สถานการณ์ทางภาษาในสังคมไทยกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 50 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมอาคารรวมและบัณฑิตศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีกิจกรรมเสวนาเนื่องในงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "การพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์" โดยมีนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และพี่น้องชนเผ่าเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเสวนา

 

โดยในหัวข้อ "สถานการณ์ทางภาษาไทยกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์" ศ.ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดลได้อธิบายถึงสถานการณ์ทางภาษาเล็กๆ ที่กำลังใกล้จะสูญไป ไว้ดังนี้..

 

"การสูญเสียภาษา หมายถึง การสูญเสียระบบความรู้ ความคิดและโลกทัศน์ ภูมิปัญญาด้านต่างๆ รวมทั้ง อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ และเครื่องมือสื่อสารและสื่อของการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ"

 

ศ.ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท

มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ความหลากหลายของภาษาและชาติพันธุ์ในประเทศไทย

ประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของแผ่นดินใหญ่เอเชียอาคเนย์หรือสุวรรณภูมิ มีความร่ำรวยหลากหลายด้านภาษาชาติพันธุ์และวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง โดยในจำนวนประชากรกว่า 60 ล้านคนนั้น แบ่งได้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาทั้งสิ้นถึง 70 กลุ่ม กระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของประเทศ โดยการกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แบ่งออกเป็นสองลักษณะคือ

 

1) ความสัมพันธ์เชิงเชื้อสายหรือตระกูลภาษา ซึ่งแบ่งเป็นตระกูลใหญ่ๆ ได้ 5 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลไท (24 กลุ่ม), ตระกูลออสโตรเอเชียติก (23 กลุ่ม), ตระกูลอสโตรเนเซียน (3 กลุ่ม), ตระกูลจีน - ธิเบต (21 กลุ่ม) และตระกูลม้ง - เมี่ยน (2 กลุ่ม) ดังนี้

 

2) ความสัมพันธ์เชิงสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ภาษา กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งกว่า 70 กลุ่ม จากตระกูลภาษาต่างๆ นั้น มีสถานภาพทางสังคมหรือมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป ในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่นภูมิภาค และระดับชุมชนโดยมีภาษาไทยมาตรฐานเป็นภาษาที่ใช้เชื่อมโยงกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาต่างๆ เข้าด้วยกัน

 

ภาษาไทยมาตรฐาน เป็นภาษาที่ใช้ในกิจกรรมทางราชการระดับชาติและโอกาสที่เป็นทางการทุกประเภท เป็นสื่อในการเรียนการสอนในโรงเรียนและเป็นภาษาของสื่อสารมวลชนทุกแขนง เช่น วิทยุ, โทรทัศน์, หนังสือพิมพ์ทั่วทั้งประเทศ

 

ในแต่ละภูมิภาคมีการใช้ภาษาท้องถิ่นตามภูมิภาค ซึ่งพูดโดยประชากรส่วนใหญ่และใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาต่างๆ เช่น ภาษาคำเมือง ใช้เป็นภาษากลางในเขตภาคเหนือตอนบน ลาวอีสานใช้ในเขตภาคอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ภาษาปักษ์ใต้ใช้เขตภาคใต้ เป็นต้น ส่วนภาษาของชุมชนท้องถิ่นมักเป็นภาษากลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีทั้งภาษาชุมชนท้องถิ่นในกลุ่มตระกูลไท ซึ่งพูดในภูมิภาคต่างๆ ภาษาพลัดถิ่น ซึ่งส่วนมากเป็นภาษาตระกูลไทจากนอกประเทศที่เข้ามาตั้งถิ่นในเขตประเทศไทยด้วยปัญหาการเมือง สงคราม และการทำมาหากิน เช่น ภาษาลาวต่างๆ ในภาคกลาง เป็นต้น ภาษาในตระกูลอื่นที่อาจจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ภาษามอญ ซึ่งได้อพยพมาอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน เข้ามารับราชการและดำเนินชีวิตโดยสงบสุขมาเป็นเวลานาน

 

นอกจากนี้ยังมาภาษาในเขตตลาดหรือตัวเมือง ได้แก่ ภาษาจีนต่างๆ และภาษาเวียดนาม (เฉพาะอีสานตอนบน) มีกลุ่มภาษาในเขตแนวชาวแดน ซึ่งเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ โดยต่อเนื่องกับกลุ่มชนเดียวกับข้ามพรมแดนประเทศ เช่น ชาวเขาต่างๆ ในภาคเหนือ, ภาษามอญและกะเหรี่ยงในทางภาคตะวันตก, ภาษาเขมรถิ่นไทย

 

ทางภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือและภาษามลายูถิ่นในจังหวัดชาวแดนภาคใต้ เป็นต้น รวมทั้งมีกลุ่มภาษาเล็กๆ ซึ่งเป็นภาษาในวงล้อมของภาษาอื่นๆ ได้แก่ 1.ชอง 2.กะซอง 3.ซัมเร 4.ชุอุง 5.มลาบรี 6.เกนซิว (ซาไก) 7. ญัฮกุร 8.โซ่ (ทะวึง) 9. ลัวะ (ละเวือะ) 10. ละว้า (ก๋อง) 11. อึมปี 12. บิซู 13.อูรักละโวย และ 14. มอเกล็น

 

นอกจากภาษาต่างๆ ในสังคมไทยแล้ว การใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการศึกษาและธุรกิจและการเมืองก็มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยภาษาอังกฤษจะมีความสำคัญมากที่สุด ภาษาญี่ปุ่นและโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาจีนกำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ภาษาเพื่อนบ้าน เช่น ภาษาเวียดนาม ลาว พม่า มาเลเซียฯ มีความสำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เช่นเดียวกัน

 

จากการที่สังคมไทยเป็นสังคมพหุภาษาและภาษาต่างๆ มีหน้าที่ทางสังคมแตกต่างกันประชากรไทยจึงมักจะเป็นผู้ที่พูดได้ 2 ภาษาหรือ 3 ภาษา หรือมากกว่า ในชีวิตประจำวัน โดยใช้ภาษาท้องถิ่นในครอบครัว หรือในชุมชน ใช้ภาษากลางของท้องถิ่น (แต่ละภูมิภาค) เพื่อติดต่อและค้าขายต่างกลุ่ม และใช้ภาษาไทยกลาง (ไทยมาตรฐาน)

 

การเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาและสภาวะวิกฤตของภาษากลุ่มชาติพันธุ์

ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาแต่ละกลุ่มล้วนมีคุณค่าเป็นมรดกของมนุษยชาติ เนื่องจากเป็นระบบสื่อสารที่สร้างขึ้นมาจากภูมิปัญญาเฉพาะของแต่ละกลุ่ม เพื่อวิถีการดำรงชีวิต ที่ใช้อย่างต่อเนื่องกันมาเป็นร้อยเป็นพันปี ภาษาจีนเป็นระบบคิด ระบบความคิดความเข้าใจในโลกและสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งเก็บภูมิปัญญาด้านต่างๆ รวมทั้งเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมหรือความเป็นตัวตนของแต่ละกลุ่ม

 

แต่อย่างไรก็ตามในโลกปัจจุบันภาษาต่างๆ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กลุ่มชาติพันธุ์ภาษาต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากโลกาภิวัตน์ ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมสมัยใหม่ซึ่งมีอิทธิพลจากโลกตะวันตกได้มีการแพร่ขยายอย่างไว้พรมแดน ด้วยอำนาจและความเจริญด้านการสื่อสารมวลชนที่ทรงพลัง ทำให้สามารถเข้าถึงในเกือบทุกพื้นที่ แม้ในเขตห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อวิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ (ในบางพื้นที่) โดยใช้ภาษาใหญ่ระดับชาติเช่น ภาษาราชการหรือ ภาษานานาชาติ (ภาษาอังกฤษ)

 

ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จำนวนมากจึงอยู่ในภาวะถดถอย วิกฤตและอาจสูญสิ้นไป สภาวะการดำเนินชีวิตด้านการในภาษาที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่

·         โอกาสของอาชีพการงาน ทำให้ทุกคนต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาสำคัญภาษาใหม่ๆ เช่น ภาษาราชการ ภาษาประจำชาติหรือภาษานานาชาติ (อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ)

·         การทำงานตามแหล่งงานนอกชุมชน ทำให้มีการใช้ภาษากลางมากขึ้น และใช้ภาษาท้องถิ่นน้อยลง

·         การแต่งงานเข้ากลุ่ม ทำให้ความเข้มข้นการใช้ภาษาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ลดลง โดยใช้ภาษาที่มีอิทธิพลในพื้นที่หรือใช้ภาษากลาง ส่งผลต่อการใช้ภาษาภายในบ้านและการส่งผลต่อการรักษามรดกทางภาษาแก่ลูกหลาน

 

นอกจากนี้ การกำหนดนโยบายทางการศึกษาหรือระบบการศึกษาที่ใช้เฉพาะภาษาราชการเพียงภาษาเดียว เป็นสื่อในการเรียนการสอน ทำให้ภาษาท้องถิ่นหมดความหมายและเยาวชนไม่เห็นประโยชน์ของภาษาท้องถิ่นของตน อีกทั้งนโยบายภาษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไป ที่ส่งเสริมการใช้ภาษาราชการเพียงอย่างเดียว (แม้ว่ายังไม่มีนโยบายภาษาแห่งชาติเป็นทางการ) ทำให้ภาษาอื่นๆ หมดหน้าที่และความสำคัญ

 

สำหรับสื่อสารมวลชนซึ่งเป็นแหล่งของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและบันทึกคดีต่างๆ ซึ่งใช้ภาษาราชการเป็นหลักและใช้เพียงภาษาเดียว ในปัจจุบันสามารถเข้าถึงในบ้านที่อยู่ในเขตห่างไกลทำให้เกิดการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยภาษาราชการเท่านั้น

 

สาเหตุปัญหาและสภาวะข้างต้นนำไปสู่ทัศนคติของเจ้าของภาษาที่ไม่เห็นประโยชน์และความสำคัญของภาษาชาติพันธุ์ของตนในโลกปัจจุบัน

 

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ปัจจุบันคนรุ่นเยาว์ มีการใช้ภาษาราชการมากขึ้นและใช้ภาษาชุมชนท้องถิ่นของตนลดลงเรื่อยๆ หรือเลือกใช้ เปลี่ยนไปใช้ภาษาราชการเพียงภาษาเดียวหรือใช้เฉพาะภาษาใหญ่ๆ ทำให้ความสามารถในการใช้สองหรือสามภาษาในหมู่เยาวชนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

 

ขณะนี้ได้พบว่ามีอย่างน้อยถึง 14 กลุ่มชาติพันธุ์ภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤตรุนแรงใกล้สูญ ได้แก่ 1.ชอง 2.กะซอง 3.ซัมเร 4.ชุอุง 5.มลาบรี 6.เกนซิว (ซาไก) 7. ญัฮกุร 8.โซ่ (ทะวึง) 9. ลัวะ (ละเวือะ) 10. ละว้า (ก๋อง) 11. อึมปี 12. บิซู 13.อูรักละโวย และ 14. มอเกล็น ภาษาเหล่านี้เป็นภาษาที่จัดอยู่ในกลุ่มภาษาในวงล้อมทั้งสิ้น ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่นักหรือเดิมอาจจะเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนภาษา หรือมีกลุ่มผู้พูดภาษาอื่นๆ ใกล้เคียงได้อพยพเข้ามาอยู่ปะปนจำนวนมาก ดังตัวอย่าง เช่น กลุ่มญัฮกุรในจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เดิมมีผู้พูดภาษาญัฮกุรออยู่จำนวนมาก แต่ต่อมามีกลุ่มไทยโคราช ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในพื้นที่อพยพเข้ามาอยู่ปะปนมากขึ้น กลุ่มชาวญัฮกุรได้พยายามถอยหนีเข้าป่าลึกไปเรื่อยๆ จนไม่มีทางไปต่อ ในที่สุดจึงต้องอยู่ไปด้วยกัน

 

ผลที่ตามมาที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ภาษาพื้นบ้าน ซึ่งได้แก่ ภาษาญัฮกุร การใช้ลดลงเรื่อยๆ และภาษาที่ใช้ก็มีลักษณะเพี้ยนไปตามอิทธิพลของภาษาไทย ซึ่งหมายถึงทั้งไทยโคราชและไทยกลาง (ภาษาราชการ) ในบางพื้นที่และบางกลุ่มไม่มีการใช้ภาษาภายในครอบครัว ในชุมชน เช่น กลุ่มชอง ลักษณะการถดถอยของภาษาและการใช้นี้กำลังเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายกลุ่ม บางกลุ่มมีขนาดเล็กมาก เช่น มลาบรี (ตองเหลือง), เกนซิว (ซาไก), ละว้า (ก๋อง) มีผู้พูดเพียงจำนวนร้อยกว่าคน ทำให้ยากที่จะดำรงรักษาไว้ได้ในโลกของการเปลี่ยนแปลงปัจจุบัน

 

ในจำนวนภาษากลุ่มภาวะวิกฤตใกล้สูญมีจำนวนถึง 9 กลุ่ม เป็นภาษากลุ่มมอญ - เขมร ตระกูลออสโตรเอเชียติก ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาดั้งเดิมของดินแดนสุวรรณภูมิ โดยที่ภาษากะซอง ซัมเร และชุอุง มีโอกาสน้อยมากที่จะดำรงอยู่ได้และคงสูญสิ้นไปตามอายุขัยของผู้พูดที่มีอยู่ไม่กี่สิบคน

 

นอกจาก 14 กลุ่มวิกฤตใกล้สูญดังกล่าว ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แม้กลุ่มขนาดใหญ่ล้วนไม่อยู่ในสถานะที่ปลอดภัยและแสดงให้เห็นความถดถอย เปลี่ยนแปลงในการใช้ภาษา โดยเฉพาะยอ่างิย่งในกลุ่มเยาวชน เช่น กลุ่มภาษาวิกฤตตามแนวชายแดน ได้แก่ ภาษามอญ ภาษามลายูถิ่น ภาษาเขมรถิ่นไทยฯ หรือแม้แต่ ภาษาคำเมือง ลาวอีสาน ปักษ์ใต้ ซึ่งเป็นภาษาซึ่งใช้เป็นภาษากลางในแต่ละภูมิภาค ในปัจจุบันแม้ว่ายังคงพูดทั่วไปโดยใช้สำเนียงท้องถิ่น แต่คำศัพท์และลักษณะทางไวยากรณ์จำนวนมากเปลี่ยนเป็นภาษาไทยกลาง (ภาษาไทยมาตรฐาน) เนื่องมาจากระบบการศึกษาและสื่อสารมวลชน ในปัจจุบันจึงมีเพียงภาษาไทยมาตรฐานซึ่งเป็นภาษาราชการ เพียงภาษาเดียวที่ยังปลอดภัยไม่ถึงกับสูญเสียไปดังเช่นภาษาของชุมชนท้องถิ่น แม้ว่าจะถูกคุกคามด้วยภาษาและวัฒนธรรมตะวันตกโดยผ่านภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษานานาชาติ ด้วยเช่นกัน

 

การเปลี่ยนแปลงของภาษาและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงไปใช้ภาษาอื่นหรือเลิกใช้ภาษาการตายของภาษาที่กำลังเกิดขึ้นเป็นปัญหาระดับโลก นักภาษาศาสตร์ Michel Krauss ได้ทำนายไว้ว่า ร้อยละ 90 ของภาษาในโลกปัจจุบันซึ่งมีประมาณ 6,000 ภาษา อยู่ในภาวะวิกฤตและอาจไม่สามารถดำรงอยู่ได้พันศตวรรษนี้ ซึ่งภาษาเหล่านี้คือภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มิได้มีสถานะเป็นภาษาที่ใช้ในระบบการศึกษานั่นเอง มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่อยู่ในภาวะที่ปลอดภัย ซึ่งได้แก่ภาษาราชการหรือภาษาประจำชาติต่างๆ

 

คำถามที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งในโลก ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มิใช่หรือ เราเป็นกังวลกับสิ่งที่ฝืนธรรมชาติหรือไม่ คำตอบคือ การถดถอย สูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติและความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นมรดกของมนุษยชาติซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในยุคปัจจุบัน เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นเพราะการกระทำของมนุษย์ถึงสาเหตุที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง

 

การสูญเสียภาษา หมายถึง การสูญเสียระบบความรู้ ความคิดและโลกทัศน์ ภูมิปัญญาด้านต่างๆ รวมทั้ง อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ และเครื่องมือสื่อสารและสื่อของการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ

 

ดังนั้น การศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสภาวะวิกฤตทางภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ภาษา จึงเป็นที่สำคัญ เพื่อให้เกิดความตระหนักและร่วมกันหาทางช่วยกันรักษาและป้องกัน รวมทั้งหาวิธีการในการฟื้นฟูภาษาวิกฤตใกล้สูญหายและปัญหาวิกฤตอัตลักษณ์ตามแนวชายแดนซึ่งกำลังเป็นปัญหาอย่างมาก ในขณะเดียวกันการทบทวนนโยบายด้านการใช้ภาษาท้องถิ่นในการศึกษาในสื่อมวลชนและนโยบายภาษาแห่งชาติเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อสงวนรักษาทรัพยากรของชาติและมรดกของมนุษยชาตินี้ไว้ และเพื่อสันติสุขของชนในชาติ

 

ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและสิทธิทางภาษา

สำหรับสถานการณ์ทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาในภาวะวิกฤตนั้น โดยทั่วไปกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอยู่ในสภาพอ่อนแอ ขาดความเชื่อมั่นต่อตนเองและกลุ่มของตน เยาวชนละทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ในขณะที่ส่วนมากก็ยังคงไม่สามาปรับตัวเองเข้าสู่โลกของสังคมใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ประสบผลสำเร็จทางการศึกษาตามที่ต้องการในระบบโรงเรียน ไม่มีอนาคตและเส้นทางเดินที่ชัดเจน ไม่มีความมั่นคงทั้งด้านสถานะภาพทางสังคมวัฒนธรรมและคุณภาพชีวิต

 

ซึ่งในสายตาของคนทั่วไปจะมองว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่พัฒนายาก ยากที่จะประสบความสำเร็จ เป็นชุมชนล้าหลัง ภาษาของกลุ่มชนเล็กๆ ก็จะค่อยๆ สูญสลายไป เปลี่ยนไปพูดภาษาใหญ่ ปรับตัวเข้ากับสังคมใหญ่ภายนอก ซึ่งบางส่วนก็ประสบความสำเร็จ แต่จำนวนมากก็ยังไม่สามารถปรับตัวได้ หรือยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมภายนอก ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ตามแนวชายแดน เช่น กลุ่มคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

นอกจากปัญหาข้างต้นแล้วยังมีปัญหาวิกฤตด้านอัตลักษณ์และจิตวิญญาณ อันเนื่องมาจากมีความแตกต่างด้านอัตลักษณ์ทางภาษาวัฒนธรรม ความเชื่อและการสื่อความหมายเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การปกครอง ฯลฯ ซึ่งสื่อสารผ่านภาษาราชการได้อย่างเต็มที่นำไปสู่การขาดความเท่าเทียมในการดำรงชีวิต ไม่มีความมั่นคงในอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของตนและกลุ่ม ก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจนบางครั้งควบคุมไม่ได้ ความไม่มั่นคงทางภาษานำไปสู่ปัญหาความไม่มั่นคงทางการศึกษาและความไม่มั่นคงในคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ และความมั่นคงภาษาในประเทศ

           

หากมองในแง่ของปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิทางภาษา องค์กรสากลด้านสิทธิมนุษยชนยืนยันว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นั้น มีสิทธิทางภาษา โดยสามารถที่จะใช้ภาษาของตนเองทั้งในที่รโหฐาน คือ ในบ้านของตน ในชุมชนของตนและในที่สาธารณะต่างๆ รวมทั้งสามารถใช้ภาษาของตนเองในการจัดระบบการศึกษาแก่เยาวชน ทั้งนี้โดยมีผลงานวิจัยต่างๆ ที่พิสูจน์และสนับสนุนประโยชน์ของการใช้ภาษาแม่เป็นสื่อในการศึกษาในเบื้องต้นและเชื่อมโยงเข้าสู่ภาษาราชการหรือภาษาประจำชาติ เพื่อนำไปสู่สาระความรู้และสังคมต่อไป

           

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นในการแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการของรัฐด้านต่างๆ และการหวังผลที่จะก่อให้เกิดความสมานฉันท์และความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของประชากรในชาติโดยทั่วไปนั้น จึงควรมีการทบทวนระบบการศึกษาและนโยบายภาษาแห่งชาติ เพื่อให้สามารถเอื้อต่อการใช้ภาษาของชาติพันธุ์หรือภาษาแม่ ซึ่งเป็นภาษาที่หนึ่งของเด็กในระบบการศึกษา เพื่อสร้างประชากรไทยที่มีคุณภาพบนฐานของอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกับที่สามารถเข้าถึงอัตลักษณ์ความเป็นประชากรไทยในระดับชาติด้วย

 

ทั้งนี้ความเป็นไทยของชนในชาติ มิได้หมายความว่าทุกคนจะต้องสละอัตลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน และใช้ภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยของส่วนกลางเพียงอย่างเดียว แต่ความสามารถที่จะดำรงอัตลักษณ์ท้องถิ่นของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาโดยที่สามารถสื่อสารและอยู่รวมกันสังคมไทย เข้าถึงบริการของรัฐด้านต่างๆ อย่างเท่าเทียม มีความมั่นคงในชีวิตในชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ปรารถนา ซึ่งจะทำให้เกิดอัตลักษณ์ของความเป็นไทยในระดับชาติไปด้วยพร้อมกัน และเป็นประชากรไทยที่มีคุณภาพและสามารถร่วมกันแข่งขันกับโลกภายนอกได้

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท