Skip to main content
sharethis

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้


(www.deepsouthwatch.org)

ศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ  ส.ส.ที่คาดว่าจะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เริ่มมีอุณหภูมิร้อนแรงขึ้นทุกขณะ


 


ในส่วนของพื้นที่ด้ามขวานทองซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์ มีแนวโน้มว่าการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ สมาชิกลูกพระแม่ธรณีบีบมวยผมจะไล่กวาดมาตั้งแต่เพชรบุรีจนถึงสุดเขตแดนใต้ แต่ที่ยังเป็นก้างชิ้นใหญ่ที่พรรคประชาธิปัตย์กลืนไม่ลง คือ พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส


 


หลายยุคหลายสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องขับเคี่ยวกับนักการเมือง "กลุ่มวาดะห์" ซึ่งพื้นที่ในแต่ละเขตผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะเรื่อยมา


 


ปัตตานีมี ส.ส. 4 คน ยะลา 3 คน ส่วนนราธิวาสได้เพิ่มขึ้นอีก 1 จาก 4 เป็น 5 คน รวมแล้วการเลือกตั้งครั้งหน้ามีเก้าอี้ ส.ส. 12 ที่นั่งเป็นเดิมพัน


 



 


ขณะนี้ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ กำลังคึกคัก เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ แต่พรรคประชาธิปัตย์ดูจะมีความพร้อมที่สุด เพราะไม่ถูกสถานการณ์ความรุนแรงกระแทกถึง ซึ่งตรงกันข้ามกับกลุ่มวาดะห์ที่พลังอ่อนแอลงถนัดตา เพราะนอกจากสมาชิกหลายคนถูกตั้งข้อกล่าวหาในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแล้ว ในส่วนของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้ากลุ่มยังติดบ่วงอยู่ใน 111 คนที่ต้องเว้นวรรคทางการเมืองด้วย


 


ขณะที่ "กลุ่มดารุสลาม" ซึ่งแยกตัวไปจากพรรคประชาธิปัตย์ และรวมตัวกับกลุ่มวาดะห์ ซึ่งประกอบด้วย นายวัยโรจน์ พิพิธภักดี, พ.ต.ท.เจ๊ะอิสมาแอ เจ๊ะโมง และ พ.ญ.พรพิชญ์ พัฒนกุลเลิศ ต่างก็มีปัญหาเหมือนกันหมด โดย พ.ต.ท.เจ๊ะอิสมาแอ และ พ.ญ.พรพิชญ์ยังยืนยันอยู่ในขั้วไทยรักไทยเดิมที่แปรสภาพเป็นพรรคพลังประชาชน ส่วนนายวัยโรจน์นั้นมีอันต้องเว้นวรรคทางการเมืองเช่นเดียวกับนายวันนอร์


 


นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของพรรคชาติไทยที่เตรียมส่งผู้สมัครในบางเขต แต่ถูกจับตามองไม่น้อย คือ การเดินเกมทางการเมืองของ น.พ.แวมาฮาดี แวดาโอะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งว่ากันว่ามีเงาทะมึนของทหารอยู่ข้างหลัง


 


แน่นอนว่าการต่อสู้แย่งชิงคะแนนเสียงจากชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นี้ ประเด็นใหญ่คงหนีไม่พ้นเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบที่ยังรุนแรงอยู่ทุกวัน


 


ในฐานะเจ้าของพื้นที่เดิม "อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์" อดีต ส.ส.นราธิวาส ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมประสานงานของกลุ่มวาดะห์ ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า จะสามารถกวาดที่นั่ง ส.ส.ได้ครบตามเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้มีอดีต ส.ส.อยู่ด้วยอย่างน้อย 5 คน


 



นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์


 


ในการประชุมกลุ่มวาดะห์เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สมาชิกต่างเห็นตรงกันว่า หากต้องการผลักดันนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ให้เป็นจริง กลุ่มวาดะห์ต้องอยู่ในสังกัดพรรคเมืองใหญ่ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทางเลือกที่ดีทีสุด คือ เป็นพรรคทางเลือกที่ 3 ซึ่งเป็นทางสายกลาง พูดง่ายๆ คือ ไม่ใช่ขั้วประชาธิปัตย์และไม่ใช่ขั้วไทยรักไทยเดิม และต้องยึดหลักประนีประนอม


 


"กลุ่มวาดะห์จะร่วมมือกับพรรคหรือกลุ่มการเมืองใหญ่ เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เราไม่ต้องการเป็นพรรคฝ่ายค้าน เพราะการแก้ปัญหาจะต้องใช้งบประมาณและต้องผลักดันให้มีนโยบายที่ชัดเจน" แกนนำกลุ่มวาดะห์ แสดงท่าทีชัดเจน


 


แต่ข้อกล่าวหาที่ผูกโยงไว้ทำให้กลุ่มวาดะห์ต้องเคลียร์ตัวเองให้ได้ ทั้งกรณีของ นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส หรือกรณีของ นายรอมลี อุตรสินธุ์ พี่ชายนายอารีเพ็ญที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายจับและหลบหนีออกนอกประเทศ


 


อารีเพ็ญอธิบายว่า เหตุที่วาดะห์ไม่สามารถเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนได้ เพราะสถานการณ์ขณะนั้น ส.ส.เองก็เหมือนตกอยู่ในเรือลำเดียวกัน กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร วาดะห์จึงรีบถอนตัวออกจากพรรคไทยรักไทย


 


"ก่อนหน้านี้มีแต่กลุ่มวาดะห์เท่านั้นที่ทำงานแก้ไขปัญหาความอยุติธรรมให้กับชาวบ้าน ถามว่าตอนที่ประชาชนเดือดร้อนเคยมีพรรคไหนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบ้าง ที่สำคัญอย่าลืมว่าจับการกุมตัว "หะยีสุหรง อับดุลกาเดร์' ที่ชาวบ้านเคารพศรัทธา ก็เกิดขึ้นในยุคที่ประชาธิปัตย์เป็นใหญ่ ซึ่งเป็นการจุดเชื้อไฟให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้"


 


ด้วยเหตุนี้ วาดะห์จึงมุ่งเน้นนโยบายที่ให้น้ำหนักกับการส่งเสริมฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง และหลักการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น โดยดึงประชาชนกลับเข้าสู่วิถีทางแบบประชาธิปไตย ไม่ตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อของขบวนการก่อความไม่สงบ และหันมาร่วมมือกับรัฐมากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐต้องไม่จ้องจับผิดมากจนทำให้ชาวบ้านหวาดระแวงและโน้มเอียงไปเป็นแนวร่วมของขบวนการ


 


สำหรับแนวทางดับไฟใต้ของกลุ่มวาดะห์ นายอารีเพ็ญยืนยันว่า เป็นแนวทางของมุสลิมสายกลางที่สากลทั่วโลกยอมรับ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาลงได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาที่ทางกลุ่มเคยเสนอให้ตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาส เพื่อเป็นสถาบันอิสลามที่ถูกต้องตามหลักศาสนา


 



นายนิพนธ์ บุญญามณี


 


ขณะที่แม่ทัพใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับมอบหมายให้ดูหัวเมือง 3 จังชายแดนใต้อย่าง นายนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรค กล่าวตอบโต้นโยบายทางการเมืองของกลุ่มวาดะห์ว่า หากวาดะห์เข้าใจปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างถ่องแท้ เหตุการณ์ความไม่สงบคงไม่ลุกลามบานปลายจนถึงปัจจุบันนี้


 


"กลุ่มวาดะห์ไม่มีความชอบธรรมที่จะเสนอตัวมาแก้ปัญหาภาคใต้ ทำได้แต่เพียงหาคะแนนเสียงเท่านั้น ฉะนั้นวาดะห์จึงไม่มีสิทธิออกมาพูดเรื่องภาคใต้อีกแล้ว" เขากล่าว


 


นายนิพนธ์ บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ติดตามศึกษาปัญหาภาคใต้มาโดยตลอด และได้ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลชุด พ.ต.ท.ทักษิณ มาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งเสนอยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาภาคใต้ เช่น ประกาศปัตตานี 2548 ซึ่งมีสาระสำคัญ 12 ประการ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง


 


"ผลจากความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐบาลทักษิณที่เชื่อว่าการใช้ความรุนแรงจะแก้ปัญหาได้ แต่กลับทำให้เกิดปัญหาสั่งสมยืดเยื้อ ถึงแม้ ปชป.จะส่งสัญญาณเตือนแล้ว แต่รัฐบาลชุดนั้นไม่ยอมฟัง โดยหาว่าข้อเสนอของนายชวน หลีกภัย เป็นแผ่นเสียงตกร่อง" รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ย้ำถึงแนวทางเดิมที่ถูกสานต่อเป็นนโยบายหาเสียงในครั้งนี้


 


เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศแนวทางแก้ไขปัญหาชายแดนใต้โดยชูประเด็นสำคัญคือ ยุทธศาสตร์ความมั่นคง และยุทธศาสตร์การพัฒนา ซึ่งจะดำเนินควบคู่กันไป


 


"หลักการทำงาน คือ ต้องมีการตั้งรองนายกฯ หรือรัฐมนตรี ขึ้นมาดูแลปัญหาความไม่สงบโดยเฉพาะ และจัดตั้งเป็นหน่วยงานให้ชัดเจน เพื่อจัดสรรงบประมาณด้านความมั่นคงอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เป็นทำแบบทอดกฐินสามัคคีที่ให้ใครต่อใครเข้ามาร่วมก็ได้" นายนิพนธ์ กล่าว


 


รองเลขาธิการ ปชป. อธิบายว่า เหตุที่ต้องตั้งรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีขึ้นมาดูแลปัญหาภาคใต้ เนื่องจากองค์กรที่มีอยู่ปัจจุบันไม่มีความพร้อมทางบุคลากร ส่วนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพียงหน่วยงานเดียวก็ไม่มีศักยภาพมากพอ


 


"ปัญหาขณะนี้ไปไกลกว่าเดิมมาก ฉะนั้นแค่ระดับรองปลัดกระทรวงเข้ามาดูแลคงไม่เพียงพอ ต้องให้นักปกครองลงไปติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่ทหารเดินเต็มบ้านเต็มเมือง" เขากล่าว


 


นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญจะต้องประกาศยกเลิกคำว่า "พื้นที่สีแดง" เพราะนั่นหมายถึงการผลักไสประชาชนให้ห่างจากรัฐมากขึ้น และยิ่งเป็นไปตามเป้าหมายของกลุ่มขบวนการ


 


"ปชป.เป็นพรรคการเมืองแรกที่กล้าประกาศยุทธศาสตร์ชายแดนภาคใต้ชัดเจนที่สุด และมีศูนย์กลั่นกรองข้อมูลเพื่อสรุปให้ผู้บริหารพรรครับทราบทุกเดือน เพื่อนำไปกำหนดเป็นแนวนโยบาย ฉะนั้นหากได้ขึ้นเป็นรัฐบาลชุดต่อไป จะนำนโยบายที่เคยประกาศไว้มาต่อยอดให้เกิดผลอย่างจริงจัง อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงเบาบางลง" รองเลขาธิการ ปชป. กล่าว


 



นายวัยโรจน์ พิพิธภักดี


 


ขณะที่ นายวัยโรจน์ พิพิธภักดี จากกลุ่มดารุสลาม ซึ่งแยกตัวออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือนักการเมืองต้องเป็นความหวังให้ชาวบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาค่อนข้างว้าเหว่ ดังนั้นภายหลังการเลือกตั้งอยากให้ ส.ส.ทุกพรรคใน 3 จังหวัดนี้จับมือเป็นหนึ่งเดียว เพื่อช่วยกันปฎิรูปความรู้สึกของชาวบ้าน


 


"เมื่อก่อนเราไปถามชาวบ้าน เขาบอกอย่ายุ่ง แต่ตอนหลังพอถึงกดดันมากๆ เขามาเล่าให้เราฟังเอง ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ต้องแก้ด้วยการเมือง คือเอาความรู้สึกของประชาชนเป็นตัวตั้ง"


 


ด้าน นายยืนหยัด ใจสมุทร ประธานคณะกรรมการประสานงานภาคใต้ พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ทางพรรคมีความพร้อมที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส.เข้าชิงครบทุกเขต โดยแบ่งพื้นที่ภาคใต้ออกเป็น 4 โซนคือ ภาคใต้ตอนบน ตอนกลาง ตอนล่าง และฝั่งอันดามัน สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ทางพรรคไม่รู้สึกหนักใจ และมีนายวันนอร์  อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นผู้ให้คำแนะนำ อีกทั้งไทยรักไทยยังมีผลงานเป็นรูปธรรมที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ และสามารถสานต่อนโยบายเดิมให้ขยายผลสืบเนื่องต่อไปได้


 


"ถึงใครจะมองว่าพรรคพลังประชาชนเป็นตัวแทนของไทยรักไทยเก่า แต่ถึงตอนนี้ความจริงก็เริ่มกระจ่างชัดแล้วว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลไทยรักไทย เพราะหลังรัฐประหาร 19 กันยา ก็ยังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอยู่ ซึ่งคนในพื้นที่จะรู้เองว่าข้อเท็จจริงคืออะไร" นายยืนหยัดพยายามอธิบายหลังจากถูกโจมตีว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยเป็นต้นเหตุแห่งความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้


 


อย่างไรก็ตาม นายยืนหยัด กล่าวว่า ขณะนี้ยังระบุชัดเจนไม่ได้ว่า จะมี ส.ส.เป็นใครบ้าง และจะวางนโยบายในภาคใต้อย่างไร เพราะอยู่ในขั้นตอนการหารือกัน ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และตัวผู้สมัครได้ตามความเหมาะสม โดยต้องประเมินคู่แข่งจากพรรคอื่นด้วย


 


ส่วนมุมมองของนักวิชาการอย่าง ดร.อิบบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต หัวหน้าภาควิชาอิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องของตัวบุคคลที่จะลง ส.ส.มากกว่าพรรคการเมือง แต่ยอมรับว่าประชาธิปัตย์นั้นได้เปรียบเพราะมีฐานคะแนนจัดตั้งอยู่ระดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะภาพของนายชวน หลีกภัย ซึ่งคู่ต่อสู้ที่ชัดเจนยังคงเป็นนายวันนอร์ฯ ซึ่งก็มีฐานเสียงอยู่เหมือนกัน แต่ประชาธิปัตย์แกร่งกว่า ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับคนกลาง ที่สำคัญคือการเลือกตั้งครั้งนี้คนที่นี่ต้องการนักการเมืองที่มีจุดยืนชัดเจน


 



 


"ผมว่าชาวบ้านยังไม่สิ้นหวังกับการเมือง เขาถึงออกมาใช้สิทธิ์ในการลงประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญกันมากมาย เพียงแต่ที่พิเศษหน่อยคือมีบัตรเสียมาก ซึ่งสะท้อนได้ว่าเขาไม่เอาทั้ง 2 ฝ่าย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net