาอุตสาหกรรม เดชะบุญท้ายที่สุดฝนตก เลยพอถูไถกันไป มาถึงตอนนี้เขาและกลุ่มก้าวเป็นแกนนำการต่อต้านโรงไฟฟ้าอย่างเต็มตัวแล้ว


 


"กนิษฐ์ พงษ์นาวิน" เป็นแกนอีกคนหนึ่งในทีม เธอเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังปรากฏการณ์ที่คนระยองเริ่มลุกขึ้นสู้รอบนี้ว่า ขบวนการให้ความรู้คนในพื้นที่มีมาตลอด 3-4 เดือน โดยมีทั้งการจัดสัมมนา เชิญนักวิชาการและส่วนต่างๆ ลงไปพูดคุยแลกเปลี่ยน เรื่องผลกระทบจากโรงไฟฟ้ามากกว่า 20 ครั้ง ประกอบกับ ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าไออาร์พีซีนั้นคือพื้นที่ต่อขยายจากกลุ่มโรงงานของไออาร์พีซีเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งมีโรงไฟฟ้าของตัวเองด้วย โดยตั้งอยู่กับชุมชนที่ส่วนใหญ่ทำสวนผลไม้ใน ต.เชิงเนิน อ.เมือง การมาระลอกใหม่ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้ชาวบ้านแถบนั้น ทั้ง ต.เชิงเนิน, ต.ตะพง, .นาขวัญ, .บ้านแลง รวมถึงเขตเทศบาลเมือง ตื่นตัวกันมาก ร่วมกันเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพ เพราะไม่อยากเป็นเช่นที่มาบตาพุด


 


"ที่มาบตาพุดคนเขาอยู่ไม่ไหวก็ย้ายออก คนที่เหลือก็หมดอาลัยตายอยาก ไม่สู้ เขาสู้มานานจนหมดแรงออกมาแล้ว"


 


"เพราะเห็นตัวอย่างมาบตาพุด ปัญหาเดิมๆ แก้ไม่ได้ พวกเราพยายามร้อง แต่ก็ได้แต่ตั้งคณะกรรมการ มีการร่างแผนอะไรต่อมิอะไร แต่ก็ไม่ทำอะไรเลย ประชาชนจึงไม่มั่นใจอีกต่อไป"


 


งานนี้ผิดกับที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งโรงไฟฟ้าก๊าซของบริษัทกัลฟ์ฯ กำลังการผลิตกว่า 1,400 เมกะวัตต์ แม้จะตั้งใกล้ชุมชนมากกว่า คือ ห่างเพียง 1 กม.กว่า แต่การต่อต้านเป็นไปอย่างจำกัด และมีความแตกแยกกันในกลุ่มคนในพื้นที่ จนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอยซึ่งคัดค้านเรื่องนี้อ่อนกำลังลงไป แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังจะเห็นพวกเขาเข้าร่วมการประชุมกับเครือข่ายอื่นๆ เสมอ รวมถึงในเวทีสัมมนา อภิปรายเรื่องพลังงานต่างๆ


 


กนิษฐ์บอกว่า แม้โรงไฟฟ้าจะเข้ามาประชาสัมพันธ์ว่าจะจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าให้ถึง 80 ล้านเมื่อปักเสาเข็มต้นแรก และหากเดินเครื่องได้จะให้อีก 280 ล้านต่อปี ชาวระยองก็ยังแสดงจุดยืนคัดค้านเหนียวแน่น และเมื่อถึงวันนัดหมายชุมนุมใหญ่วันที่ 3-5 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้คนก็มาร่วมมากอย่างเกินความคาดหมาย


 


"ชาวบ้านกระหายข้อมูลมาก ทำเอกสารมาเท่าไหร่ก็ไม่พอ มันเหมือนเขาเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง แล้วพวกเราเพียงแต่กระตุ้น มีการประสานกันกับนักวิชาการส่วนกลางด้วยในเรื่องข้อมูล" กนิษฐ์กล่าวพร้อมระบุว่าก่อนหน้านั้นพวกเขาได้พากันไปยื่นหนังสือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนหมดไม่มีเหลือแล้ว แต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น


