อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ : ย้อนกลับไปหา "ประชาธิปไตยแบบไทย" ในอดีตไม่ได้แล้ว

มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา "ครบรอบ 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ..2454-2550" ตั้งแต่วันที่ 15-16 กันยายน 2550 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 

ในงานเสวนาครั้งนี้ มีการอภิปรายภายใต้หัวข้อ "เริ่มแรกประชาธิปไตยแบบไทย/ไทย: รัฐประหาร 2490 และปฏิวัติซ้ำ/ซ้อน 2500/2501" ซึ่งผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ณัฐพล ใจจริง, อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ โดยมี ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

 

จากวงอภิปราย อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" โดยตั้งข้อสังเกตว่า "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์" ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้ในการบริหารประเทศ ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ เกิดขึ้น แต่ไม่มีทางที่คณะทหารหรือผู้ก่อรัฐประหารกลุ่มใดจะสามารถทำได้อย่างนั้น เพราะปัจจัยทั้งภายในและภายนอกไม่เอื้ออำนวยอีกต่อไป

 

 

0 0 0

 

อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

โจทย์ที่ทางผู้จัดงานมอบหมายมาพูดในวันนี้คือ ประชาธิปไตยแบบไทยคืออะไร และมีผลยังไง เป็นบทเรียนหรือเปล่ากับโลกปัจจุบัน ผมอยากให้ท่านผู้ฟังย้อนกลับไปฟังสิ่งที่อาจารย์อัจฉราพร กมุทพิสมัย (โปรดอ่าน "อัจฉราพร กมุทพิสมัย" : มองหาอุดมการณ์ ทหารหนุ่ม "ร.ศ.130" - ประชาไท) ได้สรุปตอนท้าย มันมี keyword ที่สำคัญมากเลยก็คือ เรื่องของ กบฏ รศ.130 เป็นของต้องห้ามของนักเรียนนายร้อย จปร.ถึงปัจจุบัน และต้นแบบของนักเรียนนายร้อย จปร.คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันนี้สำคัญครับ

 

สิ่งที่สำคัญต่อมาก็คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอายุ ท่านอาจารย์ท่านหนึ่งได้อภิปรายโดยพูดถึงอายุ ผมคิดว่ามีความสำคัญตรงนี้ ถ้าดูในช่วงของ รศ.130 คนอายุประมาณ 19 ปี - 25 ปี ทำการปฏิวัติประเทศ มีแนวความคิดที่จะไปเป็นสาธารณรัฐ คือกลุ่มของอาจารย์ปรีดี ตัวอาจารย์ปรีดีเองอายุ 20 กว่า แล้วเป็นนายกรัฐมนตรีตอนอายุ 32 ท่านพระยาพหลฯ ซึ่งเป็นผู้ทำการปฏิวัติรัฐประหารเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะด้วยการหลอกล่อหรืออะไรตามแต่ ท่านอายุ 45 ปี

 

ในปัจจุบัน เราอยู่ในระบบ "สี่เสาเทเวศร์ฉันทานุมัติ" เราไปดูอายุของแต่ละท่านสิครับ 70 ถึง 80-84 ขึ้นไป โลกทัศน์อะไรก็ย่อมแตกต่าง และมีผลกับสังคมการเมืองไทยในปัจจุบันซึ่งแสนจะสลับซับซ้อน เพราะผมไม่คิดว่า พลังของความคิด ระหว่างคนที่มีอายุ 80 กับพลังอายุของคน 25 ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นเหมือนกัน ผมคิดว่าคนรุ่นหนึ่งนั้นมีตรรกะและเหตุผลหลายอย่างต่างกัน แน่นอนครับ ก่อนจะถึงตรงนั้น ต้องกลับมาดูที่ประชาธิปไตยแบบไทยซึ่งเป็นต้นแบบด้วย

 

