Skip to main content
sharethis


วันที่ 26 ก.ย. 50  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รวมตัวกันบริเวณหน้ารัฐสภา ประมาณ 300 คน เพื่อยื่นหนังสือให้กับ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้หยุดการออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน 11 ฉบับ มีการตั้งเวทีกล่าวปราศรัยคัดค้านการร่างพระราชบัญญัติขายรัฐวิสาหกิจและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน 11 ฉบับ โดยมีแกนนำจากกลุ่มองค์กรและเครือข่ายต่างๆ สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวปราศรัย นอกจากนี้ยังมีป้ายผ้าที่มีข้อความว่า "หยุดกฎหมายขายชาติ ขายประชาชน"


 


กฎหมายทั้ง 11 ฉบับที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่ง กป.อพช. พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า มีเนื้อหาที่นอกจากจะไม่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแล้ว ยังเป็นภัยคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่


 1. ร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร


2. ร่างกฎหมายป่าชุมชน


3. ร่างกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน


4. ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยบูรพา


5. ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยทักษิณ


6. ร่างกฎหมายจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย


7. ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ


8. ร่างกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ


9. ร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำ


10. ร่างกฎหมายสภาการเกษตรแห่งชาติ


11. ร่างกฎหมายวัตถุอันตราย


 


ผู้ชุมนุมต่อต้านกฎหมายอันตราย 11 ฉบับ


 


และในวันนี้มีการเพิ่มกฎหมายที่ละเมิดสิทธิของประชาชนเพิ่มอีก 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงานและก๊าซธรรมชาติและ ร่างพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย


 




 แกนนำกลุ่มต่างๆ ตั้งเวทีปราศรัยบริเวณประตูทางเข้ารัฐสภา วิพากษ์ผลเสียของร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 11 ฉบับ


 


นายศิริชัย ไม้งาม อดีตเลขาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า "ถ้าเราไม่สามารถยุติหรือคัดค้านการร่างพระราชบัญญัติขายรัฐวิสาหกิจและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนได้ ก็เท่าเทียบกับว่าเรายอมยกประเทศนี้ให้แก่กลุ่มคนเพียงไม่กี่คนที่สมคบกันในการยึดอำนาจไปจากพี่น้องประชาชน สมคบกันในการทำร้ายชีวิตประชาชน เพราะฉะนั้นเป็นภารกิจของชาติ ภารกิจของประชาชนที่จะบอกให้ สนช. รับรู้ว่ากฎหมายเหล่านี้จะต้องไม่ออกมา"


 



นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช. ขึ้นเวทีแถลงจุดยืนต้านกฎหมายทั้ง 11 ฉบับ


 


เวลาประมาณ 12.00 น. นายจอน  อึ๊งภากรณ์ ได้เป็นตัวแทนยื่นจดหมายคัดค้านกฎหมาย 11 ฉบับ


พร้อมทั้งกล่าวว่า "ขอเรียกร้องให้ สนช.ยุติการพิจารณากฎหมายที่ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้ง 11 ฉบับทันทีเนื่องจาก สนช.ชุดนี้ไม่มีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงไม่มีความชอบธรรมเพียงพอที่จะพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชน ควรจะให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่มาจากประชาชนเป็นผู้พิจารณาต่อไป"


 



รองเลขาธิการ สนช. รับข้อเสนอจากตัวแทนภาคประชาชน


 



นายโคทม อารียา ประธานคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน สนช.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน


 


ด้านนายโคทม อารียา ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การมีส่วนร่วมของประชาชน สนช. ที่ออกมารับรับข้อเรียกร้อง กล่าวว่า กฎหมายทั้ง 11 ฉบับที่องค์กรประชาชนเรียกร้องให้สนช.ยุติการพิจารณานั้น หลายฉบับไม่ได้อยู่ในขั้นตอนของสนช.แต่อยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา หรือรัฐบาล ดังนั้นทางผู้เรียกร้องต้องไปเรียกร้องที่หน่วยงานนั้นๆ แต่สำหรับบางฉบับที่อยู่ในชั้นการแปรญัตติของกมธ.ในสนช.นั้นตนก็พร้อมที่จะนำความคิดเห็นของประชาชนไปสื่อสารให้กมธ.เข้าใจ


 


"ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่ว่าสนช.ไม่ควรพิจารณากฎหมายที่เข้าข่ายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่นพ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน ควรให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณา และอยากให้องค์กรประชาชนเข้ามาประสานกับสนช.มากขึ้นเพื่อให้ได้กฎหมายตามที่ประชาชนต้องการจริงๆ" นายโคทม กล่าว


 



สมาพันธ์แรงงานรับวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กว่า 100 คน เดินขบวนจากลานพระบรมรูปทรงม้าเข้ามาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภา


 


กระทั่งเวลา 14.00 น. เหตุการณ์โกลาหลก็เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามที่จะบุกเข้าไปภายในรัฐสภาเพื่อพบกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้ใช้บันไดพาดกับประตูรั้วรัฐสภาที่ถูกปิดล็อกอยู่ แล้วปีนข้ามกำแพงเข้าไปยังภายในรัฐสภา ขณะที่ บางส่วนพร้อมใจกันเขย่าประตูเหล็กของรัฐสภาให้เปิดออก โดยผู้ชุมนุมใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ก็สามารถเปิดประตูออกได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพียงประมาณ 10 คนไม่สามารถต้านทานได้ทำให้ผู้ชุมนุมกว่า 200 คนทะลักเข้าไปอยู่ภายในรัฐสภาได้ในที่สุด


 



กลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 200 คน พยายามปีนรั้วเข้าไปยังบริเวณภายในรัฐสภา หลังนายมีชัยไม่ยอมออกมารับหนังสือด้วยตัวเอง


 



ผู้ชุมนุมตั้งแถวยังลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7


 



นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย) สมาชิก สนช. ได้ออกมาพบปะ และเจรจากับผู้ชุมนุม


       


จากนั้นผู้ชุมนุมได้พร้อมใจกันเดินขึ้นไปยังลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 โดยได้ตั้งแถว โบกธงสีต่างๆไปมาด้วยความฮึกเหิม พร้อมกับตะโกนขับไล่นายมีชัยตลอดเวลา ขณะนั้นเองนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย สนช.ได้ออกมาพบปะและเจรจากับผู้ชุมนุมก็ไม่เป็นผล เนื่องจากผู้ชุมนุมต้องการที่จะพบกับนายมีชัย เพียงคนเดียวเท่านั้น ผู้ชุมนุมชุมนุมอยู่บนลานดังกล่าวประมาณ 30 นาที ก็เดินขบวนต่อขึ้นไปยังชั้นสองของอาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นทางเข้าออกของประธานสนช. ในที่สุดนายมีชัย ก็ออกมารับหนังสือด้วยตัวเอง โดยรับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปรายงานต่อสนช.แต่สมาชิกจะคิดเห็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสนช.แต่ละคน ขณะที่นายสาวิตย์ กล่าวกับผู้ชุมนุมว่าขอให้ทุกคนติดตามอย่างใกล้ชิดว่านายมีชัยจะนำข้อเรียกร้องเข้าไปพิจารณาหรือไม่ หากไม่มีความคืบหน้าจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อทวงถามอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดสลายตัวกลับไป


 



นายมีชัยออกมารับหนังสือด้วยตัวเองในที่สุด โดยรับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปรายงาน สนช.ต่อไป
       



เครือข่ายภาคประชาชนเดินกลับออกจากรัฐสภาพร้อมการร้องเพลงปลุกปลอบขวัญกำลังใจ


 


 


 


ภาพโดย : จามร ศรเพชรนรินทร์, คิม ไชยสุขประเสริฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net