Skip to main content
sharethis


7 ก.ย. 50 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และชมรมสังคมวิจารณ์ จุฬาฯ ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง "ไฟใต้ ใครจุด?" โดยมีวิทยากรได้แก่ นายมูฮัมหมัด อาลาดี เด็งนิ รองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นางสาวขวัญระวี วังอุดม อาสาสมัครด้านสิทธิมนุษยชน และนายรอมะซี ดอฆอ เลขาธิการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา

 


นายรอมะซี ดอฆอ เลขาธิการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา กล่าวถึงที่มาที่ไปของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษา จ.ยะลา ว่า ก่อตัวขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงจากภาครัฐ ทุกวันนี้ นักศึกษายังมีโอกาสเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนในพื้นที่ได้


 


"ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อน ตื่นขึ้นมาตอนเช้าด้วยน้ำตา และคิดว่าเมื่อไรหนอ จะหลับแบบมีความสุขเสียที ต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวง"


 


เขากล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ประชาชนก็หวาดกลัวเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็หวาดกลัวประชาชนนั้น เมื่อนักศึกษาเข้ามาทำงาน ก็ถูกถามจากประชาชนด้วยว่า คุณเป็นฝ่ายรัฐหรือเปล่า ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็สงสัยว่าเป็นแนวร่วม


 


"ผมอาสามาทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้ามีนักศึกษาในพื้นที่ ซึ่งเป็นเยาวชนไทยมุสลิมมาทำงาน ทางภาครัฐจะมองว่านักศึกษาเหล่านี้เป็นแนวร่วมไหม" นายรอมะซีกล่าว


 


เขากล่าวว่า คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำ และกล่าวว่านักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิอันพึงมีของมนุษย์ที่ควรจะได้ มันผิดด้วยเหรอ ต้องถูกหาว่าเป็นแนวร่วมของผู้ก่อความไม่สงบ


 


อย่างไรก็ดี สมาพันธ์นิสิตนักศึกษา จึงเกิดขึ้น ดำเนินต่อไป ทำงานสื่อสารเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนในพื้นที่


 


นายรอมะซีเล่าถึงสถานการณ์ภาคใต้เวลานี้ ซึ่งอีกไม่นานจะถึงช่วงเวลาฮารีรายอ เขาเล่าว่าปกติ เมื่อมีเสียงรายอขึ้น (เสียงสวด) ประชาชนจะรู้สึกมีความสึกที่ดี ว่าถึงเวลาของฮารีรายอแล้ว แต่เวลานี้ ความรู้สึกเปลี่ยนไป เพราะต้องกลัวว่า ระหว่างทางไปมัสยิด จะต้องเจอแนวร่วม เจอเจ้าหน้าที่ เจอผู้ก่อความไม่สงบ หรือเปล่า


 


เขากล่าวว่า อัตราความรุนแรงระยะหลังมีเพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบสองรัฐบาลนั้น นับสามปีในรัฐบาลทักษิณ มีความรุนแรงรวมราวสามร้อยคดี และหากนับหกเดือนในรัฐบาลสุรยุทธ์ พบว่ามีความรุนแรงราวร้อยกว่าคดี ซึ่งเห็นชัดว่าความรุนแรงมันเพิ่มขึ้น และขณะที่นโยบายของนายกฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ คือเรื่องสันติ สมานฉันท์ แต่เหตุการณ์เผาและระเบิดมัสยิดเกิดขึ้นตลอด


 


นางสาวขวัญระวี วังอุดม อาสาสมัครด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมา จะมีคำขอโทษจากนายกรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้มีกระบวนการที่แก้ปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งอาจจะมีเรื่องราวในระดับปฏิบัติ ที่ไม่มีความเป็นเอกภาพในการทำงาน เช่น ยังคงมีกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่อยู่


 


นายมูฮัมหมัด อาลาดี เด็งนิ รองเลขาธิการ สนนท. กล่าวว่า มักมีคำถามถึงเรื่องความต้องการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเขาเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในตอนนี้ และถ้าถามถึงที่มาของปัญหานั้น เมื่อไปถามนักวิชาการว่าปัญหาเกิดจากอะไร ก็จะบอกว่าคนในพื้นที่ไม่มีการศึกษา เมื่อไปถามภาครัฐ ก็จะตอบว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน เมื่อไปถามนักสิทธิมนุษยชน ก็จะบอกว่าเกิดจากความไม่เป็นธรรม


 


"แต่ผมมองว่า ปัญหามันเป็นทั้งระบบที่ซับซ้อน ปัญหาระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค" นายมูฮัมหมัดกล่าว โดยอธิบายยกตัวอย่างว่า สังคมมุสลิมนั้น ในหมู่บ้านจะมีผู้นำคนหนึ่งซึ่งเป็นโต๊ะอิหม่าม คือ เป็นทั้งผู้นำ ผู้ปกครอง และผู้นำทางจิตวิญญาณ ขณะที่รูปแบบการปกครองของรัฐ ยังคงมีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ซึ่งสร้างความขัดแย้ง เป็นระบบการปกครองที่ไม่คำนึงถึงอัตลักษณ์ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่