 


จากการพูดคุยกับป้าชาวระยองคนหนึ่งเมื่อครั้งที่รวมกลุ่มกันมายื่นชื่อคัดค้านโครงการนี้ที่หน้าทำเนียบเมื่อวันที่ 11 .. แกบอกหนักแน่นว่า คนในพื้นที่ต้องการเพียงสภาพแวดล้อมเดิมให้ได้ทำมาหากินแบบที่เป็น และพวกเขาไม่เคยเชื่อว่าเงินกี่สิบกี่ร้อยล้านบาทจะไปถึงชาวบ้านจริง หรือจะแก้ไขปัญหาผลกระทบให้ชาวบ้านได้ "ดูอย่างที่แม่เมาะนั่นไง" 


 


ในหมู่คนเมืองอาจไม่รู้เรื่อง - ไม่รู้สึก แต่ในหมู่ชาวบ้านที่มีการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มการต่อสู้ต่างๆ พวกเขารู้ดีว่า "แม่เมาะ" เจ็บปวดมาอย่างยาวนาน และจนปัจจุบัน แม้เรื่องราวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ค่าชดเชย การจัดการย้ายที่อยู่ใหม่ก็ยังแก้กันไม่จบสิ้น


 


ส่วนเรื่องเงินทุนสนับสนุน กนิษฐ์ ยืนยันว่า เป็นการจัดการระดมทุนในกลุ่มชาวบ้านกันเอง โดยในการนี้น่าแปลกใจที่กลไกอำนาจรัฐระดับเล็กอย่าง "ผู้ใหญ่บ้าน" "กำนัน" อย่างน้อยใน 2-3 พื้นที่ก็เห็นด้วย และให้การสนับสนุนชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้หญิง โดยพวกเขารู้ดีว่าแม้จะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเพ่งเล็งหรือบีบคั้นจากผู้บังคับบัญชา แต่ก็มั่นใจได้ว่าจะมีชาวบ้านกลุ่มใหญ่หนุนหลังชนิดพร้อมชนผู้ว่าฯ เลยทีเดียว


 


ถึงตอนนนี้กลุ่มก้อนชาวระยองกำลังติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการโรงไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในวันที่ 19 ..นี้ ที่จะมีการประมูลราคาของไอพีพีกันอย่างเป็นทางการ


 


"ถ้าเขามีก๊อก 2 เราก็พร้อมจะออกมาอีกทันที" กนิษฐ์กล่าวทิ้งท้าย


 


สมุทรสงคราม...ความน่ากลัวของความเล็ก


สมุทรสงคราม เป็นจังหวัดเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 200,000 คน แต่ข่าววันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมามีคนมาชุมนุมประท้วงหน้าองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เกือบหมื่นคน


 


"บุญยืน ศิริธรรม" เป็นแกนนำคนสำคัญที่มีบทบาทคัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐหลายโครงการในพื้นที่ โดยเฉพาะโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ) เธอให้ความเห็นว่า ด้วยการทำงานกับประชาชนในพื้นที่มานับสิบปีในหลากหลายประเด็น ทั้งที่ได้ลงหน้าหนึ่งและไม่ได้ลงหน้าหนึ่ง มันทำให้ผู้คนที่นี่มีความตื่นตัวและค่อนข้างเป็นเอกภาพ


 


ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ชาวบ้านจาก สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี หลายพันคนได้รวมตัวกันครั้งหนึ่งแล้วเพื่อคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แบ็บค็อก แอนด์ บราวน์ จำกัด กำลังการผลิต 800 - 1600 เมกะวัตต์ ซึ่งจะตั้งที่ ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม 


 


