Skip to main content
sharethis


ที่มา : บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)

 


 


ในยุคที่กระแสไฟฟ้ากลายเป็นปัจจัย 5 ของการดำเนินชีวิต ไฟฟ้าได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ตลอดเวลา ส่งผลให้ความต้องการไฟฟ้าของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของไทยอยู่ที่เกือบ 22,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่กำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 27,500 เมกะวัตต์ ซึ่งแม้ว่าจะยังเพียงพอต่อความต้องการใช้ในปัจจุบัน แต่ด้วยแนวโน้มความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5% ในทุกๆ ปี ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อาจทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการ และภายใน 15 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้องอาศัยความรู้ และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ


 


รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการ "Powering ASEAN: Technology and Policy Options" ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) และสถานทูตฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและมีประชากรจำนวนมาก รวมกันประมาณ 500 ล้านคนในปัจจุบัน และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ทำให้ความต้องการด้านพลังงานมีมากขึ้นตามลำดับ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในระยะยาว จึงได้มีการจัดงานสัมมนาวิชาการครั้งนี้ขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ และข้อคิดเห็นด้านทางเลือกเชิงเทคโนโลยีและนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง


 


"หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นประเทศกำลังพัฒนา อาทิ ลาว เขมร และเวียดนาม จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกจำนวนมาก ดังนั้นปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในปัจจุบัน และความต้องการใช้ในอนาคตจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่งแล้ว เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย ยังมีประชากรเพิ่มขึ้น และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องเพิ่มฐานการผลิตไฟฟ้า โดยคำนึงถึงการกระจายความเสี่ยงด้านแหล่งพลังงานต้นทุนการผลิตที่สมเหตุสมผล การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหลัก"


ทั้งนี้ การนำเสนอด้านเทคโนโลยีและนโยบายเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า จากผู้เชี่ยวชาญหลายประเทศได้มีการกล่าวถึงทางเลือกด้านนโยบายและเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 แนวทางด้วยกัน ประกอบด้วย การประหยัดและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เทคโนโลยี ถ่านหินสะอาด พลังงานหมุนเวียน และพลังน้ำ ซึ่งเป็นแนวทางที่เคยใช้จริงแล้วในหลายประเทศ และอาจใช้ได้ผลในประเทศกลุ่มอาเซียน


 


ตัวอย่างเช่น การประหยัดและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หากทำได้อย่างจริงจังจะช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าลงไปได้มาก ถึงขนาดลดขนาดหรือจำนวนโรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่ได้ ส่วนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้า มีประสบการณ์จากประเทศฝรั่งเศส คือมีการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ถึง 70% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ อีกทั้งยังมีชื่อด้านความปลอดภัยที่น่าชื่นชม จนกลายเป็นกรณีศึกษาด้านระบบความปลอดภัยของการใช้พลังงานนิวเคลียร์


รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวอีกว่า การสร้างความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ จะช่วยเพิ่มมุมมองและทางเลือกในการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย  จากเดิมที่มีการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก อาจต้องหันมาพิจารณาทางเลือกอื่นบ้าง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้ทางเลือกใดก็จะมีความเสี่ยงอยู่ระดับหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีการประเมินผลได้ ผลเสียของแต่ละทางเลือกอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างการยอมรับ รวมทั้งสร้างกลไกเรื่องความปลอดภัย ความมั่นคงและเป็นการกระจายความเสี่ยงที่จำเป็น ทั้งนี้รวมถึงการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศด้วย ซึ่งต้องประเมินความเสี่ยง และผลกระทบทั้งด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมเช่นกัน


 


"อย่างไรก็ดี การขยายฐานการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน จำเป็นต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกด้วย เนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศอาจเป็นการซ้ำเติมภาวะโลกร้อนให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และยากที่จะเยียวยาให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม และไม่ว่าทางเลือกแหล่งพลังงานและเทคโนโลยีสำหรับผลิตไฟฟ้าของเราจะประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ทางเลือกที่ขาดไม่ได้ คือการประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า ทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน อาคาร และเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม"


 


ทั้งนี้ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เป็นศูนย์วิจัยและให้การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 5 สถาบันอุดมศึกษาไทย คือ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เชียงใหม่ ม.สงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net