 


นายมูฮัมหมัดยังสะท้อนปัญหาที่เกิดจากการปกครองในทุกวันนี้ เช่นปัญหาเรื่องการศึกษา ยังไม่มีสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพและเพียงพอรองรับคนในพื้นที่เลย


 


"ปัญหาภาคใต้ สังเกตง่ายมาก ถ้าวันนี้พุทธถูกยิง พรุ่งนี้มุสลิมถูกยิง และถ้าวันนี้อุซตาสถูกยิง พรุ่งนี้ครูถูกยิง" นายมูฮัมหมัดกล่าว


 


เขาย้ำว่า สิ่งสำคัญน่าจะเป็นเรื่องการปกครองที่ทั่วถึงและมีคุณภาพ ไม่ใช่การปล่อยปละละเลย และภาครัฐควรทำความเข้าใจว่า ประชาชนในพื้นที่ต้องการมีส่วนร่วมในการปกครอง ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน


 


นายมูฮัมหมัดกล่าวถึง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งนายอานันท์ ปันยารชุนเคยกล่าวไว้ว่า เป็นกฎหมายที่อนุญาตให้รัฐฆ่าคน เขาเห็นด้วย เพราะตั้งแต่ปี 2547-2550 มา ก็มีการยอมรับจากภาครัฐว่า ตำรวจทำร้ายชาวบ้านจริง มีทหารทำร้ายชาวบ้านจริง แต่ไม่มีสักคดี ที่ตำรวจและทหารขึ้นศาล ทั้งที่รัฐก็ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนในการก่อเหตุ ชาวบ้านก็มองว่ามีส่วน แต่ไม่มีสักคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดี แม้กรณีสะบ้าย้อยที่ไปยิงหัวทีมฟุตบอล ศาลก็ไต่สวนออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีกระบวนการต่อจากนั้น


 


นายมูฮัมหมัดกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ แม้จะสร้างความสะดวกให้คนทำงาน แต่ก็ละเมิดสิทธิคนในพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ทำให้ประชาชนสามารถถูกจับตัวไปขังที่ไหนก็ได้ ไม่มีใครมีสิทธิรู้ แล้วในกระบวนการสอบสวนนั้น ถ้าเจอคีม เจอปุ๋ยทำสวน ก็ถูกเหมารวมว่าเป็นวัตถุทำระเบิดไปทั้งหมด


 


นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการพาคนออกไปอบรมอาชีพ โดยบังคับให้ไปเข้าอบรมกับรัฐ 4 เดือน บางคนเป็นผู้นำครอบครัว แล้วครอบครัวจะทำอย่างไร แต่ก็ถูกขู่ให้เข้าอบรม นั่นเพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ เมื่อมีพ.ร.บ.ความมั่นคง ก็ไม่ต้องอ้างการอบรมอาชีพแล้ว เพราะสามารถจับตัวไปได้เลย


 


น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า นโยบายรัฐเหมือนเป็นนโยบายกวาดล้าง ในพื้นที่มีเครื่องตรวจจับอาวุธที่เรียกว่าดีโม เป็นเครื่อง มีหางกระดิกได้ ใครแค่ใส่น้ำหอม หรือเข็มขัด เครื่องก็จะฟ้องแล้วว่ามีวัตถุระเบิด


 


ที่ผ่านมา ทหารบุกเข้าบ้าน ใช้เครื่องนี้กวาดจับคนไป บังคับคนให้ไปอบรม 4 เดือน และไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ไปก็ต้องไปฟ้องศาล แต่ชาวบ้านไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะเข้าสู่กระบวนการศาล


 


ผู้ดำเนินรายการ ถามถึงประเด็นเรื่องไฟใต้ ใครจุด? ซี่งนายมูฮัมหมัดกล่าวว่า ใครเริ่มจุดนั้น ผมไม่ทราบ แต่คนไทยทั้งประเทศกำลังเริ่มจุดเยอะขึ้น เพราะทัศนคติของคนไทย มองคนใต้ด้านเดียว และมองแย่มาก


 


นายมูฮัมหมัดกล่าวว่า คนมุสลิมที่มาจากสามจังหวัดภาคใต้ มากรุงเทพฯ ขึ้นแท็กซี่ก็ไม่กล้าพูดภาษามลายู มาสมัครงานก็ไม่มีคนรับ


 


ทั้งนี้ ถ้าเราพูดปัญหาภาคใต้แล้ว ไม่พูดเรื่องประวัติศาสตร์ ก็จะไม่เข้าใจปัญหา กระบวนการต่อสู้ไม่ได้เริ่มจากกรณีหะยีสุหรง แต่มีมาก่อนหน้านั้น มีหลายคนที่หายตัวไป มีนักการเมืองในพื้นที่ถูกยิง มีคนถูกวางยาพิษ ก่อนจะมีกระบวนการจับปืนขึ้นมาต่อสู้ ก็มีการต่อสู้โดยสันติวิธี แต่เขามองว่า จุดสิ้นสุดที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายของสันติวิธี คือการหายตัวไปของหะยีสุหรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net