โจทย์สำคัญของนโยบาย...พีดีพี 2007 แค่ฉีกซอง เติมน้ำร้อน ยังกินไม่ได้


ไม่เพียงที่ จ.ระยอง และจ.สมุทรสงครามเท่านั้น แต่ยังมีการประท้วงของชาว จ.ราชบุรี ที่คัดค้านโรงไฟฟ้าจอมบึงของบริษัทราชบุรีฯ กำลังการผลิตกว่า 1,400 เมกะวัตต์ หลังจากที่บอบช้ำมาแล้วกับ 7,400 เมกะวัตต์ที่กำลังเดินเครื่องอยู่ตอนนี้ในราชบุรี ส่วนที่ อ.บางปะกอง จ.ฉะเชิงเทรา ก็มีการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทอิตาเลียน-ไทย กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ ฯ


 


ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นอีกมากมายหลายพื้นที่ออกมาต่อต้าน เพราะไม่ว่าเอกชนจะรับประกันความอยู่ดีมีสุขของชาวบ้านด้วยเทคโนโลยีทันสมัยอย่างไร รัฐจะรับประกันความเป็นธรรมด้วยกลไกชนิดไหน กรณีปัญหาเก่าๆ ของชาวบ้านตัวเล็กๆ ในหลายพื้นที่ยังตอกย้ำว่า พวกเขายังถูกเอาเปรียบและละเลยเสมอ การรวมกลุ่มจึงเป็นพลังสำคัญในการต่อต้าน หรือท้ายที่สุดอาจหมายถึงการต่อรองที่มีประสิทธิภาพสำหรับคนตัวเล็กๆ


 


นอกจากนั้น ในขณะที่คนเมืองเชื่องกับคำอธิบายของรัฐว่าด้วยการจัดการไฟฟ้าให้เพียงพอสำหรับประเทศ เชื่อในคำโฆษณาอันสวยหรูของบริษัท แต่ชาวบ้านในหลายพื้นที่กลับตั้งต้นศึกษา "พีดีพี" อย่างละเอียด โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ประมาณเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพิ่งจะมีการประชุม (เกือบ) ลับ เพื่อพูดคุยเรื่องนี้ และแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้กันระหว่างพื้นที่ต่างๆ โดยอาศัยข้อมูลอีกด้านของนักวิชาการและเอ็นจีโอที่ว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยเท่าที่มีนั้นเพียงพอต่ออนาคต 10-15 ปี หากมีการจัดการที่เหมาะสม และแนวทางการพัฒนาพลังงานด้านอื่นนั้นมีศักยภาพหากได้รับการสนับสนุนจริงจัง


 


ดูจากข้อเรียกร้องของทั้งระยองและสมุทรสงครามที่นอกเหนือจากต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่แล้ว ต่างยังต้องการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าด้วย


 


.... ไม่ว่ามองจากมุมอื่นๆ แล้ว การคัดค้านของชาวบ้านเหมาะสมเพียงใด แต่ใครจะปฏิเสธได้ว่า นี่คือการดิ้นรน กระเสือกกระสน พยายามจะมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชน


 


ดังนั้น ทั้งรัฐและเอกชนดูเหมือนคงมีแนวโน้มสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าใช้เชื้อเพลิงแบบไหน มิพักต้องกล่าวถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ยังต้องผ่านการถกเถียงกันอีกมาก


 


หากการวางแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยยังมีตัวเลขสูงเกินความเป็นจริงอยู่เช่นนี้ เป็นไปได้ว่า เมื่อสร้างกันในเมืองไทยไม่ได้ แนวโน้มการลงทุนด้านการผลิตไฟฟ้าอาจจะไปอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มขึ้นจากที่วางเอาไว้เดิม .... โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพสูงอย่างพม่า ถึงเวลานั้นเราจะไม่เจ็บปวด แต่ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในพม่าจะเป็นผู้โดนไล่ที่ ถูกทำร้าย ถูกเกณฑ์แรงงาน ฯลฯ แทน


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net