Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 50 คณะทำงานกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนาประจำปี 2550 เรื่อง "สิทธิและการเข้าถึงสวัสดิการสังคม: อดีต ปัจจุบันและอนาคตของพลเมืองไทย" เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขในเรื่องการกระจายรายได้ การกระจายทรัพยากร และการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมต่อนักการเมืองและรัฐบาลใหม่ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยในครั้งนี้มีผู้ร่วมงานจากเครือข่ายนักวิชาการ เอกชน ภาคประชาสังคม และภาคราชการ เข้าร่วมกว่า 200 คน


 


สวัสดิการพื้นฐานในสังคมไทย


นายไพโรจน์ พลเพชร เลขานุการคณะกรรมการกระจายรายได้ นำเสนอการแก้ปัญหาสวัสดิการพื้นฐานในสังคมไทย จากองค์รวม 4 ประเด็นใหญ่ คือ 1.สวัสดิการที่ให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2.สวัสดิการในสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การศึกษา การสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย และเงินยังชีพ 3.การได้รับประกันสังคม และ 4.สวัสดิการของกลุ่มต่างๆ โดยแสดงความเห็นว่าการที่ประชาชนจะได้สิทธิข้างต้นเชื่อมโยงกับเรื่องกฎหมาย เพราะกฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐที่เป็นหลักประกันของประชาชนในการได้รับสิทธิ


 


ในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน นายไพโรจน์ กล่าวแสดงความเห็นว่า ด้านการศึกษา สิ่งสำคัญที่รัฐบาลชุดหน้าต้องทำคือการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาที่ต้องทำให้ได้จริง เช่น ในเรื่องการเรียนฟรี 12 ปี และต้องดูแลเป็นพิเศษสำหรับคนพิการและผู้ยากไร้ อีกทั้งในการจัดการการศึกษาต้องให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนอกจากภาครัฐ ส่วนเรื่องการบริการสาธารณสุขใน 3 ระบบ คือ การประกันสุภาพทั่วหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสำหรับข้าราชการ ที่ยังมีความแตกต่างและเหลื่อล้ำอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีคนตกหลนอยู่จะต้องมีการแก้ไขที่ชัดเจน


 


นอกจากนี้นายไพโรจน์ยังได้กล่าวถึงปัญหาสิทธิและการเข้าถึงสวัสดิการของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่จะต้องเร่งให้มีมาตรการแก้ไขทางกฎหมาย อาทิ ความไม่มั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวสลัม การขยายการประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบ และออกกฎหมายว่าด้วยเรื่องแรงงานนอกระบบโดยเฉพาะ การเข้าถึงทรัพยากรของประชากรภาคเกษตรในหลักประกันให้เข้าถึงที่ดิน ป่าชุมชน และการเข้าถึงน้ำ ในส่วนของชาติพันธุ์ควรให้มีฐานะเป็นพลเมืองของรัฐโดยการออกบัตรประชาชน หรืออย่างน้อยให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้ อีกทั้งการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือชุมชนที่ต้องมีการสนับสนุนโดยรัฐ


 


 "มาตรการทางกฎหมายโดยแนวนโยบายแห่งรัฐที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว เพียงแต่เรารอรัฐบาลที่จะเข้ามาอยู่ในอำนาจรัฐและเป็นคนกำหนดกฎหมาย ดังนั้นข้อเสนอต่อรัฐบาลสมัยหน้าก็คือต้องมีแผนปฏิบัติการในการออกกฎหมายอย่างน้อยที่ผมพูดมาทั้งหมดใน 1-2 ปี จะออกกฎหมายอะไรบ้างที่จะทำให้ประชนมีสิทธิ ได้สิทธิและสามารถเข้าถึงได้จริง แม้ว่ามีกฎหมายแล้ว ก็ต้องมีมาตรการอื่นในการเข้าถึงได้จริง" นายไพโรจน์กล่าวสรุป


 


การกระจายรายได้และสวัสดิการ ในชุมชนเกษตรกร


ด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิกคณะกรรมาธิการกระจายรายได้ กล่าวในส่วนของข้อเสนอเกี่ยวกับการกระจายรายได้และสวัสดิการ ในชุมชนเกษตรกร ว่า สำหรับแรงงานในภาคเกษตรนั้นไม่มีสวัสดิการต่างๆ ดังเช่นภาคการผลิตอื่นๆ ในสังคม มีแต่ปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ การเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของต้นทุนการผลิต และภัยธรรมชาติ กว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาย่ำแย่โดยที่นโยบายของรัฐบาลและพรรคการเมืองไม่สามารถแก้ปัญหาของเกษตรกรได้ โดยเฉพาะในประเด็นความมั่นคงที่จะทำให้เกษตรอยู่รอดและลืมตาอ้าปากได้


 


"การวัดความเติบโตของภาคการเกษตรว่ายั่งยืนหรือไม่ยั่งยืน ต้องวัดที่เกษตรกร ไม่ใช่วันที่ผลผลิต ไม่ใช่วัดที่รายได้ที่จะเข้าประเทศ ถ้าเกษตรกรยังย่ำแย่ ยังมีหนี้สินล้นพ้นตัวอยู่อย่างนี้ ภาคการเกษตรก็โตแบบสมบูรณ์ไม่ได้ โตแบบไม่มีอนาคต" ดร.เพิ่มศักดิ์


 


ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า 50 ปี ที่ผ่านมาภาคธุรกิจการเกษตรของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเรียกได้ว่าเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียและติดอันดับสูงในโลก เป็นผลให้หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงินทางด้านการเกษตรเติบโตมากขึ้น และสุดท้ายกลับทำให้เกษตรกรยากจนลง ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันเกษตรกรในประเทศไทยจะลดจำนวนลง แต่ในภาคชนบทแรงงานกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ยังอยู่บนฐานการเกษตร ดังนั้นภาคการเกษตรจึงยังคงมีบทบาทและคุณค่าในการขับเคลื่อนสังคมไทยอยู่มาก


 


จากงานวิจัยที่คณะทำงานกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับสถานบันวิชาการ ดร.เพิ่มศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างปัญหาที่พบจากการวิจัย ซึ่งมีทั้งการสูญเสียที่ดินทำกินอย่างต่อเนื่อง เกษตรกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ต้องเช่าที่ดินทำกิน ในขณะที่ที่ดินทำกินทางเกษตรเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ติดอยู่กับสถาบันการเงินปีละเกือบล้านไร่ ปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเกษตร และปัญหาราคาผลผลิตที่ต้องเดินตามตลาดโดยไม่มีความสามารถ ไม่มีอำนาจในการต่อรองกับตลาด อีกทั้งการเข้าไม่ถึงทรัพยากรในการผลิต น้ำ ป่า จากกลไกลการจัดการทรัพยากรของรัฐที่ให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่กีดกันการเข้าถึงของเกษตรกร


 


ดร.เพิ่มศักดิ์ ได้เสนอหลักการแก้ไขเป็นข้อๆ ดังนั้น 1.ให้เกษตรกรแก่ปัญหาของตัวเอง คิดเองทำเอง 2.ต้องใช้ทุนของเกษตรเอง เกษตรกรมีหนี้ล้านๆ บาท แต่ก็มีเงินออมในรูปสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มออมทรัพย์แสนๆ ล้านบาท ที่หมุนอยู่ในสถาบันการเงิน และส่วนหนึ่งปล่อยให้กู้ในภาคธุรกิจ 3.รัฐบาลต้องมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงไม่ใช่การชี้นำ หรือการอุ้มที่ทำได้เฉพาะบางกลุ่มซึ่งทำให้เอื้อผลประโยชน์ในเชิงการเมือง


 


