เมื่อ"ท่าเรือยักษ์" เตรียมขย้ำชาวประมงพื้นบ้านที่ปากบารา

 

 

 

"ท่าเรือปากบารา" เป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ มีวงเงินลงทุนสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท เจ้าของโครงการ คือ กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม

 

เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าทางทะเลด้านตะวันตกของประเทศ เพื่อขนส่งสินค้าไปยังทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง อัฟริกา อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (IMT - GT) กำหนดจุดก่อสร้างไว้ที่บริเวณด่านตะวันตกของเกาะเขาใหญ่ ภายในอ่าวปากบารา ต.ปากน้ำอ.ละงู จ.สตูล ห่างจากชายฝั่งบ้านปากบารา 4.3 กิโลเมตร

 

ในเอกสารสรุปโครงการสำรวจออกแบบเพื่อการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ระบุว่า การก่อสร้างจะแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกจะมีการถมทะเลเพื่อสร้างเกาะทำท่าเรือ กว้าง 430 เมตร ยาว 1,100 เมตร ห่างจากฝั่ง 4.3 กิโลเมตร พื้นที่เกาะ 292 ไร่ หน้าท่ายาว 750 เมตร สำหรับเทียบเรือบรรทุกขนาดใหญ่ระวางขับน้ำ 70,000 ตันได้พร้อมกัน 2 ลำ ทางเข้าท่าเรือเป็นสะพานขนาด 4 ช่องจราจร ระยะห่างเสาสะพาน 25 เมตร สูงจากระดับน้ำขึ้นเต็มที่ 2 เมตร หรือสูง 5 เมตร กว้าง 41 เมตร บริเวณกึ่งกลางสะพาน เป็นช่องสำหรับเรือลอดผ่าน

 

จากนั้น จะมีการถมทะเลเพื่อสร้างท่าเทียบเรือเพิ่มเติมในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ตามลำดับ รวมเวลาก่อสร้างทั้ง 3 ระยะ 25 ปี

 

นอกจากนี้ จะมีการสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบหินทิ้งด้านทิศตะวันตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้ ยาว 1,700 เมตร จากนั้นจะขุดร่องน้ำลึก 14 เมตร ต่อจากท่าเรือออกไปนอกชายฝั่งยาว 4 กิโลเมตร โดยมีความกว้างที่ปากร่องน้ำ 180 เมตร

 

พร้อมกับจะสร้างถนนเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารากับท่าเรือน้ำลึกสงขลา เพื่อการขนส่งสินค้าทางบก และสร้างทางรถไฟจากอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา มาเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพื่อขนส่งสินค้าทางรางด้วย

 

โครงการใหญ่ขนาดนี้ "ยาหยา ตรุรักษ์" ชาวประมงพื้นที่ปากบารา ซึ่งออกเรือจับสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวบอกว่า ขนาดของท่าเรือเกือบเต็มพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของอ่าวปากบารา

 

"พื้นที่ตรงจุดนั้นเรียกได้ว่า เป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชาวบ้านเลย เพราะมีเรือประมงพื้นบ้านกว่า 500 ลำ เวียนกันไปวางอวนกุ้งจับปลาทู ทั้งกลางวันและกลางคืน"

 

เขาบอกว่า ในช่วงฤดูมรสุมจะมีเรือประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถออกไปจับสัตว์น้ำบริเวณอื่นได้ เพราะคลื่นลมแรง

 

เขาบอกด้วย หากมีท่าเรือน้ำลึก ก็มีอีกที่หนึ่งที่พอจะไปจับสัตว์น้ำได้ คือ บริเวณเกาะตะรุเตา ซึ่งนั่นหมายความว่า ชาวประมงพื้นบ้านต้องมีต้นทุนเพิ่มในการออกเรือถึงเท่าตัว โดยเฉพาะค่าน้ำมัน ซึ่งจะคุ้มทุนหรือไม่ ไม่มีใครรู้

 

"ลึกๆ แล้ว พวกเราไม่ต้องการให้สร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ในอ่าวปากบารา แต่เราคงไม่คัดค้าน เพราะเรารู้ว่าเป็นนโยบายของรัฐ มูลค่าการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท เราสู้ไม่ไหวอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่อยากเสียที่ทำมาหากินของเราไป"

 

เขาบอกด้วยว่า ก่อนที่จะสร้างท่าเรือ อยากให้รัฐมาฟังเสียงชาวประมงพื้นบ้านก่อน อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า พวกเราเดือดร้อนอย่างไร อย่ามองว่าพวกชาวประมงพื้นบ้านชอบประท้วง

 

ไม่เพียงแต่ยาหยา ตรุรักษ์ เท่านั้น ที่ต้องสูญเสียแหล่งหากินที่สำคัญไป หากมีการถมทะเลสร้างท่าเรือ ด้วยเพราะอ่าวละงู ประกอบด้วย อ่าวปากบาราและอ่าวนุ่น ที่ครอบคลุมชายฝั่งทะเลอำเภอเมืองสตูล อำเภอท่าแพ อำเภอละงู เป็นแหล่งหากินของชาวประมงพื้นบ้าน 6,425 ครัวเรือน จาก 28 หมู่บ้านประมงชายฝั่ง

 

นี่ยังไม่ได้นับรวมชาวประมงพื้นบ้าน ในอ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ที่แวะเวียนเข้ามาจับปลาในอ่าวปากบาราอยู่ด้วย

 

ในจำนวน 6,425 ครัวเรือน "วัชระ ทิพทอง" ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นอันดามัน จังหวัดสตูล ระบุว่า มีเรือประมงพื้นบ้านขึ้นทะเบียนกับประมงจังหวัดสตูลแล้ว 1,781 ลำ หรือประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนเรือประมงพื้นที่บ้านทั้งหมด ส่วนเรือประมงพาณิชย์ขึ้นทะเบียนกับประมงจ.สตูลแล้ว 385 ลำ

 

ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนหักค่าต้นทุนในการออกเรือแล้วอยู่ที่ 6,000 - 12,000 บาท ซึ่งกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านปากบาราระบุว่า ต้นทุนการออกเรือจับสัตว์น้ำคืนหนึ่งประมาณ 3 - 400 บาท และเฉลี่ยเดือนหนึ่งสามารถออกเรือจับสัตว์น้ำได้ 20 - 22 วัน โดยวันที่ไม่สามารถออกเรือได้ จะเป็นคืนกระแสน้ำเชี่ยวและมีคลื่นสูง

 

หมู่บ้านประมงชายฝั่งทั้ง 28 หมู่บ้าน แยกเป็น อ.ละงู ได้แก่ ต.ปากน้ำ มี 5 หมู่บ้าน คือ บ้านปากบารา ท่ามาลัย ตะโล๊ะใส ท่าพะยอม และท่ายาง ตำบลละงู มี 7 หมู่บ้าน คือ บ้านหลอมปืน ปากละงู หัวหิน บากันโต๊ะทิด โคกพะยอม นาพญา และลาหงา ตำบลกำแพง มี 2 หมู่บ้าน คือ บ้านปากปิ้ง และบ้านปีใหญ่

 

อ.ท่าแพ ได้แก่ ต.สาคร มี 7 หมู่บ้าน คือ สาครใต้ คลองลิดี สาครเหนือ คลองสองปาก คอลงบัน ปลักแรด และทุ้งริ้น ตำบลแป-ระ มีหมู่บ้านเดียว คือบ้านแป-ระใต้

 

อ.เมืองสตูล ได้แก่ ต.เกาะสาหร่ายตำบลเดียว 6 หมู่บ้าน ได้แก่ ตันหยงอูมา บากันใหญ่ ตันหยงกลิง ยะระโตดนุ้ย ตะโล๊ะน้ำ และยะระโตดใหญ่

 

"หมีด มาหมูด" ชาวประมงพื้นบ้านหลอมปืน หมู่ 14 ต.ละงู อ.ละงู ซึ่งหากินอยู่ในอ่าวปากบารา แสดงความกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมาหากมีการถมทะเลสร้างท่าเรือ ที่อาจจะทำให้อาชีพนี้สูญหายไปจากอ่าวปากบารา

 

"เราไม่อยากทิ้งอาชีพนี้ไป เพราะเรารับมาจากบรรพบุรุษ ที่สำคัญเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงคนอื่นได้ คิดว่าจะอยู่ตรงนี้ต่อไป จะไม่ไปทำอาชีพอื่น เพราะไม่มีความสามารถ ถ้าจะให้ไปเป็นกรรมกร เขาก็ต้องการคนหนุ่ม คนแก่อย่างเราเขาไม่เอาอยู่แล้ว หรือถ้าเอาก็คงให้ค่าแรงน้อย"

 

ส่วน "นันทพล เด็นเบ็น" สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ หมู่ที่ 2 ตำบลปากน้ำ ซึ่งมีอาชีพเป็นชาวประมงพื้นบ้านอยู่ด้วย บอกว่า "อาชีพประมงพื้นบ้านอาจจะสูญพันธุ์ไปจากอ่าวละงู เพราะถ้าถมทะเลสร้างท่าเรือก็ไม่รู้จะไปจับปลาตรงไหน"

 

นอกจากนี้เขายังเสนอด้วยว่า ก่อนจะสร้างท่าเรือ รัฐจะต้องจัดทำประชาพิจารณ์ให้ชาวประมงพื้นที่บ้านในพื้นที่ มีส่วนร่วมตัดสินใจด้วย

 

ขณะที่ "วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี" กองเลขานุการสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ซึ่งคลุกคลีอยู่กับชาวประมงพื้นบ้านมานาน มีความเห็นต่อโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบาราว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมน้อย โดยเฉพาะผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ชาวประมงพื้นบ้าน เห็นได้จากการที่ชาวประมงพื้นที่ 28 หมู่บ้านที่หากินอยู่ในอ่าวปากบารา ยังไม่มีใครรู้เรื่องเลย

 

สำหรับประเด็นการแย่งชิงทรัพยากรนั้น น่าจะคล้ายกับกรณีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ที่มีการสร้างท่าเรือแหลมฉบังรองรับการขนส่งสินค้า ส่งผลให้ทรัพยากรชายฝั่งถูกทำลายยับเยิน

 

"วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี" เชื่อว่า วิถีชีวิตชาวบ้านจะได้รับผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการทำมาหากิน เพราะจะทำอาชีพประมงต่อไปไม่ได้ ส่งผลให้ไม่มีหลักประกันในเรื่องการทำมาหากิน นอกจากนี้ การมีนิคมอุตสาหกรรมหลังท่าเรือ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็นจุดใดนั้น จะทำให้ชาวที่ได้รับผลกระทบ ต้องอพยพออกไปด้วย ซึ่งยังไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน

 

"ผลประโยชน์ที่ได้จากการก่อสร้างท่าเรือ ฟังดูแล้วชาวบ้านน่าจะไม่ได้อะไรเลย ยกตัวอย่างการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ คนที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่ ก็คือ ผู้ประกอบและทุนข้ามชาติ เพราะว่าผู้ประกอบการเดินสมุทรขนาดใหญ่เป็นต่างชาติทั้งนั้น"

 

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเรือปากบารานั้น เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.50 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดโครงการศึกษาการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งตะวันตกกับการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ ขึ้นที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นำโดยนายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

 

ภาพกราฟฟิกจากการนำเสนอของธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่อที่สัมมนาโครงการศึกษาและสำรวจพื้นที่ "การสร้างท่าเรือฝั่งตะวันตกกับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้" เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2550 ที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

 

 

จากนั้น ได้เดินไปสำรวจยังบริเวณที่จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ก่อนจะเดินทางต่อไปยังจังหวัดพังงา เพื่อประชุมกับนักธุรกิจและศึกษาถึงแนวพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกพังงา ที่ทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง

 

เมื่อคณะของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเดินทางไปถึงบ้านปากบารา นายธนิตได้ระบุกับผู้นำท้องถิ่นที่มาให้ข้อมูลว่า ในการสร้างท่าเรือน้ำลึกให้คำนึงถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่าเรือให้มากๆ เพราะเมื่อมีท่าเรือแล้ว ต่อไปจะมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งหลังท่าเรือ

 

ต่อมา ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เมื่อปลายเดือนมิ.ย.50 มีการจัดทำข้อเสนอต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี สนับสนุนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกด้านชายฝั่งทะเลอันดามัน ระบุจุดที่เหมาะสมที่สุด คือ ที่บ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู เพราะถ้าสร้างที่จ.พังงาจะกระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พร้อมกับขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ

 

อันตามมาด้วย กิจกรรมเดินสายของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านปากบารา ไปยังหมู่บ้านที่อาศัยอ่าวปากบาราเป็นที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ชักชวนกันตั้งวงแลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา

 

พร้อมด้วยคำถามซื่อๆ ตรงๆ ชาบ้านจะทำอย่างไรถ้ามีท่าเรือยักษ์ตั้งอยู่ใจกลางอ่าวปากบารา โดยที่เรือประมงพื้นบ้านลำเล็กๆ ไม่อาจเข้าไปวางอวน หรือแล่นเฉียดเข้าใกล้ท่าเรือ ด้วยเพราะเกรงจะไปขวางทางเดินเรือสินค้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท