ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ : ประชาธิปไตยไทย-ประชาธิปไตยในอารักขาของใคร?

มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา "ครบรอบ 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ..2454-2550" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 15-16 กันยายน 2550

 

หัวข้อหนึ่งในการเสวนาคือ "รัฐประหารสำเร็จ--รัฐประหารไม่สำเร็จ" โดยผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ ฉลอง สุนทราวาณิชย์, สุรชาติ บำรุงสุข, ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ และชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

0 0 0

 

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เรื่องที่ผมอยากจะพูดมี 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก คือเรื่องการครบรอบรัฐประหาร 1 ปี ส่วนที่สอง คือเรื่องของคำถามว่า เขาทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ในการรัฐประหารที่ผ่านมา ถ้าเขาทำสำเร็จ จะมีหลักการประเมินอย่างไร? หรือถ้าไม่สำเร็จ มันพลาดตรงไหน? มันต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และ ส่วนที่สาม คือทิศทางของการเมืองไทยหลังประชามติและหลังเลือกตั้ง

 

วาระครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ดูจากเหตุผลที่ประกาศหลังคืนรัฐประหารว่าเหตุใดเขาถึงยึดอำนาจ ในส่วนนี้มี 4 เหตุผลใหญ่ๆ ที่พวกเราทราบกันดี คือเขาอ้างว่า หนึ่ง - มีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นในระบอบทักษิณ, สอง - รัฐบาลนั้นสร้างความขัดแย้งในสังคม, สาม - ครอบงำระบบราชการ และ สี่ - มีพฤติกรรมหมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

 

ถ้าเอาเหตุผลเหล่านี้มาประเมิน จะเห็นว่าเหตุผล 4 ข้อที่เขาใช้ในการยึดอำนาจ ผมคิดว่ามันไม่ค่อยได้ไปถึงไหนมาก มีเรื่องเดียวที่มีผลออกมาให้เห็น คือเรื่องคอรัปชั่น จัดการได้ในระดับหนึ่ง ยึดอำนาจแล้ว ใช้เวลาพอสมควรนะครับ คือลังเล ไม่ชัดเจน ดูไม่แกร่ง ไม่เอาจริง ถ้าท่านยังจำได้ว่า หลังรัฐประหารได้ไม่นาน ภรรยาของคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็คือ คุณหญิงพจมานยังไปเจอ พล.อ.เปรมได้อยู่ เพราะฉะนั้นผมถึงคิดว่าเขาไม่ได้เตรียมการอะไรมาเท่าไหร่ หลังๆ จึงเอาจริงขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าเขาเอาจริงมากๆ คือมากเกินไปจนกระทั่งเราได้เสียศูนย์ไปในบางเรื่อง

 

หลังจากที่มีการยึดอำนาจแล้ว เราสามารถขับไล่ทักษิณออกนอกประเทศไปได้แล้ว แต่ก็ไม่สามารถกำจัดปรากฏการณ์ทักษิณได้ กำจัดปรากฎการณ์ไทยรักไทยไม่ได้ จะทำยังไงก็ไม่ตาย ตัดหัวตัดหาง ตัดแขนตัดขา เราก็ยังเห็นได้จากผลประชามติที่ผ่านมาว่าเขายังมีแรงอยู่

                                          

ผลพวงอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดจากการจัดการก็คือ ทำให้เราเสียศูนย์ในเรื่องของระบบยุติธรรม และผมคิดว่าต้นทุนที่จัดการทักษิณสูงเกินไป ต้องใช้เครื่องมือทุกสิ่งทุกประการ ทุกกลไก ทุกสถาบัน ทุกระบบราชการ ทุกอย่างเพื่อจัดการ อายัดทรัพย์ก็แล้ว ยุบพรรค เพิกถอนสิทธิ์พรรคไทยรักไทยก็แล้ว การทำอย่างนั้นก็ดีครับ แต่วิธีการที่ทำแบบนั้น ผมคิดว่าต้นทุนมันสูงมาก

 

อย่าลืมนะครับว่า พล.อ.สนธิ เคยกล่าวไว้ก่อนจะมีการตัดสินยุบพรรคว่า ปลายเดือนพฤษภาคม (2550) ทุกอย่างจะชัดเจนขึ้น ซึ่งพอเดือนพฤษภา มีการตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย ผมคิดว่ามันก็ไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สุดทาง ปรากฏการณ์ทักษิณก็ยังอยู่ ในขณะเดียวกัน คอรัปชั่นแบบใหม่ก็เกิดขึ้นมาเหมือนกัน คือผู้ที่ยึดอำนาจ พอเอาเข้าจริงๆ ก็มีข้อครหาว่าตัวเองก็เป็นเหมือนกัน ไปเที่ยวเมืองนอก พาหลานไปด้วย เพิ่มเงินเดือนให้ตัวเองและพรรคพวก เพิ่มงบประมาณให้กระทรวงกลาโหม เพิ่มคน-เพิ่มงานให้ กอ.รมน. ก็ใช่ว่าจะสะอาดเสียทีเดียว อาจจะไม่มากเท่าสมัยทักษิณ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อครหาเรื่องวิกฤตคอรัปชั่นสำหรับ คมช.เอง

 

0 0 0

 

ประการณ์ที่สอง เรื่องความแตกแยก ผมคิดว่าประเทศไทยก็ยังแตกแยกอยู่ และดูเหมือนว่าจะประสานได้ยากในสภาวะแวดล้อมปัจจุบัน ผลประชามติก็ตอกย้ำตรงนี้

 

ประการที่สาม เรื่องการครอบงำระบบราชการ อันนี้ผมยอมรับนะครับว่า ระบอบทักษิณและบทบาทของไทยรักไทยครอบงำระบบข้าราชการจริงๆ มีการเล่นพรรคเล่นพวกเพื่อตอบสนองนโยบายและสั่งโยกย้ายตำแหน่งกันเป็นว่าเล่น แต่ในขณะเดียวกัน ถามว่าตอนนี้ระบอบราชการโดนครอบงำไหม? ก็โดนครอบงำเหมือนกัน เห็นได้จากการที่ระบบราชการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นงานคุณทักษิณและเป็นเครื่องมือในการเข็นร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านประชามติ ลองเปิดโทรทัศน์ดูรายการต่างๆ สมัยทักษิณก็จะไม่เห็นการวิพากษ์วิจารณ์อะไรมาก ก็เห็นได้ชัดว่าข้าราชการโดนครอบงำ แต่ปัจจุบัน อะไรที่จะวิจารณ์ทหารก็หาเวลายาก ไม่มีช่อง ตรงนี้จึงเป็นแค่การย้ายขั้วของระบบราชการ แค่ย้ายจากสุดโต่งอีกข้างหนึ่งไปสุดโต่งอีกข้างหนึ่งเท่านั้นเอง

 

นั่นคือวิธีหนึ่งที่จะประเมินว่ารัฐประหารสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ซึ่งก็อาจถือว่าสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะเขายึดอำนาจได้ อีกวิธีหนึ่งที่จะประเมินรัฐประหารคือข้ออ้างโดยรวม ตามหลักการว่า "ประชาธิปไตยไทยชำรุด ไม่สบาย จึงต้องพักก่อน เพื่อเยียวยาสิ่งนี้" ตอนนี้ พล.อ.สุรยุทธฺก็พร้อมที่จะประกาศให้ทั่วโลกฟังด้วยการไปพูดตามเวทีสหประชาชาิติ เวทีเอเปก ในเวทีต่างประเทศว่า "ประชาธิปไตยไทยกำลังจะกลับมา" ที่ไม่สบายอยู่นั้น เราเยียวยาแล้ว มีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว เรากำลังจะมีการเลือกตั้ง และมีประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง แต่คำถามตอนนี้ไม่ได้อยู่ทีว่าใครจะกลับมาเป็นอะไรอีกหรือเปล่า? การเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร? แต่มีคำถามว่า "มันเป็นประชาธิปไตยของใคร?"