นอกจากนี้ดร.เพิ่มศักดิ์ ยังเสนอกระบวนการแก้ไข ดังนี้ 1.รวมคนและรวมองค์กรเข้าด้วยกัน โดยเครื่องมือที่ดีที่สุดที่มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 50 มาตร 84 วงเล็บ 8 คือสภาเกษตรกร ซึ่งสภาเกษตรกรต้องเป็นสภาที่ดูแลคุ้มครอง ช่วยเหลือ แก้ปัญหาเกษตร ให้อยู่ได้อย่างมีเกียรติ 2.รวมเงินออมที่เกษตรกรได้สะสมไว้ในรูปแบบของสหกรณ์การเกษตร องค์กรสถาบันการเงิน กลุ่มออมทรัพย์ โดยรวมรูปแบบบริหารจัดการเป็นสถาบันการเงินรวม ซึ่งอาจมาจากระดับท้องถิ่นแต่สุดท้ายเป็นสถาบันการเงินในระดับชาติที่มีเป้าหมายคือช่วยเหลือเกษตร


 


3.ต้องกำหนดนโยบาย ให้เข้าไปซ่อมและสร้างเสริมฐานะทางเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยข้อแรกใช้เงินที่รวมมาซื้อหนี้เกษตรกร และจัดระบบไม่ให้เกษตรต้องสูญเสียที่ดินโดยให้มีที่ดินทำกินเพื่อผลทางการผลิตเท่านั้น ข้อสองนำเงินรวมที่ได้นำไปให้รัฐบาลกู้และจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเพื่อซื้อที่ดินจากสถาบันการเงินมากระจายให้เกษตรกร ข้อต่อมาเอาเงินมาซื้อหนี้เกษตรกรออกมาจากธนาคาร โอนหนี้ธนาคารมาอยู่ในสถาบันการเงินของเกษตรกร ข้อสุดท้ายส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้ของเกษตรกรต้องเอามาพัฒนาระบบสวัสดิการของเกษตรและมีเงินหมุนในการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร


 


แรงงานในระบบธนาคารลูกจ้าง และนโยบายการคลังเพื่อการกระจายรายได้


ผู้นำเสนอคนสุดท้าย รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะกรรมการกระจายรายได้ กล่าวว่า ปัญหาของสังคมไทยคือโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไปมาก แต่ความรู้สึกนึกคิดของสังคมกลับพัฒนาไม่ทันการเปลี่ยนแปลง และในขณะที่สังคมโตขึ้นคนก็ทิ้งไร่นามากขึ้น เด็กรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาไม่สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้เพราะถูกผลิตมาเพื่อป้อนโรงงาน เมื่อแรงงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมแต่ชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านชนบท ต้องเลือกผู้แทนในชนบท ดังนั้นปรัชญาการเมืองแบบตัวแทนจึงไม่สามารถแก้ปัญหาที่เขาประสบได้จริง


 


ปัจจุบันชาวนาที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศมีส่วนแบ่งของผลผลิตมวลรวมประชาชาติเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ มีคนมากแต่มูลค่าผลผลิตน้อย นอกจากนี้ในส่วนของเกษตรกรที่มีอยู่ราว 12 ล้านคนทั่วประเทศนั้นเช่าที่ดินทำกิน และส่วนใหญ่อายุกว่า 50 ปี ทำให้น่าเป็นห่วงถึงอนาคตภาคการเกษตรของไทยที่กำลังถูกลุกคืบโดยทุนเกษตร โดยกว้านซื้อที่ขนาดใหญ่พร้อมซื้ออิทธิพลทางการเมืองจากระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ


 


รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวต่อถึงในส่วนลูกจ้างเกษตรกร ว่า จากจำนวนคนทำงานได้ที่มีอายุ 15-60 ปี ในขณะนี้มีกว่า 36 ล้านคน เป็นลูกจ้าง 16 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างในภาคเกษตร 3 ล้านคน แต่คนส่วนนี้ถูกละเลยไม่มีอะไรคุ้มครอง ไม่มีประกันสังคม ไม่มีค่าจ้างขึ้นต่ำ และไม่สามารถกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ได้ เพราะไม่ถูกจัดอยู่ทั้งในกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มแรงงาน ถือเป็นความตกหล่นของกฎหมายที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ถ้ายังไม่หาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้เกษตรกรเดิมจะกลายเป็นเพียงลูกจ้างเกษตรกรในอีกสิบกว่าปีข้างหน้า


 


"การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ คือความรุนแรงเชิงระบบ คือการแย่งชิงทรัพยากรที่เรามองไม่เห็น" ประธานคณะกรรมการกระจายรายได้ กล่าว


 


ต่อการเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม รศ.ดร.ณรงค์ แสดงความเห็นไม่คัดค้าน แต่ควรรักษาอัตราส่วน 70:30 เก็บ 30 เปอร์เซ็นต์ของภาคเกษตรไว้ เมื่อมาดูหลักการพัฒนาของไทย ซึ่งได้รับการยอมรับจากสากลว่าเป็นประเทศพัฒนาระดับกลาง มีความเจริญทางอุตสาหกรรม การสื่อสาร การค้า รายได้ระดับกลาง คือระดับเกณฑ์เฉลี่ย แต่ในส่วนความยากจนในประเทศก็ยังคงมีอยู่โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร ซึ่งแม้จำนวนเกษตรกรจะลดลงตามลำดับ แต่ความยากจนรุนแรงก็กระจุกตัวในกลุ่มเกษตรกร


 


รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวสรุปทิศทางการบริหารประเทศว่า กำลังเดินไปในเส้นทางของทุนนิยม ซึ่งทรัพย์สินเป็นของส่วนตัว ทุกอย่างเป็นสินค้า และตั้งอยู่บนฐานของกำไร โดยสังคมดำเนินได้ด้วยเงื่อนใหญ่ 3 ข้อ คือ 1.คนในสังคมจะต้องมีเงินซื้อของ ซึ่งคนที่เป็นกำลังซื้อในส่วนนี้คือลูกจ้าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่พยุงสังคมในฐานะผู้บริโภคของตลาดภายในประเทศ 2.การลงทุนของธุรกิจ โดยอาศัยการค้าซึ่งเราพึงพิงต่างประเทศสูงถึงถึงร้อยละ 30 ของ GDP ดังนั้นเราจึงกลัวความเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยในตลาดต่างประเทศเพราะการพึ่งพิงที่มากเกินไป ไม่เคยคิดสร้างตลาดในประเทศ คิดแต่ว่าการส่งออกและนำเข้าคือทางรอดของประเทศ


 


3.สังคมอยู่ได้ด้วยผลิตภาพ และมีผลผลิตสูง ซึ่งเป็นผลจากแรงงานมีผีมือมีการศึกษาดี และมีสุขภาพแข็งแรง โดยสิ่งเหล่านี้คือการลงทุนทางสังคม อันเป็นการลงทุนหลักที่มาจากรัฐบาลด้วยเงินรายได้จากการเก็บภาษี พร้อมแสดงความเห็นว่า ระบบทุนนิยมที่ประเทศไทยดำเนินอยู่ทุกวันนี้ถ้าไม่คิดถึง 3 ข้อนี้จะไม่มีทางเติบโตได้


 


"ประเทศชาติต้องอยู่ ประชาชนต้องเติบโต เราทำวันนี้ไม่ใช่เพื่อเมื่อวาน แต่เราทำวันนี้เพื่อวันพรุ่งนี้ ปัญหาจากเมื่อวานเราแก้วันนี้ไม่ได้ เพราะปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว วันนี้เราเพียงแต่ป้องกันไม่ให้ปัญหาเมื่อวานมันเกิดขึ้นเท่านั้นเอง นักปกครองที่ดี ผู้ที่เป็นรัฐบุรุษต้องมองให้เห็นว่าอนาคตมันคืออะไร อนาคตเช่นนั้นเราจะลงมือจัดการตั้งแต่วันนี้อย่างไร" รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว


 


ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการสัมมนา จากกำหนดการร่วมแสดงความคิดเห็นและตอบข้อซักถามหลังการสัมมนา มีผู้สมัครรับเลือกตั้งและหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็กไม่ต่ำกว่า 4 พรรค อาทิ พรรคไทยเป็นไทย พรรคกฤษไทยมั่นคง ร่วมใช้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น พร้อมเปิดตัวและนำเสนอนโยบายพรรค โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาพอสมควร


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net