1 ปีหลังรัฐประหาร 49 กับเสียงผู้ถูกตราหน้าว่า 'เหยื่อระบอบทักษิณ'

เสียงจากผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น "เหยื่อระบอบทักษิณ" รัฐประหาร 2549

หลังรัฐประหารในไทยไม่นานนัก เพื่อนผู้สื่อข่าวท่านหนึ่ง ได้ชักชวนให้ผมลงพื้นที่อำเภอสันกำแพง เพื่อหาเกษตรกรซักคน นำมาเขียนรายงานตีแผ่ถึงชีวิตส่วนตัวและความอาลัยอาวรณ์ถึงอดีตนายกรัฐมนตรีที่พึ่งถูกทำรัฐประหาร เพื่อส่งให้กับสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่ง

เราได้เลือกลงพื้นที่ ต.แช่ช้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ผมจำได้ว่าเราไปถึงบ่ายเศษๆ พวกเราได้ไปด้อมๆ มองๆ แถวทุ่งนาที่ไม่มีต้นข้าว มีแต่หญ้าเพราะพึ่งผ่านพ้นฤดูเก็บเกี่ยวไปแล้ว ... และเราก็ได้เจอชายสองคนกำลังเกี่ยวหญ้าขึ้นรถกระบะ พวกเราจึงตรงปรี่ไปที่เขา

อันดับแรกเราไปแสดงตัวถึงการเป็นนักข่าว ... แน่ล่ะว่าในห้วงเวลานั้น พึ่งเป็นช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ บรรยากาศการแสดงออกทางการเมืองยังอึมครึมอยู่ เราจึงทำทีท่าว่าจะมาขอทำสารคดีเกี่ยวกับชีวิตเกษตรกรไทย ในปัจจุบัน

จำได้ว่าเราได้รับใบสั่งจากสำนักข่าวต่างประเทศแห่งนี้ให้หาชาวนาตัวเป็นๆ ที่ชื่นชอบ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ... ตอนนี้เราได้ล่ะชาวนา แต่ข้อถัดมาเราคงต้องไปลุ้นที่บ้านของแหล่งข่าวสองคนนี้ ซึ่งเขาชักชวนให้เราไปที่บ้าน เพื่อสัมภาษณ์หรือทำอะไรก็แล้วแต่ต่อ

ผมจึงติดเบียร์ไว้ 3 กระป๋อง เพื่อกันพลาด !

พอถึงที่บ้าน เราจึงได้ข้อมูลขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับงานชิ้นนี้ ชายสองคนที่เราตามมานั้นเป็น น้า-หลาน กัน พอเราเตรียมจะเปิดประเด็นพูดเรื่องการเมืองขึ้นมา ผู้เป็นน้าก็ขอตัวไปทำธุระอะไรซักอย่างก่อน (ตามระเบียบ) คนที่เหลือซึ่งเป็นหลาน จึงจำเป็นจะต้องรับภาระดูแลขับสู้พวกเราต่อไป แต่ก็ทำงานบ้านที่ยังไม่เสร็จพลางๆ ไปด้วย --- เขาชื่อบอม อายุ 21 ปี และกำลังจะไปเป็นทหารเกณฑ์ (ในเดือน พ.ย. 2549)

บอมเล่าให้เราฟังว่า บอมช่วยพ่อและน้าหน้าเลี้ยงวัวและก็กิจกรรมจุกจิกอย่างอื่นในการเลี้ยงชีพ สำหรับอาชีพเกษตรกรถึงแม้ใครหลายคนจะดูถูกว่าต้อยต่ำและลำบาก แต่บอมบอกว่าทำแล้วสบายใจกว่าการไปรับจ้างใครคนอื่น

ในย่านหมู่บ้านนี้และใกล้เคียง บอมบอกว่าการทำนานั้นเริ่มลดลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ได้เดินเข้าสู่โรงงานและการขายแรงในแถบใกล้เคียงจนถึงตัวเมืองเชียงใหม่ การทำเกษตรกรรมที่เหลือส่วนใหญ่ก็จะเป็นการปลูกพืชผัก , ไม้ประดับ หรือเลี้ยงสัตว์เสียมากกว่า