ท่านอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และณัฐพล ใจจริง) ให้รายละเอียดมากมายเกี่ยวกับการรัฐประหารปี 2490 บอกว่าง่ายเหลือเกิน แค่จับนายพล แค่จับผู้นำ 3 คน ก็ทำรัฐประหารได้แล้ว ง่ายเหลือเกิน แต่อะไรที่ง่าย ไม่มีนัยยะทางประวัติศาสตร์มากขนาดนั้น แต่ความขัดแย้งในช่วง 10 ปีนั้น ไม่ใช่เรื่องรัฐประหารนะครับ เป็นเรื่องกองสลากกินแบ่ง เราก็เลยมีกลุ่มราชครู กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน นั่นเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงเลยครับ การรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะฉะนั้น การสถาปนาประชาธิปไตยแบบไทย ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ความยากลำบากนั้นส่งนัยยะอย่างสำคัญต่อประชาธิปไตยในประเทศไทย

 

ความยากลำบากนั้นเกิดขึ้นจากการแข่งขันทางการเมืองโดยตลอด เกิดขึ้นจากผลประโยชน์อย่างที่ท่านอาจารย์ทั้งสองท่านได้อธิบายมา แต่คนไม่ค่อยคิดหรอกครับ นอกจากอายุแล้ว จะต้องไม่ลืมถึงสุขภาพ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะนั้น ท่านดื่มหนัก แล้วมีปัญหาเรื่องตับ เหตุผลหนึ่งที่ท่านรัฐประหารแล้วไม่เป็นนายกฯ เพราะต้องการรักษาตัว การประชุมที่บางแสน หรือที่เราเรียกว่า "ครม.สัญจร" ก็เริ่มในสมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่มีเหตุผลเพราะสุขภาพ

 

ผมมีโอกาสได้อ่านพินัยกรรมของท่านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องลับนะครับ มีลงหนังสือพิมพ์สมัยนั้น คือคนจะตายแล้วเขียนพินัยกรรม จะต้องเขียนความจริงครับ เขียนความจริงแน่นอน พินัยกรรมนี้เปิดเผยหลังจากที่เหตุการณ์การเมืองนั้นเปลี่ยนไปแล้ว ท่านเสียไปแล้ว ในนั้นมีข้อความตอนหนึ่งที่สำคัญ คือตอนที่ท่านรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา ท่านบอกว่า "โอ้...โชคดี เราไม่ตาย หายแล้ว เพราะฉะนั้น "จะทำทุกสิ่งทุกอย่าง" เพราะฉะนั้น ในเวลา 6 ปี สิ่งที่นักวิชาการท่านหนึ่งเรียกว่าเป็น "การก่อตัวของระบอบประชาธิปไตยแบบไทย" จึงเกิดขึ้น ท่านต้อง "คิดไว ทำไว" เพราะไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่

 

ในชีวิตส่วนตัวนั้นก็ช่างท่าน แต่ผลของสิ่งที่ท่านทำต่อการเมืองไทย มีความหมายอย่างมหาศาล ผมก็เลยต้องย้อนกลับไปดูงานของอาจารย์ทักษ์ (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ) ซึ่ง 26 ปี มาแล้ว ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ตอนเรียนปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง มันเป็นภาษาอังกฤษครับ ภาษาผมก็ไม่ค่อยดี ทุกวันนี้ก็ยังไม่ค่อยดี ก็อ่านด้วยความยากลำบาก แต่เป็นแรงดลบันดาลใจให้ทำวิทยานิพนธ์เมื่อปี 2522

 

