Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 50 บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประชาสัมพันธ์  เผยแพร่ข่าวเรื่อง "โลกสดใสกับไซเบอร์สีขาว" ซึ่งเป็นข่าวประชาสัมพันธ์จากกิจกรรม "ไวท์ไซเบอร์" เวิร์คช้อปเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่จัดโดยกระทรวงไอซีที โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่กลุ่ม "เอสคลับ ทาเลนท์ บอยส์ แอนด์ เกิร์ล" ราว 100 คน ณ สยามเซ็นเตอร์ ในฐานะที่เป็นแหล่งนัดพบของเด็กวัยรุ่นทุกยุค ทุกสมัย


 


ในเนื้อความ ระบุถึงการเปลี่ยนผ่านไปเป็นประเทศที่กำลังถูกปกครองด้วยเทคโนโลยีไซเบอร์ว่า "พลังหนุ่มสาววันนี้ เป็นพลังยิ่งใหญ่ที่จะพัฒนาประเทศชาติ ถ้าเพียงแค่วัยรุ่น คนหนุ่มสาว ใส่ใจ ใฝ่ศึกษา รู้ทันโลก ก็จะช่วยให้ประเทศเราที่กำลังถูกปกครองด้วยเทคโนโลยีไซเบอร์ เป็นโลกไซเบอร์ที่ใสสะอาด"


 


บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด เผยแพร่ในข่าวว่า กระทรวงไอซีที ซึ่งนำโดย กฤษฎิ์พงษ์ หริ่มเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฬนฐานะผู้จัดงาน กล่าวถึง เรื่องการคุมเข้มของสังคมออนไลน์ว่า "เมื่อโลกเดินหน้าเข้าสู่ยุคอิเล็กทรอนิกส์ สังคมเป็นอี-โซไซตี้ รัฐบาลเป็นอี-โกฟเวิลเมนท์ เราจึงต้องวางแนวทางการอยู่อาศัยบนโลกอินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัย"


 


"โลกไซเบอร์ไม่ใช่โลกแห่งความจริงใจ ไว้ใจไม่ได้ ผู้คนที่เดินทางท่องเที่ยวบนไซเบอร์ มักจะไม่ใช้ชื่อเสียงตัวตนจริง มีเด็กวัยรุ่นถูกหลอกลวงไปในทางที่ผิด ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหาย การคุมเข้มสังคมออนไลน์ ที่มีบทลงโทษชัดเจน จะช่วยให้โลกไซเบอร์ขาวสะอาดขึ้น และถูกจับเข้าคุกแน่นอน หากกระทำการดังนี้ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์คนอื่นที่ตั้งรหัสผ่านไว้  นำรหัสผ่านของผู้อื่นไปเผยแพร่ ล้วงเข้าไปดูข้อมูลคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ดักรับอี-เมล์คนอื่น แก้ไขข้อมูลและ ฟอร์เวิร์ดเมล์ที่ปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มา ก่อกวนระบบคนอื่นจนล่มด้วยสปายแวร์หรือสแปมเมล์,ส่งต่อภาพลามก อนาจารหรือเนื้อหาที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือทำลายความมั่นคงของชาติ"


 


พ.ต.ท.ดรัณ จาดเจริญ สารวัตรงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่า "ที่ผ่านมา คนผิดบนโลกไซเบอร์ อาศัยความชาญฉลาดและรวดเร็วของคอมพิวเตอร์ ในการล้างบาป ล้างความผิดของตนเอง แต่วันนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้ ไม่แอ๊บแบ๊ว ตรงกันข้าม กลับมีบทลงโทษที่ครอบคลุมไปถึงผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ ความผิดที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ และความผิดที่คนต่างด้าวที่ทำในเมืองไทย ส่วนความผิดที่พบกันบ่อยสุดในไทย จะเป็นเรื่องของการแฮกเกอร์ และการโจรกรรมข้อมูลทางการเงิน"


 


มรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไทย กล่าวว่า "โลกไซเบอร์ ก็เหมือนกับสังคมหนึ่ง ที่มีทั้งคนดี คนไม่ดี ทุกคนเข้าสู่โลกนี้ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมาไม่เคยมีกฎระเบียบมาบังคับ ทำให้มีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นมากมาย จึงต้องมีการจัดระเบียบ มีบทลงโทษให้หลาบจำและยำเกรง บ้านไหนที่มีการใช้อินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย ควรจะติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย หรือการตั้งรหัสผ่าน เพราะบ้านอื่นอาจจะลักลอบเข้าใช้เพื่อกระทำความผิดได้ และเยาวชนควรจะระมัดระวัง เรื่องการโพสต์ กระทู้ต่างๆ เพราะขณะนี้ มีการเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ หากกระทู้เรา ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย จะถูกฟ้องร้องเอาความผิดได้เช่นกัน"


 


ปรเมศวร์ มินศิริ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดเผยว่า "กฎหมายนี้ เป็นเครื่องมือที่ช่วยคุ้มครองให้เราปลอดภัย ไม่ต้องอับอายจากความสนุกสนานของใครบางคน อาทิ หากเราเล่นอินเตอร์เน็ตอยู่ในหอพัก มีการ์ตูนน่ารักส่งเข้ามา เชิญชวนให้เราโหลด การโหลดครั้งนี้ อาจจะเป็นกับดักไซเบอร์ เมื่อเราโหลดแล้ว คนอื่นจะแฮกและดึงข้อมูลของเราได้ หากไม่แน่ใจ หรือสงสัยว่าจะเป็นอันตราย ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชื่อเสียงอย่างไร เริ่มแรกสามารถแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ที่เว็บไซต์ www.hotline.in.th เป็นเว็บความร่วมมือของรัฐบาลและเอกชน ที่จะช่วยแนะนำและแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้"


 


 


 


 


 


ข้อมูลและภาพประกอบ:

เว็บไซต์ thaipr.net ข่าวประชาสัมพันธ์เรื่อง โลกสดใสกับไซเบอร์สีขาว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net