บอมเล่าต่อถึงอาชีพเลี้ยงวัว กิจวัตรประจำวันของบอม ของเพื่อนบ้าน ... และเราก็ได้ค่อยวกมาคุยถึงเรื่องการเมือง เมื่อผมเปิดเบียร์กระป๋องแรกให้แก่บอม

บอมเล่าถึงการเมืองที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในอดีต และเราก็พยายามสอดแทรกให้บอมลองเปรียบเทียบระหว่าง ก่อนพรรคไทยรักไทยขึ้นมีอำนาจ และหลังจากนั้นก่อนเกิดการรัฐประหาร

พอเบียร์กระป๋องที่ 2 หมด (อีกกระป๋องผมกินเอง) หลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็พรั่งพรูออกมาจากปากเขา ไม่ว่าจะทำให้สินค้าเกษตรของพวกเขามีราคาสูงขึ้น , สาธารณูปโภคในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียงดีขึ้น , เงินหมุนเวียนในหมู่บ้านสะพัดขึ้น รวมถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่บอมเห็นว่ามันดีที่สุด

บอมบอกว่าคนในละแวกนี้ส่วนใหญ่ก็เลือกพรรคไทยรักไทยกันทั้งนั้น ซึ่งมันมากกว่าการเลือกพรรคที่หัวหน้าพรรคเป็นคนสันกำแพงเหมือนกัน แต่คนส่วนใหญ่เลือกพรรคไทยรักไทยเพราะชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก

และก่อนเราจากไป บอมได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าเลือกตั้งเมื่อไหร่ในสมัยหน้า เขาก็พร้อมที่จะลงคะแนนเสียงให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคไทยรักไทย เช่นเคย 

แต่เหตุการณ์ที่จะตามมาอีกในกาลข้างหน้านั้น มันคงได้ปิดโอกาสของบอมไปเสียแล้ว ..

ยุบพรรค

... เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมือง และมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาแบนถึง 5 ปี

พรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น ผมจำไม่ได้ว่ามีกี่พรรค และไม่อยากไปใส่ใจกับพรรคที่เหลือ คงจะมีความสนใจต่อกรณี การยุบพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคชะตาขาดเหล่านั้น !

เนื่องจากความเป็นนักข่าวภูธร ที่ไม่มีแหล่งข่าวเป็นคนที่นับหน้าถือตาในสังคมมากนัก ไม่ได้ใกล้ชิดกับอาจารย์ในมหาลัย ไม่รู้จักใครในสภาหอการค้าจังหวัด สิ่งที่พอจะทำเนาไปได้ก็คือการถามความเห็นคนตัวเล็ก ตัวน้อย แถวละแวกบ้าน และตามข้างถนนในเมือง ที่ผมได้ออกไปสัมภาษณ์ประกอบรายงานข่าวส่งต้นสังกัด

นายคำ (ขอสงวนนามสกุล) ชาวบ้าน อาชีพขับรถบรรทุก ต.อุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน กล่าวกับประชาไทว่า เมื่อคืนละแวกบ้านก็มีการดูถ่ายทอดสด จบบ้างไม่จบบ้าง แต่ตอนเช้ามีการพูดถึงกันที่คิวรถบรรทุก ซึ่งในส่วนตัวคิดว่าคนเหนืออาจจะน้อยใจรวมถึงคนอีสานด้วย ที่พรรคการเมืองที่เป็นสมาชิกถูกยุบ

"จากนี้ไปก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับเรื่องการเมือง คงไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคใดแล้ว ถึงวันเลือกตั้งค่อยดูเป็นคนคนไป" นายคำกล่าว

ส่วนนายวรสิทธิ์ (ขอสงวนนามสกุล) พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ย่านหลังมหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่าเมื่อวานตนเองฟังการถ่ายทอดสดไม่รู้เรื่อง มารู้ก็จากคำบอกเล่าและอ่านหนังสือพิมพ์วันนี้ ก่อนหน้านั้นคิดว่าถ้ารอดหรือยุบก็คงจะโดนทั้งคู่ และในเรื่องนี้ตนเองก็ไม่อยากแสดงความเห็นอะไรมากนัก สิ่งเดียวที่จะบอกได้ก็คือความรู้สึกเห็นใจคนที่เสียใจกับเหตุการณ์นี้

"เป็นคนไม่ตื่นตัวทางการเมืองเท่าไหร่ แค่รู้สึกสงสารพรรคไทยรักไทย เฉยๆ" นายวรสิทธิ์ กล่าว

และนายพงศกร (ขอสงวนนามสกุล) นักศึกษาและพนักงานพาร์ทไทม์แล็บตรวจเลือดแห่งหนึ่ง ย่านถนนมหิดล กล่าวว่าเมื่อคืนที่หอพักที่ตนเองอาศัยอยู่นั้น มีการพูดคุยกันและเห็นหลายคนมีการติดตามเรื่องนี้อยู่ สำหรับตนเองคิดว่าถ้าการตัดสินออกมาในรูปนี้ ก็กลัวจะเกิดความไม่พอใจของฐานเสียงพรรคไทยรักไทย ส่วนจะเกิดเหตุความรุนแรงหรือไม่ ตนเองไม่ทราบ แต่คาดว่าคนเชียงใหม่คงฉลาดพอที่จะไม่ทำอะไรรุนแรง

"ถึงมาจ้างก็ไม่ไป ไม่อยากเอาชีวิตไปเสี่ยง" นายพงศกร กล่าว

ความเสียดาย - ความเห็นใจ - ความไม่พอใจ ของชาวบ้านนั้นก็มีเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน ในเมื่อสิ่งรักสิ่งหวงของเขาถูกทำลายไปซะงั้น!

รวมถึงชาวบ้านอีกส่วนหนึ่ง ที่เน้นพูดถึงเรื่องปากท้อง นโยบายของพรรคการเมืองนี้ ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคการเมืองแรกที่มันกินได้ ...

ณ เพิงพักหลังเล็กๆ ใจกลางเมืองลำพูน ผมได้พบกับลุงอุดม (ขอสงวนนามสกุล) ชายอายุประมาณ 40 กว่าขวบประกอบอาชีพเก็บของเก่าไปขาย ลุงอุดมเองแกบอกว่าเรื่องการเมืองแกก็รับรู้ตามวิทยุ หรือโทรทัศน์ ส่วนหนังสือพิมพ์นั้นก็ไม่ค่อยได้อ่านเท่าเรา จะมาถามมาคุยอะไรกับแกมาก  แต่ถ้าพรรคไทยรักไทยถูกยุบแกก็คิดกลัวว่าสิ่งต่างๆ ที่ไทยรักไทยเคยให้จะหายไป และถ้าขอได้ก็ขอให้รัฐบาลใหม่ก็ขอให้ช่วยเหลือคนจนมากๆ

"อยากให้ดูแลปัญหาคนจนมากๆ" ลุงอุดมกล่าว

ถัดไปที่ ต.ริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูน ที่ยังเป็นพื้นที่กสิกรรม มีไร่นาสลับกับบ้านช่องและสวนลำไย ที่นั่นผมได้คุยกับคุณแม่บัวผัด (ขอสงวนนามสกุล) เกษตรกรและคนค้าขายของเล็กๆ น้อยๆ กำลังนั่งถักอุปกรณ์หาปลาอยู่หน้าบ้าน แกบอกว่าพรรคไทยรักไทยได้ทำอะไรให้คนยากจนไว้มาก แต่คงได้แค่เสียดายเท่านั้น เราชาวบ้านไปต่อรองอะไรไม่ได้

เช่นเดียวกับนายศราวุธ (ขอสงวนนามสกุล) แรงงานรับจ้างทั่วไป , นายมานพ (ขอสงวนนามสกุล) พนักงานรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของชิวิตเล็กๆ มอมๆ จนๆ ของพวกเขาที่คนตราหน้ากันว่าไม่มีการศึกษา พวกเขากล่าวว่างานเล็กๆ ไม่มีเกียรติอย่างพวกเขาไม่เคยมีใครหรือนโยบายของรัฐมาเหลียวแล รูปธรรมที่เห็นได้ชัดที่สามารถพลิกชีวิตของพวกเขาให้มีศักดิ์ศรีความเป็นคนขึ้นมา ก็คือการประกันสุขภาพ 30 บาท ซึ่งนี่คือส่วนดีที่สุดเท่าที่รัฐไทยเคยให้อะไรแก่พวกเขา

... บทสรุปของการลงพื้นที่หลังวันยุบพรรค  ผมรู้สึกร่วมได้ว่า ความอาลัยอาวรณ์ต่อพรรคไทยรักไทย ต่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นั้นไม่ใช่การบูชาเป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์แต่ประการใด

แต่เพียงพวกเราคนจนอาลัยอาวรณ์ถึงการที่ คะแนนเสียงของพวกเราสามารถแลกเปลี่ยนไปเป็น กองทุนหมู่บ้าน, เป็นสวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรค และอีกจิปาถะ ... ซึ่งไม่เคยเห็นนายกรัฐมนตรีคนใด หรือพรรคการเมืองใดที่ทำได้มาก่อน ก็แค่เท่านั้น!