แรงจูงใจอีกอย่างหนึ่งก็คือความคิดว่า เด็กรามคำแหงคิดไม่ตรงกับคอร์แนล ไม่ตรงกันในความหมายไหน อาจารย์ทักษ์อธิบายถึงกระบวนสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ อธิบายเรื่องระบบพ่อขุน อธิบายว่าการไปเยี่ยมคนในต่างจังหวัดนั้นมันคือ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์" เด็กอย่างผมก็ตั้งข้อสงสัยว่า อาจารย์ การใช้ประสบการณ์ของคนที่ไม่เคยไปต่างประเทศ จะบอกว่าท่านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คิดแบบไทย มีต้นกำเนิดของปัจจัยภายใน ของการรุกแบบภายใน ในแบบที่พวกจอมพล ป. พวกปี 90 เป็นประเด็นหลักให้ ข้อโต้แย้งอย่างนี้อาจจะมีผล

 

ถ้าบอกว่าเปรียบเทียบกับพวก 2475 ซึ่งไปเรียนรู้ในต่างประเทศ ผมก็โต้แย้ง แต่ความโต้แย้งของคนหนุ่มวัยนั้นก็มาสยบยอมความคิดเห็นของอาจารย์ทักษ์ ซึ่งอภิปรายได้ครอบคลุมกว่า อย่าลืมนะครับว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่านไม่ได้เขียนสปีชเอง มาจากหลวงวิจิตรวาทการ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าหลวงวิจิตรวาทการจะนำบทบาทของประเทศในฐานะที่ปรึกษา หรือมีบทบาทด้วยการเขียนสปีชให้จอมพลสฤษดิ์หรือจอมพล ป. ทั้งสองท่านจะเชื่อในระบบพ่อขุนหรือไม่-ไม่ใช่ประเด็นหลัก

 

ประเด็นก็คือว่า เขาได้ใช้ "ท้องถิ่น" "ความเป็นไทย" อธิบายประชาธิปไตยในขณะนั้นจัดการระบบสังคมของรัฐกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่เหมือนกับสมัยจอมพล ป. คือเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นในแบบที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุยังหนุ่มแน่น และเป็นสถาบันกษัตริย์ซึ่งเข้าได้กับระบบการเมืองไทยสมัยใหม่ การปรากฏกายของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีหน้าที่ "คุ้มเกล้าคุ้มกระหม่อม" ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งสร้างระบบการเมืองที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยขึ้น

 

ผลของมันนั้น เราอาจจะมองเห็นได้ว่า ความคิดอันนี้ไม่มีใครเถียงได้ว่ามีปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอก ทำไมผมถึงพูดถึงปัจจัยภายนอก เพราะผมไปเน้นเรื่องอเมริกา ตอนที่ท่านไปพักที่อเมริกา ยากขนาดไหน หลังจากนั้นบินไปลอนดอน เป็นคนร่างแผนปฏิวัติที่ลอนดอนนะครับ หลวงวิจิตรวาทการไปเก็บตัวอยู่ที่ลอนดอนเพื่อร่างแผนการปฏิวัติ เพราะฉะนั้น แม้ระยะเวลาจะมีเพียง 6 ปี แต่ประชาธิปไตยแบบไทยมันได้ก่อรูปขึ้น

 

อย่างน้อยที่สุดก็ก่อให้มีผลในอยู่ 2 อย่าง คือในทางวิชาการ รัฐในอุษาคเนย์ เอาเข้าจริงๆ แล้ว ถ้าย้อนกลับไปในอุษาคเนย์ อาจจะเป็นรัฐซึ่งต้องเชิดชู บุรุษ ผู้นำ...ใช้คำนี้ก็ได้ ซึ่งประชาธิปไตยแบบไทยก็เหมือนกัน คนเหล่านี้จะเป็นคนชี้นำ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจของท่าน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการสั่งประหารชีวิต ต้องลงท้ายว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"

 

ตอนเด็กๆ ผมได้ยินคำนี้แล้วผมก็ประทับใจ "ข้าพเจ้าจะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" และหลังจากยิงแล้ว ไม่ได้ทำบุญเหมือนอย่างทุกวันนี้ ผมต้องการจะพูดถึงว่า จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ดื้อดึงแบบนี้ จะเป็นประชาธิปไตยแบบไทย แบบที่จอมพลสฤษดิ์เป็น เพราะว่าท่านเป็นรองนายกฯ มาตลอด แล้วใช้วิธีเดียวกันทุกแบบ แต่มันเลียนแบบไม่ได้ เพราะระบบของจอมพลถนอมนั้นเป็นระบบที่อ่อนแอ ไม่มีเหตุผลทางการเมืองในการรองรับของการทำรัฐประหาร