 

ประชาธิปไตยแบบนี้ มีการเลือกตั้งพรรคการเมือง มีการรณรงค์หาเสียง มีสภาบน สภาล่าง หรือวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร แต่ว่าเป็นประชาธิปไตยของใคร ถ้าเราประเมินจากรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าประชาธิปไตยที่กำลังจะเกิดหลังจากนี้ มันจะเป็นประชาธิปไตยในลักษณะของการ อารักขา หรือ Custodial democracy คือเป็นประชาธิปไตยแบบมีคนคุมอยู่ มีการอารักขาอยู่ มันจะไม่ใช่แค่การชี้นำ ซึ่งคุณจะทำอะไรก็ทำไปสิ แต่ว่า "ผมคุมอยู่" ถ้ามันไม่เข้าหรือสอดคล้องกับสิ่งที่ผมมอง หรือว่าไม่เข้ารูปเข้ารอยกับที่ผู้มีอำนาจคิดว่ามันควรจะเป็น ก็สามารถยืนยันได้หรือยกเลิกก็ได้

 

ประชาธิปไตยแบบนี้ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 มี 3 ขา ที่จะคุมระบบการเมืองอยู่ หนึ่ง ก็คือวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง 74 จาก 150 ซึ่งดูเหมือนยังไม่ถึงครึ่ง แต่จริงๆ มันเกินครึ่ง เพราะว่าเอาเข้าจริงวุฒิสภาก็ไม่ได้มากันครบ เข้าห้องน้ำบ้าง ไม่มาบ้าง เวลาจะออกเสียงอะไรต่างๆ มีแค่ 74 ก็คุมวุฒิสภาได้อยู่แล้ว

 

นอกจากนี้ยังมีองค์กรต่างๆ ในส่วนของตุลาการที่เป็นข้าราชการตุลาการจากศาลปกครอง ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และอีกส่วนหนึ่งหรืออีกขาหนึ่งจะมาจากองค์กรอิสระต่างๆ แต่ถ้าเราดูกลไกรัฐธรรมนูญจะเห็นว่า สามอย่างนี้-เขาเลือกกันเอง ก็คือวุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง และบรรดาศาลและองค์กรอิสระต่างๆ ก็ได้รับคัดเลือกมาคุม ครม.เพราะฉะนั้น สามขานี้ก็จะมาคุมระบบผู้แทน มาคุม ครม. มีสิทธิมีอำนาจที่จะเพิกถอนรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้

 

ในฐานะที่เรากำลังประเมินว่าประชาธิปไตยไม่สบาย กำลังเยียวยาให้กลับมามีประชาธิปไตยที่แข็งแกร่ง สมบูรณ์แบบ แต่ผมว่ามันยังไม่เข้าเป้า และอีกวิธีหนึ่งที่เราใช้ประเมินได้ก็คือ 1 ปีของการบริหารบ้านเมืองในเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลสุรยุทธ์ได้ประกาศตอกย้ำอยู่หลายเรื่อง หนึ่ง คือ การสมานฉันท์ ในตอนแรกเริ่มต้นที่การสมานฉันท์ในภาคใต้ หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน นายกฯ ได้ลงไปภาคใต้และกล่าวขอโทษ เราจึงเห็นภาพความเคลื่อนไหวเรื่องการสมานฉันท์ในภาคใต้ แต่ว่าการสมานฉันท์ระหว่างคนที่สนับสนุนทักษิณและคนที่ต่อต้านระบอบทักษิณ ยังไม่ได้รับการเยียวยา

 

สอง คือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผมไม่ได้หมายถึงเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นพระราชดำรินะครับ แต่หมายถึงที่นโยบายเศรษฐกิจพอเพียงที่นายกฯ ประกาศใช้ ผมคิดว่าไม่ประสบความสำเร็จเลย ไม่มีความชัดเจนในนโยบาย เราถึงประสบปัญหาเศรษฐกิจ มีปัญหาเรื่องเงินบาทที่แข็งค่า แก้กันไม่ตก เรื่องการแก้ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจต่างด้าว ที่ในที่สุดก็ทำไม่สำเร็จ ต้องยื้อเอาไว้ให้รัฐบาลใหม่มาเป็นคนแก้

 

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าทั้งสองปัจจัยนี้ทำให้การบริหารงานของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ เืรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตอนนี้ ผมว่ามันติดลบทั้งในเรื่องของจริยธรรมและคุณธรรม

 

