Skip to main content
sharethis


โดย สำนักข่าวประชาธรรม


ผู้สื่อข่าวรายงายว่า การชุมนุมประท้วงของพระสงฆ์ และประชาชนในประเทศพม่าหลังจากที่รัฐบาลทหารพม่าได้มีการประกาศขึ้นราคาน้ำมันไปหลายเท่าตัวสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในประเทศพม่าอย่างมาก จนทำให้มีการออกมาชุมนุมเพิ่มเติมของประชาชนที่เคยอยู่ในความหวาดกลัวจากการปกครองของรับบาลทหารพม่ามาเป็นเวลานาน จนในวันนี้ยอกของผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนนับแสนคนแล้วนั้น


นายอดิศร เกิดมงคล คณะทำงาน Burma Peace Group กล่าวว่า ในความเป็นจริงนั้นมีความพยายามที่จะชุมนุมในประเทศพม่าเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างต่อเนื่อง  กรณีการขึ้นราคาน้ำมันนั้นเป็นเพียงสาเหตุหนึ่ง แต่ที่มีประชาชนออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมากนั้นเป็นการชุมนุมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ที่มีการปล่อยตัวผู้นำนักศึกษาออกมา แล้วหลังจากนั้นมีการชุมนุมของกลุ่มประชาชนที่ใส่ชุดขาวเพื่อการเรียกร้องสันติภาพ เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี และนักโทษการเมือง และในเวลานั้นก็มีเหตุการณ์น้ำท่วมที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน แต่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ากลับไม่ได้มีท่าทีเหลียวแลเลยสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างมาก


นายอดิศร กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐบาลทหารประกาศขึ้นราคาน้ำมันแรกๆ นั้น กลุ่มคนที่ออกมาประท้วงจะเป็นแกนนำนักศึกษาในปี 1988 หลังจากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวของทางฝั่งพระสงฆ์  ซึ่งช่วงแรกก็มีการจำกัดเฉพาะในเขตเมืองย่างกุ้ง หรือว่าหัวเมืองใหญ่ ๆ และจำกัดเพียงแค่บางวัดเท่านั้น ปัญหาก็คือว่าเมื่อมีการเคลื่อนไหวของพระ ทหารหรือว่ากลุ่มที่ได้ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นของรัฐบาลทหารก็มีความพยายามที่จะเข้าไปปราบปราม ก็เกิดการลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วงของพระ ทหารได้เข้ามาปิดล้อม แล้วในที่สุดก็เกิดการชุมนุมขยายตัวออกมา ซึ่งในการชุมนุมปีที่มีการล้อมปราบนักศึกษาเมื่อปี 1988 นั้นพระก็เป็นตัวเคลื่อนหรือว่าแกนนำหลักในการชุมนุม


"บทบาทของพระสงฆ์ในพม่านั้น มีบทบาทที่ใกล้ชิดกับชุมชนมาก ได้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีการเคลื่อนไหวของพระที่เกี่ยวกับชุมชนหรือว่าการเมืองมาเป็นเวลานาน  มีการนิยามคำสอนทางศาสนาเสียใหม่ในพม่าว่าการที่จะเข้าถึงพระธรรมได้นั้นจะต้องมีการที่จะหลุดพ้นออกจากการปกครองโดยเผด็จการทหารพม่า" นายอดิศร กล่าว


ส่วนสาเหตุที่พระสงฆ์จะต้องแสดงตัวเข้ามาชุมนุมในทางการเมือง นายอดิศร แจงว่า เพราะว่าในประเทศพม่านั้น การเคลื่อนไหวของประชาชนได้รับการจับตาจากรัฐบาลทหารพม่าสูงมาก อีกส่วนก็คือพระสงฆ์ในพม่าเชื่อมโยงในชุมชนอย่างเหนียวแน่น ซึ่งน่าที่จะมีความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเกือบ 100% เลยทีเดียว ซึ่งในประเทศไทยนั้นเวลาที่เรามองพระสงฆ์ของพม่า เรามองแบบไทยมากเกินไปคือมองว่าพระสงฆ์ควรที่จะห่างจากการเมือง หรือว่าไม่ยุ่งเกี่ยว มาถึงในวันนี้พระสงฆ์ที่ออกมาเคลื่อนไหวก็น่าจะเป็นเหตุจูงใจที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนออกมาเคลื่อนตาม


นอกจากนี้ นายอดิศร ยังกล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์รุนแรงนั้นประเมินได้ยาก แต่ว่ามีแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นคล้ายกับเมื่อปี 1988 นั้นสูงมาก แต่ทั้ง 2 ช่วงเวลานั้นมีความแตกต่างกันในรายละเอียดหลายอย่าง ซึ่งสถานการณ์ในประเทศพม่าตอนนี้นั้นเห็นได้ว่ามีการเคลื่อนกองกำลังทหารเข้าไปในเมืองย่างกุ้งมากขึ้น และเราไม่ได้เห็นบทบาทของผู้นำในระดับสูงของประเทศพม่าเลย โดยที่อาจจะมีการเตรียมการอะไรบางอย่าง มีการออกนอกประเทศของผู้นำระดับสูงซึ่งอาจเป็นสัญญาณบางอย่างว่าจะเกิดความรุนแรง แต่ว่าในระยะสั้น 1-2 วันข้างหน้านี้น่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะมีการจับตา มองจากข้างนอกประเทศเยอะ และการชุมนุมในเวลานี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการประชุมสหประชาชาติที่มีการจับตามองจากที่ประชุม


นายอดิศร กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับท่าทีของประเทศไทยนั้นต้องชัดเจนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าว่าจะไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามพระสงฆ์เพราะว่าถ้าหากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในพม่าปัญหาต่าง ๆ ก็จะตกอยู่กับประเทศไทยผู้อพยพจากภัยสงครามจะมีการอพยพเข้าประเทศเป็นแสนคนตอนนี้ประเทศไทยมีตัวแทนที่สำคัญที่นั่งอยู่ในเลขาธิการอาเซียนคือนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ดังนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่ไทยจะออกมาเป็นผู้นำแสดงบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธี


นายสมชาย หอมละออ นักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการขึ้นราคาน้ำมันนั้นเป็นเพียงแค่ชนวนหนึ่งในการชุมนุมประท้วง แต่ว่าสาเหตุหลักจริง ๆ แล้วน่าจะเป็นเพราะว่าประชาชนไม่พอใจในการปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารพม่ามานานแล้วในหลาย ๆ เรื่องและสะสมมาเป็นเวลานาน อย่างเช่นการที่ประชาชนต้องมีชีวิตที่ลำบากเดือดร้อน อย่างยากเข็ญภายใต้การปกครองโดยเผด็จการทหารพม่าหรือว่าภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ประชาชนต้องประสบปัญหาเดือดร้อนแต่ว่าผู้นำเผด็จการบางคนกลับหาความมั่งคั่งอยู่บนความทุกข์เหล่านั้น  หรือว่าเป็นเพราะปัญหาทางการเมืองที่การแสดงออกของประชาชนถูกจำกัดมาอย่างยาวนาน มีแกนนำที่เป็นปัญญาชนในประเทศพม่าที่ขับเคลื่อนประท้วงรัฐบาลทหารพม่ามาเป็นเวลานานที่นำโดย พรรค NLD ของนางออง ซาน ซู จี ซึ่งเรื่องเหล่านี้สะสมกันมาแล้วปะทุขึ้นเมื่อมีการประกาศขึ้นราคาน้ำมัน


"มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลทหารพม่าจะใช้ความรุนแรงในการปราบปรามเพราะพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในพม่า ซึ่งโดยวิสัยแล้วรัฐบาลทหารน่าจะไม่อดทนต่อเรื่องเหล่านี้ แล้วยิ่งถ้าหากไม่มีการเข้าไปกดดันโดยนานาประเทศ หรือการต่อต้านจากนานาชาติให้รัฐบาลทหารได้ยั้งคิด ไทยกับจีนน่าที่จะเป็นหลักในการออกมาเรียกร้องสันติวิธีในครั้งนี้" นายสมชาย กล่าว


นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นานาชาติควรที่จะสร้างแรงกดดันรัฐบาลทหารพม่าให้ไม่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่น่าจะเป็นแกนหลักเพราะว่าเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นประเทศไทยจะเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด และพระสงฆ์ในประเทศไทยควรที่จะมีส่วนในการเรียกร้องเรื่องนี้ด้วย ดังนั้นไทยจึงมีความชอบธรรมที่จะเรียกร้องออกไป.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net