 

เพราะฉะนั้นการรัฐประหารในปี 2514 ก็ไม่ make sense ทำรัฐประหารตัวเอง มีเหตุผลไหม? คือรอเวลาเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนชั้นกลางในนามของนิสิตนักศึกษาเท่านั้น ไม่มีใครสร้างประชาธิปไตยแบบไทยได้แบบจอมพลสฤษดิ์ ท่านไม่ได้ฉลาดในการเรียนรู้แก้ไขปัญหา แต่ว่ามันเป็นช่วงเวลาวิกฤตของชีวิตที่ต้องวางแผน ต้องทำงานบางอย่าง เช่นไปเยี่ยมราษฎร

 

ผมได้อ่านรายงานฉบับแรกของสภาพัฒน์ (สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งนำมาสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เราคิดว่าสหรัฐอเมริกามีอิทธิพลมาก แล้วก็เลยได้อ่านจดหมายบันทึกระหว่างประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์เขียนส่งมายังท่านพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เหตุผลก็คือว่า ท่านนั้นไม่แข็งแรง ต้องทำทุกอย่าง อเมริกาบอกจะช่วยต่อต้านคอมมิวนิสต์ เงินจะมา ทำได้ไหม เอาเงินไปเลย ทั้งๆ ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เอกสารก็ไม่ได้อ่าน

 

ก็เหมือนกัน ถ้ามองย้อนไปรัฐบาลที่แล้ว ข้อผิดข้อถูกก็มี แต่รัฐบาลทักษิณก็สร้างบางสิ่งบางอย่างไว้ เช่น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชานิยม เกี่ยวข้องกับสุขภาพ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จอมพล ป.นั้น ถึงแม้จะมีประสบการณ์จากต่างประเทศ ถึงแม้จะมีประกาศมีโอกาสในการพูดแถลงเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในทางกลับกัน จอมพลสฤษดิ์ได้ผสมผสานความเชื่อแบบไทย ผสมผสานประสบการณ์ท้องถิ่น ของอีสาน ความยากจน แล้วก็ประยุกต์ใช้เพื่อความอยู่รอดทางการเมือง และความอยู่รอดทางการเมืองนั้นได้สถาปนาระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปก็คือว่า เราเรียนรู้อะไรบ้างจากรัฐประหารปี 2500 กับ 2501 สิ่งที่รัฐประหารสองครั้งนั้นสอนให้เราเรียนรู้ก็คือ ถ้าหากว่ามีนักการทหารหรือมีผู้นำทางการเมืองคนใดที่เป็นผู้นำทางกองทัพ จะย้อนกลับไปมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบไทย หรือใช้ทหารเป็นอำนาจนำในการปกครองประเทศ ผมคิดว่าเป็นการหลงยุค เป็นแนวคิดที่น่าหัวเราะ และจะก่อผลเสียให้กับตัวเอง

 

ไม่ต้องอื่นไกลครับ จอมพลถนอมประสบมาแล้ว เมื่อปี 2514 และรัฐบาล รสช.กับการรัฐประหารของ รสช.ประสบมาแล้วครับ หุ้นตกเป็นประวัติการณ์ มากกว่าราคาน้ำมันอีก การรัฐประหารเมื่อปีที่แล้วเป็นเพียงการหัวเราะเบาๆ เพราะว่า "ปรากฏการณ์สนธิ" ได้ช่วยจรรโลงการต่อต้านระบอบทักษิณเอาไว้ แต่จริงๆ แล้วการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายนนั้น ได้บอกตัวเองอีกครั้งหนึ่งว่า การรัฐประหารโดยทหารเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองหรือการย้อนกลับไปสู่ประชาธิปไตยแบบไทยในสมัยอดีตนั้น-เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

 

ไม่มีผู้นำรัฐประหารคนไหนหรอกครับที่ประกาศไปตั้งแต่ทีแรกว่า "ข้าพเจ้าจะคืนอำนาจประชาธิปไตยให้กับประชาชนภายใน 1 ปี" แล้วจะใช้เวลาเพียง 12 วันในการจัดระบบอำนาจตัวเอง ปริมณฑลของความขัดแย้งอันนี้มันบอกอยู่แล้วว่า "ทหารบ่มิไก๊" เพราะอะไร? ก็เพราะว่าทุกวันนี้ไป แค่จะจัดโควตาของทหาร 3 เหล่าทัพในวุฒิสมาชิกเป็นจำนวนเท่าไหร่ก็ยากแล้ว เพราะจำนวนมันน้อยเหลือเกิน

 

ปริมณฑลอำนาจอันนี้ไปสู้กันที่ไหนครับ รัฐวิสาหกิจครับ มีพลเอกคนหนึ่งทำสองที่ เป็นทหารบกแต่ทำเรื่องทหารอากาศ เจ๊งไหมครับ โทรศัพท์เจ๊งไหมครับ คุณจะเป็นผู้นำได้ยังไง ขนาดหน่วยงานองค์กรของเขายังบริหารไม่เป็นเลย

 

อันนี้ไม่ใช่ประเด็นเล่นๆ นะครับ เพราะการเมืองการปกครองเกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยมโลก เกี่ยวข้องกับตลาดดาวโจนส์ เกี่ยวข้องกับสินเชื่อซับไพรม์ในอเมริกา มีนายทหารคนไหนบ้างที่รู้เรื่องพวกนี้? จะใช้คนเหมือนในสมัยยุคเปรมาธิปไตยได้ไหมครับ? - เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น การรัฐประหาร ปี 2500-2501 เป็นยุคทองของการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยแบบไทย แต่ได้เตือนแล้วนะครับว่า "มันจบแล้ว"

 

การรัฐประหารครั้งต่อมาได้ก่อผลเสีย ไม่ใช่เฉพาะต่อสังคมเศรษฐกิจไทย แต่ได้ก่อผลเสียต่อสถาบันทหารด้วย ทหารได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า "ไม่สามารถบริหารประเทศนี้ได้" ควรกลับเข้ากรมกอง แล้วทำงานด้านความมั่นคง ทำไปเลย ดูงบประมาณทหารก็ได้ ขึ้นปรู๊ดเลย 2 ปี แต่หลังจากนี้เอามาจากไหนครับ จะเอาเงินจากไหน? เพราะระบบเศรษฐกิจไทย 80 เปอร์เซ็นต์คือการส่งออก เพราะตลาดหุ้นของไทย 40 เปอร์เซ็นต์เป็นเงินทุนของต่างชาติ ซึ่งมีผลต่อการขึ้นลงของค่าเงิน

 

มันได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมานั้น "ล้มเหลว" และเป็นการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งภายในของทหาร เป็นสิ่งที่อาจจะถูกตั้งว่าเป็น "ปรากฏการณ์ชนิดหนึ่ง" ของกลุ่มอนุรักษ์นิยม ของกลุ่มนิยมสถาบันกษัตริย์

 

ทางลงของทหารจะทำอย่างไร? ที่แน่ๆ ก็คือประชาธิปไตยมันไม่ได้ตอบคำถามให้กับตรงนี้ได้ ฟังเสียงของท่านพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน สิครับว่า มันไร้ค่าแค่ไหน หลังจากได้ยื่นโผตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไปแล้ว เขาก็คือคนที่เกษียณอายุราชการคนหนึ่งเท่านั้นเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท