บทความ : การเปลี่ยน "เป้า" ไม่ใช่เรื่อง "สะเปะสะปะ"

สมัชชา นิลปัทม์


ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

www.deepsouthwatch.org

 

ภายหลังจากการกดดันทางยุทธวิธีของฝ่ายกำลังผสม พลเรือน ตำรวจและทหาร (พตท.) อย่างหนักหน่วงในเขตพื้นที่สีแดงในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา จากรายงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 (กอ.รมน.ภาค 4) เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาระบุว่า สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้เกือบ 1,800 คน ผลในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถจำกัดความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจนเป็นผลให้สถานการณ์ในเขตพื้นที่งานบางส่วนสงบเบาบางลง

 

"การใช้กำลังทหารกดดันในพื้นที่ถือว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกทางแล้ว สถานการณ์ในพื้นที่จะสงบเพราะฝ่ายที่เคลื่อนไหวถูกกวาดจับไปหมด ส่วนแกนที่เหลือทำงานได้ไม่สะดวก"

 

เป็นการวิเคราะห์ของแหล่งข่าวใกล้ชิดของ "กลุ่มใต้ดิน" รายหนึ่งที่เปิดเผยว่า การเปิดยุทธการของเจ้าหน้าที่ทำให้การเคลื่อนไหวของ "กลุ่มใต้ดิน" เป็นไปอย่างยากลำบากทั้งในส่วนของปีกการเมืองซึ่งคอยกำกับทิศทางภายในหมู่บ้านและปีกทางการทหารที่ทำหน้าที่ก่อเหตุไม่สงบอย่างได้ผลในเขตพื้นที่สีแดงจัด อย่าง อ.บันนังสตา จ.ยะลา และ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาสประเมินได้จากสถานการณ์ในหมู่บ้านสงบลง

 

แต่ใช่ว่าความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะทุเลาลงไปในทันใด เพราะเมื่อย้อนวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 2550 พบว่า แม้การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่เชิงปริมาณดูเสมือนว่าลดน้อยลง แต่หากพิจารณาในเชิงคุณภาพกลับมีนัยยะที่น่าจะพิจารณาต่อไปนี้

 

8 สิงหาคม  2550  นางอัจฉรา สกนธวุฒิ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารสาธารณสุขระดับ 7 หัวหน้าสถานีอนามัย บ้านบราโอ ตำบลประจัน อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และนายเบญจพัฒน์ แซ่ติ่น ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขระดับ 5 ที่ถูกคนร้ายบุกยิงเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่อยู่บนสถานีอนามัย

 

1 กันยายน 2550 นายปิยะพงศ์ เพชรเงิน อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ถูกคนร้ายประกบยิงระหว่างเดินทางจากตัวเมืองปัตตานีไปพร้อมเพื่อน 4 คน ขี่รถจักรยานยนต์ 2 คัน เดินทางเพื่อทำธุระในตัวเมืองยะลา บนถนนสาย 410 บ้านต้นมะขาม ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

 

3 กันยายน 2550  นายฉลอง อาภากร อายุ 53 ปี ศึกษานิเทศก์ สำนักงานฟื้นที่การศึกษา(สพท.) ปัตตานี เขต 3 อ.สายบุรี ถูก 2 คนร้ายซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ใช้อาวุธปืนจำนวน 2 นัด ขณะเดินเล่นอยู่หน้าบ้านพักพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านสาละวัน ต.ไทรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานีจนเสียชีวิต ระหว่างนำส่งโรงพยาบาล

 

เกิดเหตุปล้นเวชภัณฑ์ จากศูนย์สาธารณสุขเทศบาลเมืองเบตง จ.ยะลา จำนวน 21 รายการเจ้าหน้าที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่มแนวร่วม พบว่าแนวร่วมได้กระจายกำลังออกกว้านซื้อยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงบุกงัดแงะและ ขโมยยา อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์พื้นฐานตามสถานีอนามัยและศูนย์สาธารณสุขในแต่ละพื้นที่

 

4 กันยายน 2550  นางนิภาภรณ์ นาคทอง อายุ 59 ปี พัฒนากร อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ถูกคนร้าย 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบ ยิงขณะกำลังมุ่งหน้ากลับบ้านพักที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านทรายขาว ริมถนนสายทุ่งยางแดง -กลาพอ หมู่ที่ 2 บ้านปาเซปูเต๊ะ ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี จนเสียชีวิต

         

นายสุวิทย์ วงศ์สนิท อายุ 35 ปี อาจารย์อัตราจ้างวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี ถูก 2 คนร้ายขี่รถจักรยานยนต์ประกบยิง เสียชีวิตบนถนนสายปัตตานี-หนองจิก ม.7 ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

 

นัยสำคัญของเหตุการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ ความเปลี่ยนแปลงต่อเหยื่อความรุนแรงซึ่งเป็น "เป้าหมาย" ใหม่ที่อ่อนแอและเป็น "สัญญะ" ของผู้บริสุทธิ์ตามการรับรู้ทั่วไปในสังคมดังกรณีของ "นักศึกษา" เป็นผู้อุทิศตนเพื่อสังคมในกรณีของ "บุคลากรทางการศึกษา" และผู้ดำรงความเป็นกลางอย่างเท่าเทียมในกรณีของ "บุคลากรสาธารณสุข"ซึ่งมิใช่เป้าหมายที่เป็นคู่ปฏิปักษ์ที่ต้องสู้รบ ขณะที่นัยสำคัญเชิงพื้นที่คือ เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่นอกพื้นที่เปิดยุทธการปราบปรามกับผู้ก่อความไม่สงบ

 

แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดของ "กลุ่มใต้ดิน" คนดังกล่าววิเคราะห์ต่อว่า การจำกัดพื้นที่อย่างแข็งแกร่งเช่นนี้จะส่งผลให้กลุ่มก่อผู้ก่อความไม่สงบต้องปรับยุทธวิธีด้วยการทำร้ายอย่างไม่จำกัด เพศ วัย กลุ่มอาชีพและกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เข้มงวดนักและเป้าหมายจะไม่จำเพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อปลุกปั่นสถานการณ์ให้ยากที่จะควบคุม

 

"พวกเขาจะฆ่าไม่เลือกเพราะต้องการให้เกิดความอลหม่านวุ่นวายให้มากที่สุด" แหล่งข่าวกล่าว

 

นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) วิเคราะห์ว่า ลักษณะพื้นที่เหล่านี้เกิดในจังหวัดปัตตานีเพราะเป็นพื้นที่ๆ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังไม่มีการเปิดยุทธการ จึงมีการกระจายตัวเข้ามาสู่เขตดังกล่าวและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเลือกจะเอากลุ่มเป้าหมายที่บอบบางและอ่อนไหว (soft target) เป็นเหยื่อใหม่ๆ เช่น พัฒนากร, สาธารณสุข, ศึกษานิเทศก์ ซึ่งไม่มีความสามารถในการปกป้องตนเอง

 

"ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่เพราะสิ่งที่เราต้องเข้าไปปกป้องมีมาก ไม่รวมสถานที่ สิ่งของสิ่งก่อสร้าง คนที่เราต้องดูนี่คือคนจำนวน 2 ล้านคนที่อยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นผู้ที่ดูแลก็จะเหนื่อยมากเพราะกลุ่มเป้าหมายมันกว้าง"

 

ผอ.ศอ.บต. มองว่าแม้การก่อเหตุที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะน้อยลง แต่ก็เป็นเพียงในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ในเชิงคุณภาพนั้นต้องทำการเฝ้าระวังให้มากขึ้น เพราะแม้การก่อเหตุจะน้อยลง แต่หากต้องสูญเสียบุคคลากรที่มีความสำคัญ ก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรที่จะปล่อยให้เกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ตามเขามองว่า การดำเนินยุทธวิธีของผู้ก่อความไม่สงบเช่นนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ถือได้ว่าเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพลิกแพลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มจับรูปแบบได้หรือตามทัน อีกฝ่ายก็จะเปลี่ยนทันที สิ่งที่สำคัญจึงต้องใช้ความอดทนและอย่าให้ความเคยชินในชีวิตประจำวันมาทำให้เกิดความประมาทเพราะเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

 

"จะไปวิเคราะห์ว่าเขาสะเปะสะปะคงไม่ได้ เพราะเราจะต้องประเมินฝ่ายตรงกันข้ามสูงกว่าเราเสมอ ต้องไม่ลืมว่าเราไม่ได้ต่อสู้อยู่กับคนโง่ แต่ไม่ใช่ระวังไปจนถึงขั้นว่าเกร็งไปหมดและต้องรอบคอบให้มากต้องการประเมินสถานการณ์ทุกระยะและใช้ฐานข้อมูลประกอบให้มากขึ้น"

 

นายปัญญศักย์  โสภณวสุ นักวิจัยโครงการความมั่นคงศึกษา ให้ความเห็นว่า เป้าหมายที่ถูกผู้ก่อความไม่สงบทำร้ายแต่ละคน ถูกคัดเลือกอย่างมีแบบแผน แต่ละบุคคลที่ถูกทำร้ายจะมีคำอธิบายกำกับให้เห็นถึงความชอบธรรมในการที่จะปฏิบัติการในแต่ละครั้ง ซึ่งต้องใช้ความพยายามถอดรหัสปฏิบัติการนั้นให้ได้

 

"เป้าหมายที่ถูกเลือกมีคำตอบอยู่ในตัว เพียงแต่จะต้องสืบสาวไปให้ได้ วิเคราะห์ให้ดีก็จะพบว่าเหยื่อหลายรายมีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นศัตรูของขบวนการ เช่นเป็น ลูกของเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ และเหยื่อบางคนก็มีข้อกังขาว่ามีพฤติกรรมเป็นสายลับซึ่งพวกเขาไม่ลังเลที่จะกำจัด"

 

ด้านนายอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการสันติวิธีและอดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ กล่าวว่า เป็นการยากที่จะตีความว่าการทำร้ายเป้าหมายที่ขยายไปหลายกลุ่มมากขึ้นนั้นมีความหมายถึงอะไร เช่นเดียวกับการพยายามแสวงหาคำตอบว่า การเผาโรงเรียนนั้นหมายถึงอะไร แต่ส่วนหนึ่งน่าจะหมายถึงการแสดงอำนาจให้ชาวบ้านตกอยู่ในความหวาดกลัวว่าทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะตกเป้าของหมายของความรุนแรง

 

"ผมมองว่ามันเป็นการกระทำที่สะเปะสะปะ เป็นการรบที่ไม่มีกฎเกณฑ์ เป็นการทำเพื่อทำลายขวัญของประชาชนให้รู้สึกหวาดกลัว เป็นการแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่เท่าๆ กัน"

 

อดีต กอส. กล่าวอีกว่า หลายฝ่ายคงต้องร่วมกันคิดเพื่อแสวงหาคำตอบเพื่อนำไปสู่การเฝ้าระวังและป้องกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยต้องให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการดูแลให้มากขึ้น

 

เพราะไม่ว่าใครในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างก็ต้องยืนอยู่บนความ "เสี่ยง" อย่างเท่าเทียม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท