Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 11 ก.ย.50 กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้นำสื่อมวลชนกว่า 10 คน ล่องเรือสำรวจอ่าวปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นจุดที่กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม กำหนดจะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าด้านชายฝั่งทะเลทะอันดามัน โดยพบว่าบริเวณดังกล่าวอยู่ด้านตะวันตกของเกาะเขาใหญ่ มีเรือประมงพื้นบ้านชนิดเรือหางยาวหัวโทงจำนวนมาก จาก 4 อำเภอ ชายทะเลของจังหวัดละงู กำลังวางอวนจับปลาทูและกุ้งกันอย่างคึกคัก



 


 


นายยาหยา ตรุรักษ์ แกนนำชาวประมงพื้นบ้าน ผู้นำคณะสื่อมวลชนลงสำรวจ กล่าวว่า บริเวณที่จะมีการถมทะเลเพื่อสร้างท่าเรืออยู่ใกล้กับเกาะเขาใหญ่ ห่างจากชายฝั่งบ้านปากบาราประมาณ 4 กิโลเมตร มีความลึก 7 เมตร โดยอ่าวปากบาราซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของอ่าวละงู เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดสตูล


 


นายยายา ระบุว่า ในพื้นที่อ่าวปากบารามีชาวประมงพื้นบ้านจากทั้ง 4 อำเภอ จำนวนกว่า 500 ลำมาจับสัตว์น้ำในบริเวณอ่าวปากบารา ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุม จะมีเรือประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก ไม่สามารถออกไปจับสัตว์น้ำบริเวณอื่นได้ เนื่องจากคลื่นลมแรง


 


นายยายา กล่าวว่า ลึกๆ แล้ว พวกตนไม่ต้องการให้มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ในอ่าวปากบารา แต่คงจะไม่คัดค้านเพราะทราบว่าเป็นนโยบายของรัฐ เป็นโครงการขนาดใหญ่เม็ดเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท เพียงแต่ต้องการให้รัฐเข้ามาดูแลชาวประมงพื้นบ้านด้วย เพราะพื้นที่อ่าวปากบาราเป็นแหล่งหากินที่สำคัญของชาวบ้าน พวกตนไม่ต้องการเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น


 


"หากพวกเราต้องเสียพื้นที่หากินไปแล้วใครจะช่วยเรา เมื่อรัฐได้รับประโยชน์จำนวนมากจากโครงการนี้ รัฐก็ต้องไม่ปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญกับความเดือดร้อน เราอยากให้รัฐมารับรู้ปัญหาของพวกเราด้วย พวกเราไม่อยากสูญเสียพื้นที่ทำมาหากินในอ่าวปากบาราแห่งนี้" นายยายา กล่าว


 


นายนันทพล เด็นเบ็น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ หมู่ที่ 2 ตำบลปากน้ำ ซึ่งมีอาชีพเป็นชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ก่อนจะสร้างท่าเรือรัฐจะต้องจัดทำประชาพิจารณ์ให้ชาวประมงพื้นที่บ้านในพื้นที่ มีส่วนร่วมตัดสินใจด้วย ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดประชุมในพื้นที่ไปแล้วถึง 5 ครั้ง แต่ทุกครั้งไม่เคยเชิญตัวแทนกลุ่มชาวประมงพื้นที่บ้านปากบาราเข้าร่วม


 


"หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ คิดแต่เรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการก่อสร้างท่าเรืออย่างเดียว โดยไม่คิดถึงผลกระทบที่ชาวประมงพื้นบ้านจะได้รับ อาชีพประมงพื้นบ้านอาจจะสูญพันธุ์ไปจากอ่าวละงู เพราะถ้าถมทะเลสร้างท่าเรือก็ไม่รู้จะไปจับปลาตรงไหน" นายนันทพล กล่าว


 


ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ตัวแทนกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านปากบารา ได้เดินทางไปยังศาลาเอนกประสงค์มัสยิดบ้านหลอมปืน หมู่ที่ 14 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านบ้านหลอมปืน และร่วมกันหารือถึงแนวทางที่จะทำให้รัฐในฐานะเจ้าของโครงการฯ เข้ามาดูแลชาวประมงพื้นบ้านที่หากินในบริเวณที่จะก่อสร่างท่าเรือน้ำลึกปากบารา


 


ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานจำนวน 7 คน ขึ้นมาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างท่าเรือนำลึกปากบารา, ประสานกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่รอบอ่าวละงู และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ประกอบด้วย จำนวนครัวเรือนที่ประกอบอาชีพประมง เครื่องมือจับสัตว์น้ำ รวมทั้งรายได้จากการจับสัตว์น้ำในพื้นที่อ่าวปากบารา เป็นต้น โดยมีนายอารี ติงหวัง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 14 บ้านหลอมปืน เป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดนี้ด้วย


 


นายวัชระ ทิพทอง ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นอันดามัน จังหวัดสตูล กล่าวว่า พื้นที่อ่าวละงูครอบคลุมชายฝั่งทะเลอำเภอเมืองสตูล อำเภอท่าแพ และอำเภอละงู มีหมู่บ้านประมง 28 หมู่บ้าน มีครัวเรือนประมง 6,425 ครัวเรือน มีเรือประมงพื้นบ้านขึ้นทะเบียนกับประมงจังหวัดสตูลแล้ว 1,781 ลำ หรือประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนเรือประมงพื้นที่บ้านทั้งหมด ส่วนเรือประมงพาณิชย์ขึ้นทะเบียนกับประมงจังหวัดสตูลแล้ว 385 ลำ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net