เมื่อคุณเอาคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นนโยบาย คุณต้องเผชิญกับความเสีี่ยงสูง ต้องแน่จริง เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก แต่ตัวนายกฯ เองก็มีปัญหาเรื่องที่ดิน ซึ่งขัดแย้งกับเรื่องพอเพียง และก็ยังมีทรัพย์สิน 90 ล้านบาท นโยบายนี้จึงค่อนข้างกลวงและขาดความน่าเชื่อถือ เหมือนกับมือถือสาก ปากถือศีล นอกจากนั้นแล้ว คณะผู้บริหารหรือ ครม.ทั้งหมด ผมยังไม่เห็นตัวอย่างดีๆ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเลย

 

0 0 0

 

 

ครม.ขิงแก่ในสมัยที่ผ่านมา เขาจัดตั้ง ครม.ที่มาจากเทคโนแครต โดยเฉพาะกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ พาณิชย์ เกษตร ซึ่งปัจจุบันมีกระทรวงพลังงานด้วย แต่ ครม.นี้ต่างจาก ครม.เดิมๆ เพราะแทนที่จะหาคนที่มีความคิดสดใหม่มาทำงาน กลับไม่เห็นตรงนี้ ทั้งที่เวลามีการยึดอำนาจเมื่อไหร่ ความคาดหวังของคนจะสูง แต่ ครม.ขิงแก่ลักลั่น มีความลักลั่นกับโลกในยุคปี 2550 ซึ่งการบริหารจัดการโลกในยุคนี้มันยาก ปกครองยาก โลกมันซับซ้อน เศรษฐกิจมันซับซ้อน ถ้าเอาคนรุ่นเก่ามาเป็นคณะรัฐมนตรีก็ลำบากครับ สถานการณ์สภาพแวดล้อมมันไปเร็วมาก ตามทันหรือเปล่า

 

หนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐประหารจึงไม่อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ และล้มเหลวเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องที่สองที่ต้องพูดถึงคือ ถ้าไม่สำเร็จแล้ว ต้องดูด้วยว่า (คณะรัฐประหาร) เขาทำพลาดตรงไหน

 

จะเห็นได้ว่า 14 วันแรกหลังรัฐประหาร เขาล้มเหลว เพราะช่วงเวลานั้น เขามีอำนาจล้นฟ้า เขาจะทำอะไรก็ได้ ไม่มีการประท้วงบนท้องถนน แต่เขาลังเล วันที่ 14 วันแต่งตั้งนายกฯ หานายกฯ ก็หาไม่ได้ ต้องไปอ้อนวอน พล.อ.สุรยุทธ์ตั้งหลายครั้ง ผมจึงคิดว่ารัฐประหารครั้งนี้ต่างจากรัฐประหารครั้งก่อนๆ คือประเทศไทยเปลี่ยนไปมาก คนมีความรู้มากขึ้น โง่น้อยลง ควบคุมได้ยากขึ้น เศรษฐกิจก็ซับซ้อนมากขึ้น ทหารไม่สามารถควบคุมด้านนี้ได้เลย เพราะเขาทำงานไม่เป็น และไม่หาคนที่เป็นมาทำ ในขณะที่สิ่งที่ต้องทำมันซับซ้อนและมีความคาดหวังสูงจากสังคมสูง

 

อีกอย่างหนึ่งคือ เขาไม่ดึงไทยรักไทยมาเป็นพวก การไม่ดึงคนเหล่านี้มาเป็นพวก ไม่สานต่อนโยบายในส่วนที่คนชอบ ปิดประตูไทยรักไทย ต้องการปฏิเสธทุกอย่างที่ทักษิณทำ เขาจึงประสบความสำเร็จในการ "ดึงเมืองไทยย้อนหลัง" กลับไป 15 ปี

 

ส่วนที่สาม ทิศทางหลังประชามติจนถึงหลังเลือกตั้ง แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่มันคือความสำเร็จชั่วคราวครับ จำเป็นจะต้องพูดถึงความเปลี่ยนแปลงใน พ.ศ.2494 หรือแม้แต่ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ พ.ศ.2475 มันมีการกบฎ เกิดคลื่นใต้น้ำ มีความระสำ่่ระสายเกิดขึ้นอยู่นานหลายสิบปี เพราะฉะนั้น ผมมองว่าความสำเร็จเหล่านี้มันชั่วคราว ในที่สุดแล้วประวัติศาสตร์มันมีพลังอยู่ในตัว ถ้าจะทำแบบนี้ คือย้อนกลับไป 15 ปี โดยไม่เปิดประตูรับความเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่ามันคงยาก

 

เรื่องสุดท้ายคือทิศทางหลังประชามติ วันนี้เราได้เห็นการแปรรูปรัฐบาลเป็นอำนาจการเมือง คือในระบอบประชาธิปไตย เราเห็นอะไรหลายๆ อย่างที่มีผลต่อความมั่นคง เพราะทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เราเห็นพลเอกสนธิไม่กลับบ้านหลังปลดเกษียณ แน่นอนครับ เพราะว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะกลับไปอยู่บ้านเฉยๆ จึง ต้องเข้าสู่การเมือง ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง ต้องเป็น ส.ส. ถ้าจะเป็นแค่ รมต.กลาโหมคุมไม่ให้ทักษิณกลับมาก็อาจจะพอทำได้ เราจะเห็นว่า กอ.รมน.ได้ขยายเครือข่ายเป็นเครื่องมือของทหาร แต่ถ้าจะถึงขั้นโจ๋งครึ่ม ต้องการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อคุมทุกอย่างให้อยู่มือ อาจจะเป็นไปได้ยาก

 

แต่หลังจากประชามติเป็นต้นมา ผมเห็นด้วยว่าทหารจะฝังรากลึกขึ้นเรื่อยๆ ในระบอบการเมือง การเมืองหลังประชามติยังมีความขัดแย้ง มีความแตกแยก และยังมีเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดรัฐประหารได้อีก ถ้าหากรัฐบาลกลับไปสู่การผสมผสานกันเหมือนเดิม พฤติกรรมการต่อรอง น้ำเน่า การฮั้วต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญปี 40พยายามกำจัดให้หมดไปก็จะกลับมา

 

0 0 0

 

ผมมองว่าทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งปีผ่านไปโดยสังคมได้เรียนรู้อะไรเยอะ ผมมองว่ามันเป็นการเมืองปลายรัชสมัย ถ้าไม่จัดการอย่างมีประสิทธิภาพ วันหนึ่งอาจเกิดการเขื่อนแตกขึ้นมา

 

มีคนพูดว่าประวัติศาสตร์ถึงจุดสิ้นสุดเมื่อมนุษยชาติค้นพบระบอบประชาธิปไตยและตัวอุดมการณ์ของมัน แต่ผมคิดว่า ประวัติศาสตร์ไม่มีวันสิ้นสุด หรือมันอาจจะสิ้นสุด แต่สิ่งที่เราเห็นคือความสิ้นสุดของยุคสมัยหนึ่งของระบบการเมืองไทยที่เราเคยรู้จัก ซึ่งกำลังเข้าสู่จุดอวสาน

 

เมื่อประวัติศาสตร์มีความตึงเครียดขัดแย้ง มันจะวิวัฒนาการไปสู่จุดที่ชัดเจนขึ้น สังคมก็เหมือนมนุษย์ มีชีวิต มีความสัมพันธ์กัน เรามีวิวัฒนาการ มันต้องมีความขัดแย้ง ต้องเถียงกัน แล้วความขัดแย้งนั้น วันหนึ่งมันต้องเคลียร์และนำไปสู่การพัฒนา แต่สังคมเราโดนกดอยู่ จึงไม่สามารถบรรลุหรือเข้าถึงขั้นต่อไป

 

หนึ่งปีที่ผ่านมาเราทำอะไรไว้บ้าง คิดอะไรไว้บ้าง ได้เรื่องหรือเปล่า ก็ต้องสารภาพก่อนว่า ผมไม่ชอบทักษิณ ไม่ชอบเลย ตั้งแต่มีพรรคไทยรักไทยและโดนตัดสินเรื่องคดีซุกหุ้น ตอนที่มีพันธมิตรฯ ก็ยังไม่ชอบอยู่ แต่การที่เรามีส่วนในการรณรงค์โค่นล้มทักษิณ มันทำให้เกิดการรัฐประหาร ผมถามตัวเองว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ มันคุ้มไหม ผมคิดว่ามันไม่คุ้ม เพราะต้นทุนมันสูงมาก ไม่ใช่ว่าจะเอาทักษิณ ก็ยังไม่เอาอยู่ แต่ตอนนี้เรามีทางสามแพร่งที่วนเวียนกันอยู่ และเป็นทางสามแพร่งที่มีความลักลั่นสูงมาก

 

ทางหนึ่งคือพวกที่ไม่เอาระบอบทักษิณ แต่เห็นชอบกับทหาร ทางที่สองคือการเลือกรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถูกใช้ภายใต้ระบอบทักษิณ ยังมีคนอีกเยอะที่ติดใจระบอบนั้น แต่ผมคิดว่าทางที่สามคือทางที่หลายๆ ท่านในที่นี้ปรารถนา ก็คือประชาธิปไตยที่ปราศจากทักษิณและพวก ทางสามแพร่งนี้เราต้องร่วมมือกัน แต่ผมคิดว่าในที่สุดแล้วแพร่งที่สองและเพร่งที่สามอาจต้องต่อสู้กันเอง

 

ตอนที่มีการประท้วงทักษิณกันหนักๆ มีใครบ้างที่กล้าออกมาพูดว่าชอบทักษิณ ตอนนี้ก็เหมือนกัน มันง่ายมากที่จะออกมาพูดต้านทหาร ในขณะที่หนึ่งปีที่แล้วมีใครบ้างที่กล้าออกไปประท้วงเมื่อวันที่ 19 กันยายน

 

เราต้องไม่ลืมว่า ถ้าพูดถึงระบอบทหารเองโดยไม่พ่วงแพคเกจนั้น ทำไม่ได้ เพราะทหาร ข้าราชการ และสถาบันฯ มาด้วยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างทหารและสถาบันเป็นสิ่งที่สร้างกันมานาน ถึงแม้ผมจะคิดว่ากระบวนการสร้างทักษิณให้ดูเป็นปีศาจร้ายมันจำเป็นอยู่ แต่มันไม่พอ คนที่เดินสายไปต่างประเทศเพื่อบอกว่าทักษิณไม่ดี มันก็เป็นเรื่องหลงประเด็น เพราะขนาดไม่อยู่ในเมืองไทย เขายังเป็นข่าวให้เราได้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน

 

ที่คณะ (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ผมเป็นแกะดำ เพราะเป็นคนที่แอนตี้ทักษิณจนหัวชนฝา แต่หนึ่งปีที่ผ่านมา เรามีสิทธิ์ที่จะหาทางเลือกที่ดีกว่า ทางแพร่งแบบที่สามนั้นเรามีสิทธิที่จะแสวงหาได้ ผมคิดว่าสวดมนต์ภาวนามันก็ดี แต่มันต้องคนละไม้คนละมือ คือสร้างความตระหนักหลายๆ อย่างในสังคมที่โดนกดเก็บอยู่นี้ พวกที่อยู่ในอำนาจระบอบอมาตยาธิปไตยก็ต้องผ่อนให้กับฝ่ายอื่นบ้าง ถึงตอนนี้พวกเขาจะยังได้เปรียบอยู่ แต่ถ้าไม่ยอมทำอะไรเลย ไม่เสียสละอะไร ถ้าเกิดสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงขึ้นมา เขาจะไม่สามารถกำหนดทิศทางอะไรได้เลย และจะกลายเป็นเรื่องเสียน้อยเสียยากฯ

 

ประวัติศาสตร์ของเราเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่สุด เหตุการณ์ 3 ปีที่ผ่านมาต้องมองรวมไปในภาพร้อยปี ตอนที่มีการอภิวัตน์ของอาจารย์ปรีดีฯ ไปจนถึงสมัย กบฎ รศ.130 มันมีข้อท้าทาย มีกระแส และมีชนวนมาจากข้างนอก แม้จะมีการปฏิเสธ ไม่ยอมให้มีรัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุดมันก็มีจนได้ และเป็นการได้มาแบบรุนแรงด้วย ซึ่งในที่สุดแล้ว ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐธรรมนูญก็กลับเข้ามาในระบอบการเมืองของไทยได้เหมือนเดิม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท