Skip to main content
sharethis


นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เปิดเผยผลการศึกษาการจัดลำดับความสำคัญด้านการวิจัยทางด้านสุขภาพ  สนับสนุนโดยคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ  สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์  สรุปว่า จากการศึกษาองค์กรแหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างแสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย และองค์การอนามัยโลก พบว่า การจัดลำดับความสำคัญของการวิจัยล้วนขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และพันธกิจของแต่ละองค์กรเป็นหลัก

 


 "โดยสัดส่วนของงบประมาณที่นำมาลงทุนในการวิจัยสุขภาพช่วงระหว่างปี 2545-2549 นั้นพบว่า   หากพิจารณาตามประเภทของานวิจัยแล้ว งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยทางด้านสาธารณสุข  โดยวิจัยเชิงคลินิคได้รับการสนับสนุนน้อยที่สุด   ส่วนในแง่ของภาระโรค หรือโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย  เป็นการวิจัยโรคเอดส์และการติดเชื้อเอชไอวี  อุบัติเหตุจราจร เบาหวาน และวัณโรค  และการวิจัยเพื่อศึกษาไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก เป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนการวิจัยสูงสุดในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่


 


ด้าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี  ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า งบประมาณในการวิจัยทางสุขภาพยังถือว่าน้อยมาก ไม่ถึงร้อยละ 2-5  ของงบประมาณด้านสุขภาพทั้งหมด ซึ่งจำนวนนี้เป็นจำนวนงบประมาณที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายลงทุนกับการหาความรู้เพื่อสร้างสุขภาพ  ทั้งๆ ที่ปัจจุบันมีการอุบัติของโรคใหม่มากมาย รวมถึงปัญหามลพิษที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคนไทย


 


"ดังนั้นจึงควรมองในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าอยากจะเห็นเมืองไทยแข็งแรงอย่างไร คุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นอย่างไรผ่านมุมมองด้านสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค ระบบสาธารณสุข ความเป็นธรรม และการบริการด้านสุขภาพ  ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อมองเช่นนี้แล้วจึง


จะเห็นว่าทิศทางการวิจัยในอนาคตควรเป็นอย่างไร ซึ่งองค์กรแหล่งทุนต่างๆ ควรนำมาใช้กำหนดทิศทางการวิจัย"


 


ศ.นพ.ประเวศ  กล่าวต่อว่า  ส่วนการจัดสรรงบประมาณการวิจัยด้านสุขภาพนั้นทางรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ มีกลไกในการจัดการงบประมาณอยู่แล้ว สามารถจะตั้งกรรมการการวิจัยสุขภาพร่วมกันในการกำกับและกำหนดทิศทางได้ โดยมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าร่วมกัน


 


"อย่างไรก็ตาม การทำการวิจัยเป็นเรื่องสำคัญมาก จึงต้องมีกระบวนการนำไปใช้ประโยชน์ และที่สำคัญแหล่งทุนต่างๆ ต้องสนับสนุนการวิจัยเชิงรุกอย่างมีส่วนร่วม" ศ.นพ.กล่าวในตอนท้าย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net