ลงประชามติ รัฐธรรมนูญ 2550

ก่อนหน้าวันลงประชามติ "รับ-ไม่รับ" ร่าง รธน. 2550 นั้น ผมเองได้ลงพื้นที่ อ.สันกำแพง อีกครั้งเพื่อกะว่าจะได้นำเสนอเสียงเล็กๆ ของคนบ้านเดียวกับบ้านเกิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ผมกะว่าจะได้ยินเสียงของคนเล็กๆ ที่กะว่าจะไปไม่รับร่าง รธน. คว่ำร่างนี้ให้มันสะใจเล่นๆ หลังจากที่ทหารผู้หนุนหลัง รธน. ฉบับใหม่นี้ได้หักหาญน้ำใจชาวสันกำแพงด้วยการ รัฐประหารเชิญนายกคนเหนือลงจากอำนาจด้วยวิธีหักดิบเมื่อเกือบปีที่ผ่านมา

ที่บริเวณทุ่งนาใน บริเวณ ต.ทรายมูล อ.สันกำแพง ผมได้พบกับลุงบุญยัง (ขอสงวนนามสกุล) ที่กำลังขับขี่มอเตอร์ไซด์เก่าๆ ลัดเลาะมาตามคันนา --- แน่นอนว่าในสภาวะการที่คลี่คลายขึ้นในระดับหนึ่ง คนจนๆ ไม่ค่อยกลัวการเป็นข่าว ดั่งเช่นเมื่อรัฐประหารใหม่ๆ

ผมได้นั่งสนทนากับลุงบุญยังในประเด็นเรื่องความเป็นอยู่ การปลูกนา การทำมาหากิน ซึ่งลุงบุญยังบอกว่าปัจจุบันนี้ไม่มีใครทำนาเป็นอาชีพหลักแล้ว โดยส่วนตัวของลุงบุญยังนั้นประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปด้วย

วกมาถึงเรื่องการเมือง แน่นอนว่าไม่พูดพร่ำทำเพลงมาก ความอาลัยอาวรณ์ถึงอดีตนายกทักษิณก็ถูกลุงบุญยังนำมาเป็นประเด็นหลักในการสนทนา นโยบายโดนใจต่างๆ การปราบปรามยาเสพย์ติด การทำให้ประเทศใช้หนี้ IMF ได้ และความสามารถสุดวิเศษของขวัญใจชาวสันกำแพง

"เป็นนายกคนแรก ที่ขุดพวกเรามาจากโคลน จากตม" -- ลุงบุญยังกล่าว

และประเด็นที่สำคัญในช่วงเวลานั้นที่ผมอยากถามลุงบุญยังก็คือ ตกลงลุงบุญยังจะรับ-ไม่รับ ร่าง รธน. 2550 ซึ่งหลังจากที่ผมได้ถามลุงบุญยัง ผมก็ได้คำตอบที่น่าคิดมา ..

"รัฐธรรมนูญนี้อาจจะดีขึ้นกว่าเก่า เพราะเขียนกันมาใหม่ อยากให้การเมือง และการค้าขายดีขึ้น งานจะได้มีมากขึ้น"

ในส่วนตัวแล้วลุงบุญยังกล่าวว่าคนแถวบ้านไม่มีเวลาศึกษากัน คงต้องใช้ความรู้สึกในการตัดสิน ตัวเองถึงแม้จะชอบอดีตนายก แต่ก็ชอบทางสายกลาง อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่เร็วๆ ถ้าบ้านเมืองสงบนายกทักษิณคงได้กลับมา ดังนั้นตนเองจึงจะไปลงประชามติรับร่างเพื่อให้เกิดความสงบโดยเร็ว เพื่อให้นายกทักษิณกลับมาเร็วๆ

อืมม .. เอา รธน. 2550 เพื่อให้นายกทักษิณกลับมา ตรรกะนี้แทบที่ไม่ค่อยได้ยินจากสื่อ จากวงวิชาการ บ่อยครั้งนัก แต่มันอาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงคะแนน 14 ล้านกว่าเสียงที่ช่วยให้ รธน.50 นี้ผ่าน ว่าคนที่ลงคะแนนผ่านร่าง รธน. 50 เพื่อให้ พ.ต.ท. ทักษิณ กลับมานั้นคงมีไม่น้อย!

ท้ายสุดลุงบุญยังได้พูดถึงประเด็นจริยธรรมของอดีตนายกไว้ ดังนี้ ...

"ไม่มีใครดีไปหมดทุกอย่าง ส่วนร้ายก็ต้องมองไว้ ส่วนดีก็อย่ามองข้าม"

ครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร 2549 (ก.ย. 2550)

ต้นเดือน ก.ย. ใกล้ครบรอบเวลารัฐประหาร 1 ปี รวมถึงใกล้เวลา "วาย" ของผลผลิตลำไยในเขต อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ... ผมจับกล้องถ่ายรูป กระดาษ ปากกา ไปตระเวนแถวสวนลำไยแถวบ้าน และก็ได้มีโอกาสนั่งคุยคนเก็บลำไยหนึ่งคน

เขาคือ ลุงวิชาญ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง แต่ในช่วงเก็บเกี่ยวลำไยก็มาทำหน้าที่เฉพาะกิจนี้ คือซื้อลำไยจากสวนของชาวบ้าน แล้วเก็บมันเพื่อนำไปขายให้นายทุนเตาอบลำไย

ลุงวิชาญได้เล่าถึงสภาพทางเศรษฐกิจที่ลุงวิชาญต้องเจอในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างรายเล็กๆ ว่าหลังรัฐประหารมานี้งานก่อสร้างต่างๆ น้อยไปถนัดตา --  "เกือบปีมาแล้วรู้สึกว่ามันแย่ลง งาน(ก่อสร้าง)ก็ไม่ค่อยมี เมื่อก่อนหน้านั้นไม่ว่าจะเป็นงานจาก อบต. จากร้านค้า ต่างๆ มีเข้ามามาก หลังรัฐประหารมานี้เห็นเลยว่ามันลดลง"

ลุงวิชาญยังกล่าวถึงการบริหารต่างๆ ว่า ทหาร ข้าราชการ มันต่างจากนักธุรกิจ ซึ่งลุงวิชาญนั้นไม่มีความเชื่อมั่นเอาเสียเลยกับการบริหารของรัฐบาลขิงเหี่ยว -- "ทหาร ข้าราชการทำเป็นแต่เบิกเงิน ไม่เหมือนนักธุรกิจที่บริหารเป็น โลกมันไปยุคใหม่แล้ว"

เมื่อถามถึงประเด็นที่ว่ารู้สึกยังไงที่คณะรัฐประหารกล่าวว่าจะมาสร้างความดีงามให้ระบบการเมืองในอนาคต คำตอบของลุงวิชาญก็คือความเข้าใจต่อโลกการเมืองที่มันเกิดขึ้นจริง ยิ่งกว่า กกต. หรือ สสร. เสียอีก --- "จะเอาไม่เอาเงินจะเลือกไม่เลือก คงไม่มีใครมาตามฆ่า ยิ่งแจกเงินยิ่งดีแต่เราไม่เลือก เราดูคนของเราเป็น และคอยดูเถอะยังไงก็มีการซื้อเสียง มันมีมาตลอดก่อนพรรคไทยรักไทยมาด้วยซ้ำ ทหารเล่นง่ายไป ไม่ชอบเขาก็เอาปืนมาจี้เขา ไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้หรอกหากยังเล่นง่ายๆ แบบนี้"

อืมม ... บทสรุป 1 ปีหลังรัฐประหาร สำหรับการเล่นแบบง่ายๆ เมื่อค่ำคืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 นั้น เราคงจะเห็นชัดเจนแล้วว่า สถานการณ์ตอนนี้มัน "ดีขึ้น" หรือ "เลวลง"

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท