Skip to main content
sharethis


 


 


โดย รุ่ง ใจมา


ที่มา www.mekonglover.com


 


 


ก่อนอื่นต้องชี้แจงก่อนว่าเหตุผลที่หยิบยกมาพินิจพิเคราะห์เพียง 5 เล่ม คือ แมงมุมมองของ กุดจี่ พรชัย แสนยะมูล , ที่ที่เรายืนอยู่ ของ อังคาร จันทาทิพย์ ,ปลายทางของเขาทั้งหลาย ของ กฤช เหลือละมัย ,ลงเรือมาเมื่อวาน ของ ศิริวรณ์ แก้วกาญจน์ และฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ ของ อุเทน มหามิตร ไม่ครบ 8 เล่ม รอบสองซีไรท์กวีนิพนธ์ ก็เพราะหาหนังสือได้ไม่ครบไม่ว่าจะหาวิธีใด หะแรกว่าจะพินิจทั้ง 8 เล่ม 7 กวี แต่ก็จนใจ หาได้เท่านี้จริงๆ


 


เหตุผลที่จะพินิจนั้นไม่มีมุมมองเหมือนชาวประชาคมวรรณกรรมที่มุ่งเน้นไปที่คณะกรรมการคัดสรรแต่อย่างใด เหตุที่หยิบยกมาพินิจเพียงเพราะว่า รางวัลนี้ปีนี้ให้กับงานกวีนิพนธ์ ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าให้รางวัลในนามประเทศไทย กวีนิพนธ์ไทยซึ่งย่อมฉายให้เห็นถึงภูมิปัญญาของประเทศนี้ และเป็นรางวัลสร้างสรรค์เมื่ออ่านอย่างพินิจแล้วพบว่า ทั้ง 5 เล่มมิมีสิ่งที่เราเรียกกันว่ากวีนิพนธ์สร้างสรรค์เท่าที่ควรเลย จึงชะลออักขระแต้มแต่งมาให้ยล


 


ข้อพินิจที่ได้จากการอ่านทั้ง 5 เล่ม พบว่ามีข้อที่น่าพิจารณาหลายข้อ ดังนี้


 


ประการที่หนึ่ง กวีนิพนธ์ทั้ง 5 เล่ม ละเลยขนบทางความงามอันควรรักษาของกวีนิพนธ์ไทย


 


ประการที่ สอง งานกวีนิพนธ์ทั้ง 5 เล่มไม่มีความงามสมควรแก่การได้รับรางวัลวรรณกรรมกวีนิพนธ์สร้างสรรค์


 


เหตุที่ว่า กวีนิพนธ์ทั้ง 5 เล่ม ละเลยขนบทางความงามอันควรรักษาของกวีนิพนธ์ไทยนั้น มีเหตุผล 2 ประการ คือ กวีนิพนธ์ไทยนั้นย่อมรังสรรค์งานส่วนใหญ่เป็นร้อยกรอง อันได้แก่ กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ และร่าย เป็นส่วนใหญ่ ส่วนจะมีกลอนเปล่า กลอนเวิ้งว้างปะปนด้วยก็ไม่ควรจะมากเกินครึ่งหนึ่งของเล่ม แต่งานกลอนเปล่าล้วนๆ คือ ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ และ แมงมุมมอง งานกลอนเปล่าผสมกลอนเชิงกลอนหัวเดียวแบบเพลงพื้นบ้านกลับพลิกตัวตนขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของกวีนิพนธ์ไทย ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้กล่าวอย่างมีใจคับแคบว่างานที่ไม่มีฉันทลักษณ์จะไม่ใช่งานกวีนิพนธ์ เพียงแต่งานกลอนเวิ้งว้าง ทั้ง 2 เล่ม ยังไม่ถึงรสของกวีนิพนธ์แต่อย่างใด ส่วนคำว่าถึงอย่างไรนั้นก็ควรอ่านงานกวีนิพนธ์เก่าๆ ของ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ เล่มซีไรท์ และงานคมคำ คมความอย่าง รูปที่ไร้ใจครอง ของ ละไมมาด คำฉวี เปรียบเทียบดูแล้วจะรู้ว่า ถึงฤาไม่ถึงอย่างไร


 


ประการต่อมา งานกวีที่มีฉันทลักษณ์ที่ผ่านการคัดสรรละเลยขนบความงามทางเสียงไปอย่างน่าเสียดาย จริงอยู่ฉันทลักษณ์ไม่ได้เกิดมาจากช่องคลอด ดังคำกวีใหญ่ท่านหนึ่งกล่าว แต่กว่าที่ขนบทางวรรณกรรมจะขัดเกลากัดกร่อนมาเป็นฉันทลักษณ์ต่างๆ นั้น กวียุคก่อนๆ ล้วนแล้วแต่ได้ขบคิดทดลองมาจนเป็นรูปแบบที่ชัดเจน และหากศึกษาเส้นทางสายฉันทลักษณ์ก็จะเห็นเส้นทางที่งดงามของ กากีคำกลอน ก่อนมาเขบ็จเด็ดขาดในสมัยสุนทรภู่


 


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่า กวียุคใหม่จะขบถฉันทลักษณ์บ้างไม่ได้ ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นต้นแบบกลอนแบบกาพย์ คมทวน คันธนู อภิวัฒน์รูปแบบ โคลงห้า ,ศิวกานท์ ปทุมสูติ อภิวัฒน์กาพย์หลากหลายรูปแบบ ล้วนแล้วแต่ยังรักษาขนบทั้งสิ้น ขนบที่ว่าแต่ละวรรคของกวีนิพนธ์ล้วนมีจำนวนคำที่แน่นอนจึงจะเข้าถึงความงามทางเสียงได้อย่างเป็นโคลง กลอน หรือกาพย์ อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแท้จริง โดยเฉพาะโคลงนั้นเคร่งครัดจำนวนคำนัก นักปราชญ์ล้านนาจารโคลงในลานแบบบรรทัดเดียวเต็มความยาวของลานแต่จำนวนคำในโคลงไม่เกินเลยขนบเลย แต่ลองอ่านออกเสียงงานกวีนิพนธ์ข้างล่างนี้จะเห็นได้ว่าละเลยขนบไปไกลอย่างกู่ไม่กลับเลยทีเดียว


 


             "ซอกหลืบ โลกกว้าง - ดำรงตน


  หม่นเมฆพรางหุบเหว


  ดิ่งลึกลงไปมีไฟเปลว


  หลอมเหลว เยือกร้อน ซ่อนเชื้อ


  ระบำอำพรางฟางไฟ


  เบื้องบนไกลออกไปมีดาวเหนือ


  สะท้านมองจ้องความคลุมเครือ


  บนหน้าผาทุกเมื่อเชื่อวัน


  เหลื่อมลึกและกว้างคว้างอยู่


  รู้กับดัก ลักลั่น


  เนียนแนบร้อนหนาว มาราวนิรันดร์


  เหลือกัปเหลือกัลป์ - เยี่ยมกราย"


   (ชายขอบ-ที่ที่เรายืนอยู่ หน้า 31 )


 


            "เธอมีตัวตนไหม ในท้องถนน


             หรือเป็นมายากลของพระเจ้า


             ยามปล่อยวางยังเห็นบ้างอย่างเลาๆ


             ครั้นพอรีบร้อนเข้าก็ผ่านเลย


             เหมือนมี เธอ เธอ เธอ เธอ เธอ


             เธอ เธอ เธอ เธอ เธอ เธอ เธอ เธอ


             เธอ เธอ เธอ เธอ เธอ ฯลฯ อยู่ทุกที่


             แต่หามีใครเห็นสักแห่งหน


             เด็กหญิงพวงมาลัย ไร้ตัวตน


             หรือเพราะคนอย่างเราๆไร้น้ำใจ"


 (กลางสี่แยก,ปลายทางของเขาทั้งหลาย,หน้า32)


 


 


             "ณ โลกใบเก่า ยังดี ยังมีมิตรเก่าเก่า


             ได้หยอกเย้ารินหลั่งความหลังทั้งหลาย


             ยังดีที่ไม่เห็นความงามของความตาย


             ในซากปรักมากมายแห่งลมหายใจ


             ยังดีและยังดี...


             ที่โลกยังมีบทกวีบทใหม่ใหม่


             แม้ชีวิตหนึ่งนี้ ไม่มีอะไร


             "เธอจะเศร้าใจไหม?" ฉันถามตัวเอง"


 (ณ ห้องเช่าอันเก่าแก่ 3 ,ลงเรือมาเมื่อวาน,หน้า 117-118)


 


             "ใบไม้เขียวเยียวยาโลกใหญ่ให้คลายร้อน


             ใบไม้เขียวเยียวยาหมู่ภมรให้ผกผิน


             ใบไม้เขียวเยียวยาสายน้ำให้ฉ่ำริน


             ใบไม้เขียวเยียวยากลิ่นดอกไม้ไม่ให้จาง


     (ใบไม้,แมงมุมมอง,หน้า172)


 


พินิจจากฉันทลักษณ์งานทั้งสี่เล่มที่ยกมาเป็นกลอนแน่นอนเพราะกลอนมีสัมผัสต่อเนื่องกันทุกวรรค ซึ่งกาพย์บางชนิดมีความต่อเนื่องแต่บางกาพย์สัมผัสข้ามวรรคได้ แต่จำนวนคำไม่เท่ากันการอ่านจะสะดุดจึงเป็นกลอนแบบใหม่ที่ขาดความงามทางเสียง จะเขียนกลอนมือฉมังต้องรังสรรค์ให้จำนวนคำเท่ากันจะเป็นกลอนเจ็ดแบบคลื่นหัวเดิ่ง ของ "พนม นันทพฤกษ์" ที่อ่านออกเสียงแล้วสนุกเหมือนเล่นกระดานโต้คลื่น หรือจะเขียนลีลาโต้หมอกหนาวแบบสกุลช่าง "แรคำ ประโดยคำ" ก็ได้ ทั้งๆ ที่ยกมาทั้งสองกวีส่วนใหญ่นิยมเขียนกลอนเจ็ดเหมือนกัน แต่อย่างกวีใหญ่อย่าง "เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์" เป็นลีลากลอนสุภาพแบบแปดคำประจำบ่อนขนานแท้ ซึ่งกวีอาจเลือกรูปแบบให้ตรงกับเนื้อความเพื่อให้ได้รสคำได้


 


ที่จริงจะเรียกว่ากวีทั้งสี่ไม่เล่นเสียงเป็นก็ไม่ใช่ทั้งหมด ทั้งหมดพยายามจะเล่นเสียงอยู่บ้าง เช่น งานของ อังคาร จันทาทิพย์ ที่มีการใช้เอกโทษ โทโทษ ในโคลง, การใช้คำซ้ำไปซ้ำมาแบบเพลงชาวบ้านในงานของ กฤช เหลือละมัย และ กุดจี่ แต่ยังเล่นไม่เป็นเชิงนัก ในงานของ ศิริวร แก้วกาญจน์ มีบทกวีบางชิ้นเล่นเสียงอยู่บ้าง แต่ก็ละเลยขนบ กลอนที่วางเสียงท้ายของวรรครับเป็นเสียงตรีซึ่งไม่นิยมถึงแม้อาจไม่ผิดแบบแผนฉันทลักษณ์ และในคำว่ารกเรี้ยว ดูเหมือนจะเร่หาสัมผัสอยู่บ้าง เช่น


           


            "เช้าบางเช้า แตกต่างจากบางเช้า


             ดอกไม้เรา เฉาพรากจากก้านกิ่ง


             ดอกไม้ท่าน ผ่านสะพรั่งยังสดพริ้ง


             แตกต่างกันอย่างยิ่งในสิ่งเดียว


             เช้าบางเช้า โหยหากว่าบางเช้า


             โอ้,ลำธาร บ้านเก่า ทิวเขาเขียว


             ดวงตาใครในกระจกช่างรกเรี้ยว


             ณ ป่าเปลี่ยวแห่งชีวิตค้นปริศน์ใด"  (เช้าที่แตกต่าง ,ลงเรือมาเมื่อวาน,หน้า 73)


  


ประการต่อมา ที่ว่าไม่มีกวีนิพนธ์รอบสองเท่าที่อ่าน 5 เล่มไม่สมควรได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์- ประเทศไทย ก็เพราะคือ งานในเล่ม แมงมุมมอง ของ กุดจี่ พรชัย แสนยะมูล แม้จะเป็นการรวมบทกวีที่มีการคัดสรรงานเก่าที่เชื่อว่าดี มารวมเล่ม แต่รูปแบบบทกวีของกุดจี่ที่มีเอกลักษณ์แทบไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะอารมณ์ขันที่หาคนลอกเลียนแบบได้ยาก แม้แต่เรื่องหนักๆ แมงกุดจี่ก็เสียดสีเป็นเรื่องเบาๆ ได้ด้วยภาษาที่ง่ายๆ แต่กลับไม่ลุ่มลึกเท่าที่ควร เสมือนหนึ่งว่าบทกวีแต่ละบทไม่ผ่านการละเลียดทางอารมณ์เพาะบ่มความคิดมาก่อน เป็นเหมือนหนึ่งการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลแบบง่ายๆ ฉับไวแต่ไม่ลุ่มลึก อ่านแล้วได้เพียงรอยยิ้มแต่ไม่ประทับใจ ไม่กินใจ เช่น บทกวีที่ชื่อ เสก  (หน้า 28)  ซึ่งต้นเป็นลำไม้ไผ่พอเหลาลงไปเป็นมะห่อยนอยจาไป


 


            " กวาดฟ้าเก็บดาว สาวเดือนเฉือนรุ้ง


             ปรุงคืนปรับวัน คลุกจันทร์คั้นอาทิตย์


             ปลิดหมอกปอกเมฆ เสกสรรพสิ่ง


             เป็นกิ่งก้อนดิน เก็บกินกันตาย


             หยิบสายรุ้งมามุงมัดเมฆ


             แล้วเสกให้เป็นคุกกี้


             หยิบสายลมมาโน้มอาทิตย์


             แล้วลิขิตให้เป็นโรตี


             หยิบสายฝนไปวนจันทร์แจ่ม


             แล้วแต้มให้เป็นบะหมี่


             หยิบสายฟ้ามาผูกดาวเต่า


             แล้วเป่าให้เป็นสุกี้


             หยิบสายหมอกมากรอกท้องฟ้า


             แล้วท่องคาถาให้เป็นเป็ปซี่


             เก็บก้อนดินโกยกลิ่นใส่จาน


             อธิษฐานเถิดนะคนดี


             โอมเพี้ยงสองที ขอให้มีดินกิน"


 


            หรือในบทกวีที่ชื่อ บทกวีเรื่องนมแม่  (หน้า43)  ที่จงใจให้ขบขันแต่ขบแล้วไม่ค่อยขัน


 


                          (1)


            " เปิดนมให้ลูกดื่ม แม่ลืมอายไปชั่วขณะ


             กลางที่สาธารณะ ดื่มนมซะดูดเร็วไว


             แม่สวยและแม่สาว แต่เพื่อเจ้าแม่เปิดได้


             เปิดอกเพื่อยอดดวงใจ ช่างปะไรแม้ใครมอง


             นมแม่เป็นของพ่อ ลูกแงงอเมื่อพ่อจอง


             อย่าทะเลาะเลยทั้งสอง พ่อกับลูกต้องผลัดกัน


                          (2)


            บทกวีเรื่องนมแม่ บางคนบอกแค่ขำขัน


             บางคนบอกมหัศจรรย์ บางคนหวั่นว่าลามก"


 


แม้กระทั่งเรื่อง ชาวนา แมงกุดจี่ ก็รำพันได้เพียงสายลมพัดผ่าน เช่น ในงานชิ้นบทกวีที่ชื่อว่าชาวนาอัสดง  (หน้า50)


            " วันเด็ก


             วันครู


             วันสุนทรภู่


             วันพระ


            วันแรงงาน


            วันหยุดธนาคาร…


             ปฏิทินบอกว่าสำคัญ


             แต่วันชาวนา, หามีไม่


             ลูกชายชาวนา


             เขียนบทกวี


             น้ำตาล้นปรี่


             ตอนบทกวีจบลง


             บทกวีเรียบง่าย


             คล้ายชาวนาอัสดง


             ชีวิตต้องปลดปลง


             ใครจะสนบทกวี?"


 


งานอารมณ์ขันง่ายๆ ไม่ลุ่มลึกของแมงกุดจี่แบบที่ยกมามีเกือบทั้งเล่มจะเรียกงานเล่มนี้ว่ารวมบทกวี ใจยังยากที่จะยอมรับ แล้วผ่านรอบสองซีไรท์กวีนิพนธ์มาได้อย่างไร ยังสงสัย ส่วนงานบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ อีกเล่มคือ ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ ของ อุเทน มหามิตร นั้นอ่านอย่างไรๆ ก็มองไม่เห็นว่างานเล่มนี้งดงามสมเป็นบทกวีที่ตรงไหน จะลองยกตัวอย่างมาให้พินิจร่วมกันสักหน้าสองหน้า เพราะงานเล่มนี้เป็นงานทำมือ อาจหาอ่านยาก


 


            "จากบนเกาะ มองเห็นวิวสวยๆ ที่บาดตา


             ใช่, ตรงนี้มีป้ายใหม่ๆ สีสดๆ ผุดขึ้นเหมือนเห็ดเบื่อเห็ดเมา


             ไอ้ป้ายแผ่นป่าวประกาศเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินด้วยชื่อที่แสนจะธรรมดาสามัญและตัวบทกฎหมายขู่กำกับ


             ผมคือนักลงทุนคนหนึ่ง ไม่ได้พูดเล่น ผมไม่ชอบพุดเล่น ไม่ชอบทำอะไรเล่นๆ จำๆ ไว้สักหน่อย น่าจะดีกับตัวคุณเอง


             ผมชอบที่ดินตรงนี้ว่ะ และมันต้องเปลี่ยนมือ!


             หรือไม่งั้น!ผมคงจำเป็นต้องให้ออกโฉนดทับโฉนดอีกใบเพื่อใช้เป็นหลักฐานกล่าวอ้างในเลห์คดีชั้นศาล


             ใช่, มันดูจะเป็นเรื่องตลกล้อเล่นซะมากกว่า


             แต่คุณคิดว่ามันตลกนักหรือไง?


             ถ้างั้น, ผมจะทำให้คุณสำนึกอะไรบางอย่าง ทำให้คุณรู้สึกเลิกรับประทานตลกในชีวิตประจำวัน


             คุณจะขำไม่ออก ถ้าบ้านของคุณ อยู่ตรงที่ตรงนั้น


             คุณจะได้เทียวมาเทียวไปกับเรื่องร้องทุกข์ที่ไร้ประโยชน์ อาหารจะไร้รสชาติ สมองห่อเหี่ยว แทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน


             คุณจะมองหน้าลูกเมียด้วยอารมณ์คนตกงานและไร้บ้าน


             ผมคือนักลงทุน ซึ่งเป็นนายของพ่อนายทุนอีกที ขนานแท้และดั่งเดิม อย่างน้อยท่านผู้นำหลายระดับรู้จักรู้แจ้งในตัวผม!


             ผมพูดชัดหรือยัง  (นายพ่อนายทุน,หน้า93)


 


และ


 


            "วันนี้, ถึงแม้ทุกท่านจะยังยุ่งอยู่กับเรื่องปากเรื่องท้องจนลืมหายใจ


             แต่ผมพรวดขึ้นขอเชิญพ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอาทุกๆ ท่าน


             ลองมองสมองสองกอง!


             ว่าด้วยเรื่อง "ความเสื่อม" เป็นสภาวะอันประเสริฐ


             ขอร้องล่ะ, ทุกท่านอย่าเพิ่งเบื่อหน่ายเดินหนีไปไม่ไยดี


             เพราะมันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายระหว่าง..


             สมองเสื่อมกับศีลธรรมเสื่อม ในเมืองไทยใหญ่อุดมผลประโยชน์ของเราเอง


             เชื่อถือได้จากไอ้ที่พาดหัวข่าวอันขมขื่นทุกวี้ทุกวัน


             สำหรับบ้านเมืองยุค "จนใจแข่งรวย" ที่ทุกท่านอักอ่วนจะย่ำล้าหลังไม่ทันเพื่อน


             หัวเด็ดตีนขาดผมก็ขอปล่อยกู้!? ผมรู้มันฟังดูชักยังไงชอบกล


             ความที่สมองผมใกล้เสื่อมแต่เห็นใจอยากช่วยคือตรงประเด็น


             ส่วนเรื่องศีลธรรม ผมเข็ญครกขึ้นภูเขายังง่ายกว่ากันเยอะ


             มาเถอะ, สมองสองกองอันเป็นที่รัก


             เราหาที่สุดของความเสื่อมได้ไม่มากไปกว่านี้อีกแล้ว"  (ผู้แทนปล่อยกู้,หน้า69)


 


งานที่คัดลอกให้อ่านสมกับคำประกาศรับรองผลงานของคณะกรรมการคัดสรรหรือไม่ งานเขียนชิ้นนี้ เล่มนี้ ควรเป็นบทกวีที่ฉายภูมิปัญญาของคนไทย เป็นกวีนิพนธ์สร้างสรรค์หรือไม่เนื้องานคงตอบได้ด้วยเนื้องาน เราหาที่สุดของความเสื่อมได้ไม่มากไปกว่านี้อีกแล้ว!!!


 


งานบทกวี ที่ที่เรายืนอยู่ ของ อังคาร จันทาทิพย์ ในหน้าคำนำซึ่งเขียนโดย กวีหนุ่มประกาย ปรัชญา ว่า อังคาร จันทาทิพย์ เป็น กวีหนุ่มผู้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยประเด็นการใคร่ครวญที่หนักแน่น ผ่านทักษะด้านรูปแบบที่มีลีลางดงามเฉพาะตัว และ ข้อกังวลของประกาย ปรัชญาที่ว่า บทกวีอิงสถานการณ์ในรวมเล่นจะ ซา ไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับตัวสถานการณ์หรือไม่ จะ ตาย ไปพร้อมกับธรรมชาติของสถานการณ์หรือไม่ สรุปได้อย่างไม่เคอะเขินว่า ซา ไปจริงๆ เพราะงานสถานการณ์เมื่อนำมารวมเล่มแล้วมีจุดด้อย 2 ประการ คือ อ่านไม่รู้เรื่องว่าจะสื่อสารเรื่องอะไร สถานการณ์แปรเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งก็อาจเสริมรูปภาพข่าวเข้าไปเสริมบ้าง แต่ในเล่มนี้ไม่มีภาพสื่อความ และความที่เป็นงานสถานการณ์ทำให้บ่มคำบ่มความคิดได้ไม่นานจนเกินสุนทรียรส ไม่เชื่อก็ลองอ่านงานชิ้น เสื้อเหลืองในกล่องพัสดุภัณฑ์ (หน้า86-87) ,โลกเสมือน (หน้า50-55)  กรณีประชาทัณฑ์คนร้ายทุบทำลายท้าวมหาพรหม  (หน้า59-63)  จะเห็นได้ว่างานนั้นเป็นเสมือนภาพถ่ายเก่าเก็บที่ไร้ค่าจืดชืด งานที่ดีส่วนใหญ่จะเป็นงานที่อังคาร จันทาทิพย์ ประสบพบเห็นด้วยตนเอง เช่น ในโศกนาฎกรรม  (หน้า66-66)  กองคาราวานและหมอกควัน  (หน้า77-78)  เป็นต้น แต่ดูโดยรวมๆ แล้วก็ไม่ถึงกับจะเป็นภูมิปัญญาของประเทศแต่อย่างใด


 


บทความทางโบราณคดีที่อัดแน่นอยู่ในรูปของบทกวีฉันทลักษณ์แบบร่ายปนกลอนของ กฤช เหลือละมัย ใน ปลายทางของเขาทั้งหลาย นั้นถึงแม้จะใช้เวลาเขียนถึงสี่ปีแต่ยังจับเอกลักษณ์ของตนเองไม่ได้ บทกวีจึงกลายเป็นบทความที่อัดแน่นอยู่ในรูปลักษณ์บทกวี ความที่ กฤช เหลือละมัย อาจลืมนึกไปว่า บทกวีย่อมเกิดจากสภาวะอารมณ์ในใจไม่ใช่งานวิชาการจึงไม่ควรอัดแน่นเนื้อหาสาระจนเกินไป คั้นเอาแต่อารมณ์มาเพาะบ่มเป็นบทกวีจะดีกว่า คำกล่าวนี้เกินจริงหรือไม่โปรดอ่าน ตัวอย่างบทกวีที่ยกมาข้างล่างนี้


           


            " จากดงกันดาร เราย้ายถิ่นฐาน ผ่านความทุกข์เข็ญ


             เด็กๆหนุ่มสาว ผู้เฒ่าตาเถร พระเณรทั้งผอง


             เป็นส่วยเป็นกูย เป็นข่าเป็นแจะ เป็นลาวเป็นตองฯ


             มาเป็นพวกพ้อง สืบสายไทบ้าน ผ่านแดนแผ่นดิน


             ป่าบุ่งป่าทาม ป่าโคกป่าขาม โพ้นน้ำพู้นฟ้า


             เกลือเค็มข้าวกล้า พงไพรสัตว์ป่า ตื่นแดนแคว้นถิ่น


             มูนมังสังขยา แม่ลำพลับพลา พออยู่พอกิน


             ปักธูปกับหิน รินเหล้าถวาย เซ่นไหว้ปู่ตา"  (ผืนดินถิ่นนี้,หน้า 21)


 


            "เอนนอน ณ ริมน้ำใหญ่      ข้าฯฝันเคลิ้มไปคุ้มร้ายคุ้มดี


            ว่าร่วมทัพกับขุนเจือง         ยกข้ามน้ำเหืองพร้อมพลโยธี


            ต่อรบกับแถนลอ               อันปลูกค่ายคูหอเตรียมรอต่อตี


            ณ เมืองแมนแดนสวรรค์     สัประยุทธ์นานวันมิทันต่อตี


            ข้าฯรบเคียงบ่าเคียงไหล่     ไพร่ฟ้าข้าไทมิได้เกรงศักดิ์ศรี


            วันหนึ่งข้าฯมองไปบนหอ เห็นหน้าแถนลอช่างเหมือน ม.ปาวี"  (ฝันหลังพรมแดน,หน้า58)


 


กฤช เหลือละมัย เขียนงานอาจเป็นภูมิปัญญาเชิงวิชาการโบราณคดีอันเอกอุแต่คงจะก้าวล่วงมาสู่ภูมิปัญญาทางกวีนิพนธ์บ่มิได้อยู่ดี แต่หากงานเล่มต่อไป กฤช เหลือละมัย จะลดความรู้ลงก้าวล่วงสู่อารมณ์กวีล้วนๆ ก็อาจสร้างงานได้งามนักเพราะงาน กฤช เหลือละมัย มีความเป็นไทบ้านอยู่ไม่น้อยเลย


 


ลงเรือมาเมื่อวาน ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ดูเหมือนจะเป็นงานที่ดีที่สุดใน 5 เล่มที่อ่าน เสียดายที่ไม่ได้อ่านอีกเล่มที่เข้ารอบสอง นอกจากประเด็นละเลยขนบที่ไม่ควรละเลยที่กล่าวมาแล้วแล้วงานเล่มนี้เปรียบเสมือนการเก็บตกอารมณ์ในต่างที่ต่างทัศนะมารวมเล่ม ทำให้งานดูด้อยลงไป รอยต่อระหว่างอารมณ์แต่ละอารมณ์และการแบ่งหมวดหมูให้ดูดีไม่ได้เหมือนเล่มของอังคาร จันทาทิพย์ ที่แบ่งบทกวีออกเป็น 3 ภาค คือ อาณานิคม ,โลกเสมือน และโลกสองใบ แต่งานศิริวร ไม่ได้แบ่งงานออกเป็นส่วนเสี้ยวของอารมณ์อย่างชัดแจ้ง ถึงจะมีความพยายามจะเรียงงานโดยไม่อิงเวลาที่สร้างงาน แต่ยังไม่ถึงขั้นชี้นำผู้อ่านให้สื่อถึงสารที่ต้องการสื่อ ผ่านสุนทรียภาพของบทกวี ได้อย่างถึงอรรถรส บทสรุปบทกวีเล่มนี้จึงเปรียบเสมือนบทกวีที่ชื่อ ลงเรือมาเมื่อวาน  (หน้า157-159)  ซึ่งเมื่อวานก็คือเมื่อวานจะก้าวผ่านสู่อนาคตได้อย่างไร เป็นบทที่ศิริวร แก้วกาญจน์ ต้องก้าวผ่านด้วยตนเอง


 


 


            "สัมผัสอรรถรสบทกวีเก่าเก่า


             ข้าพบความเขลา


             สาดแสงเงาฉายฉาน


             ทั้งทั้งห้วงขณะเขียน


             สูงส่ง สร้างสรรค์


             ข้ากลั่นลงเนื้องาน"


 


หากจะให้ประเมินค่า ลงเรือมาเมื่อวาน พอฟันธงได้ว่าเป็นงานเขียนที่ใกล้เคียงกับคำว่า กวีนิพนธ์สร้างสรรค์ มากที่สุด แต่ยังไม่มากพอที่จะหาญกล้าอวดท้าผู้คนได้ว่า กวีนิพนธ์เล่มนี้เป็นสุดยอดภูมิปัญญาของประเทศไทย ณ พ.ศ.นี้.....


           


คอยติดตามบทวิจารณ์อีกสามเล่มที่เข้ารอบสุดท้าย หากหาซื้อหนังสือเหล่านั้นได้...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net